xs
xsm
sm
md
lg

เจ๊พรหว่านแท๊กซี่4พันล้านกู้ออมสินคิดดอกเบี้ย17%!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ประชานิยมพาณิชย์ร่วมแบงก์ออมสิน ปล่อยกู้แท็กซี่ทำอาชีพเสริม 4,000 ล้าน โปรโมตอย่างดีกู้ง่าย ดอกเบี้ยต่ำ แต่สุดท้ายทำคนขับแท็กซี่อึ้งเหตุโขกดอกเบี้ย 16-17% "เจ๊พร" คุยดอกเบี้ยถูกกว่าธนาคารประชาชน พร้อมแจกบัตรบลูการ์ดซื้อของเซเว่นราคาถูก ด้านเช็ค 2 พัน คลังเตรียมเซ็นเอ็มโอยูภาคเอกชนร่วมโครงการเพิ่มมูลค่าเช็คช่วยชาติอีก 10-20% เพิ่มแรงจูงในผู้ไรับสิทธิประโยชน์เร่งการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ งานนี้มีทั้งเซ็นทรัล คาร์ฟู ซีพี โลตัส เอ็มเคสุกี้ กิฟฟารีน แม็คโดนัลด์ เล็งลดค่าโดยสาร บขส. "กอร์ปศักดิ์" เตรียมชง ครม.ขออีก 7 พันล้านเพิ่มศักยภาพคนตกงานในเฟส 2

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับธนาคาออมสิน จัดโครงการสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ขับแท็กซี่ เพื่อใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพเสริม และใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยกำหนดวงเงินไม่เกินรายละ 5,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน ผ่อนชำระ 12 งวด และให้คำประกันกลุ่มกันเอง 2 คน ต่อ 1 คำขอกู้ โดยมีวงเงินให้กู้ทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท
สำหรับหลักเกณฑ์การขอกู้ ผู้กู้และผู้ค้ำประกันต้องมีอายุเกิน 20 ปี มีใบอนุญาตขับขี่รถแท็กซี่ถูกต้อง และมีอายุงานไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่วนหลักเกณฑ์พิจาณาใช้แบบเดียวกับธนาคารประชาชน และผ่อนชำระผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อเพื่อแท็กซี่จะคิดดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าดอกเบี้ยประชาชนทั่วไป ที่คิดเดือนละ 1% หรือ 22% ต่อปี แต่สินเชื่อแท็กซี่ตกปีละ 16-17% เท่านั้น
“โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือ ผู้เข้าร่วมโครงการแท็กซี่ ธงฟ้า ลดค่าบริการ 5 บาทต่อเที่ยว ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะมีแท็กซี่เข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 40,000 คัน จากปัจจุบันที่มีแล้ว 1,000 คัน”นางพรทิวากล่าว
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลประกาศเงื่อนไขสินเชื่อเพื่อรถแท็กซี่ที่ชัดเจนกว่าเดิม เนื่องจากการประกาศดอกเบี้ยรายเดือน 0.75% แล้วบอกว่าเป็นอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ผู้ขับแท็กซี่เข้าใจผิดว่าดอกเบี้ยต่ำจริงๆ แต่พอมาคำนวณเป็นแบบรายปี เท่ากับว่าดอกเบี้ยจะสูงถึง 16-17% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก และตั้งวงเงินให้กู้ไว้สูงถึง 4,000 ล้านบาท เห็นว่ามากเกินไป คนขับแท็กซี่คงไม่ไปกู้มากถึงขนาดนั้น
“ตอกแรกบอกว่าจะให้คนขับแท็กซี่กู้ออมสินดอกเบี้ยต่ำ คนขับแท็กซี่ก็ดีใจที่รัฐบาลจะหาทางช่วยให้คนที่ไม่มีหลักประกันอย่างคนขับแท็กซี่ได้กู้เงินจากแบงก์ พอเอาเข้าจริง ดอกเบี้ยต่ำ ก็เป็นแค่รายเดือนคิดเดือนละ 75 สตางค์ ทำไมไม่พูดให้ชัด เพราะพอมาคิดเป็นปี ตกปีละ 16-17% ไม่เห็นจะต่ำตรงไหน”นายวิฑูรย์กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า การปล่อยกู้ของธนาคารออมสินในครั้งนี้ เป็นการปล่อยกู้รูปแบบเดียวกันกับการกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ เพราะจะมีการคิดดอกเบี้ยรวมไปในเงินต้น แล้วหารเฉลี่ยกับเดือนที่ต้องชำระ ถึงจะเป็นยอดที่ผู้กู้จะต้องจ่ายรายเดือน ไม่ใช่เป็นการชำระเงินต้นแบบลดต้นลดดอก
นางยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการสินเชื่อแล้ว กระทรวงฯ ยังจัดโครงการธงฟ้าช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่เพิ่มอีก โดยจัดข้าวแกงธงฟ้านำร่องเพื่อขนขับแท็กซี่อีก 5 จุด บริเวณที่มีผู้ขับรถจอดพักเป็นประจำ เช่น ตรงข้ามโรงเรียนเทคโนโลยี ปทุมธานี และหลังอิมแพค เมืองทองธานี รวมถึงสหกรณ์แท็กซี่ ซึ่งจำหน่ายแกงราดข้าวกับข้าวอย่างเดียว 12.50 บาท และกับข้าว 2 อย่าง 17.50 บาท
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิพิเศษซื้อสินค้าราคาถูก โดยแจกบัตรบลู การ์ด ให้ผู้ขับที่ร่วมโครงการ แท็กซี่ ธงฟ้า มีส่วนลดในการซื้อสินค้าจำเป็น เช่น ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชูกำลัง ของใช้ประจำวันแบตเตอรี น้ำมันเครื่อง จากร้านสะดวกซื้อ เซเวน-อีเลฟเวน ห้างคาร์ฟูร์ และบิ๊กซี
“เบื้องต้นโครงการจะเริ่มที่เซเวน อีเลฟเวนก่อน 1 เม.ย.-31 พ.ค.นี้ ที่จะแจกคูปองส่วนลดให้ซื้อมาม่า คัพ ลดจากถ้วยละ 13 บาท เหลือ 11 บาท กระทิงแดงลดจาก 2 ขวด 20 บาท เหลือ 16 บาท น้ำอัดลมกระทิงแดงโคล่าลดจากขวดละ 12 บาท เหลือ 9 บาท และน้ำอัดลม แอล-กัลป์ ลดจากถ้วยละ 17 บาท เหลือ 12 บาท”
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า นางพรทิวา ยังเป็นสักขีพยาน ลงนามเอ็มโอยู กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้เงินกู้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง รวมทั้งช่วยประกันวงเงินการส่งออกสินค้า ที่ปัจจุบันถูกลูกค้าชะลอการชำระเงินเพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ก็ยังไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์การช่วยเหลือชัดเจน ทั้งวงเงินปล่อยกู้ วงเงินค้ำประกัน และดอกเบี้ยพิเศษ

***เอกชนพรึ่บ! เซ็นเช็คช่วยชาติ
นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภคและการให้บริการในชีวิตประจำวันมาประมาณ 20 รายเพื่อหารือเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการเช็คช่วยชาติ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมจะให้ความร่วมมือโดยการให้ส่วนเพิ่มของมูลค่าเช็คในอัตรา 10-20% โดยจะลงนามในสัญญาร่วมกัน(เอ็มโอยู)ในวันที่ 18 มี.ค.นี้
ผู้ประกอบการส่วนที่เข้าร่วมรายการ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมกับความต้องการของผู้มีรายได้น้อยที่รับเช็ค 2 พันบาท คือผู้จำหน่ายสินค้าในราคาไม่แพงและมีสินค้าในชีวิตประจำวันของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ส่วนใหญ่กลุ่มผู้ประกอบการยังไม่เปิดเผยโปรโมชั่นของแต่ละคนมากนัก เพื่อมิให้เสียผลในทางตลาดและการแข่งขันลดราคาจากคู่แข่ง เชื่อว่าโปรโมชั่นที่ออกมาน่าจะจูงใจห้ประชาชนมาใช้พอสมควร
"ยอมรับว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนที่ให้ความสนใจกับเช็คช่วยชาติปลอม จึงสอบถามถึงวิธีการป้องกันในช่วงที่มีการนำเช็คมาซื้อสินค้า เท่าที่ทราบก็จะมีการทำตัวนูนตรงคำว่าเช็คช่วยชาติ และในส่วนของตัวอักษรและตัวเลขที่แสดงจำนวนเงินจะเป็นสีเหลืองเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งสามารถให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการได้พอสมควร"นายมนัสกล่าว
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้าร่วมลงนามเอ็มโอยูประกอบด้วย เซ็นทรัล โรบินสัน บิ๊กซี คาร์ฟู ท็อป ซี.พี.ออล โลตัส ส่วนผู้ประกอบการสินค้าอื่นๆจะมีกลุ่มโออิชิ เอ็ม.เค.สุกี้ กิฟฟารีน แม็คโดนัลด์
รายงานข่าวจากบริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.)แจ้งว่า จะเข้าร่วมโครงการนี้โดยให้ส่วนลดในการซื้อตั๋วรถปรับอากาศ ป.1 และป.2 จำนวน 10% สำหรับผู้ซื้อตั๋วบขส.ไปหรือกลับ หรือทั้งไปและกลับ ต่อหนึ่งคน
นายภาณุพันธุ์ จิตศักดานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทเวิร์ลแฟร์ จำกัด กล่าวว่า จะเปิดงานแสดงสินค้าในวันที่ 28 มี.ค.-5 เม.ย.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจะนำผู้ประกอบการกว่า 400 รายที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ โดยจะให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้นำเช็คช่วยชาติไปซื้อสินค้าจะมีสิทธิซื้อสินค้าในมูลค่า 2,500 บาท
น.ส.เพชรรัตน์ อุทัยสาง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แมคโดนัลด์ กล่าวว่า จะให้ส่วนลด 20% แก่ผู้ใช้เช็คช่วยชาติซื้อสินค้าโดยไม่กำหนดวงเงินขั้นต่ำของราคาสินค้า
น.ส.ฤดี เอื้อจงประสิทธิ์ ผอ.ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กล่าวว่า บิ๊กซีสนใจจะเข้าร่วมโครงการนี้มาก เชื่อว่าลูกค้าที่ได้รับเช็คช่วยชาติเป็นลูกค้าประจำของบิ๊กซีอยู่แล้ว ซึ่งบิ๊กซีจะทำโปรโมชั่นให้แรงแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ยังไม่ยอมเปิดเผยโปรโมชั่นของตัวเอง
ด้านนายพงศ์พสุ อุณาพรหม ผู้อำนวยฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัทกิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า กิฟฟารีนได้เตรียมโปรโมชั่นพิเศษเมื่อใช้เช็คช่วยชาติซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ หรือผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ หรือชุดสมัครกิฟฟารีน อย่างใดก็ได้ครบ 1,200 บาทขึ้นไป รับฟรีผลิตภัณฑ์สมนาคุณพิเศษโดยเลือกได้ 1 รายการดังนี้ ยาสีฟันไบโอเฮอร์เบิล น้ำยาซักชุดชั้นใน ลิปสติก แป้งรองพื้น โฟมล้างหน้าวิส และชุดแป้งและโรลออน
ผู้มีสิทธิ์ได้รับเช็คช่วยชาติประกอบด้วย ข้าราชการและลูกจ้างประจำจำนวน 1.4 ล้านคน ผู้ประกันตน จำนวน 8.1 ล้านคน และผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ จำนวน 2.4 แสนคน โดยการรับเช็คหากเป็นข้าราชการฯรับเช็คที่ส่วนราชการที่สังกัดทั้งกรุงเทพฯและจังหวัด 75 แห่ง ผู้ประกันตนรับเช็คที่นายจ้างหรือสำนักงานประกันสังคมทั้งส่วนกลางและจังหวัด และผู้รับเบี้ยหวัดฯรับเช็คที่กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัด 75 แห่ง

***ชง 7 พันล้านเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเฟส 2
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน กล่าวว่าโครงการระยะที่ 1 ใช้งบ 6.9 พันล้านบาท ดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่ เม.ย. – ก.ย. เป้าหมายฝึกอบรมผู้ว่างงาน 2.4 แสนตำแหน่ง และ ระยะที่ 2 กำลังเร่งขออนุมัติงบประมาณปี 53 เพิ่มอีก 7 พันล้านบาทต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อฝึกอบรมผู้ว่างงานที่เหลือ อีก 2.6 แสนคน ซึ่งทุกหลักสูตรแต่ละหน่วยงานเสนอต้องได้งานทำรองรับ หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นทางรัฐบาลมีแนวคิดจ้างงานในกิจการภาครัฐ เช่น โครงการคืนครูให้นักเรียน 1.4 หมื่นตำแหน่ง , ฝึกอบรมการตรวจสอบการทุจริตสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำข้าว และ 68 บริษัท ในโครงการนมโรงเรียน หรือ การฝึกอบรมนักศึกษาจบใหม่ 4 หมื่นคน ช่วยงานสำรวจสำมะโนครัวแก่สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ แม้แต่การฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้เด็กไทยเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น
ในโครงการชะลอการว่างงานยังเน้นกลุ่มเอสเอ็มอี ตามรายงานระบุว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน 106 แห่ง พนักงานที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง 74,000 คน ที่รอความช่วยเหลือ แต่ขณะนี้กำลังเร่งพิจารณาในรายละเอียดว่า หากผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เลิกจ้าง 1 ปี แต่ติดปัญหา คือ จะสร้างข้อผูกมัดอย่างไรไม่ให้ผู้ประกอบการผิดสัญญา
นายกนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานฯ กล่าวว่าโครงการฝึกอบรมแต่ละรุ่นประมาณ 4 หมื่นคน โดยรุ่น 1 จะเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 18 - 24 มี.ค.นี้ ซึ่งในวันที่ 26 มี.ค.จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ และในวันที่ 1 – 30 เม.ย.จะเริ่มจัดฝึกอบรมทั่วประเทศ และ ในวันที่ 1 พ.ค.จะเริ่มส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการชุมชนพอเพียง หรือ การประกอบกิจการเป็นของตัวเอง ยังจะได้รับเบี้ยเลี้ยงต่อไปอีก 3 เดือน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้แบ่งผู้ฝึกอบรมออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ว่างงาน กลุ่มถูกเลิกจ้าง กลุ่มเข้าข่ายกำลังถูกเลิกจ้าง และ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งหลักสูตรในการดำเนินการครั้งนี้มี 949 หลักสูตร โดยมีหน่วยงานจัดการฝึกอบรม 42 แห่ง แบ่งการฝึกอบรมเป็น 7 กลุ่มอาชีพ คือ 1.การเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง 2.การผลิตและการส่งออก 3.การบริการท่องเที่ยวและอาหาร 4.การค้าและเศรษฐกิจพอเพียง 5.คอมพิวเตอร์ และ ธุรการ 6.การคมนาคมและขนส่ง และ 7.การก่อสร้าง
นายวีระชัย ถาวรกานต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าเฉพาะเดือน ม.ค.มีผู้ว่างงาน 1.2 แสนตำแหน่ง ซึ่งทางกระทรวง และ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดให้เสนอรายชื่อโรงงานที่กำลังประสบปัญหาเลิกจ้างเข้าร่วมโครงการด้วย
ค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไม่เกิน 5,000 บาท/คน/เดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง ระหว่างการอบรม 4,800 บาท/คน/เดือน โดยเฉลี่ยจ่ายตามวันที่เข้าอบรมจริง จำนวน 160 บาท/คน/วัน ค่าพาหนะเดินทางเหมาจ่ายระหว่างการอบรม 720 บาท/คน/เดือน จ่ายตามวันที่เข้าอบรมจริง จำนวน 30 บาท/คน/วัน ค่าพาหนะเดินทางที่ฝึกอบรม เหมาจ่าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 1-500 ม.เหมาจ่าย 500 บาท 501-1,000 กม. เหมาจ่าย 1,000 บาท และ 1,001 กม.ขึ้นไป เหมาจ่าย 1,500 บาท โดยผู้เข้าอบรมแต่ละคนต้องแสดงหลักฐานการรับเงินรายบุคคล กรณีที่สถาบันจัดฝึกอบรม เมื่อได้รับเงินค่าใข้จ่ายในการฝึกอบรมจำนวน 5,000 บาท/คน/เดือน ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ เว้นแต่ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ และค่าเดินทางสำหรับผู้เข้ารับการอบรม ให้ถือปฏิบัติตามที่คณะกรรมการบริหารฯกำหนด
ค่าใช้จ่ายในกรณีผ่านการอบรมแล้ว ผู้เข้าการฝึกอบรมประสงค์จะกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา กรณีผ่านการฝึกอบรมแล้วและประสงค์จะกลับภูมิลำเนา สามารถขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพจากโครงการฯ ดังนี้ 1.เงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพจำนวน 4,800 บาท/คน/เดือน เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารฯ และ 2. ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา เหมาจ่าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด1-500 ม.เหมาจ่าย 500 บาท 501-1,000 กม. เหมาจ่าย 1,000 บาท และ 1,001 กม.ขึ้นไป เหมาจ่าย 1,500 บาท สำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในชุมชนภูมิลำเนา ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารฯ และจะได้รับเงินค่าเดินทาง พร้อมกับเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพเดือนแรก โดยการรับรองการกลับไปทำงานในภูมิลำเนาจากฝ่ายปกครองในพื้นที่.
กำลังโหลดความคิดเห็น