ช่วงปลายปี 2554ที่ผ่านมา องค์กร แชริตี้ เอด ฟาวเดชัน ของอังกฤษ ได้เปิดเผยดัชนีการให้ของโลกประจำปี 2554 (World Giving Index 2011) โดยระบุว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการบริจาคหรือทำงานเพื่อการกุศลมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมาก็เป็นประเทศในยุโรปเป็นส่วนใหญ่ ส่วนประเทศในเอเชียที่ติดอันดับก็คือ ศรีลังกา ซึ่งได้เป็นอันดับ 8 ตามมาด้วยประเทศไทยและลาวตามลำดับ แต่ถ้าหากวัดกันที่สัดส่วนการบริจาคต่อประชากรแล้ว บ้านเรานั้นนอนมาอันดับ 1 เลยทีเดียว
นั่นทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แท้แล้วความใจบุญสุนทานของคนไทยมันมาจากไหนและมีต้นสายปลายเหตุจากอะไรกันหนอ ถึงได้มาแรงแซงทางโค้งชาติอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่น เพราะต้องยอมรับว่าคนไทยเพิ่ง คุ้นหูกับคำว่า 'อาสาสมัคร' และ ‘จิตอาสา’ เมื่อไม่นานนี่เอง แต่กับคำว่า 'บริจาค' นั้นกลับเป็นคำที่เวียนวนอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน
แล้วความใจบุญสุนทานของไทยนั้นจัดอยู่ในลักษณะไหนกัน?
แล้วคนไทย ใจดีแบบไหนกัน (แน่)
ในประเด็นคำถามนี้ รศ.ระพีพรรณ คำหอม อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายและให้คำตอบถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การชอบทำบุญนั้นมีอยู่ในตัวของแต่ละคนที่ถูกปลูกฝังมาจากทางครอบครัวและพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว จึงทำให้คนไทยมีลักษณะเด่นในแง่ของการมีน้ำใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สูง
"เรื่องการให้นี้ เรายังมีแบบอย่างที่ดี คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงให้และดูแลคนทุกคน และในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ถือเป็นแบบอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น เราจึงถูกฝึกฝนมาในเรื่องการให้ การเสียสละมาโดยตลอด ที่สำคัญถ้าพูดถึงเรื่องจิตอาสาก็เป็นสิ่งที่เราทำกันมานานแล้ว แต่เราไม่ค่อยเห็นกัน เพราะต่างคนก็ต่างทำ มิติแบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด ตั้งแต่เหตุการณ์สึนามิ ซึ่งปรากฏคนมีน้ำใจอยากจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก มันเป็นเรื่องของน้ำใจที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน แต่ยังไม่ถูกดึงออกมาใช้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม แต่พอมีเหตุการณ์วิกฤต จึงทำให้ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น
"ส่วนเรื่องบุญกรรม หรือชาติหน้านั้น ถือเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะประเด็นหลักนั้นอยู่ที่ความดีมากกว่า คนทำก็มีความสุข คนรับก็มีความสุข ไม่ได้ซับซ้อน เพราะเท่าที่เห็นทุกคนก็ไปทำอย่างไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่มันเป็นเพียงเรื่องของความรู้สึกทางใจที่เข้าหากัน"
โดยกระบวนการให้นั้น ก็มีตั้งแต่เรื่องแรงกาย อันเป็นวิถีดั้งเดิมของสังคมไทย เพราะรวมพลังได้ง่ายและทำได้เลย อย่างเช่นการก่อทราย หรือถ้าเป็นในอดีตก็อย่างการลงแขก เกี่ยวข้าว ซึ่งคนไม่ได้มองในเชิงเศรษฐกิจแต่มองในเชิงวัฒนธรรม มาช่วยเหลือกันทำ หรือแม้แต่ในเรื่องการบริจาคเงิน ซึ่งมีมากขึ้นในช่วงหลังๆ นั่นก็เพราะมันทำได้ง่ายกว่า และเร็วกว่า
"ในแง่ของศาสนาต่างๆ ก็มีจุดร่วมกันอยู่นะ อย่างศาสนาพุทธเราก็เรียกว่าการให้ การแผ่เมตตา ในศาสนาคริสต์ ก็เหมือนกัน หากจะให้คนอื่นปฏิบัติต่อเราดีอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติตอบให้ดีเหมือนกัน ศาสนาอิสลามก็จะมีเรื่องของซะกาตที่เน้นการดูแลคนแปลกกลุ่มที่ได้รับความยากลำบาก เช่น คนจน เด็กกำพร้า เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงให้วิถีที่สอดแทรกอยู่ในทุกสังคม"
อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปได้ที่เรื่องนี้ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องธุรกิจบ้าง เพราะช่วงหลังๆ มานี้มีการนำเรื่องจิตอาสาไปเชื่อมโยงกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วก็ไปดึงภาคธุรกิจเอกชนให้เข้ามาใส่ใจเรื่องเหล่านี้ และทำสิ่งดีๆ คืนกลับสังคม
แม้ต่างรูปแบบ แต่การให้ก็ยังคงเป็นการให้
เจตนาคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตามหลักพุทธศาสนาความตั้งใจถือเป็นจุดที่ก่อให้เกิด บุญหรือกรรมจะมากหรือน้อยก็อยู่ที่จุดนี้ ดังนั้น จิตอาสาด้วยพลังกายและใจหรือการให้ทานด้วยทุนทรัพย์ก็ล้วนต้องเกิดจากใจที่นึกคิดทั้งสิ้น และไม่ว่าจะปฏิบัติในรูปแบบใด ก็เป็นสิ่งที่สังคมโลกถวิลหาทั้งสิ้น
ดังนั้น อุษา เชิดชู จิตอาสาสาวที่ทำงานเต็มตัวกับการเข้าร่วมจิตอาสาในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาให้ความเห็นถึงการบริจาคกับการลงแรงเป็นจิตอาสาว่า คล้ายกันในส่วนของน้ำใจที่อยากมอบให้ แต่ในทัศนะจิตอาสาจะเห็นผลได้ในขณะนั้นเลย
“มันไม่ต่างกัน มันมาจากใจ ทั้งการบริจาคเงินและการช่วยเหลือลงแรง แต่ถ้าให้เลือก ส่วนตัวแล้วชอบลงไปเป็นจิตอาสามากกว่า เพราะเราได้ช่วยจริงๆ และเห็นผลจริงๆ แต่บริจาคเงินมันไม่เห็นว่าเงินเราไปอยู่ตรงไหน”
ซึ่งเช่นเดียวกันขณะที่ตนเองก็เป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือนั้น อุษาบอกว่าการรับความช่วยเหลือแบบจิตอาสาเป็นสิ่งที่สำคัญมากและมากกว่าการบริจาคด้วยเงิน
“คือตอนที่หอพักน้ำท่วม เราต้องอยู่หอฯ ไปไหนไม่ได้ มีจิตอาสามาช่วย มีรถยกสูงมารับส่งทำให้สามารถออกไปโน้นมานี่ได้ แต่ถ้าเป็นเงินบริจาค กว่าจะซื้อกว่าจะทำอะไร จิตอาสามันจะเร็วกว่า แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าว มันทำให้ความคิดมันเปลี่ยนเลย คือเราไม่เคยลงมาทำอะไรอย่างนี้มาก่อน พอได้มาทำก็ไม่รู้นะ รู้สึกเหมือนเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น อธิบายไม่ถูก สิ่งที่ควรจะเป็น ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นผู้เสียสละบ้างก็ได้ เหมือนว่าความเป็นมนุษย์มีน้ำใจต่อกัน นี่แหละที่จะทำให้สังคมเราค่อยๆ เป็นไปในทางที่ดีขึ้น”
ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของคนชอบบริจาคอย่าง อรนรร จิรชลมารค ที่มักช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการบริจาคโดยเธอให้ความเห็นว่า การบริจาคเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นที่รวดเร็ว และทำได้ทุกเมื่อ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็ให้ความรู้สึกที่ดีกับตนเองไม่ต่างจากวิธีอื่น แต่การบริจาคนั้นถ้าจะก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ก็ต้องเลือกคนที่ต้องการจริงๆ จะได้ไม่เป็นการส่งเสริมมิจฉาชีพ
"ก็ให้เงินให้ขอทานบ่อยอยู่นะแล้วแต่โอกาส ซึ่งพอเราได้ให้ทานแล้วก็รู้สึกดีนะ แบบอย่างน้อยเราได้ช่วยคนอื่นถึงแม้จะเล็กน้อยก็ตาม ส่วนจิตอาสาก็อยากไปลองทำนะ แต่เวลาและปัจจัยอื่นๆ มันไม่ค่อยอำนวยสักเท่าไหร่"
ทำแล้วสบายใจ ตามสไตล์ไทยๆ บ้านเรา
เรื่องของการบริจาคหากก้าวไปมองในมุมของจิตวิทยาก็จะพบว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและมีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว โดย สุทธิพันธุ์ สุทธิศันสนีย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ได้วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการบริจาคของชาวไทยว่า
“ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรมของเราด้วย เพราะว่าทั้งเรื่องศาสนาและประเพณีต่างๆ ที่เราถูกสั่งสอนมานานแล้วเรื่องของการทำบุญทำทานบริจาค ฉะนั้นมันก็เลยมีมิติในเรื่องของความรู้สึกสบายใจที่ได้ทำ ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าได้ทำความดี น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายที่ทำแล้วรู้สึกว่าทำแล้วเราได้ทำสิ่งที่เรียกว่าดีในชีวิตแล้ว”
แต่สุทธิพันธุ์ก็มีข้อสังเกตว่าการบริจาคด้วยทรัพย์หรือสิ่งของนั้น ถือว่าเป็นการให้ที่ง่ายๆ กว่า มันจึงได้รับความนิยมมากกว่าการลงแรงทำจิตอาสา แต่ในปัจจุบันคนก็เริ่มหันมาบริจาคแรงร่วมกิจกรรมจิตอาสากันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
“จริงๆ คงไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทำด้วยใจทั้งหมด และก็ไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ทำบุญเอาหน้าทั้งหมด เราคงไม่สามารถไปฟันธงได้ว่าใครทำเพราะเอาหน้าหรือจริงใจ แต่เท่าที่สัมผัสจากผู้คนที่ทำบุญก็มีหลายๆ แบบ ทำในเชิงธุรกิจก็มี แต่ที่สำคัญ เราต้องบริจาคด้วยสติปัญญา พิจารณาให้ชัดเจนว่ามันไม่ทำให้เราเดือดร้อน สิ่งที่เราบริจาคนั้นเราทำแล้วเราสบายใจ บริจาคด้วยใจที่อยากให้ผู้อื่นได้ประโยชน์”
………..
โดยสรุปแล้ว การที่จะบอกว่าคนไทย เป็นชนชาติที่นิยมช่วยเหลือคนอื่นมากที่สุดในโลก ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงแต่อย่างใด แม้ว่าจะทำด้วยแรงกาย แรงใจ หรือทุนทรัพย์ก็ตาม เพราะทั้งหมดก็เป็นการช่วยเหลือคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น
จริงอยู่ว่าในกระบวนการ 'ให้' ในโลกปัจจุบันจะซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อหวังผลทางธุรกิจ การทำเอาหน้า ฯลฯ แต่สุดท้าย ผลของมันก็คือการได้ช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่นั่นเอง
ดังนั้น ไม่ว่านิสัยชอบให้ของคนไทยจะมาจากไหนหรือเหตุผลใดก็ตาม มันก็ยังคงมีประโยชน์อยู่เสมอ
>>>>>>>>>>>
………..
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK