xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้ง-น้ำท่วม…มหันตภัยของไทยทั้งชาติ!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

ฤดูนี้เป็นเทศกาลหน้าแล้ง และเป็นหน้าแล้งที่ร้อนจัดจ้าที่อุณหภูมิขึ้นสูงไปใกล้ 43 องศาเซลเซียสทุกทีแล้ว หากความร้อนพุ่งสูงขึ้นไปจากนี้ ความตายก็จะแผ่ปกคลุมไปทั่วทั้งแผ่นดิน ถึงวันนั้นหากจะรู้สึกสำนึกตัวก็คงจะสายเกินแก้แล้ว

อุณหภูมิความร้อนเพิ่มขึ้นปีละครึ่งองศาเซลเซียสต่อเนื่องมาหลายปีเต็มที ทำให้ประเทศไทยของเราที่เคยร่มเย็นกลับร้อนแรงขึ้นและแรงขึ้น กระทั่งกำลังใกล้ถึงจุดวิกฤตที่จะก่อพิบัติแล้ว

คนไทยทั้งประเทศไม่ว่าสีไหนๆ และไม่ว่าที่อยู่กันในภาคใดๆ ควรจะได้ตระหนักถึงมหันตภัยนี้กันได้แล้ว

เมื่อสองวันก่อนก็มีข่าวต่อเนื่องกันมาว่าจังหวัดหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือประชาชนป่วยไข้เพราะได้รับควันไฟที่เกิดจากไฟไหม้ป่าเข้าปอดมากเกินไป ถึงกับต้องส่งโรงพยาบาลวันละกว่า 300 คน

นี่ก็เป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของภัยแล้งและภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะคือเป็นผลสืบเนื่องที่คนเราทำขึ้นในเทศกาลหน้าแล้ง จึงสมควรต้องกล่าวไปเสียในคราวเดียวกัน

เพราะเป็นเทศกาลหน้าแล้ง แผ่นดินก็แตกระแหง ต้นหญ้าใบไม้โดยเฉพาะหญ้า 4 ชนิดคือหญ้าพง หญ้าแฝก และหญ้าแขม รวมทั้งหญ้าคอมมิวนิสต์ แห้งกรอบเกรียมเป็นเชื้อไฟอย่างดี

เป็นเชื้อไฟอยู่ในพื้นที่ที่เป็นป่าโปร่งที่มีไม้มีราคาไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง หรือไม้มีค่าอื่นๆ และเป็นเชื้อไฟที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งโล่ง ครั้นต้องไฟก็เกิดไฟไหม้ป่า แล้วเป็นควันคละคลุ้งปกคลุมทั่วทั้งภาคเหนือ และเกิดเป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชนโดยไม่เลือกว่าเป็นคนสีไหน

ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากนอกประเทศในแถบรัฐฉานที่คนในพื้นที่นั้นก็เหลวไหลไม่แพ้กับคนไทย จุดไฟเผาป่า แล้วไหม้ลามจนเกิดเป็นไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่ เป็นควันไฟคละคลุ้งเข้ามาในภาคเหนือของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยจะต้องเจรจากับรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยตามชายแดนให้ตระหนักถึงอันตรายและป้องกันแก้ไขเสีย

ส่วนในพื้นที่ของประเทศไทยนั้น เกิดไฟไหม้ป่าเพราะเหตุ 2 ประการ

ประการแรก เป็นการเผาเพื่อหวังเอาไม้จากป่ามาแปรรูปขาย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเกิดจากการสมคบรู้เห็นเป็นใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายทุนที่โค่นป่า เพื่อจะใช้เป็นเหตุผลในการตัดป่าโดยอ้างว่าต้นไม้ถูกไฟไหม้

ทำกันอย่างนี้มาเป็นอาจิณ จนแผ่นดินโล่งเลี่ยนและป่าไม้ก็ค่อยๆ หมดไปจากประเทศไทยทุกที

ประการที่สอง เป็นการเผาในพื้นที่โล่งที่มีหญ้าประเภทดังกล่าวปกคลุม เกิดแต่เหตุทิ้งเชื้อไฟลงไปโดยไม่ประสงค์สิ่งใดบ้าง เกิดแต่เหตุที่ต้องการเผาเพื่อล่าสัตว์ป่าที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่บ้าง และเกิดแต่เหตุที่ต้องการเผาเพื่อให้บังเกิดหญ้าอ่อนหรือให้ต้นผักหวานแตกใบใหม่เพื่อให้วัวกิน หรือเพื่อเอาใบผักหวานไปขายบ้าง

ทำกันอย่างนี้เป็นอาจิณ จนแผ่นดินไหม้กรอบและปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารใดๆ ไม่ได้

แต่ละปีๆ ก็มีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าแล้วก็มีการตั้งงบประมาณป้องกันไฟป่าและดับไฟป่ากันตลอดมา แต่กว่างบประมาณจะออกไปใช้จ่ายได้ก็ล่วงเข้าเดือนพฤษภาคม อันเป็นหน้าฝนแล้ว จึงเป็นอันว่าไม่ต้องใช้เงิน แต่เงินก็หายไปพร้อมกับไฟป่าที่หายไปในหน้าฝน

นั่นก็เป็นเรื่องมหันตภัยที่เกิดจากภัยแล้ง ในขณะที่พอเข้าเทศกาลหน้าฝนน้ำก็ล้นไหลบ่าหลากท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ลงมาถึงภาคกลางแล้วท่วมกรุงเทพฯ จากนั้นก็ไหลออกไปไล่น้ำเค็มสู่พระสมุทร

ถามว่าทำไมจึงเกิดภัยแล้ง? และทำไมจึงเกิดภัยน้ำท่วมเล่า? สองเรื่องนี้เป็นปัญหาเดียวกันหรือว่าเป็นคนละปัญหากันแน่ แล้วจะแก้ไขกันอย่างไรก่อนที่ประเทศไทยจะถึงกาลพิบัติพินาศ

ก็ต้องตอบว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันและต้องแก้ไขพร้อมๆ กัน คือแก้ไขตรงต้นเหตุเพราะเมื่อแก้ไขเหตุได้แล้วก็จะแก้ไขผลได้ด้วย

เหตุที่เกิดภัยแล้งก็เพราะไม่มีการกักเก็บน้ำไว้เสียตั้งแต่ในฤดูฝน ครั้นฤดูฝนผ่านพ้นไปแผ่นดินก็แห้งแล้งแตกระแหง ทั้งคน ทั้งสัตว์ ทั้งพืชก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ แล้วเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า จนถึงวันนี้ก็ต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้วหลายสิบจังหวัด

ประกาศกันทีหนึ่งก็ขนน้ำไปแจกจ่ายแก่ชาวบ้านกันทีหนึ่ง แจกกันตั้งแต่วัวควายสามารถดื่มกินน้ำได้ จนกระทั่งถึงวันนี้ที่จังหวัดพัทลุงก็มีวัวล้มตายวันละกว่า 300 ตัวเพราะไม่มีน้ำกิน อีกไม่นานเท่าใดนักดอกก็อาจจะถึงเวลาที่คนไม่มีน้ำกินด้วย

แล้วไม่เคยคิดกันเลยว่าน้ำที่ขนกันไปนั้นต้นทุนมันแพงขนาดไหน ทั้งๆ ที่พระเจ้าอยู่หัวก็เคยทรงเตือนมาหลายปีแล้วว่าน้ำราคาแพงและนับวันก็จะแพงกว่าน้ำมัน ดังนั้นน้ำที่ขนกันขึ้นไปช่วยชาวบ้านในขณะนี้จึงเป็นน้ำที่มีราคาแพง และแพงกว่าน้ำมัน

แต่ไฉนเล่าจึงไม่มีใครคิดกักเก็บน้ำเอาไว้เสียตั้งแต่ฤดูฝน ปล่อยให้เหตุการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ และต้องขนน้ำกันจ้าละหวั่นทุกปี ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินและราษฎรต้องเสียหายเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นเดียวกัน

ส่วนน้ำท่วมเล่า ก็เกิดจากเหตุที่เมื่อถึงเทศกาลหน้าฝนแล้วไม่มีการกักเก็บน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำจึงไหลหลากลงมาอย่างสบายใจเฉิบ ท่วมดะไปหมดตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ลงมาภาคกลางและกรุงเทพฯ ไปออกทะเล

น้ำหลากไหลบ่าไปถึงไหน ภัยน้ำท่วมก็เกิดขึ้นถึงนั่น ถนนหนทาง วัดวาอาราม ไร่นาสาโท บ้านเรือน ทรัพย์สินราษฎรพินาศเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่านับไม่ถ้วน

เมื่อถึงหน้าน้ำท่วมทีหนึ่งก็ประกาศเขตภัยพิบัติน้ำท่วมกันคราวหนึ่ง แล้วก็เบิกจ่ายงบประมาณไปทำทำนบ ทำเขื่อนทรายเพื่อกั้นน้ำกันจ้าละหวั่นกันไปทั้งแผ่นดิน

ความเสียหายของงบประมาณแผ่นดิน ตลอดจนชีวิต ทรัพย์สินของราษฎรทั้งปวงที่เสียหายไปจากภัยน้ำท่วมแต่ละปีมีมากมายสุดจะคณา

เคยมีผู้ประมาณการเอาไว้ว่างบประมาณและค่าใช้จ่าย ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้งตกเป็นมูลค่าปีละไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท

มันเกิดขึ้นต่อเนื่องมานับสิบๆ ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายแค่ 10 ปีก็ตกเป็นเงินกว่า 2 ล้านล้านบาทแล้ว มันมากมหาศาลถึงขนาดที่สร้างเมืองใหม่ได้หลายเมือง แต่ก็ยังไม่มีใครคิดอ่านแก้ไขให้มีผลอย่างถาวรเลย ยังรักที่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปปีต่อปี จนกว่าความตายจะแผ่ปกคลุมทั้งแผ่นดินนั่นแล้ว!

หน้าแล้งก็แก้ปัญหาภัยแล้ง หน้าฝนก็แก้ปัญหาอุทกภัย สลับกันไปจนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่อาศัยธรรมชาติโกงกินกันไม่มีที่สิ้นสุด

รวมความก็คือทั้งปัญหาภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมมีต้นเหตุที่ไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งไม่สร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม จึงทำให้น้ำไหลบ่าไปทิ้งทะเลเสียเปล่าๆ พอสิ้นน้ำหลากก็เกิดความแห้งแล้งขึ้นในทันที นี่คือสาเหตุมูลฐานที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อจะได้แก้ไขให้ตรงจุด

ประเทศไทยมีแหล่งน้ำใหญ่ 25 แหล่งน้ำ มีสายน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ประมาณ 1,200 สาย แต่ตื้นเขินหรือถูกถมทับไปเป็นอันมาก จนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างพอเพียงได้อีกต่อไป และไม่ได้สร้างแหล่งน้ำใหม่เพิ่มขึ้นเลย ทำให้ปริมาณน้ำในธรรมชาติที่กักเก็บไว้เหลือน้อยกว่าน้อยจนวิกฤต

เคยมีผู้ศึกษาตัวเลขปริมาณน้ำเฉลี่ยเปรียบเทียบกับสมัยรัชกาลที่ 5 ว่ามีแหล่งน้ำธรรมชาติกักเก็บน้ำไว้ได้โดยเฉลี่ยถึง 24,000 คิวบิกเมตรต่อคนต่อปี แผ่นดินยุคนั้นจึงเป็นยุคที่เรียกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หน้าฝนน้ำก็ไม่ท่วมใหญ่ เพราะมีแหล่งน้ำธรรมชาติกักเก็บไว้ หน้าแล้งก็มีน้ำเหลือกินเหลือใช้ตลอดฤดูกาล

แต่ปัจจุบันนี้ผู้คนมากขึ้น แหล่งน้ำธรรมชาติถูกถมและตื้นเขินทั้งไม่สร้างแหล่งน้ำใหม่เพิ่มเติม ปริมาณน้ำเฉลี่ยจึงเหลือแค่ 25 คิวบิกเมตรต่อคนต่อปี ตรงนี้แหละที่เป็นชนวนวิกฤตของภัยพิบัติที่จะนำไปสู่วิบัติและพินาศแก่ราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองแห่งนี้ในอนาคตอันไม่ไกล

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก่อนเพื่อนก็คือการคืนธรรมชาติแก่แผ่นดิน ขุดลอกฟื้นฟูแหล่งน้ำและสายน้ำธรรมชาติทั้งปวง คืนธรรมชาติแก่แผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ดังที่เคยเป็นมาเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5

จากนั้นก็สร้างแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติเพิ่มเติมโดยอิงกับสายน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติเดิมที่มีความเป็นไปได้ หรือสามารถทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติได้ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ 5

โบราณว่าน้ำเป็นที่ตั้งแห่งความมั่งคั่ง มีน้ำที่ไหน มีความอุดมสมบูรณ์ที่นั่น ทำได้อย่างนี้ หน้าฝนน้ำก็จะไม่บ่าท่วม ไม่เป็นอุทกภัย เพราะน้ำถูกกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ครั้นเข้าเทศกาลแล้งก็มีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ

ทำกันทั้งประเทศก็คงใช้เงินไม่ถึง 500,000 ล้านบาท เพื่อคืนธรรมชาติแก่แผ่นดิน ก็ย่อมดีกว่าที่จะต้องแบกรับความเสียหายปีละ 200,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อยเพื่อไปสู่วิกฤตและวิบัติของทั้งชาติมากมายนัก.
กำลังโหลดความคิดเห็น