ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – การประชุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ ครั้งที่ 2 รายงานผลการทำงานการเมืองภาคประชาชนของแต่ละจังหวัดคืบหน้าไปมากแล้ว ตั้งเป้าให้ความรู้กระจายทุกอำเภอ สู่ตำบลจนครอบคลุมทั้งจังหวัดด้วยรากฐานความเข้าใจ รู้จริง ผ่านกิจกรรมการให้ความรู้ ทั้งจัดเวทีสาธารณะ กระจายจานดาวเทียม ASTV การร่วมติดตามข้อมูลในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดพื้นที่ 3 โซนได้แก่ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อให้ง่ายต่อการขับเคลื่อนการเมืองใหม่สู่ประชาชนในระดับตำบล ด้าน “สนชัย ลิ้มทองกุล” รับเป็นสื่อกลางหนุนช่วยพี่น้องพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตจากทั่วประเทศนำสินค้าประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ และจัดรถยนต์วิ่งเดินสายทั่วประเทศ เพื่อสร้างธุรกิจในแต่ละภูมิภาคให้มีความเข้มแข็งและอยู่ได้ ประเดิมที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก
เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ 16 จังหวัด เกือบร้อยคนเดินทางมาร่วมประชุมพันธมิตรฯ 16 จังหวัดภาคใต้ ครั้งที่ 2 ณ ร้านอาหารบ้านในสวน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวมวลชนแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ จ.ระนอง
16 จังหวัดเร่งให้ความรู้สร้างมวลชนสู่ชุมชน
ในช่วงเช้า แกนนำพันธมิตรฯ จาก 16 ภาคใต้ได้ร่วมกิจกรรมบันเทิงเพื่อละลายพฤติกรรม เตรียมสู่การประชุมในช่วงบ่าย โดยวาระการประชุมนั้นได้พิจารณาถึงการสร้างเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนภาคใต้ โดยเน้นยุทธศาสตร์ภายในจังหวัดให้เข้มแข็งสู่ระดับ อำเภอ ตำบล ชุมชน และเชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ โดยมีนายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 16 จังหวัดภาคใต้ เป็นผู้ดำเนินการประชุมเสวนา
ทั้งนี้ ในภาคใต้ได้มีการทำกิจกรรมจัดเวทีให้ความรู้ทางด้านการเมือง ติดตั้งจานดาวเทียม ASTV เข้าสู่แต่ละอำเภอให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด และการติดตามหาทางออกให้แก่ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน เช่น ที่ จ.ตรัง มีการเรียกร้องให้ติดไฟแดงแยกอันตรายได้สำเร็จ หลังจากที่ทางการละเลยจนทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วนับไม่ถ้วน หรือที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งขณะนี้กำลังคัดค้านโครงการบ่อขยะซึ่งเป็นวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยที่มีระบอบทุนพยายามเข้าครอบงำ นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า ทำให้มีประชาชนที่มีความคิดเห็นร่วมกันเข้าร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้นเป็นลำดับ
รวมถึงการตั้งผู้ประสานงานในแต่ละพื้นที่เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันในจังหวัดมีความเข้มแข็งก็จะช่วยเหลือให้คำแนะนำให้จังหวัดข้างเคียงได้เดินหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่ไปพร้อมกัน
นายสำราญ วิโรจน์ แกนนำพันธมิตรฯ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ใน 19 อำเภอมีการทำกิจกรรมเชิงรุกมาโดยตลอด ทั้งการลงพื้นที่ในทุกสัปดาห์ เพื่อจัดตั้งเครือข่ายระดับอำเภอเจาะสู่ระดับตำบล เพื่อให้ความรู้เรื่องการเมือง สิทธิและหน้าที่ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวจากวิทยากร นักวิชาการ ซึ่งขณะนี้คืบหน้าแล้ว 5 อำเภอ โดยมีผู้ประสานงานในพื้นที่ซึ่งมีจิตใจพร้อมที่จะเสียสละ ขณะเดียวกันก็มีการบริจาคจาน ASTV สู่ชุมชน พื้นที่สาธารณะเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ร่วมกับสินค้าที่ ASTV จัดจำหน่าย
นายมานะ เชิดชู แกนนำพันธมิตรฯ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ทั้ง 23 อำเภอในจังหวัดมีการติดตั้งจาน ASTV กว่า 50 ชุดแล้ว พร้อมกับจับมือชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาภาคใต้ เพื่อร่วมติดตามความช่วยเหลือและเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน
นายสุมิตร นวลมณี รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ พันธมิตรฯ จ.สงขลา เปิดเผยว่า พยายามรวบรวมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้ เพื่อให้แกนนำไปทำความเข้าใจรายละเอียดในแต่ละอำเภอ ซึ่งศักยภาพในพื้นที่ไม่เท่ากัน แต่ความแตกต่างนั้นจะช่วยเสริมซึ่งกันและกัน และเมื่อมีการจัดกิจกรรมร่วมกันพันธมิตรฯพันธุ์แท้ก็จะเดินทางเข้ามาร่วม
นายวีระชัย ใจบุญ จ.พังงา เปิดเผยว่า มวลชนของ จ.พังงานั้นมีอยู่จำนวนมากจาก 8 อำเภอ ที่มีความเข้มแข็งสุดคือ อ.คุระบุรี ซึ่งอยู่ในเขตเสื้อสีแดง และยังมีอีก 5 อำเภอที่อยู่ระหว่างลงพื้นที่เข้าหาสมาชิก
หนุนจัด 3 โซนสร้างความแกร่ง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติใช้ชื่อเพื่อความเป็นเอกภาพเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ และแยกชื่อตามจังหวัด ส่วนการบริหารจัดการนั้นได้มีมติแบ่งพื้นที่การประสานงานและทำงานตามลักษณะภูมินิเวศน์ ความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมและสังคม ได้แก่
1.ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ระนอง, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยมี จ.นครศรีธรรมราชเป็นผู้ประสานงาน 2.ภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สงขลา, สตูล, พัทลุง, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส โดยมี จ.สงขลาเป็นผู้ประสานงานและ 3. ภาคใต้อันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง โดย จ.ตรัง เป็นผู้ประสานงาน
ไม่สรุปหนุนการตั้งพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นเรื่องแนวคิดการตั้งพรรคการเมืองที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยหยั่งเสียงจากพี่น้องพันธมิตรฯ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยยังไม่มีการสรุปว่าเห็นควรจะตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ แต่มอบหมายให้พันธมิตรฯ ในแต่ละโซนลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนจะนำมาเสนอในที่ประชุมในครั้งต่อไป
ผุดไอเดียกระจายสินค้าท้องถิ่นทั่วไทย
ด้านนายสนชัย ลิ้มทองกุล ผู้รับผิดชอบกระจายจานดาวเทียมASTVทั่วประเทศ ซึ่งเดินทางมาร่วมพูดคุย ภายหลังจากที่ได้รับการประสานงานจากคณะทำงานพันธมิตรฯ 5 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า การต่อสู้ของพี่น้องพันธมิตรฯที่ผ่านมา ตนรับรู้ได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยในการขับเคลื่อนมวลชนในแต่ละจังหวัด จึงเกิดความเป็นห่วงโดยส่วนตัว อยากลงมาช่วยโดยการร่วมเสนอความคิด
จึงถือโอกาสนี้เดินทางมาเข้ามาร่วมพบปะแกนนำพันธมิตรฯ 16 ภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทั้งหมดเคยเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับระบอบทักษิณมาโดยตลอด เช่นเดียวกับตนเองที่มีหัวใจเป็นพันธมิตรฯเหมือนพี่น้องทุกคน แต่ไม่ได้อยู่ร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯในการวางแผนใดๆ มีเพียงหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงคือการดูแลการกระจายจานดาวเทียม ASTV เท่านั้น
“ทุกวันนี้ภารกิจกู้ชาติจบลงในแบบหนึ่ง แต่ยังต้องมีการขับเคลื่อนมวลชนเพื่อสร้างการเมืองใหม่อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งระบอบทักษิณก็ยังอยู่ ซึ่งหากพันธมิตรฯ จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็อาจจะเสียแนวรบจากความคิดเห็นของพันธมิตรฯ ที่ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง แต่หากไม่มีพรรคก็ยังต้องอาศัยปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อนมาก การเข้ามาในวันนี้เพื่อจะให้มีการรวมตัวเหนียวแน่น โดยเสนอแนวทางการสร้างความเข้มแข็งผ่านเครือข่ายธุรกิจแบบใหม่ ที่ไม่ต้องรบกวนการบริจาคเงินเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อพี่น้องพันธมิตรฯ เข้มแข็งอยู่ได้ ASTV ก็จะอยู่ได้ด้วย” นายสนชัยกล่าวต่อและว่า
ทั้งนี้ ต้องยอมรับแนวคิดการสร้าง PAD DIRECTORY ที่ผ่านมาค่อนข้างมีอุปสรรค เพราะมีความชี้ชัดถึงพันธมิตรฯ ทำให้พันธมิตรฯ ทั้งในภาคเหนือ อีสาน ไม่กล้าเปิดตัวเอง และอยากเป็นพันธมิตรฯหน้าจอมากกว่าหน้าฉาก ความคาดหวังที่จัดสร้างเครือข่ายรูปแบบนี้เพื่อช่วยเหลือกันจึงเกิดได้ยากกว่าที่คิดไว้
ในฐานะที่ตนเป็นผู้ดูแลการจำหน่ายจานดาวเทียมทั่วประเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้าและขนส่งอยู่แล้ว จึงขออาสาเป็นตัวกลางรวมสินค้าท้องถิ่นแต่ละจังหวัดวิ่งหาตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทีมงานเฉพาะกิจพิเศษดูแลโดยไม่เกี่ยวข้องกับ ASTV แต่อย่างใด โดยให้แต่ละจังหวัดที่มีสินค้าที่ผลิตเอง หรือสินค้าโอทอปก็ได้ส่งรายละเอียดและตัวอย่างมาที่กรุงเทพฯ เพื่อรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงาม และนำขึ้นสู่เว็บไซต์ .ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปที่สนใจได้สั่งซื้อ และจะจัดรถกระบะกระจายสินค้าทั่วประเทศ เดือนละ 24 วัน
นายสนชัย กล่าวต่อว่า เส้นทางแรกคือภาคใต้ จากสายใต้สู่ จ.ยะลา และวกผ่าน จ.ภูเก็ต ก่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามด้วยภูมิภาคอื่นๆ เชื่อว่าถ้าทำได้เช่นนี้ภายใน 4 เดือนสินค้าจะกระจายสู่ทั่วประเทศได้ และท้ายสุดจะทำแค็ตตาล็อกแจกจ่าย มีตัวอย่าง รายละเอียด ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันว่าราคาต้องไม่แพงกว่าที่ผู้ผลิตจัดจำหน่ายเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการซื้อขายสร้างเครือข่ายเข้มแข็งอย่างแท้จริง และภายหลังจากนี้จะเตรียมทำระบบสหกรณ์ไว้รองรับอีกด้วย
ในเรื่องข้าวASTV ที่กำลังเป็นที่นิยมของตลาด ซึ่งมีนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือASTVผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลแต่เพียงผู้เดียวนั้น โดยจัดจำหน่ายผ่าน Call Center แต่ในโอกาสที่ตนได้พบปะกับพี่น้องภาคใต้ซึ่งประสบปัญหาไม่สามารถซื้อสินค้าโดยสะดวก เนื่องจากยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายนั้น นายสนชัยจึงเสนอแนะให้แต่ละจังหวัดหาตัวแทนจำหน่ายมาแจ้งไว้ แล้วนำเรื่องนี้ประสานกับกรุงเทพฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ และจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนอย่างแน่นอน
ส่วนในจังหวัดที่มีการผลิตข้าวอยู่แล้วและอยากกระจายให้เป็นที่รู้จัก นายสนชัย กล่าวว่าหากสนใจจะจำหน่ายก็จะออกแบบแบรนด์และหีบห่อผลิตภัณฑ์ให้เป็นในรูปแบบเดียวกัน แต่ลงท้ายชื่อจังหวัดอันเป็นแหล่งผลิตข้าว เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าขายให้เติบโตไปพร้อมกับการสร้างความสามัคคีกลมเกลียว เพราะในรูปแบบนี้หากไม่มีความจริงใจ หรือเอารัดเอาเปรียบ ก็จะถูกระบบคัดกรองออกไปโดยปริยาย
แนะตั้งวิทยุชุมชนไม่ชนคลื่นอื่น
สำหรับแนวคิดที่พันธมิตรฯ ในหลายจังหวัดสนใจตั้งวิทยุชุมชน นายสนชัย กล่าวว่า ทั่วประเทศประสบปัญหาคลื่นเต็มหมดแล้ว มีเพียงคลื่นที่ลงท้ายด้วย .25 และ .75 ที่อาจจะเหลืออยู่บ้าง
ทั้งนี้ การทำส่งสัญญาณคลื่นวิทยุต้องไม่ส่งข้ามจังหวัด เพราะจะเป็นการรบกวนและถูกสถานีอื่นอัดคลื่นแรงกลายเป็นการตอบโต้ไปมา ไม่สามารถเรียกมวลชนเหมือนที่ตั้งใจได้ แต่ขอให้กระจายอยู่ในอำเภอนั้นๆ สร้างตัวเองให้มีความเข้มแข็ง และทดลองการออกอากาศโดยถ่ายทอดเสียงจาก ASTV จนเมื่อมีสมาชิกฟังมากพอแล้ว ค่อยพัฒนาถึงเรื่องการดำเนินรายการโดยดีเจ
“ถ้าจะทำให้เอารถตระเวนรอบอำเภอเปิดคลื่นไล่ดูว่า คลื่นไหนที่ยังไม่มีชื่อ แล้วเช็กสี่มุมเมืองถึงจะสั่งวิทยุ อย่าไปสั่งแล้วปรับคลื่นไล่กัน เพราะคลื่นส่งต้องเหมาะกับเสาอากาศจึงจะออกมาดีเต็มประสิทธิภาพ การลงทุนเบื้องต้นประมาณ 45,000 บาท เราจะให้อุปกรณ์จานดาวเทียมASTV ขนาด 75 ซม. เพื่อกระจายเสียงของ ASTV ก่อน แต่เมื่อรักษาฐานได้จะให้มิกเซอร์และสามารถพูดคุยกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารโฆษณาสินค้าของพันธมิตรฯได้ ทั้งการสร้างพลังขับเคลื่อนงานมวลชน ตั้งวิทยุชุมชน และกระจายสินค้าทุกคนจะสามารถเข้าถึงกันง่าย ไม่ต้องรอให้มีการสั่งการแต่สามารถทำได้เอง หรือเงินบริจาคจากพ่อยกแม่ยกพันธมิตรฯ” นายสนชัยกล่าว