xs
xsm
sm
md
lg

มายาบริจาคเทียม… (อ) กุศลจิตผ่านจอทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นเมื่อใด...ธารน้ำใจของมหาชนชาวไทยจะหลั่งไหลผ่าน 'การบริจาค' ทั้งทางกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจไปได้อย่างท่วมท้น

ซึ่งกระแสธารน้ำใจอันเชียวกรากของสังคมนี้ กลับกลายให้คนบางกลุ่มเกิดอาการทำบุญตามน้ำ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือจำพวก 'ทำบุญเอาหน้า' ที่สร้างการบริจาคเทียมด้วยเหตุผลนานาประการ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้นถือได้ว่าการบริจาคจากหลายๆ ช่องทางนั้นได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลายหน่วยงานเข้ามาเป็นตัวกลางในการบริจาค และเทคโนโลยีก็ยิ่งทำให้ช่องทางในการบริจาคง่าย สะดวก รวดเร็ว เพียงปลายนิ้วสัมผัส อาทิ การโอนเงินบริจาคผ่านตู้ ATM, การส่ง SMS บริจาคเงิน, การโทรศัพท์เข้ามาแจ้งความประสงค์พร้อมระบุจำนวนเงิน, ตู้รับบริจาคสาธารณะ ฯลฯ

สำหรับช่องทางในการรับบริจาคที่มีให้เลือกหลากหลาย และขาดมาตรการดูแล ก็สร้างความคลางแคลงใจแก่สังคม ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่ ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) ถูกกล่าวหาว่า อมเงินบริจาคเหตุจำนวนประชาชนที่โทร.เข้ามาแจ้งยอดความประสงค์ในการบริจาคนั้น มีมากกว่าจำนวนเงินจริง ด้าน ศชอ. ก็ออกมาแก้ต่างว่ายอดยังไม่นิ่ง บ้างก็เปลี่ยนใจไม่บริจาค แต่จะมีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ก็มิอาจทราบ
แต่สิ่งหนึ่งเชื่อว่าผู้ร่วมบริจาคย่อมรู้ดีว่าตนมีกำลังบริจาคมากน้อยแค่ไหน ครั้นจะหน้าใหญ่ใจโตทุ่มทุนบริจาค แต่พอสังคมหันหลังดันกลับคำพูดก็อย่าลืมระลึกถึง 'ความละอาย'

การกุศลที่สร้างความฉงน

การระดมทุนนั้นเป็นวิธีการเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ และมักจะมีการจัดรายการพิเศษการกุศลที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ และให้ผู้ชมโทรศัพท์เข้าไปบริจาคด้วยเสมอ สมศักดิ์ นัคลาจารย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มองว่าเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นอย่างมาก
"อย่างหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่ากิจกรรมเช่นนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้มีความตื่นตัวและอารมณ์ร่วมที่อยากจะบริจาคหรือช่วยเหลือสังคม แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของรายการประเภทนี้ก็คือ การไม่มีพันธสัญญาใดๆ ว่าต้องให้ตามนั้น ทำให้ไม่มีหลักประกันว่าบุคคลหรือองค์กรนั้นจะบริจาคเงินให้จริงตามที่ตกลงกันไว้หรือไม่ และที่สำคัญ หากไม่ได้รับเงินจริงก็ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่ออีกด้วย จึงเป็นช่องทางให้คนหรือองค์กรบางประเภทที่มีลักษณะชอบประชาสัมพันธ์ตัวเองนำมาหาโอกาสได้

"จริงๆ ก็คือเป็นโฆษณาตัวเองอย่างหนึ่ง เหมือนพวกองค์กรที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้คนได้เห็นว่า ฉันก็มีส่วนช่วยในการช่วยเหลือสังคม ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นคนปกติ ก็อาจจะอยากเห็นชื่อตัวเองในทีวี เพราะต้องยอมรับรายการแบบนี้โฟกัสคนเยอะมาก ดูแล้วก็ปลื้มใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน แต่พอเอาเข้าจริงมันก็คงมีบ้างที่ไม่ให้เงินตามนั้น หรือบอกให้ล้านบาท แต่ให้จริงๆ ห้าหมื่นบาท ซึ่งเขาได้ประโยชน์ไปแล้ว ทางผู้จัดเองก็ทำอะไรไม่ได้ กฎหมายไม่มีระบุ สุดท้ายก็ต้องยอมๆ กันไป"

ทำบุญเอาหน้า (หน้าด้าน)

การบริจาคการกุศลนั้นไม่เพียงแสดงออกถึงน้ำใจไมตรี แต่เป็นการแสดงถึงบารมีด้วย การบริจาคเทียมของคนบางประเภท หากใครมีความประสงค์ที่จะร่วมบริจาคแค่เพียงยกหูโทรศัพท์ แจ้งชื่อ-สกุล และจำนวนเงิน เพียงเท่านี้ชื่อของท่านก็จะได้รับการยกย่องออกอากาศ

แหล่งข่าวในแวดวงราชการที่ขอไม่เปิดเผยชื่อ เปิดเผยว่า การรับบริจาคผ่านช่องทางดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดกรณีเบี้ยวเงิน ซึ่งจากยอดประสงค์บริจาคทั้งหมด จะได้รับจำนวนจริงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าการระดมทุนนั้นสำเร็จในระดับหนึ่ง

“ทางธนาคารผู้รับผิดชอบเรื่องระดมทุนบอกว่า ถ้าได้เงินบริจาคจากยอดที่แจ้งเข้ามาถึง 60 เปอร์เซ็นต์
อย่างที่เราจัดรายการก็ถือว่าดีแล้ว คือคนบางทีโทร.มาอย่างนั้นเอง ซึ่งบางทีมันไม่จริงหรอก ยอดเงินที่แสดงหน้าจอตอนรายการรับบริจาคออกอากาศ เงินที่เข้ามาจริงมันอาจไม่ใช่ บางทีก็ต้องตามเพื่อทวงเงินบริจาค”

อย่างมีบางรายที่ค่อนข้างเป็นที่นับหน้าถือตาในวงสังคม ซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก็แจ้งความประสงค์ว่า ต้องการบริจาคเงิน 1 ล้านบาท แถมยังโทร.มาย้ำว่าใ ห้ประกาศชื่อออกอากาศ แต่ตอนควักเงินกลับเบี้ยว

“มีอยู่รายหนึ่งโทร.มาแจ้งว่า ต้องการบริจาค 1 ล้าน ทางเราก็โทร.กลับไปนะ เพราะจะมีระบบว่าถ้าคนที่โทร.มาบริจาคยอดสูงๆ จะต้องเช็กกลับไป มีการเช็กชื่อ, ที่อยู่ และจะโทร.กลับไปสอบถามว่า คุณโทร.มาจริงใช่ไหม ก็โทร.กลับไปถึง 2 หน เขาก็ตอบว่าจริง และให้วิ่งขึ้นชื่อที่จอ และขอให้พิธีกรประกาศชื่อในรายการ ปรากฏถึงเวลาไปเก็บเงิน เขากลับปฏิเสธว่าไม่ใช่เขา”

สิ่งหนึ่งที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ คือตัวผู้จัดรายการต้องวางระบบบริหารจัดการของตัวเองให้ดีก่อนเป็นลำดับแรก เช่น อาจจะต้องได้รับเงินมาก่อน ถึงค่อยประกาศรายชื่อผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งตรงนี้ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ได้

คิดดี ปฏิบัติดี

อีกบทเรียนกรณีเงินบริจาคช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นผ่านโทรศัพท์และโทรทัศน์ ซึ่งยอดเงินจริงไม่ตรงตามที่มีคนแจ้งเข้าไป คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายสำหรับการบริจาคผ่านรายการการกุศลทางโทรทัศน์ เพราะโดยธรรมชาติของวิธีการนี้ย่อมมีช่องโหว่ น่าคิดว่าควรจะมีกลไกชนิดใดที่จะทำเงินบริจาคไม่ตกหล่น เพียงเพราะผู้แจ้งความจำนงทางโทรศัพท์ไม่ยอมโอนเงินให้ตามที่แจ้ง

มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา เป็นมูลนิธิหนึ่งที่บริจาคให้แก่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ทั้งในรูปตัวเงินและสิ่งของนับล้านบาท เป็นตัวอย่างหนึ่งในหนล่าสุด แหล่งข่าวจากทางมูลนิธิฯ บอกว่า ในการบริจาคแต่ละครั้งทางมูลนิธิฯ จะดำเนินการตามขั้นตอน โดยเฉพาะในด้านเอกสารที่ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตญี่ปุ่น โดยระบุจำนวนเงิน ปริมาณ ชนิดของสิ่งของ รวมถึงน้ำหนัก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกระบวนการขนส่ง และเมื่อผู้รับได้รับแล้วก็จะทำแจ้งเป็นหนังสือตอบกลับมาเช่นเดียวกัน เป็นการตรวจสอบด้วยว่ายอดเงินและสิ่งของที่ได้ครบตามจำนวนหรือไม่

“เราจะไม่ใช่แค่โทร.เข้าไป แต่จะต้องมีลายลักษณ์อักษรทั้งหมดไปที่กระทรวงการต่างประเทศ และก็ต้องทำแบบนี้ส่งไปที่สถานทูตญี่ปุ่นเหมือนกัน เพราะการโทรศัพท์ไปเพื่อบริจาคอาจมีความไม่รัดกุม”

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับบริจาคผ่านรายการการกุศลทางโทรทัศน์ก็ยังถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด การมองหากลไกที่ละเอียดรอบคอบน่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันคนที่ต้องการให้ชื่อหรือหน้าตาปรากฏบนโทรทัศน์แบบไม่อยากเสียเงินได้

ลาภ ยศ สรรเสริญ อาจเป็นหลุมพรางสำหรับผู้มีฐานะในแวดวงสังคม ที่ต้องออกมาแสดงน้ำใจเพื่อให้ใครต่อใครได้รับรู้และศรัทธาในไมตรีจิต แต่สำหรับผู้หญิงธรรมดาๆ อย่าง จารุพรรณ โชติโพธิ์ทอง เปิดเผยว่าตนนั้นบริจาคตามกำลังทรัพย์ และไม่ได้หวังผลว่าจะได้การยกย่องจากการให้ทาน ซึ่งเธอนิยมใช้ช่องทางที่สะดวกในการร่วมบริจาค
“ก็ยอมรับว่าไม่ได้เป็นพวกปิดทองหลังพระ แต่ก็ไม่ต้องการประกาศให้ใครรู้ว่าเราร่วมบริจาคเงินมากน้อยแค่ไหน ถ้าอยากช่วยอยากทำบุญก็ร่วมด้วยถ้ามีช่องทางที่สะดวก อย่างน้ำท่วมภาคใต้ก็บริจาคผ่านกล่องรับบริจาคของพวกนักศึกษา ฯลฯ อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เท่าที่ทำได้ และไม่เบียดเบียนตัวเอง ซึ่งมันก็เกิดความสุขใจคือเราได้ทำบุญ”
..........

จำนวนเงินหรือสิ่งของไม่เท่ากับความคิดดีๆ ที่อยากให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนพ้นจากวิกฤตโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ช่องทางการบริจาคเพื่อการกุศลคงต้องกำหนดมาตรการอย่างชัดเจน เพื่อลดช่องโหว่ของการบริจาคเทียมในกลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และสร้างความโปร่งใสแก่หน่วยงานที่เป็นตัวการในการรับบริจาคต่อไปในอนาคต
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK


กำลังโหลดความคิดเห็น