xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องยากของคนเป็นหญิง

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ถามตัวเองว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเกิดเป็นหญิงหรือชาย ?

ตอบได้ทันทีว่า เกิดเป็นชายในสังคมไทยได้เปรียบมากกว่าหญิงมากมายนัก ในขณะเดียวกัน ครอบครัวไทยจำนวนมากก็รู้สึกว่า หากภรรยาคลอดลูก “ได้แต่ลูกผู้ชาย” จะพอใจกว่าการที่ครอบครัว “ได้แต่ลูกผู้หญิง”

แน่นอน หากได้ทั้งลูกหญิงและลูกชายย่อมดีกว่าแน่

เคยสังเกตเมื่อยังเล็กว่า พี่สาวหรือลูกหญิง จะถูกครอบครัวคาดหมายให้ต้องเป็นงานบ้าน เพราะคิดว่างานเรือนเป็นของหญิง ชายอย่างผมก็เลยมีเวลาไปโลดเล่น หาประสบการณ์ เล่นนอกบ้าน

เมื่อเข้าโรงเรียน ก็เห็นว่า เพื่อนผู้หญิงมักจะจับกลุ่มเล่นขายของ เล่นจ้ำจี้ เล่นหมากเก็บ รวมกลุ่มอยู่ที่มุมห้อง มุมอาคารหรือมุมสนาม ส่วนพวกผู้ชายอย่างผมก็ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ ทำกิจกรรมที่ใช้พละกำลัง เล่นโลดโผนโจนทะยาน เตะฟุตบอล ปีนป่าย ตีลังกา ฯลฯ เกิดข้อสังเกตว่า ความด้อยอำนาจที่เกิดจากกำลังทำให้เพื่อนหญิงต้องมีพื้นที่ในการเล่นน้อยตามไปด้วย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการเลือกหัวหน้าชั้น ทั้งครูและนักเรียนก็คาดหมายให้ผู้ชายเป็นหัวหน้า เพราะอาจคิดว่า หญิงปกครองเพื่อนสู้ชายไม่ได้

โตขึ้นมากว่านั้น มหาวิทยาลัยหลายแห่ง คณะบางคณะ เกรงว่าถ้าปล่อยให้หญิงและชายแข่งขันสอบเข้าอย่างเท่าเทียม ฝ่ายหญิงจะเข้าได้มากกว่าชาย และเกรงว่าเมื่อเรียนจบไปแล้ว หญิงจะหางานได้ยากกว่า เพราะคิดว่านายจ้างคงอยากรับชายเข้าทำงานมากกว่า จึงพยายามเลือกกำหนดวิชาและวิธีการสอบคัดเลือกที่ชายได้เปรียบมาเป็นตัวตัดสิน

น่าประหลาดใจอย่างยิ่งว่า ถ้าสถานที่ทำงานคิดชอบรับแต่ชาย มหาวิทยาลัยเขาก็กลัวว่าผลิตบัณฑิตแล้ว หากมีหญิงมากก็อาจตกงาน สถาบันของตนอยากสร้างชื่อว่าผลิตบัณฑิตแล้วมีงานทำ ก็เลยเลือกรับชายมากกว่า แล้วอย่างนี้ โรงเรียนระดับมัธยม ประถม หากคิดแบบเดียวกัน ก็คงไม่อยากรับหญิงเข้าเรียน ในที่สุด ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องเรียนสูงจริงๆ อย่างที่หลายครอบครัวมีค่านิยมอยู่ ใช่หรือไม่ ?

ก็ถ้าหากบริษัท ห้างร้าน นายจ้าง และผู้บังคับบัญชาในราชการ คิดแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า “หญิงคงต้องตั้งท้อง” – “หญิงต้องหยุดคลอดลูก” – “หญิงเปราะบาง อารมณ์หงุดหงิดเมื่อบาดเจ็บประจำเดือน” ฯลฯ ถ้าจะให้ได้งาน ได้เงิน ก็ควรรับผู้ชายดีกว่า

หญิงหลายคน แม้มีความสามารถสูง จึงถูกผลักให้ตกงาน หรือทำงานที่ล้าหลังกว่าชาย

นอกจากนี้ ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของไทยที่เป็นมานั้น ผู้หญิงไทยถูกคาดหมายให้ดูแลทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ต่างจากผู้ชายไทยที่ไม่ค่อยมีความผูกพันดูแลพ่อแม่ เมื่อเติบโต บวชเรียน มีครอบครัวใหม่ ก็จากครอบครัวเดิม ไปอยู่กับครอบครัวของภรรยา

ผู้ชายไทยได้คำอธิบายปลอบใจตนหลายอย่าง เช่น ได้มีโอกาสบวชพระ ทดแทนบุญคุณ พ่อแม่ได้จับชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์แล้ว ที่บ้านก็มีน้องสาวพี่สาวช่วยดูแลพ่อแม่อยู่แล้ว

ส่วนพี่สาว-น้องสาว ก็มีภาระทางใจที่ถือว่าตนยังไม่ได้ทดแทนบุญคุณอย่างผู้ชาย จึงรับเป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลทดแทนบุญคุณ และในหลายกรณี พี่สาวต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเลี้ยงดูพ่อแม่ และส่งน้องชายให้ได้เรียนสูงๆ ขึ้นไป

ทำงานบ้าน ดูแลบ้าน ทำงานในไร่นาและสวน ก็เป็นหน้าที่ของหญิงไทยควบคู่ไปด้วย แต่เมื่อซักเสื้อผ้า นำไปตากราวผ้า จะสังเกตเห็น “ผ้าขาวม้าจะถูกแขวนไว้เหนือกางเกงในของหญิง” สะท้อนความคิดความเชื่อหลายอย่างของคนไทย

ในอดีต สังคมไทยมักจะแบ่งงาน หญิงดูแลบ้าน เศรษฐกิจในครอบครัว ชายติดต่อสัมพันธ์กับคนภายนอก แต่ปัจจุบัน หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ผู้ชายจึงควรมีส่วนช่วยดูแลงานบ้านมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ มีความพยายามผลักดันกฎหมายที่ช่วยให้สามีได้ลาหยุด ดูแลเมื่อภรรยาคลอดลูก จะได้ช่วยดูแลลูก ดูแลบ้าน ดูแลภรรยา ทำให้ภรรยามีภาระน้อยลง สามีได้สนใจงานบ้าน งานเลี้ยงดูลูกมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ภรรยาสามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้น กฎหมายนี้เกือบจะผ่านอยู่แล้ว แต่ติดที่คนบางส่วนมองว่า หากสามีได้สิทธิหยุดงาน แทนที่จะไปช่วยงานภรรยา แต่อาจไปซุกซนนอกบ้านมากขึ้น

ผมสังเกตเห็นว่า จนถึงบัดนี้ เมื่อผู้หญิงคิดจะแต่งงาน มีคู่ครอง ก็จะแอบไปดูหมอดู เพราะอยากรู้ว่าอนาคตจะอยู่กันได้ยาวนานไหม? ชายคนนี้จะใช่เนื้อคู่หรือไม่? ทั้งนี้ ก็สะท้อนความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะต้องประสบ เมื่อมีคู่ครอง-ครอบครัว

อาจเป็นเพราะกังวลว่า หากถูกทอดทิ้ง ชายหย่าร้างไปเป็นอื่น ก็จะปล่อยลูกให้ไว้เป็นภาระแก่แม่ หากหญิงจะมีคู่ครองใหม่ นอกจากจะยากลำบากแล้ว ยังถูกมองว่าไม่รักลูก หรือ หา “พ่อเลี้ยง” ให้กับลูก นอกจากนี้ นิสัยของชาย “พ่อเลี้ยง” บางคน ก็อาจจะทำให้ตนและลูกสาวต้องพบกับการเสี่ยงภัยอะไรอีกมากมาย

แม้แต่กรณีที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน แต่เกิดมีเพศสัมพันธ์แล้วตั้งครรภ์โดยที่ไม่พร้อม ฝ่ายชายก็มักจะกดดันให้หญิงไปทำแท้ง ทั้งๆ ที่ เป็นอันตรายร้ายแรงต่อหญิง และเมื่อหญิงไปทำแท้งกลับถูกสังคมตราหน้าว่าใจยักษ์ใจมาร หรือถ้าหญิงไม่ไปทำแท้ง เมื่อคลอดลูกมา ฝ่ายชายก็มักละเลย ไม่เลี้ยงดู หากลูกไปก่อปัญหาให้สังคม หญิงที่เป็นแม่มักถูกสังคมตราหน้าว่าทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจดูแลลูกของตนโดยฝ่ายเดียว โดยที่ชายมักจะลอยตัว ไม่มีใครถามถึงว่า ใครเป็นพ่อของเด็ก

น่าเจ็บใจยิ่งกว่านั้น หญิงส่วนมาก เมื่อแต่งงานอยู่กินกับชาย-สามีได้สักพัก ก็มักจะแอบรู้ว่า เขาไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น แต่เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับเธอผู้เป็นภรรยา ก็ไม่ยอมสวมใส่ถุงยาง หญิงผู้เป็นภรรยา เธอรู้ทั้งรู้ว่าสามีอาจติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ ที่เป็นโรคร้าย แต่เธอก็ไม่กล้าที่จะบอกให้สามีใส่ถุงยาง เพราะเกรงจะกระทบใจสามี เกรงเขาจะหาว่าไม่ไว้วางใจ

หญิงไทยจำนวนไม่น้อย จึงยอมรับความเสี่ยงภัยจากโรคร้าย ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงของชีวิต เพื่อรักษาความรู้สึกที่ดีของชายผู้เป็นสามี

นอกจากนี้ หญิงจำนวนหนึ่ง เมื่อถูกกีดกันจากการทำงานในบริษัท ห้างร้าน หรือราชการ คิดอยากจะประกอบอาชีพอิสระของตนเอง การหาแหล่งเงินทุน กู้หนี้ ยืมสินก็เกิดความยากลำบาก ธนาคารสถาบันการเงินหลายแห่งยังเข้าใจว่า “หัวหน้าครอบครัว” คือ ผู้ชาย

กลายเป็นว่า ถ้าสามีไม่ใช่ผู้ขอกู้ น้ำหนักในการเข้าถึงสินเชื่อจะได้ยากขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2550 ได้คุ้มครองสิทธิความเท่าเทียมกันของหญิงและชาย และกำหนดด้วยว่ากฎหมายและระเบียบวิธีใดที่จะส่งเสริมให้หญิงได้รับสิทธิมากขึ้น ให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ กฎหมายหรือข้อกำหนดที่จะตามมาภายหลัง จึงน่าจะคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้อย่างจริงจัง เช่น กำหนดสัดส่วนของหญิงชายในกรรมการขององค์กรสำคัญ กำหนดสัดส่วนของหญิงชายในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมทั้งสัดส่วนของหญิงชายในคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจน

รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 97 ระบุชัดว่า ให้พรรคการเมืองคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายที่เหมาะสมเพื่อความเท่าเทียมกันในการส่งผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แต่แล้ว การเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชนและอีกบางพรรค ก็เลือกส่งแต่ผู้ชายลงสมัคร 100% ในหลายเขต โดยไม่มีการเอาผิด เพราะสังคมชายเป็นใหญ่แบบศรีธนญชัย ก็อ้างว่า ได้ “คำนึงถึง” แล้ว หมายความว่า ได้คิดถึงเงื่อนไขแล้ว แต่ไม่ต้องทำก็ได้

การเลือกตั้งสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล อบต. อบจ.) เป็นองค์กรพื้นฐานใกล้ชิดติดประชาชน จึงควรพิจารณาให้คนในหมู่บ้านได้เลือกตัวแทนของเขา หญิง 1 คน ชาย 1 คน ซึ่งวิธีการเลือกตั้งก็ไม่ยาก เพราะผู้ใช้สิทธิคนหนึ่งก็สามารถใช้บัตร 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกตัวแทนที่เป็นชาย อีกใบเลือกตัวแทนที่เป็นหญิง แล้วหย่อนบัตรแยกกัน 2 กล่อง เราก็สามารถนับคะแนนแยกได้ว่า ใครคือผู้แทนที่เป็นหญิงและผู้แทนที่เป็นชาย

นอร์เวย์ ประเทศของชาวไวกิ้ง ที่ชายเคยเป็นใหญ่ ยังสามารถเปลี่ยนแปลงกฎกติกา โดยระบุในกฎหมาย ให้องค์กรสำคัญๆ ต้องมีผู้บริหาร กรรมการ ที่เป็นเพศตรงข้ามอย่างน้อย ร้อยละ 40 ได้ บ้านเมืองของเขาก็ได้มีคนต่างเพศได้เข้าร่วมบริหารบ้านเมือง เจริญรุดหน้า รายได้ของประชากรอยู่ระดับกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดของโลก

ปัจจุบัน หญิงไทยสนใจและใส่ใจในปัญหาบ้านเมืองมากขึ้น จะเห็นได้จากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้หลุดพ้นจากการครอบงำของระบอบทักษิณ ปรากฏว่า ผู้หญิงมีบทบาทและได้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากกว่าชาย

ผู้หญิงต้องบาดเจ็บ ล้มตายจำนวนไม่น้อย งานศึกษาวิจัยพบว่า ผู้หญิงออกมาชุมนุมเพราะความเป็นห่วงในอนาคตของลูกหลานที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทักษิณ แม้จะรู้ว่าการชุมนุมอาจจะเกิดอันตราย แต่ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ร่วมชุมนุม เพราะคิดว่าหากมีจำนวนน้อยจะถูกตำรวจรังแก จึงเข้าร่วมชุมนุมเพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่เธอก็ได้เรียนรู้ต่อมาว่า ตำรวจเลวร้ายและมีความเป็นมนุษย์ต่ำกว่าที่เธอคาดหมายไว้มาก

การส่งเสริมให้หญิงได้มีบทบาททางการเมืองภาคตัวแทนอย่างเป็นระบบมากขึ้น การไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีอคติ ไม่มีวิธีปฏิบัติที่คิดล่ามโซ่พันธนาการเพศแม่ แต่ให้ทุกคนทุกเพศ ได้พัฒนาตัว และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและสังคม จะทำให้สังคมรุดหน้าได้เร็วมากขึ้น และก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งชายและหญิงในระยะต่อๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น