xs
xsm
sm
md
lg

ชั่วโมงอันตรายของโรงเรียนในดงปล่องควัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดบันทึกครูภูธรกับชั่วโมงหนีตาย ความสับสนอลหม่านท่ามกลางหมอกควันพิษและกลิ่นเหม็นเน่าที่ฟุ้งกระจายเต็มพื้นที่มาบตาพุด กับชะตากรรมเด็กนักเรียน 200 ชีวิต ที่ตกอยู่ในห้วงนาทีชีวิต สังเวยความสะเพร่าซ้ำซากของผู้ใหญ่ใจร้าย

นาทีโกลาหล ณ มาบตาพุด

เช้าตรู่ของวันพุธ ที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ในขณะที่ครูภูธรหญิงคนหนึ่งกำลังขับรถยนต์เดินทางไปสอนหนังสือ ณ โรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง เช่นทุกๆ วัน แต่วันนี้ เธอสังเกตเห็นหมอกควันบางๆ กระจายฟุ้งทั่วอาณาบริเวณที่เธอขับรถผ่าน หมอกควันค่อยๆ ก่อตัวหนาขึ้นเรื่อยๆ หนาขึ้นเรื่อยๆ เธอรับรู้ได้โดยสัญชาติญาณถึงความผิดปกติ ว่าเมฆหมอกที่ลอยอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่เมฆหมอกในฤดูหนาวตามปกติ

เพราะที่นี่คือ “เขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด” เขตอุตสาหกรรมหนัก อันเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทันใดนั้นเอง เธอ นึกถึงเด็กนักเรียนอีกกว่า 200 ชีวิต พวกเขาเหล่านั้น คงอยู่ในระหว่างเดินทางไปโรงเรียนหรือบางคนก็อยู่ที่โรงเรียนแล้ว เธอไม่รอช้ารีบเหยียบคันเร่งในอัตราที่เร็วขึ้น ด้วยห่วงเด็กนักเรียน ซึ่ง เธอทราบดีว่า ชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร เพราะชุมชนแถบนั้นได้ซักซ้อมหนีภัยภายใต้สถานการณ์จริง ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้งต่อปี

พอรถเคลื่อนเข้ามาใกล้เขตอุตสาหกรรมมากขึ้น ความสับสนอลหม่าน เริ่มปรากฏ ท่ามกลางควันหนาที่ก่อตัวมากขึ้น หนุ่มสาวโรงงาน คนในชุมชนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ หอบลูกจูงหลาน พร้อมผ้าปิดจมูก ในสภาพแตกตื่นตกใจ บ้างตะโกน “แก๊ซรั่วๆ” รถยนต์ที่เธอขับมาเริ่มเคลื่อนที่ช้าลง รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ควักไขว่เต็มท้องถนน การจราจรเริ่มติดขัด

เนื่องเพราะทุกคนล้วนแล้วแต่มุ่งหน้า บึ่งออกไปยังหาดพลา หาดริมทะเลอันเป็นที่พึ่ง ที่หลบภัยเฉพาะกิจ ของทุกๆ คน

บางคนดีหน่อยมีหน้ากากกันก๊าซพิษที่มีมาตรฐาน แต่บางคนมีเพียงหน้ากากกันฝุ่น หรือหาผ้า หาอะไรมาป้องกัน เท่าที่จะหาได้

รถของคุณครูยังคงเคลื่อนที่ช้าๆ มุ่งหน้าต่อไปยังจุดหมายปลายทาง เธอมองเห็นเด็กนักเรียนบางคน อยู่ในรถกับผู้ปกครอง กำลังขับรถมุ่งหน้าไปยังหาดพลา ก็ยังพออุ่นใจ

แต่ก็ใช่ว่า เด็กนักเรียนทุกคน จะมีผู้ปกครองมารับ เพราะเด็กนักเรียนที่นี่มีลักษณะพิเศษ กว่าร้อยละ 80 ไม่ใช่คนท้องถิ่นระยอง ดูจากนามสกุล ต่อท้ายด้วย “กระโทก” “สูงเนิน” หรืออื่นๆ บ่งบอกว่าเป็นลูกหลานของคนงานจากภูมิภาคอื่น ซึ่งติดสอยห้อยตามผู้ปกครองมา

ผู้ปกครองเหล่านี้ หลังจากที่มาส่งบุตรหลาน แล้วกลับไปทำงานในโรงงาน บางคนจึงกำลังทำงานอยู่ในโรงงานโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น

นี่คือความจริงอันโหดร้ายแต่กลับไม่ใช่เรื่องแปลก ! เพราะเหตุการณ์แก๊ซรั่วหลายๆ ครั้งในอดีต การนิคมอุตสาหกรรมฯ จะรู้เป็นรายเกือบจะสุดท้ายทุกที ขนาดที่ทางโรงเรียนโทร.ไปแจ้ง เจ้าหน้าที่เองก็ยอมรับว่า เพิ่งจะทราบเรื่องเหมือนกัน

เด็กนักเรียนที่มาเรียน ในโรงเรียนวัดแห่งนี้ พอจะบอกได้ถึงฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครอง เพราะคนที่มีฐานะดี เป็นลูกคนงานในระดับแรงงานมีฝีมือหน่อย ก็จะส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนเอกชน อย่างน้อย ๆ ก็พอจะอุ่นใจได้บ้าง เพราะโรงเรียนเอกชนมีห้องแอร์ มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิด ป้องกันปัญหาได้ระดับหนึ่ง

คุณครูมาถึงโรงเรียน ในขณะที่ควันยังลอยฟุ้งอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเด็กๆ ที่เธอเป็นห่วง เข้าไปอยู่ในห้องเรียนแล้วทุกคน เพราะช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ไม่กี่นาที คุณครูส่วนหนึ่งที่อยู่ในโรงเรียน ได้ประกาศเสียงตามสาย และอพยพให้เด็กเข้าไปอยู่ในห้องเรียนที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้รองรับเหตุฉุกเฉิน จำนวน 8 ห้อง ตามแผนอพยพฉุกเฉินที่ตระเตรียมไว้ก่อนหน้านี้

เธอ ค่อยหายใจโล่งอกขึ้นมาหน่อย ครั้งนี้ทางโรงเรียนดำเนินการได้ดี แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า เด็กคนไหนจะได้รับอันตรายหรือไม่ เธอหยิบผ้าปิดจมูก ลงจากรถวิ่งไปยังห้องเรียนที่ประตู หน้าต่างปิดสนิท แต่ยังมีช่องอากาศผ่านเล็ดลอดเข้าไปตามหลืบหน้าต่างและประตูได้บ้าง ตามการชำรุด ศึกหรอ ของตัวอาคาร

เพื่อนคุณครู และ เด็ก ๆ อยู่ในอาการขวัญเสีย ตกใจ บ้างมีอาการเจ็บตา แสบจมูก มึนศีรษะ เด็กเล็กๆ บางคนร้องไห้กระจองอแง ผู้ปกครองบางคน ที่เพิ่งรู้ข่าวโทรเข้ามาในโรงเรียนถามไถ่ถึงลูกหลาน สายแทบไหม้ แต่เพื่อความปลอดภัย คุณครู ก็ได้แต่บอกให้ผู้ปกครองมารับเพื่อพาเด็กไปยังสถานที่ซึ่งปลอดภัยกว่า ลำพังโรงเรียนแม้จะมีครูคอยดูแล แต่ก็ดูแลไม่ทั่วถึงหมดทุกคน ห้องเรียนเองถึงแม้จะปิดประตูหน้าต่างหมดก็ใช่ว่าจะปลอดภัย

เวลาผ่านไป หลังหมอกควันสงบ ความสับสนอลหม่าน เริ่มบรรเทา ผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก พร้อมกลุ่ม ผู้บริหาร บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทซึ่งมีชาวอินเดียเป็นเจ้าของประกอบการ เข้าชี้แจงต่อชุมชนและโรงเรียน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เหตุสารเคมีรั่วไหล ในครั้งนี้ ยังโชคดีกว่าทุกๆ ครั้ง ที่มีโรงงานออกมาแสดงความรับผิดชอบ ต่างจากเหตุการณ์หลาย ๆ ครั้งในอดีต ที่ผู้ใหญ่ใจร้าย มักปัดความรับผิดชอบ ไม่ยอมรับว่าเกิดความบกพร่องจากโรงงานของตนเอง

“เหตุเกิดเมื่อเวลา 05.45 น. สาเหตุเกิดจากการถ่ายคลอรีนเหลวจากหน่วยการผลิต Liguifer เข้าในถังเก็บ และเกิดการอุดตันภายในท่อส่ง ทำให้เกิดความดันสูงระดับ 2.6 ทำให้ซีนรั่วแก๊สคลอรีนรั่วฟุ้งกระจายทางระบบป้องกันท่อระบายออกสู่บรรยากาศ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตได้ควบคุมการรั่วไหลของคลอรีนโดยการฉีดน้ำควบคุมกลิ่นเหม็นได้ในเวลา 05.55น. ของวันเดียวกันสถานการณ์จึงเข้าสู่ภาวะปกติ” คำชี้แจง ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

สิ่งที่โชคดีอีกอย่างคือ ก๊าซที่รั่วไม่ใช่สารที่เป็นอันตรายมาก ประกอบกับ ช่วงนั้นมีลมมาช่วยพัดออกไปทางทะเล ได้เร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงทำให้มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพียง 3 คน และภายในวันเดียวแพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้

ฤๅ ต้องย้ายโรงเรียนหนี?

“โรงเรียนวัดหนองแฟบ” โรงเรียนระดับประถมศึกษาขนาดกลาง นักเรียนประมาณ 200 คน ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ทิศเหนือของโรงเรียนติดกับวัดหนองแฟบ ห่างออกไปอีกนิดเป็นชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ทิศใต้ติดกับชุมชน ไม่ไกลออกไปก็ถึงชายหาดทะเล ทิศตะวันตะวันตกติดกับชุมชนบ้านหนองแฟบ แต่ทางทิศตะวันออก ห่างออกไปไม่ถึง 100 เมตร คือ โรงงานอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา

โรงเรียนแห่งนี้ จึงกำลังถูกโอบล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลมหายใจของประเทศ ล่าสุดทางโรงงานมีแผนขยายตัวเข้ามาใกล้โรงเรียนมากขึ้นเรื่อย ๆ รอลุ้นก็แต่การเจรจาตกลงกับเจ้าของที่ดินรอบๆ โรงเรียนจะขายที่ให้กับนายทุนเท่านั้น

ถ้าโรงงานกับชาวบ้านเจ้าของที่ดินจำนวนหนึ่ง บรรลุเงื่อนไข โรงเรียนวัดหนองแฟบ และ วัดหนองแฟบ ก็จะกลายเป็นไข่แดงในดงอุตสาหกรรมทันที หรือ อาจจะต้องย้ายโรงเรียนออกไปถ้าทนไม่ไหว

ในอีกภาพหนึ่งของโรงเรียน ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เป็นกิจกรรมสาธารณะ ของบรรดาซานตานใจบุญ ปักเรียงราย ตามสนามเด็กเล่น สวนหย่อม ศาลาที่พัก ที่จอดรถ สนามเปตอง อาคารเรียน ไม่เว้นแม้แต่ “ตาลปัดพระสงฆ์”

“โรงเรียนที่นี่ขออะไรโรงงานก็ให้ อย่างตึก 3 ก็ได้เงินจากทางโรงงานมาสร้างให้ แต่ว่า ถ้าเลือกได้เราอยากได้อากาศบริสุทธิ์มากกว่า” คุณครูคนหนึ่งเล่าให้ฟังและเพิ่มเติมว่า โรงงานเขาเก่ง เดี๋ยวเขาก็พาไปสัมมนา พาไปอบรมอยู่เรื่อย ๆ อย่างนักเรียนที่นี่ ได้ทุนการศึกษาเกือบทุกคน พอมาช่วยเหลือก็จะถ่ายรูปเก็บไว้แล้วก็เอาไปประชาสัมพันธ์

ในแง่ความสัมพันธ์ของโรงงานกับชุมชน ครูท่านนี้บอกว่า ถึงแม้จะขออะไรได้ก็จริง แต่โดยส่วนตัวก็มองว่าเป็นการ มาทำบุญเอาหน้า ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ตอนนี้สิ่งที่อยากได้ที่สุดคืออยากได้หมอเก่งๆ มาตรวจสุขภาพคนในพื้นที่ นักเรียน หรือ ครูอาจารย์ เราอยากให้เขามีแผนการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับคนในท้องถิ่น

โรงเรียนวัดหนองแฟบจะโชคดีหน่อย คือได้กลิ่นควันเสียจากโรงงานน้อยกว่าที่อื่น เพราะอยู่ทางด้านติดกับทะเล ช่วงมรสุมลมพัดมาจากทะเล จะพอค่อยยังชั่ว แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาว ลมพัดเข้าไปทางทะเล ช่วงนี้จะทรมานมากเพราะจะกลิ่นหนักและแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

ครูคนเดิม เล่าว่า คนที่ทนอยู่ที่มาบตาพุดส่วนใหญ่มีที่ดินน้อย ถ้าขายก็ได้ไม่เท่าไหร่ ไม่รู้จะไปอยู่ไหน ก็ทนอยู่กันต่อไป คนมาบตาพุดที่มีอยู่จริงตอนนี้น่าจะเหลือไม่ถึง 10% จึงทำให้ส่วนหนึ่งสำนึกรักท้องถิ่นน้อยลง

“ปัญหาที่เราเจอคือ น้ำในบ่อเป็นสนิม เวลาฝนตกถ้าโดนน้ำฝนนี่ผื่นจะขึ้นเต็มตัวเลย พอไปหาหมอเขาก็บอกคิดไปเอง ไม่ต้องอะไรมากลองไปดูมันสำปะหลัง ที่ขึ้นชื่อเรื่องความทนทาน ฝนตกได้ไม่กี่วันใบเน่าหมด” เขา เล่า

ปัญหาอีกอย่างที่คนในพื้นที่เจอคือ ผักธรรมชาติที่ขึ้นตามหมู่บ้าน ไม่มีใครกล้ากิน หรือกุ้งหอยปูปลาในพื้นที่แถบนี้ไม่มีใครกล้ากิน แล้วที่มาบตาพุดจะมีการจัดงานเทศกาลกินปู ปลา ต้องไปซื้อมาจากพื้นที่อื่น นี่คือปัญหาหนักๆ ของคนในพื้นที่

แต่ปัญหาหนักที่สุดของคนในชุมชน แม้แต่ครูบาร์อาจารย์ต้องประสบด้วยตัวเองคือ ระบบการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลในแถบพื้นที่มาบตาพุด ซึ่ง การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลบางแห่ง

“คนในชุมชนอยู่ในพื้นที่มลพิษ ก็อยากจะตรวจหาสารพิษ บางชนิด พอถามโรงพยาบาลว่า ทำไม่มีการตรวจสารพิษตัวนี้บ้าง เขาก็บอกการตรวจหาสารพิษตัวนี้ ต้องทำเรื่องจากโรงงาน ส่งมาเราถึงจะตรวจได้”

คนในชุมชนถ้าไม่ได้ป่วยมากก็ไม่ไปหาหมอ จึงไม่รู้ว่าสารพิษสะสมไปเท่าไหร่ ตอนที่ แก๊ซรั่ว ก่อนหน้านี้ ครูคนหนึ่งผื่นแดงเต็มตัวไปหมด ต้องไปหาหมอคลินิก เพื่อถอนสารพิษ (Detox) เพราะมีความเชื่อใจมากกว่าโรงพยาบาล

“แต่ครูก็ยังดี ที่ยังมีเงินไปซื้อหน้ากากกันก๊าซพิษ ไม่เหมือนนักเรียนยังมีแค่หน้ากากกันฝุ่น อย่างหน้ากากกันสารพิษ ขอโรงงานไป 3 รอบตอนนี้ยังไม่ได้เลย” คุณครูบอก

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างยาวนานโดยไร้การเหลียวแลอย่างจริงจังในพื้นที่ยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจประเทศ จังหวัดที่เป็นรากฐานทางอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของประเทศ มีรายได้ในรูปของผลิตภัณฑ์มวลรายจังหวัด(จีพีพี) เท่ากับ 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 7.12% ของจีดีพีประเทศ เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมสูงกว่า 8 แสนล้านบาท แต่คุณภาพชีวิตของชุมชนกลับย่ำแย่สุดๆ

ตัวเลขปัญหาสุขภาพพุ่งสูงลิ่ว สาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนระยองคือ “โรคมะเร็ง” สูงกว่าการตายจากอุบัติเหตุ ในขณะที่สถิติผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจสูงเป็นอันดับ 1 มีมากกว่า 3 แสนคนในแต่ละปี

อย่าแปลกใจถ้าคุณครูจะบอกว่า “พวกเราโห่ร้องดีใจ ทันทีที่ศาลปกครองประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ทั้งที่รู้ว่ามันอีกนานกว่าจะเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังดีที่มีความหวัง”

หรือว่าอุตสาหกรรมสะอาด จะเป็นได้แค่ความเพ้อฝัน
กำลังโหลดความคิดเห็น