ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “สุนทร รักรงค์” แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมพร และผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยภาคใต้ 16 จังหวัดเป็นหนึ่งในพันธมิตรฯ ที่ทำงานการเมืองภาคประชาชนมาตั้งแต่สมัยที่เป็นนักศึกษา ซึ่งสุนทรเล่าให้ฟังว่า สมัยที่เรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ได้ทำกิจกรรมมาโดยตลอด โดยเป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา และเป็นประธานสมาพันธ์นักศึกษาภาคใต้ ซึ่งตอนนั้นสมาพันธ์นักศึกษาภาคใต้ มีการนำร่องประท้วง รสช. มีการเคลื่อนไหวนัดกันหยุดเรียน ประท้วงให้หยุดเผด็จการ มีการทำจดหมายถึงผู้ที่มีอำนาจในสมัย เรียกว่าสมัยที่เรียนก็ทำกิจกรรมทางด้านการเมืองมาโดยตลอดเช่นกัน
จนเมื่อเรียนจบก็ได้ออกมาทำธุรกิจของตนเอง จนเมื่อถึงปี 2548 ที่ทางคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ออกมาเคลื่อนไหวรู้ทันทักษิณและขับไล่รัฐบาลทรราชให้ออกไปจากประเทศไทย ก็ได้เข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ด้วยในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมพร โดยอาสาเป็นแกนนำพันธมิตรฯ จังหวัดชุมพร พร้อมทั้งอาสาที่จะรับใช้พี่น้องพันธมิตรฯในภาคใต้ด้วยการเป็นผู้ประสานงานพันธมิตรฯภาคใต้ 16 จังหวัด โดยได้รวมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีเข้าไปด้วย มีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมที่ควบคู่กับเวทีพันธมิตรฯส่วนกลาง ทั้งการเปิดเวทีถ่ายทอดสดจากเวทีพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานสังสรรค์และทำเนียบรัฐบาล กิจกรรมต่างๆที่เป็นการกดดันให้ทักษิณและรัฐบาลนอมินีของทักษิณ ต้องออกไป
สุนทร เล่าอีกว่า ภายหลังจากที่พันธมิตรได้ประกาศยุติการชุมนุม ทางพันธมิตรฯภาคใต้ 16 จังหวัดไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหวยังมีการเคลื่อนไหวต่อไป โดยมีมติที่จะเดินหน้าในการทำให้พันธมิตรเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น โดยการจัดตั้งเป็นเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มก้อน เพราะเรามองว่าการรวมตัวของพันธมิตรตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้น มาเป็นการรวมตัวที่หลวมๆ เหมือนกับการรวมตัวกันทอดกฐิน พอรวมตัวเอาเงินถวายวัดเสร็จต่างคนต่างกลับบ้าน พอเริ่มใหม่ด้วยการรวมตัวกันที่ธรรมศาสตร์ 2 ครั้ง เหมือนเครื่องดีเซลที่รวมตัวได้ช้า และที่สำคัญที่สุดในการตัวรวมกันเมื่อปี 2549 นั้น ไม่ได้มีเรื่องการเมืองใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งการสร้างการเมืองใหม่และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้นั้น ต้องอาศัยการจัดตั้ง เราจึงจำเป็นที่จะต้องแปรสภาพพันธมิตรฯภาคใต้ ที่ได้ร่วมกันทำงานร้อน งานกดดันมาเป็น “เครือข่ายการเมืองภาคประชาชนภาคใต้”
โดยเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนภาคใต้ เป็นส่วนผสมระหว่างสหภาพแรงงานกับกลุ่ม NGO จะมีการพูดถึงตัวสมาชิก เงินทุนที่จะนำมาใช้ในการเคลื่อนไหว ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ที่จังหวัดชุมพร มีโครงการเตรียมที่จะผลิตกาแฟซองสำเร็จรูป ชื่อ “กาแฟพันธมิตรฯชุมพร” เมื่อผลิตออกมาแล้วก็จะส่งไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งก็เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการผลิตสินค้าออกมาในนามของพันธมิตรฯก็สามารถที่จะนำไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆได้เช่นกัน ส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าขายจะกลายเป็นทุนในการดำเนินงานทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ซึ่งในเชิงกว้างนั้นจะเป็นการทำงานในลักษณะของมวลชน ด้วยการจัดเวทีให้มวลชนได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งเงินที่เกิดจากการระดมทุนหลังจากที่เหลือจากช่วย ASTV แล้ว อาจจะนำไปซื้อร้านดาวเทียมไปติดตั้งตามร้านกาแฟในชุมชน การที่นำจานไปติดตั้งตามชุมชนนั้นถือเป็นการทำงานในเชิงลึกลงไปถึงชุมชนมากขึ้น
การจัดตั้งการเมืองภาคประชาชนนั้น สุนทร บอกว่า จะต้องเริ่มต้นจากระบบหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยแกนนำในแต่ละระดับนั้นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจก่อน เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้กับสมาชิกได้ เพราะองค์กรจัดตั้งใดก็ตามจะประสบความสำเร็จได้นั้นผู้นำและมวลชนต้องมีองค์ความรู้ และการที่จะมีองค์ความรู้ได้จะต้องมีการศึกษาจากการชี้แนะจากผู้ที่รู้กว่า หลังจากนั้นก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มไม่ต้องใหญ่มากแค่ 5-6 คน ลงไปทำงานในพื้นที่ด้วยการปฏิบัติจริงๆ ทั้งในการขยายสมาชิก การหาทุน ซึ่งการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จและเข้มแข็งได้จะต้องมีองค์ประกอบพร้อมกัน 3 อย่าง คือ ผู้นำและมวลชนต้องมีความรู้ ต้องมีทุนในการขับเคลื่อนองค์กรนั้นๆ และจะต้องมีเอกภาพในการจัดการกับปัญหาทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
“วันนี้ที่ทุกคนต้องการการเมืองใหม่ เพราะการเมืองเก่าใช้ไม่ได้ และการเมืองเก่าไม่สามารถรับใช้ประชาชนได้ กลไกลรัฐสภาพิกลพิการหมดแล้ว พันธมิตรฯในฐานะผู้ที่ตื่นรู้ ต้องหาทางออกนำร่องกดดันในนามของการเมืองภาคประชาชนจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม” นายสุนทร กล่าวและว่า
ตัวอย่างที่เห็นได้ในขณะนี้ คือ การต่อต้านโรงไฟฟ้าที่ชุมพร ในช่วงแรกๆมีคนเข้าร่วมชุมนุม 600-700 คน แต่ตอนนี้เพิ่มเป็น 2,000-3,000 คนและจากที่เมื่อก่อนนักการเมืองท้องถิ่นนั่งดูการต่อต้านของชาวบ้านเฉยๆ ตอนนี้นักการเมืองท้องถิ่นต้องกระโดดเข้ามาด้วย เพราะชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น เมื่อชุมชนเข้มแข็ง คนตื่นรู้ คุณภาพของนักการเมืองก็จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเชื่อในหลักการที่ว่า ถ้าทำให้ประชาชนเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพนักการเมือง เพราะนักการเมืองจะพัฒนาคุณภาพตัวเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าการร่างกฎที่ดีจะทำให้นักการเมืองมีคุณภาพ เพราะสังคมที่ดีได้จะต้องเปลี่ยนจากฐานราก และต้องเสียสละจริงๆ”
นายสุนทร กล่าวต่อว่า ดังนั้น จะต้องมีการจัดตั้งแกนนำเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนแต่ละตำบล แต่ละอำเภอ ที่สามารถจัดตั้งได้ และหลักๆ จะต้องมีการผลิตสินค้าเพื่อหาทุน เช่น ที่ชุมพรมีมติที่ชัดเจนในการผลิตสินค้าและเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อะไรที่เราสามารถพึ่งตัวเองได้เราต้องพึ่งตัวเองก่อน เช่นผลิตสินค้าใช้ในชุมชนของตัวเองก่อนเพื่อให้ทุกคนในชุมชนอยู่ได้ เพราะสิ่งที่เรามองว่าเป็นศัตรูที่แท้จริงไม่ใช้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะทักษิณเป็นแค่ตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น
แต่ศัตรูที่แท้จริงของเราคือ ระบบทุน เพราะระบบทุนก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง และระบบทุนสอนว่าวันนี้เรามีเงิน 200 บาท พรุ่งนี้เราต้องมีเงิน 500 บาท ถึงจะทำให้เราร่ำรวยได้ ซึ่งสวนทางกลับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงถ้าเรามีเงิน 200 บาท ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น มีเงิน 200 บาท จ่ายแค่ 150 บาทก็จะทำให้เรารวยขึ้น 50 บาท นี่คือสิ่งที่เราจะนำมาใช้กับมวลชนของเราในการสร้างการเมืองใหม่และเครือข่ายการเมืองภาคประชาชน
แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เราจะปฏิเสธระบบทุนทั้งหมดไม่ได้ เราต้องยอมรับระบบทุน โดยการอยู่อย่างรู้ทันระบบทุน ซึ่งคอนเซ็ปต์การเมืองใหม่ของภาคใต้นั้น “เรียนรู้ อยู่กับทุนอย่างเท่าทันในแนวคิดทุนพอเพียง”
นายสุนทร กล่าวอีกว่า การทำงานของเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนนั้น ไม่ได้มองเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯเท่านั้น แต่จะทำงานร่วมกับกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมแล้ว เช่น กลุ่ม NGO กลุ่มประชาสังคม กลุ่มที่มีการปกป้องสิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้านเขื่อน กลุ่มยางพารา กลุ่มปาล์ม เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีอยู่แล้วและเข้มแข็ง เพียงแต่เราเข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้สามารถที่จะทำความเข้าใจได้ไม่ยากเพราะเป็นกลุ่มที่มีความรู้อยู่แล้ว เพราะการเคลื่อนไหวงานชุมชนนั้นเราอย่าคิดว่ามวลชนมีความล้าหลังกว่าเรา เหล่านี้ตื่นรู้ก่อนเราด้วยซ้ำไป บางส่วนเราต้องลอกความคิดมาขยายผลด้วยซ้ำ และจากการที่ได้เข้าไปพบปะกับกลุ่มต่างๆในชุมพร ที่อำเภอพะโต๊ะ กลุ่มเรานี้มีความตื่นรู้มากๆ และตื่นรู้มานานแล้ว
ตอนนี้พันธมิตรฯภาคใต้ได้ขยายไปถึงประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี สิ่งที่เราเจอทุกครั้งคนใต้จะคิดเหมือนกันๆ ไม่ว่าจะเป็นโนโหวต หรือ 20% เมื่อคนใต้รวมเป็นแนวรบแนวหน้าที่อาจหาญ ทำให้มวลชนอุ่นใจว่าคนใต้ออกมาต่อสู้แล้ว เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าคนใต้ทำเป็นทั้งงานเย็นและงานกดดัน และเชื่อว่าคนใต้สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และอยากจะนำร่องให้คนภาคอื่นๆ เห็นว่าการทำงานในเชิงลึกเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อมีงานร้อนมีนกหวีดเรียกรวมพลก็ไม่ใช่ปัญหา สามารถร่วมพลได้ทันทีเช่นกัน
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนนั้น นายสุนทร บอกว่า หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่จังหวัดระนอง ได้ข้อสรุปว่าโครงสร้างเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนน่าจะออกมาในรูปแบบที่ให้ผมเป็นผู้ประสานงาน โดยทุกจังหวัดจะต้องมีการจัดตั้งองค์กรของตัวเอง โดยมีพันธกิจร่วมกันที่จะต้องดำเนินการในนามของภาคใต้ คือ การเมืองใหม่ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาปากท้องของชาวบ้านเพื่อทำให้การเมืองใหม่กินได้ โดยการแบ่งโซนเป็น 3 โซน คือ ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง และภาคใต้ฝั่งอันดามัน เช่น กรณีของภาคใต้ตอนบน ชุมพร ประจวบฯ และเพชรบุรี มีปัญหาที่ใกล้เคียงกันจะรวมตัวกันต่อต้านเรื่องเหล็กต้นน้ำ โรงไฟฟ้า เป็นต้น