xs
xsm
sm
md
lg

ยกแม้วข่มมาร์ค : ฉากที่มีในเวทีการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถึงแม้วันนี้การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะที่พรรคเพื่อไทย อันเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านได้มีมติจะต้องดำเนินการแน่นอน และได้มีการเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้วในส่วนของพรรคนี้ก็ตาม แต่กระนั้นก็ใช่ว่ากิจกรรมทางการเมืองที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น เมื่อหนึ่งพรรคกับอีกหนึ่งพวกในซีกของฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาราช และกลุ่มการเมืองหนึ่งในพรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งนำโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยให้เหตุผลในทำนองว่า เอาคนที่ไม่ดีมาวิพากษ์คนที่ดีกว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อผู้อภิปราย ทั้งยังได้เสนอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติจะดีกว่า

จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในซีกของฝ่ายค้านดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่ว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเกิดขึ้นได้หรือเกิดขึ้นไม่ได้ หรือแม้กระทั่งเกิดขึ้นได้แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายค้านตามที่นายเสนาะ เทียนทอง ได้แสดงความเห็นไว้ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และมีผลกระทบในทางลบต่อฝ่ายค้าน ก็คือ เกิดความแตกแยกในซีกของฝ่ายค้าน และความแตกแยกที่ว่านี้จะเป็นผลดีต่อฝ่ายรัฐบาล ในการแย่งชิงเสียงทางการเมืองจากฝ่ายค้านให้มาอยู่ร่วมกับฝ่ายรัฐบาลได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ เกมการเมืองที่ฝ่ายค้านประโคมข่าวอยู่ในขณะนี้ว่ามีข้อมูลเด็ด และจะทำให้รัฐบาลต้องยุบสภาภายใน 1 เดือนหลังจากถูกอภิปรายนั้น สุดท้ายแล้วจะเป็นราคาคุยที่ไม่สมจริงเสียมากกว่า จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปพรรคเพื่อไทยจะได้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นผู้นำ และกำชัยชนะเหนือพรรคประชาธิปัตย์ และทำให้ที่เป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้เป็นฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ และน่าจะด้วยเหตุนี้กระมังที่นายเสนาะ เทียนทอง ผู้คร่ำหวอดในเวทีการเมืองมานานจึงไม่อยากลงไปร่วมกับพรรคเพื่อไทย

อะไรทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และพรรคพวกในพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า จะสามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้จนถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจนถึงขั้นยุบสภา และอะไรทำให้นายเสนาะไม่เชื่อเช่นนั้น?

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นแห่งคำถามทั้งในส่วนที่พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เชื่อ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ นายเสนาะ เทียนทอง ไม่เชื่อ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูพฤติกรรมทางการเมือง ทั้งส่วนของผู้ที่เชื่อ และผู้ที่ไม่เชื่อ ก็จะพบว่าสิ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลได้รับผลกระทบถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง น่าจะมาจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลภายใต้แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นได้โดยอาศัย ส.ส.ส่วนหนึ่งที่มาจากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มนายเนวิน ชิดชอบ ที่เคยมีความสนิทสนมแนบแน่นอยู่กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และ ส.ส.กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีฐานทางการเมืองในภาคอีสาน ซึ่งคนในภาคนี้ส่วนหนึ่งเป็นรากหญ้าที่ยังนิยมชมชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ จึงมิใช่การยากถ้าการอภิปรายในครั้งนี้สามารถทำให้คนที่ว่านี้เห็นว่าทักษิณมีโอกาสกลับมาอีกครั้งถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ การงดออกเสียงหรือแม้กระทั่งการเทคะแนนเสียงให้กับฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นได้

2. ถึงแม้ว่าการอภิปรายในครั้งนี้จะไม่บรรลุผลถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันทีทันใด แต่การได้มีกิจกรรมทางการเมืองในทำนองนี้เกิดขึ้น ก็เท่ากับเปิดโอกาสทางการเมืองให้ ส.ส.แต่ละคนได้แสดงบทบาทในสภาเพื่อเตือนความจำ และเรียกความสำคัญทางการเมืองให้นายทุนทางการเมืองเห็นเป็นการแสวงหาการยอมรับ และอาจเลยไปถึงขั้นขอรับทุนในการจัดกิจกรรมทางการเมืองในครั้งนี้ และในครั้งต่อไปได้ด้วย

3. ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ในข้อ 1 และข้อ 2 การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นการเตะสกัดมิให้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ทำงานแสวงหาคะแนนนิยมได้สะดวก จนทำให้อดีตผู้นำที่พวกเขาหวังยกชูเพื่อเป็นธงชัยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปถูกลดความสำคัญ จนถึงขั้นทำให้สังคมมองเห็นความอ่อนด้อยทางการเมือง จนอยู่ในขั้นที่เป็นสินค้าตกยุคขายไม่ออกในทางการเมือง

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเสนาะ เทียนทอง คงจะมีเหตุผลในการไม่เห็นด้วย และเหตุผลที่ว่านี้ถ้ามองในเชิงตรรกทางการเมืองแล้ว ก็พอจะอนุมานได้ดังนี้

1.อาจมองเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาทำงานได้ไม่นาน และยังไม่มีข้อผิดพลาดร้ายแรงพอจะหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุอ้างในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

2. อาจมองเห็นว่า เมื่อเปรียบคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วพบว่าผู้อภิปรายยังห่างชั้นอยู่มาก ทั้งในแง่ความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามองในแง่ของพฤติกรรมที่โปร่งใสกับไม่โปร่งใส จึงไม่เหมาะที่จะเป็นคนยื่นอภิปราย เพราะนอกจากไม่สามารถทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้ถูกอภิปรายลดลงได้แล้ว ยังทำให้ผู้อภิปรายหมดความน่าเชื่อถือลงไปกว่าที่เป็นอยู่ด้วยซ้ำ

จากนัยแห่งความเห็นต่อการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าฝ่ายค้านขาดเอกภาพ และการขาดเอกภาพที่ว่านี้จะยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านลดลงไปอีก จากที่ตามปกติก็มีความน่าเชื่อถือน้อยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคเพื่อไทยเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้จริง บริบทที่จะได้จากการอภิปรายในครั้งนี้นอกเหนือจากการใช้ลีลาท่าทีทางการเมืองตามแบบฉบับของการสร้างสีสันมากกว่าเป็นเนื้อหาตามแบบฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แล้ว จะได้เห็นขบวนการยกแม้วข่มมาร์คเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเอาใจนายทุนทางการเมือง และเป็นการทำงานตามใบสั่งเพื่อเบิกเงินค่ากิจกรรมเฉกเช่นที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดงกระทำอยู่ทุกครั้งที่มีการจัดชุมนุม และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุเดียว คือ ต้องการให้รากหญ้าหรือคนที่นิยมชมชอบในระบอบทักษิณได้เห็นความสำคัญ และเก็บไว้ในความทรงจำนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการยกแม้วข่มมาร์คก็ใช่ว่าจะกระทำได้สะดวก เพราะเชื่อว่าจะมีขบวนการต่อต้านแม้ว และเชียร์มาร์คลุกขึ้นขัดจังหวะจนทำให้เกิดความหงุดหงิดเกิดขึ้น และนำไปสู่ความวุ่นวายในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น