xs
xsm
sm
md
lg

จับตาNPLอสังหาฯพุ่ง ผู้ประกอบการร้อนเงินเร่ขายลด 30 %

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –ยูนิเวนเจอร์ฯธุรกิจอสังหาฯตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เตือนภัยNPLภาคอสังหาฯเพิ่มต่อเนื่อง จากปัจจุบัน 40,000 ล้านบาท ชี้มีเจ้าของโครงการเร่ขายลดราคา 20-30% ด้าน “โสภณ พรโชคชัย” เผยทุนสวีเดนมองไทยน่าลงทุนอันดับ2ของโลก ยันกฎหมายปปง.ไม่กระทบตลาดอสังหาฯ แจงปี 51เมืองท่องเที่ยวมูลค่าลงทุนโครงการเกือบ 2 แสนล้าน

ในสภาพที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะการถดถอย ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจในทุกๆด้าน ผ่านทางภาษีและการจัดทำงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้มีแรงเติบโต แต่ถึงกระนั้น ยังมีหลายปัจจัยที่มากระทบกระเทือนต่อโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ ที่จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความสามารถในการดำเนินงานลดลง และหรือไม่มีกำลังในการชำระหนี้แก่ภาคสถาบันการเงิน

***เจ้าของโครงการเร่ขายลดราคา30%
นางอรฤดี ณ ระนอง ประธานอำนวยการ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเชื่อว่าจะทำให้ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปัจจุบันพบว่า เอ็นพีแอลทั้งระบบมีประมาณ 6% ของสินเชื่อรวม หรือคิดเป็นประมาณ 300,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นเอ็นพีแอลของอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของเอ็นพีแอลของสินเชื่ออสังหาฯ และในจำนวนนี้ สินทรัพย์ประเภทอาคารที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลมีสัดส่วนประมาณ 10-20%

“ จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันกำลังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากถูกผลกระทบจากเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอย จะส่งผลให้อนาคตอันใกล้เอ็นพีแอลของภาคอสังหาฯมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่มีเงินจะเข้ามาลงทุนในหนี้หรือสินทรัพย์ที่มีปัญหาได้ในระดับราคาที่ไม่สูง ”

โดยในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายราย นำโครงการมาเสนอขายให้แก่บริษัทยูนิเวนเจอร์ฯบ้างแล้ว หากเป็นโครงการที่ก่อสร้างไปแล้วบางส่วนจะมีราคาลดลงประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กลับความต้องการใช้เงินมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่ดินเปล่าราคาลดลง 5% เพราะส่วนใหญ่เจ้าของที่ดินไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงินมากนัก

อย่างไรก็ดี ในปี 52 บริษัทได้ตั้งเป้าที่จะซื้อทรัพย์สินที่เป็นอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียมที่ประสบปัญหาด้านการเงินเข้ามา 2-3 โครงการ โดยกำหนดเป้าลงทุนไว้ที่ 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ลงทุนผ่านบริษัท แกรนด์ยูนิตี้ จำกัด 2-3 โครงการ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และโครงการที่ดำเนินการผ่านบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด(มหาชน) 2-3 โครงการในย่านทำเลสุขุมวิท 2,500 ล้านบาท โดยแหล่งเงินที่ลงทุนจะมาจากเงินกู้ 50% และเงินลงทุน 50%

" แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะตกลง แต่โอกาสการลงทุนในโครงการที่สร้างค้างหรือโครงการที่ประสบปัญหาทางการเงินยังมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานการเงินที่เข้มแข็ง นอกจากนี้การที่ต่างชาติชะลอการลงทุนในไทย ทำให้มีการแข่งขันน้อย ในส่วนของบริษัทถือว่ามีจุดแข็งในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงสายสัมพันธ์ จนทำให้ได้โครงการดีๆมาหลายโครงการ และที่สำคัญผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท อเดลฟอส จำกัด ที่ถือหุ้นโดยนายฐาปน และนายปณต สิริวัฒนภักดี ยังมีความน่าเชื่อถือในหมู่สถาบันการเงินอีกด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการขยายการลงทุนมากนัก เพราะราคาทรัพย์ยังไม่ลดต่ำในระดับที่จูงใจ ซึ่งอาจต้องรอระยะเวลาอีกสักนิดจนกว่าจะเดือดร้อนเรื่องเงินมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาวะปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนต้องยอมลดลงเช่น คอนโดฯ จาก 30-35% เหลือกว่า 20% ส่วนอาคารสำนักงานอยู่ที่ 15%"

***สวีเดนมองไทยน่าลงทุนอันดับ2ของโลก

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (AREA )กล่าวว่า จุดด้อยหรืออุปสรรคที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯของชาวต่างชาติในประเทศคือ กฎหมาย และข้อกำหนด และปัญหาด้านการเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง เช่นกฎหมายนอมินี การครอบครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ ระยะเวลาการเช่าระยะยาวของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของข้อปฏิบัติต่างๆ อีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอสังหาฯในไทยจะมีอุปสรรคอยู่มาก แต่มีข้อได้เปรียบในเรื่องความสวยงานของสถานที่ ทำเล ธรรมชาติ วัฒนธรรม และความน่าอยู่อาศัย รวมถึงราคาของอสังหาฯในประเทศค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ราคาถูกกว่าเกือบ 50%

“ก่อนหน้านี้ ได้รับเชิญให้เป็นผู้ให้ข้อมูลในการแฟร์ที่จัดขึ้นในประเทศสวีเดน พบว่า กลุ่มนักลงทุนจากสวีเดนมองประเทศไทยน่าเข้ามาลงทุนอสังหาฯเป็นอันดับ 2 โดยมีนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนกว่า20% อันดับแรกจะเป็นประเทศสเปนมีสัดส่วน 25% อันดับที่สาม คือ ประเทศอิตาลี ได้รับความสนใจถึง18%”นายโสภณกล่าวและว่า
จากการสอบถามกลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังพบอีกว่า ความเป็นไปได้ที่จะเข้ามาลงทุนหรือซื้ออสังหาฯในไทยของนักลงทุนสวีเดน จะกลับเข้ามาในช่วงปลายปี 52 ส่วนนักลงทุนประเทศอื่นพบว่า อาจจะยืดออกไปถึงช่วงกลางปีหรือปลายปี53 ทั้งนี้เป็นผลมาจากความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้มีปัจจัยหลักมาจากข้อกำหนดหรือปัญหาภายในของไทย

***กม.ปปง.ไม่กระทบอสังหาฯ
นายโสภณกล่าวถึงการเพิ่มมูลฐานเกี่ยวกับธุรกรรมที่ผ่านตัวแทนนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ที่มีการซื้ออสังหาฯด้วยเงินสด2ล้านขึ้นไปต้องรายงานธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) นั้น เชื่อว่าเพื่อป้องกันการฟอกเงิน แต่ในส่วนของข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่ากระทบต่อการตัดสินใจของชาวต่างชาติ เพราะส่วนใหญ่ต้องการกู้เงินในประเทศเป็นส่วนมาก

โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯในจังหวัดท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดมีมูลค่าพัฒนาโครงการถึง 2 แสนล้านบาท แยกเป็นในภูเก็ต มีมูลค่าการลงทุนถึง 80,000 ล้านบาท เน้นรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับคนในพื้นที่ มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท
ตลาดพัทยา มีการลงทุนในกลุ่มรีสอร์ทและวิลลา คอนโดฯมูลค่ารวม 45,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัยขายคนในพื้นที่มูลค่ารวม 80,000 ล้านบาทสาเหตุเพราะต้องการรองรับกลุ่มที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่จำนวนมาก

ส่วนในอำเภอหัวหิน มีการลงทุนรีสอร์ทและวิลลา คอนโดฯมูลค่ารวมประมาณ 40,000 ล้านบาท และในเกาะสมุยมีมูลค่าลงทุนรวม 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับคนในพื้นที่ของหัวหินและสมุย มีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากเป็นการพัฒนาโครงการระดับไฮเอนด์ ราคาแพง ซึ่งโครงการทั้งหมด มีการระบายออกไปค่อนข้างมาก

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวยอมรับว่า การจะประเมินจำนวนนักลงทุนและชาวต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาฯในไทยค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะลูกค้าได้แน่ชัดว่า เข้ามาซื้อสังหาฯในตลาดใดบ้าง แต่ในช่วงที่ผ่านมา จะประเมินหรือแยกกลุ่มลูกค้าจากราคาของโครงการอสังหาฯที่เปิดขาย โดยประมาณการว่า กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติส่วนใหญ่ จะนิยมซื้ออสังหาฯในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีราคาแพง เนื่องจากมีกำลังการซื้อสูง

ด้านนายเรอเน่ ฟิลิป เรย์มอนด์ ดูบูท์ ที่ปรึกษากฏหมายด้านอสังหาฯกล่าวว่า วิกฤตการเงินโลกและวิกฤตเศรษฐกิจของไทยที่เกิดขึ้นในปี51 จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อหรือลงทุนอสังหาฯชาวต่างชาติมากกว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี40 เนื่องจากทุกประเทศต่างก็ได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ทำให้นักลงทุนทั่วโลกชะลอการตัดสินใจ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอสังหาฯไทยเองได้ชะลอการพัฒนาโครงการลงไปมากเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น