xs
xsm
sm
md
lg

ADBระบุเอเชียสูญเงินทุน$9.6ล้านล.ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี -สินทรัพย์ด้านการเงินในเอเชียหดหายไปถึง 9.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2008 หรือมากกว่ามูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ในเวลา 1 ปีของภูมิภาคนี้เล็กน้อย ทั้งนี้ตามรายงานการศึกษาของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวานนี้(9)

เอดีบีกล่าวว่าเอเชียได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดตัวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มูลค่าเงินทุนในทั่วโลกมลายหายไปมากกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์

"เอเชียได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าส่วนอื่น ๆของโลก เนื่องจากตลาดการเงินในภูมิภาคนี้ขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก" เอดีบีกล่าวในรายงาน

เอดีบีกล่าวว่ามูลค่าสินทรัพย์ที่หดหายไปในเอเชีย ซึ่งไม่นับรวมญี่ปุ่นด้วยนี้ มากกว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของภูมิภาคนี้รวมกันเสียอีก

ทางด้าน ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานเอดีบี กล่าวในระหว่างแถลงข่าวเปิดตัวรายงานฉบับนี้ว่า เขาวิตกว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะต้องย่ำแย่ลงไปอีก ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้

"นี่นับเป็นวิกฤตที่สาหัสที่สุดของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งมโหฬาร (ในทศวรรษ 1930) เป็นต้นมา แม้ว่ามันจะมีต้นกำเนิดมากจากสหรัฐฯและลุกลามไปยังยุโรป แต่ตอนนี้ไม่มีภูมิภาคใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้" คุโรดะกล่าว "ผมเกรงว่าสถานการณ์จะต้องย่ำแย่ลงไปอีกก่อนที่มันจะดีขึ้น"

เอดีบีบอกว่า สินทรัพย์ทางการเงินมูลค่า 9.6 ล้านล้านดอลลาร์ที่สูญไปของเอเชียนั้น คิดโดยนับการขาดทุนทั้งในหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร รวมทั้งตราสารที่อิงอยู่กับสินเชื่อบ้านและหลักทรัพย์อื่น ๆ นอกจากนี้ก็ยังนำเอาค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯมาคำนวณรวมเข้าไปด้วย

แต่ตราสารอนุพันธ์การเงินอย่างเช่น เครดิต ดีฟอลต์ สวอป ไม่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้

เอดีบีกล่าวว่าจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันอันใกล้ชิดระหว่างตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งทำให้ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่ถูกกระทบจากวิกฤต

รายงานชี้อีกว่ การฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียอาจจะไม่เริ่มขึ้นมาจวนจนกระทั่งถึงปลายปี 2009 หรือแม้แต่ต้นปี 2010 ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่อย่างในเอเชียหรือลาตินอเมริกากำลังอยู่บน "ทางแพร่งแห่งปัญหาเศรษฐกิจ" และในช่วง 12 หรือ 18 เดือนข้างหน้าสถานการณ์อาจจะยากลำบากมากขึ้น

คุโรดะกล่าวว่าในขณะที่บางประเทศในเอเชียใต้มีส่วนสัมพันธ์กับวิกฤตนี้น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากปัญหา เพราะว่าสถานการณ์ของประเทศเหล่านี้มีความเปราะบาง โดยรายได้จากการส่งออกและการไหลเข้ามาของเงินดอลลาร์จะเหือดแห้งลงไป

"ผลกระทบอาจแสดงให้เห็นในรูปของภาวะว่างงานที่พุ่งขึ้น และจีดีพีที่ถดถอยลง" คุโรดะกล่าว

เขายังเตือนอีกว่าการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อาจส่งแรงกดดันไปถึงตลาดหลักทรัพย์ และนโยบายกู้ยืมของธนาคารก็อาจจะกลับเข้าสู่ภาวะ "อนุรักษ์นิยม" อันจะส่งผลให้บริษัทขนาดเล็ก ๆที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพมากนัก ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น