xs
xsm
sm
md
lg

‘คำสาป’ เทพธิดาบาร์บี้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บาร์บี้เป็นตุ๊กตาที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ นับจากเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในงานมหกรรมของเล่นแห่งนิวยอร์กเมื่อเดือนมีนาคม 1959 จนถึงวันนี้ บาร์บี้ขายไปแล้วกว่า 1,000 ล้านตัว
ในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บาร์บี้กลายเป็นภาพลักษณ์ในอุดมคติของหญิงสาวอเมริกัน ที่ต้องสวยเก๋ ผมสีบลอนด์ เอวบางอย่างน่าขัน อกอวบอั๋นชนิดที่อาจทำให้หน้าคะมำได้หากเป็นในชีวิตจริง
บาร์บี้ยังทำเงินมหาศาลให้แก่ผู้ปลุกปั้นคือ แมทเทล คอร์เปอเรชัน บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
กระนั้น ตุ๊กตาตัวนี้มีด้านมืดที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน รายละเอียดอันน่าตกใจเกี่ยวกับแมทเทลที่ถูกเปิดเผยในหนังสือ ‘ทอย มอนสเตอร์: เดอะ บิ๊ก, แบ๊ด เวิลด์ ออฟ แมทเทล’ ที่เขียนโดยเจอร์รี ออปเพนไฮเมอร์ นักเขียนเบสต์เซลลิ่งของนิวยอร์ก ไทมส์ และตีพิมพ์ออกมาประจวบเหมาะกับวันเกิดครบรอบ 50 ปีของบาร์บี้ในเดือนนี้
ความจริงก็คือ บาร์บี้ไม่ใช่ ‘สาวอเมริกันทั้งแท่ง’ อย่างที่เด็กหญิงนับล้านคนเชื่อ แต่เป็นผลผลิตจากมันสมองของสองหุ้นส่วนธุรกิจที่ชีวิตจริงเสเพลบัดซบ ห่างไกลจากภาพที่พวกเขาพยายามปลุกปั้นให้บาร์บี้เป็น
และนี่เป็นเรื่องราวของความโลภ ความหมกมุ่นในตัณหาและความหรูหราฟุ่มเฟือย ชนิดที่พ่อแม่นับล้านที่ซื้อบาร์บี้ให้ลูกได้ยินแล้วอาจขนหัวลุก
บาร์บี้เป็นผลผลิตของแจ็ค ไรอัน วิศวกรที่หลงใหลในปาร์ตี้ โสเภณีและโคเคน กับรูธ แฮนด์เลอร์ นักธุรกิจลูกสาวชาวโปแลนด์อพยพที่พบพิมพ์เขียวบาร์บี้โดยบังเอิญจากตุ๊กตาสำหรับผู้ใหญ่ที่เกือบเข้าข่ายอนาจารชื่อว่า บิล์ด ลิลลี ระหว่างไปเที่ยวพักผ่อนในยุโรปปี 1956
ไรอัน หัวหน้านักออกแบบของแมทเทล ใช้ตุ๊กตาเซ็กซี่จากเยอรมนีเป็นแม่แบบบาร์บี้ ที่เขาบรรยายว่า ‘หน้าตาเหมือนโสเภณีกำลังหาแขก’ แต่เขารู้ดีว่าบาร์บี้ไม่ควรยั่วยวนขนาดนั้น
เรื่องราวของบาร์บี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1945 เมื่อแฮนด์เลอร์ ที่ขณะนั้นอายุ 39 ปี ไม่ชอบและไม่เคยเล่นตุ๊กตามาตั้งแต่เด็ก ก่อตั้งบริษัทขึ้นในแคลิฟอร์เนียกับสามี เอลเลียต และเพื่อนของครอบครัว แฮโรลด์ ‘แมตต์’ แมตสัน และนำชื่อของผู้ชายทั้งสองคนมาตั้งเป็นชื่อบริษัท ‘แมทเทล’
แต่ความเป็นสุภาพบุรุษของแมตสันไปกันไม่ได้กับความทะเยอทะยานของแฮนด์เลอร์ ปี 1955 เขาถูกแทนที่ด้วยไรอัน อดีตนักออกแบบอาวุธ
แฮนด์เลอร์ตัดสินใจผิดอย่างจังที่ตั้งเงื่อนไขว่าจะไม่จ่ายเงินเดือนให้ไรอัน แต่แบ่งให้ 1.5% จากยอดขายทั้งหมดของแมทเทล เพราะภายในสามปี ไรอันขนเงินกลับบ้านปีละกว่า 750,000 ปอนด์ จากความสำเร็จของบริษัทซึ่งมาจากบาร์บี้โดยแท้
แฮนด์เลอร์และไรอันเถียงกันรุนแรงมาตลอดว่าใครกันแน่คือผู้สร้างบาร์บี้เกือบจะตั้งแต่แนวคิดเรื่องตุ๊กตาเริ่มต้น
แฮนด์เลอร์ยืนยันว่าบาร์บี้เป็นไอเดียของเธอ หลังจากที่เธอดูลูกสาวนั่งเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ตุ๊กตากระดาษ ขณะที่ไรอันยืนกรานว่าตัวเองเป็นต้นคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่ต้องการตุ๊กตาน่าเบื่อ แต่ต้องเป็นตุ๊กตาที่เหมือนจริง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ไม่มีข้อสงสัยก็คือ แฮนด์เลอร์ไปพบบิล์ด-ลิลลีโดยบังเอิญระหว่างเที่ยวยุโรป และซื้อมาเป็นต้นแบบให้ไรอันพัฒนาต่อ
แต่เป็นไรอันที่ใช้เทคโนโลยีช่วยให้เด็กๆ บิดแขนบิดขาบาร์บี้ได้อย่างง่ายดายและนิ่มนวล ออกแบบขนาดอย่างลงตัวที่ตัวเขาไปจดสิทธิบัตรตัวเองในฐานะ ‘ที่ปรึกษาอิสระ’ ในการพัฒนาสาวสวยพลาสติกตัวนี้
ปี 1959 แมทเทลพร้อมเปิดตัวบาร์บี้ แม้ขณะนั้นแฮนด์เลอร์และไรอันยังเถียงกันไม่จบว่าใครกันแน่เป็นคนคิดชื่อตุ๊กตา แฮนด์เลอร์นั้นบอกว่าบาร์บี้มาจากชื่อบาร์บารา ลูกสาวของตน ขณะที่ไรอันเถียงว่ามาจากชื่อภรรยาของเขา
กระนั้น แม้ภายในบริษัทยังกัดกันไม่ปล่อย แต่ในโลกภายนอก แมทเทลประสบชัยชนะในธุรกิจถล่มทลายหลังเปิดตัวบาร์บี้ ฤดูใบไม้ผลิปี 1960 บริษัทผลิตไม่ทันขาย ห้างร้านต่างๆ ต้องจำกัดจำนวนตุ๊กตาที่ขายให้ลูกค้าเจ้าประจำ และแม้โรงงานในญี่ปุ่นผลิตบาร์บี้ออกมาสัปดาห์ละแสนตัวก็ยังไม่พอตอบสนองคำสั่งซื้อ
คอลัมนิสต์บันเทิงคนหนึ่งรายงานว่า สาวพลาสติกนางนี้ได้จดหมายจากแฟนๆ มากกว่าที่เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ และออร์เดรย์ เฮปเบิร์นได้รับรวมกันเสียอีก
และด้วยส่วนแบ่งที่มีเข้ามาไม่ขาดสาย ไม่นานไรอันจึงเริ่มต้นสนองความอยากของตัวเองในทุกรูปแบบ ปี 1965 เขาซื้อแมนชันสไตล์ทิวดอร์บนเนินเขาเบลแอร์ ซึ่งเคยเป็นของดาราดัง วอร์เนอร์ แบ็กซ์เตอร์ และเรียกขานมันว่าปราสาท
ทุกค่ำคืนวันพฤหัสฯ เขาจะเชิญแขกนับสิบมาปาร์ตี้ในปราสาท ว่ากันว่าต้นทศวรรษ 1970 ไรอันจัดปาร์ตี้ไม่ต่ำกว่า 182 ครั้งในปีเดียว และว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งมาประชาสัมพันธ์งานให้
เป้าหมายหลักของปาร์ตี้คือฟรีเซ็กซ์ โดยที่ภรรยาและลูกสาวสองคนถูกกันไว้ใน ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ภายในปราสาท และนั่นทำให้เธอทนไม่ได้และขอหย่า
ด้านแฮนด์เลอร์เองก็ไม่ใช่นางฟ้านางสวรรค์ เพราะขณะที่ไรอันปาร์ตี้ระเบิดเถิดเทิง แฮนด์เลอร์จัดการหั่นค่ารอยัลตี้ของเขาจนแทบไม่เหลือ ไรอันจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแมทเทลหลายล้านเหรียญ
คำสาปของบาร์บี้ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ปี 1970 แฮนด์เลอร์ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมและต้องตัดทิ้ง มาปลายปี 1973 ธนาคารเริ่มไม่มั่นใจในรายงานการเงินและอนาคตของแมทเทล ราคาหุ้นของบริษัทร่วงจากกว่า 66 ปอนด์ต่อหุ้นเหลือปอนด์เดียว
ปี 1975 แฮนด์เลอร์และสามีถูกบีบออกจากบอร์ดและตัดขาดจากบริษัทที่พวกเขาตั้งขึ้นมา สามปีให้หลังแฮนด์เลอร์ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดและปลอมแปลงรายงานการเงิน แรกๆ เธอปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่เจ็ดเดือนต่อมาก็ยอมสารภาพและตกลงกับอัยการเพราะรู้ว่าเป็นวิธีเดียวที่จะรอดคุก จึงเหลือโทษเพียงทำงานบริการชุมชน 2,500 ชั่วโมง และเสียค่าปรับ 40,000 ปอนด์
ระหว่างที่แมทเทลประสบวิกฤตการเงิน รายได้จากค่ารอยัลตี้ของไรอันจึงพร่องลง ปี 1974 เขาฟ้องว่าถูกบริษัทโกง 16 ล้านปอนด์
การฟ้องร้องและรายได้ที่ลดลงทำให้ไรอันเริ่มติดเหล้าและยาระงับประสาท หลังจากนั้นจนก่อนเสียชีวิต เขาแต่งงานอีกสี่ครั้งๆ หนึ่งมีเจ้าสาวเป็นนักแสดงชื่อซาซา เกเบอร์ ที่สุดท้ายจบลงด้วยค่าเลี้ยงดู 260,000 ปอนด์
ตลอดระยะเวลาที่เปลี่ยนภรรยาเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า ไรอันติดทั้งเหล้า โคเคน และโสเภณี ขณะเดียวกันนั้น ค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องทำให้ในที่สุดแล้วเขาต้องขายปราสาทอันเป็นที่รักไปด้วยราคา 1.35 ล้านปอนด์ หรือแค่เศษเสี้ยวของเมื่อตอนซื้อมา
ยิ่งแมทเทลยื้อคดี ไรอันยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแถมเสียประสาทหนัก ปี 1979 เขาหัวใจวาย
ปีต่อมา แมทเทลยื่นข้อเสนอไกล่เกลี่ยด้วยเงิน 6 ล้านปอนด์ น้อยกว่าที่ไรอันเรียก 10 ล้านปอนด์
ปี 1989 หลังจากแต่งงานกับภรรยาคนสุดท้ายที่เป็นชาวโปแลนด์อพยพชื่อแม็กดา ได้แค่ห้าปี ไรอันมีอาการหลอดเลือดสมองต้องนั่งรถเข็นและพูดไม่ได้
เขารับไม่ได้กับสภาพตัวเองจึงยิงตัวตายในอีกสองปีต่อมา โดยทิ้งข้อความไว้บนกระจกด้วยลิปสติกของภรรยาว่า ‘ผมรักคุณ’ ขณะอายุเพียง 64 ปี
การตายของไรอันไม่ได้ทำให้ความขุ่นเคืองของแฮนด์เลอร์ยุติลง ตอนที่นิวยอร์ก ไทมส์เขียนว่าไรอันเป็น ‘ผู้สร้างบาร์บี้’ เธอส่งจดหมายถึงกองบรรณาธิการโดยย้ำว่าเขาเป็นแค่ ‘คนทำงานออกแบบคนหนึ่งเท่านั้น’
และตลอด 11 ปีต่อจากนั้นจนถึงวันสิ้นใจในปี 2002 ขณะอายุ 85 ปี แฮนด์เลอร์ยังคงพยายามโน้มน้าวให้โลกเชื่อว่าเธอคนเดียวที่เป็นผู้ให้กำเนิดบาร์บี้ ตุ๊กตาพลาสติกที่สร้างความพึงพอใจให้แก่คนนับล้าน แต่กับ ‘พ่อแม่ผู้ปลุกปั้น’ บาร์บี้กลับนำมาให้เพียงความโลภและทุกข์แสนสาหัส
กำลังโหลดความคิดเห็น