xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

สถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นกระจกเงาแสดงถึงศักยภาพของพลังอำนาจแห่งชาติ อันเป็นปรัชญาทางรัฐศาสตร์ที่ถูกบัญญัติเป็นหลักการโดย เอ็ดเวิร์ด มีด เอริล (Edward Mead Earle) ที่เขียนตำรายุทธศาสตร์ชาติร่วมกับกอร์ดอน เอ. เกรก (Gordon Craig) ชื่อว่า Maker of Modern Strategy ; Military Thought from Machiavelli to Hitler ซึ่งกำหนดว่าพลังอำนาจแห่งชาติ เกิดจากอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจทางเทคโนโลยีและวิชาการ อำนาจทางสังคม และอำนาจทางการทหารโดยได้แสดงปาฐกถาแนวคิดนี้ที่รัฐสภาสหรัฐฯ ในปี 1948 เพื่อให้นักการเมืองเข้าใจถึงพลังอำนาจที่สหรัฐฯ จะครองโลกได้ก็ต้องครองอำนาจเหล่านี้ ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับว่าเป็นปรัชญาทางรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นคาถาให้นักวิชาการ และนักยุทธศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ยึดถือเป็นหลักการชี้นำนโยบายชาติมาจนทุกวันนี้และตลอดไป

ประเทศไทยก็นำหลักการนี้มาประยุกต์ใช้เพราะทุกสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตั้งแต่โรงเรียนเสนาธิการเหล่าทัพ วิทยาลัยเสนาธิการทหารและเหล่าทัพ จนถึงวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก็สอนเรื่องพลังอำนาจแห่งชาติ 5 ประการนี้

สมมติว่า ประเทศไทยมีพลังอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางทหารที่แข็งแกร่งแล้ว อำนาจการต่อรองของประเทศในเวทีโลกย่อมเข้มแข็งขึ้น หลายประเทศย่อมต้องการประเทศไทยเป็นพันธมิตร หลายประเทศย่อมต้องการมาลงทุนในประเทศไทย และชนชาติในหลายประเทศต้องการมาเที่ยวประเทศไทยเพราะมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งสินค้าออกของไทยมีศักยภาพในตลาดสากลเพราะมีพันธมิตรมากหลายหรือหลายชาติต้องพึ่งไทย

ที่เว้นไว้พลังอำนาจทางเทคโนโลยีและวิชาการ ก็เพราะเป็นประเด็นที่ว่าระดับไหนถึงจะวัดได้ว่ามีพลังอำนาจทางเทคโนโลยี สถานการณ์โลกบอกให้เรารู้ว่าดัชนีชี้วัดพลังอำนาจทางเทคโนโลยีอยู่ที่ความสามารถในการสร้าง และใช้พลังงานนิวเคลียร์ ทั้งในมิติเชิงสันติ และเชิงยุทโธปกรณ์รวมถึงเทคโนโลยีอวกาศ เพราะหากมีเทคโนโลยีอวกาศแล้วก็วัดพลังอำนาจทางการทหารได้ เพราะจรวด ดาวเทียม หรือยานอวกาศเป็นปัจจัยทางการทหารทั้งสิ้น

ในเชิงวัฒนธรรมของชาติแล้วประเทศไทยไม่เคยมีแนวคิดเชิงอุตสาหกรรมเป็นวัฒนธรรมชาติมาก่อนและตามทฤษฎีของเฮอร์เบิร์ต เฮนริช (Herbert Heinrich) ที่ว่าด้วยทฤษฎีนิรภัยอุตสาหกรรมที่บอกว่า สาเหตุอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมเกิดจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม และทางสายเลือด (Social Environment and Ancestry) และจากทฤษฎีนี้ทำให้รู้ว่าประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมอุตสาหกรรม เพราะคนไทยทั่วไปที่กว่าจะเข้าใจคำว่า “นิรภัยท้องถนน”ต้องใช้เวลาเกือบศตวรรษจึงได้เรียนรู้การสูญเสียเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น การคาดเข็มขัดนิรภัย และในเชิงอุตสาหกรรมนั้นบริษัทต่างชาติบังคับให้คนงานใส่หมวกกันน็อก สวมถุงมือ และรองเท้าป้องกันอุบัติเหตุในโรงงาน

ดังนั้น พลังอำนาจทางเทคโนโลยีของชาติไทยที่เป็นรูปธรรม จึงไม่เห็นชัดเจน แต่หากว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมิติที่คนไทยถนัดแล้ว น่าจะเป็นงานเชิงบริการหรือสินค้าบริการที่ใช้เทคนิคและวิธีการที่ต้องประยุกต์เทคโนโลยีทันสมัยเช่นกัน หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สามารถสร้างงานบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือลงทุนน้อยกำไรมากหรือเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์ได้หลายเท่า

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีสินค้าเกษตรมากมาย แต่ขาดการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปหรือเทคนิคในการลำเลียงขนส่งสู่ตลาดไม่ให้เน่าเสียก่อน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้มีการบริโภคทั้งในและนอกประเทศเพื่อที่จะทำให้สินค้าเกษตร ที่นอกเหนือจากข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราแล้ว ให้เกิดปัญหาล้นตลาดน้อยลง เพราะปัญหาสินค้าล้นตลาดทำให้เกษตรกรเดือดร้อนซ้ำซาก

นอกจากนี้แล้วศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยมีมากมาย และราคาต้นทุนการท่องเที่ยวแข่งขันกับต่างประเทศได้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายที่แหล่งการศึกษาระดับอุดมศึกษา จะต้องพิจารณาและสร้างอัตลักษณ์เพื่อแสวงโอกาสสร้าง GDP จากทรัพยากรที่มีอยู่ทำให้ประเทศชาติรวยขึ้นเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจในส่วนอื่นๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และกองทัพ

มาตรฐานและจำนวนมหาวิทยาลัยเป็นตัวชี้วัดสติปัญญาของคนในชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 12 เมื่อชาวต่างชาติถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยปารีสในปี 1167 รวมทั้งคนอังกฤษ เวลส์และไอริช จึงมารวมตัวกันที่ออกซฟอร์ด และเริ่มมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นที่นั่นเพื่อให้เข้าใจในปรัชญาศาสนา กฎหมายและการมีชีวิตอย่างจริงจังทำให้คนทั่วไปเกิดความต้องการอยากเรียนรู้ จนในปี 1209 มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นจากนักศึกษา และนักวิชาการที่ถูกคนเมืองออกซฟอร์ดขับออกจากเมือง เพราะขัดแย้งทางความคิดกับคนท้องถิ่น

และหากจะศึกษาคติพจน์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยแล้วจะรู้ว่าปรัชญาการศึกษาคืออะไรและชี้วัดอะไร ออกซฟอร์ดกล่าวว่า “พระเจ้าคือแสงสว่าง” ส่วนแคมบริดจ์กล่าวว่า “จากที่นี่ แสงสว่างและความลำบากอันศักดิ์สิทธิ์ จากที่นี่เราได้รับปัญญาและความรู้ที่มีค่า” จึงเกิดบัณฑิตในอังกฤษและยุโรปที่พัฒนาต่อยอดหลายแขนงวิชาที่สนองตอบความเข้าใจในศาสนา กฎหมาย และการมีชีวิต ที่มีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และศิลปะ ตั้งแต่การร่ำเรียนเพื่อไปใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น จนในที่สุดสามารถพบทฤษฎีใหม่ที่นำไปสู่นวัตกรรมทุกมิติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีประวัติที่น่าศึกษาในลักษณะเป็นสถานศึกษาเพื่อสังคมและเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของสังคม ก่อกำเนิดขึ้นใน พ.ศ. 2477 เป็นโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนอบรมกุลสตรีไทยให้มีความรู้การบ้านการเรือน แต่ในปัจจุบันเรียกว่า คหกรรมศาสตร์ เป็นการพัฒนาสังคมขั้นพื้นฐานที่กำเนิดจากครอบครัวหรือเสน่ห์ปลายจวักหรือสร้างสังคมจากนิวเคลียสและในยุค พ.ศ. 2490 เกิดอุตสาหกรรมครัวเรือนเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดงและอื่นๆ หลายยี่ห้อ ปัจจุบันเป็นสินค้า OTOP ผลิตออกจำหน่ายทั่วบ้านทั่วเมืองก็เกิดจากคหกรรมศาสตร์ นี่แหละ

ใน พ.ศ. 2483 คุณยายละออ หลิมเซ่งถ่าย บริจาคเงิน 80,000 บาทสร้างอาคารโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ หลังจากที่โรงเรียนมาแตร์เดอีเปิดกิจการโรงเรียนอนุบาลได้ 3 ปี

จุดกำเนิดนี้ทำให้สถาบันแห่งนี้จากระดับโรงเรียนมัธยม โรงเรียนการเรือน วิทยาลัยครูสวนดุสิต สถาบันราชภัฏ และใน พ.ศ. 2547 เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และปัจจุบันขยายผลจากจุดเริ่มต้นสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร การศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ และพยาบาลศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน ก็เพราะส่วนใหญ่นักศึกษาที่เข้ามาเรียนเป็นนักศึกษาจากต่างจังหวัดจากครอบครัวฐานะปานกลาง หรือต่ำกว่าปานกลาง ซึ่งต้องการเงินยืมจากรัฐ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีส่วนเชื่อมกับท้องถิ่นเกือบทั่วประเทศ เพราะมีศูนย์การศึกษา 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบจังหวัดชลบุรี ตรัง นครนายก ปราจีนบุรี เมืองพัทยา พิษณุโลก ลำปาง สุพรรณบุรี หนองคาย และหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หากพิจารณาถึงรายได้ของประเทศไทยแล้วพบว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตร และงานด้านบริการหรือสินค้าบริการที่ตอบสนองอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จึงพิสูจน์ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้มุ่งสู่ธงของชาติ ที่จะพัฒนา GDP ท้องถิ่นให้มีความเจริญ ถึงแม้ว่าราชภัฏสวนดุสิตไม่ได้สอนเกษตรกรรม แต่สอนให้เพิ่มคุณค่าของสินค้าเกษตรกรรมที่ออกมาในรูปอาหารทั้งพร้อมรับประทานและแปรรูปทั้งยังมีข้าวสารตราสวนดุสิต

แต่ถ้าจะต้องบอกว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นพลังสำคัญในการสร้างชาติก็ได้ตรงที่ว่า มีความสามารถพิเศษในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้รู้จักใช้ปัญญา และการปลูกฝังความชอบธรรมขั้นพื้นฐานที่ขณะนี้ความชอบธรรมของสังคมไทยกำลังขาดหายไป เป็นที่น่ายินดีที่ราชภัฏสวนดุสิตกำลังรับภาระสร้างสังคมไทยใหม่ที่รู้จักคำว่า “ความชอบธรรม” ให้กับ 6,746 ชุมชนในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นภาระงานที่ยิ่งใหญ่ซึ่งสังคมไทยคาดหวังว่าอีก 3-4 ทศวรรษ สังคมชนบทจะมีความคิดความอ่านที่เป็นธรรม มิใช่ อบต.ที่พูดกันด้วยปืนอย่างในปัจจุบันหรือแนวคิดที่ว่า “เรื่องโกงกินตามน้ำเป็นเรื่องปกติ” ก็จะหายไปจากสังคมไทย

และคาดหวังว่า อบต.จะต้องใช้บริการการศึกษาและบัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในการพัฒนาตนเอง และท้องถิ่นในเรื่องเกี่ยวกับการดำรงชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ในวงจรของชีวิตที่หลากหลายโดยเฉพาะเกษตรกรที่ห้อมล้อมนวัตกรรมใหม่ๆ อิทธิพลสังคมโลกาภิวัตน์ใหม่ๆ

จึงต้องเป็นความสามารถของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่จะต้องเข้าสู่ชีวิตสังคมท้องถิ่นให้ได้อย่างแท้จริงเพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างคุณค่าให้กับสังคมย่อย 6,746 สังคมให้ได้ พลังอำนาจของชาติจึงจะสมบูรณ์ในเชิงแข่งขันให้ได้ในอาเซียน และกว้างไกลออกไปเพราะในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตอยู่ในอันดับที่ 24 ของประเทศไทย อันดับที่ 46 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 1,866 ของโลก ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยคือต้องสร้างบัณฑิตให้มีงานทำ และความสำเร็จนี้คือตัวชี้วัดความสามารถเพราะตลาดแรงงานต้องการอย่างแท้จริง เพราะรู้ว่านี่คือปัจจัยความสำเร็จขององค์กร

ความคาดหวัง 2 ทางได้แก่ องค์กรชุมชนต้องเชื่อถือ และใช้บริการมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตามลักษณะอัตลักษณ์และที่ตั้งภูมิศาสตร์ ขณะเดียวกัน สังคมก็เชื่อในศักยภาพของอธิการบดีที่จะแพร่กระจายความรู้ลงสู่ภูมิภาคด้วยมาตรฐานสากล และหากทฤษฎี 2 ทางนี้สำเร็จแล้ว พลังอำนาจทางเทคโนโลยีและวิชาการที่ประเทศไทยต้องการก็จะสำเร็จได้ในห้วงทศวรรษนี้ เพื่อทำให้ GDP ของชาติสูงขึ้นตามผลที่ได้จากแผ่นดินและความเป็นไทยที่มี Sense of Service สูง เพื่ออุตสาหกรรมการบริการที่มีอยู่ทั่วไปในแผ่นดินไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้ And Beyond

nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น