กระแสเรื่องเงินบริจาคซองขาวกลายเป็นประเด็นร้อนให้วิพากษ์วิจารณ์กันไม่เว้นแต่ละวัน แน่นอนบ่อยครั้งที่ตัวเลขแจ้งความประสงค์ในการบริจาคทรัพย์ กลายเป็นลมปากที่ไม่สามารถจับต้องตัวเงินได้เลย!
อาจเป็นเพราะเราถูกปลูกฝังเรื่องการทำบุญให้ทานกันมา จึงส่งผลให้น้ำใจไม่เคยเหือดหายไปจากสังคมไทย เห็นกันชัดๆ คงเป็นในเรื่องการบริจาคทรัพย์การกุศล หรือการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินทอง ที่ธารน้ำใจไหลรินไม่ขาดสาย
เงิน ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเกื้อกูลชีวิต ไม่ว่าจะทำการได้ก็ต้องใช้จ่ายแลกเปลี่ยนไปเสียทุกอย่าง การช่วยเหลือทางการเงินจึงเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายของผู้มีกำลังทรัพย์ทั้งในภาคประชาชนหรือหน่วยงานรัฐและเอกชน
จะด้วยประการใดก็แล้วแต่ การบริจาคให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินนั้นมักจะกระทำด้วยตามจิตศรัทธา การที่จะไปร้องแรกแหกกระเชอคงไม่มีประโยชน์ว่าใครแจ้งความประสงค์บริจาคแต่ไม่มียอดเงินเข้าบัญชีคงเป็นการเรียกร้องที่ไม่มีน้ำหนักเท่าใดนัก เพราะไม่ได้มีการทำสัญญาเหมือนธุรกรรมรูปแบบอื่น
โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงในวงสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไฮโซไฮซ้อคนดัง ฯลฯ ก็ใช้กลยุทธ์หน้าใหญ่ใจโตพูดแสร้งออกสื่อว่าจะบริจาคเงินจำนวนเท่านั้นเท่านั้น แต่ลับหลังกลับเบี้ยวเสียดื้อๆ
นักการเมืองตัวดี ตลบตะแลงเชื่อถือไม่ได้
การให้ความช่วยเหลือด้วยเงินนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ คือจากภาคประชาชน และจากหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกลิ่นคาวคลุ้งไม่แพ้กันทีเดียว
เริ่มด้วยความคลุมเครือของในการจัดการเงินช่วยเหลือของภาครัฐที่เพิ่งเป็นข่าวครึกโครม สำหรับกรณีพระครูกิตติโกศล เจ้าคณะอำเภอหัวตะพาน และเจ้าอาวาสวัดพระศรีเจริญ จ.อำนาจเจริญ ที่ออกโรงทวงถามถึงเงินช่วยเหลือ 50,000 บาท เมื่อครั้ง นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาแจ้งถวายเงินให้วัดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว จวบจนนานข้ามปีก็ยังมีแค่ซองเปล่า
ในเรื่องนี้ก็คงต้องตรวจสอบกันเพิ่มเติมว่าเท็จจริงแล้วเป็นความผิดพลาดโดยไม่ได้เจตนา หรือพูดสักแต่เพียงเอาหน้าไปก่อนก็ไม่รู้
หรือเรื่องของการบริจาคทรัพย์ยิ่งในภาคประชาชนนั้นดูเหมือนจะถูกคนบางกลุ่มใช้เป็นเครื่องมือทำบุญเอาหน้ากันยกใหญ่ ซึ่งถ้าแจ้งความประสงค์แล้วบริจาคจริงคงไม่ผิดแต่ประการใด แต่นี่เพียงต้องการให้ชื่อสกุลของตนโชว์หราว่าได้บอกทรัพย์ก้อนโตเป็นกุศล
ถ้าตรวจสอบกันอย่างจริงจังแล้วกรณีแจ้งความประสงค์ในการบริจาคแต่ไม่มีจำนวนนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่ไม่เป็นข่าวครึกโครมเพราะไม่มีหลักฐาน เป็นสัจจะวาจาที่ฝ่ายผู้รับกับผู้ให้รับรู้กันเท่านั้น
แหล่งข่าวปิด ผู้ดูแลกิจกรรมรับบริจาคทรัพย์การกุศลผ่านการออกอากาศสดทางโทรทัศน์ เล่าให้ฟังว่า การบริจาควิธีนี้ผู้มีจิตศรัทธาสามารถโทรเข้ามาในรายการแล้วแจ้งชื่อสกุลพร้อมจำนวนเงินที่ต้องการบริจาค แค่นี้ชื่อก็ปรากฎเป็นเกียรติบนหน้าจอแล้ว
ตรงนี้เองก็กลายเป็นช่องทางให้บางคนใช้หาผลประโยชน์สร้างชื่อเสียงบารมีด้วยการแจ้งยอดเงินบริจาคสูงฉลูด ยกตัวอย่าง อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงผู้หนึ่ง ก็โทรเข้ามาย้ำแล้วย้ำอีกว่าประสงค์จะบริจาคเงิน 1 ล้านบาท ให้ประกาศชื่อออกโทรทัศน์ด้วย แต่พอจบรายการกลับอิดออดบอกว่าตนเองไม่ใช่คนโทรเข้าไปแจ้งความประสงค์ในครั้งนี้ ทั้งที่ทีมงานก็ตรวจสอบกันอยู่หลายรอบ
แหล่งข่าวคนเดิมทิ้งท้ายว่า การรับบริจาคการกุศลหากได้รับจำนวนเงิน 60 เปอร์เซ็นของยอดประสงค์ในการบริจาคทั้งหมดก็ถือว่าการระดมทุนครั้งนั้นสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง
โดนแฉ...อายไหม?
“บุคคลจะมีพฤติกรรมการให้เป็นไปในลักษณะใด ย่อมขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่น อรรถประโยชน์ของแต่ละบุคคล หากบุคคลมีความเห็นแก่ตัว ลักษณะหรือรูปแบบของการให้ก็จะเป็นไปในทางของการแลกเปลี่ยนที่มุ่งหวังผลประโยชน์แก่ตัวเอง” ณพล สุกใส อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้ในบทความ เรื่อง เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการบริจาค
หากการให้ทานเพื่อหวังอานิสงส์ผลบุญคงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกชาวพุทธมีความเชื่อในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ความซับซ้อนของจิตมนุษย์ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแท้จริงแล้วเขานั้นมีนัยยะซ้อนเร้นหรือไม่
ในเชิงจิตวิทยา สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษาและนักวิจัย ประจำกลุ่มรู้จักใจ กล่าวสั้นๆ ในเรื่องของสัญญาลมปากว่าจะบริจาคเป็นจำนวนเงินเท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงกลับหายเข้ากลับเมฆ
“บอกจะให้แล้ว...ไม่ให้ มันก็คือการหลอกลวงเท่านั้นเอง”
การบริจาคนั้นแยกไม่ออกกับเรื่องความเชื่อทางพุทธศาสนา มันก็เหมือนการทำบุญชนิดหนึ่ง หรือเรียกว่าทำทาน ซึ่งก็มีหลายแบบแต่แบบที่ง่ายที่สุดคือการบริจาควัตถุทาน จำพวกสิ่งของเงินทองจึงมักพบเห็นได้เสมอๆ การบริจาคมันถูกเชื่อมโยงกับเรื่องทำความดี และเมื่อทำความดีคนก็เชื่อว่าจะได้ผลดีอะไรสักอย่างคืนกลับมาในชีวิต
ยิ่งผู้บริจาคทานเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงนับหน้าถือตาในวงสังคม ยิ่งมีความเชื่อว่าการบริจาคก็เสมือนเป็นการเพิ่มบารมีแก่ตัวเอง ไม่ว่าจะบริจาคแท้หรือบริจาคเทียมก็ได้หน้าแล้ว
“ไม่ต้องพูดถึงแค่การทำบุญหรอกนะครับ หรือการทำอะไรหลายๆ อย่างที่ทำแล้วให้ภาพลักษณ์เราดูดีขึ้น เขาก็ใช้มันเป็นกลยุทธ์ในการสร้างภาพลักษณ์อยู่แล้ว การทำความดีมันก็สร้างภาพลักษณ์อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว และมันจะไม่เป็นปัญหาถ้าเขาทำอย่างนั้นจริงๆ”
ทำบุญเอาหน้าปัญหาคาราราซัง
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว องค์กร แชริตี้ เอด ฟาวเดชัน ของอังกฤษ ได้เปิดเผยดัชนีการให้ของโลกประจำปี 2554 (World Giving Index 2011) สรุปคราวๆ ได้ว่าถ้าวัดกันจากสัดส่วนการบริจาคต่อประชากรแล้ว เมืองไทยนั้นครองแชมป์เป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียว
แน่นอนคนที่บริจาคช่วยเหลือในเรื่องการเงินด้วยเจตนาบริสุทธิ์นั้นมีไม่น้อย ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการวัฏจักรการบริจาคเงินก็มากโขทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสร้างชื่อเสียง, คอรัปชั่นเงินบริจาค ฯลฯ ก็มีให้พบเห็นกันบ่อยๆ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่เราแก้กันไม่ตกเสียที
ดร.วิชัย รูปขำดี อดีตคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าว
“มันเป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นค่านิยมเอาหน้าเอาตา ทั้งในระดับนักการเมืองระดับประเทศชาติเอามา จนถึงชาวบ้าน ลักษณะอย่างนี้ก็เลยปรากฎขึ้น เป็นการกระทำเพื่อเอาหน้า ต้องการชื่อเสียงทางด้านสาธารณะ”
ปัจจุบันเองสื่อก็กลายเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พฤติกรรมการบริจาคของคนบางกลุ่มก็อาศัยในส่วนนี้ ประกาศความร่ำรวย มีจิตเป็นกุศล มีความรับผิดชอบ ให้สาธารณะได้รับทราบ
จะว่าไปกรณีการให้เงินช่วยเหลือน้ำท่วมของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เข้าข่ายด้วยเหมือนกัน ซึ่งเงินในส่วนที่นำมาช่วยเหลือก็เป็นเงินภาษีของประชาชนทั่งนั้น ชาวบ้านร้านตลาดพอได้รับเงินเยียวก็รู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ดูแลดีเขาดี แต่จริงๆ มันไม่ใช่เสมอไป
“ส่วนหนึ่งต้องการที่กลบเกลื่อนสิ่งที่มันเป็นความล้มเหลว อีกส่วนหนึ่งต้องการที่จะรู้สึกว่ามันมีการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นสังคมไทยที่มันเป็นสังคมที่เขาเรียกว่าต้องการหน้าตามันก็จะออกมาในรูปนี้แหละ”
ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐฯ หรือการบริจาคการกุศล ก็ต้องมีความโปร่งใส ทั้งในส่วนของการรับและบริจาค ต้องแสดงเจตจำนงค์ที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงออกสื่อแล้วหลังจากนั้นก็บิดเบือนพฤติกรรมไป ส่วนนี้เองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องสร้างมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบได้
“ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่รัฐบาลทำหรือหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบมันต้องทำอยู่แล้ว คือหน่วยที่เป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ที่จะรับบริจาคก็ต้องชัดเจนว่าเป็นหน่วยงานใด ใครเป็นผู้รับผิดชอบ แล้วก็ต้องให้เห็นว่าเวลาบริจาคแล้วสามารถตรวจสอบให้เห็นได้อย่างไร ต้องมีแนวทางในการลดความเสี่ยง ถ้าตรวจสอบพบคอรัปชั่นก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย”
…........................
ที่ผ่านมาการบริจาคทานที่ให้คำมั่นสัญญาเพียงลมปากดูจะเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ไม่มีการจัดการแถมยังปล่อยให้คนบางประเภทเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์แสดงบทบาทนักบุญจอมปลอม ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันตรวจสอบและทวงถามกันอย่างจริงจัง