xs
xsm
sm
md
lg

สภาล่มตั้งผู้ทรงคุณวุฒิปปง.วืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) มีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้พิจาราณาเรื่องเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 9 คน ได้แก่ นายเกียรติพันธ์ น้อยมณี ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นางรวีพร คูหิรัญ นายศิริ การเจริญดี รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ พล.ต.อ.ณรงค์วิช ไทยทอง พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ นายถาวร พานิชพันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย เพื่อเป็นไปตามกฎหมาย ปปง. และเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการฟอกเงิน
ทั้งนี้ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปรายท้วงติงว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางคนมีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เพราะ ปปง. เป็นองค์กรที่ต้องตรวจสอบคนอื่น ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาทำงานจะต้องมีความโปร่งใส แต่บางคนเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิใน ปปง. อีกทั้งในการพิจารณาคัดเลือกได้มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางคนเข้าไปประชุมในวันคัดเลือก อีกทั้งการทำงานของปปง. ที่ผ่านมา มีข้อพิพาทในการดำเนินการตามกฎหมาย มีการนำกฎหมายปปง. มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองใช้ในการกลั่นแกล้งบุคคลที่ไม่ใช่พวกของตัวเอง เช่น มีการตรวจสอบบัญชีของสื่อบางคน หรือเลือกตรวจสอบนักการเมืองบางคน
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาการเลขาธิการ ปปง. ชี้แจงว่า นายถาวร พานิชพันธ์ ไปร่วมประชุมในฐานะผู้แทนของอัยการสูงสุด แต่ในการพิจารณาคัดเลือกนั้น ไม่ได้เข้าร่วมพิจารณาด้วย และในกระบวนการนั้น กรรมการสรรหาเป็นเพียงขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคล และเสนอรายชื่อต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่าน รมว.ยุติธรรม ดังนั้นผู้พิจารณาก็คือ สภา และในกรณีของ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย นั้น ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทิน ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ได้กำหนดให้ล้างมลทิน ให้บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งกระทำขึ้นก่อนหรือ วันที่ 5 ธ.ค. 50 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ
ส่วนกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการนำใช้กฎหมาย ปปง. มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น รักษาการเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ในวันที่ 2 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับที่ 2 มีผลบังคับใช้ ได้มีบางมาตราที่กำหนดไว้ในเรื่องที่ทำให้สำนักงาน ปปง. มีความเป็นกลางทางการเมือง กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธุรกรรม และมีการกำหนดว่า นายกรัฐมนตรี หรือผู้หนึ่งผู้ใดใช้อำนาจในการสั่งการโดยไม่มีพยานหลักฐานตามสมควร เพื่อกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด หรือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี- 30 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่นถึง 6 แสนบาท
ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ปปง.ไม่ได้มีอำนาจอะไรเป็นพิเศษในการให้คุณให้โทษตามที่ ส.ส.เป็นห่วง เพราะกรรมการชุดนี้มีภาระหน้าที่ในด้านนโยบายเท่านั้น และคอยชี้ขาดในกรณีที่คณะกรรมการธุรกรรมส่งเรื่องฟ้องไปที่อัยการ และอัยการเห็นแย้งว่า ไม่ควรฟ้อง ดังนั้นขอให้สบายใจได้
ทั้งนี้ ภายหลังการชี้แจงของรัฐมนตรีแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติ โดยก่อนลงมติได้มีการลงชื่อตรวจสอบองค์ประชุม เนื่องจากจะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก ปรากฎว่ามี ส.ส.อยู่ในห้องประชุม 221 คน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่ง แต่ส.ส.จากพรรคพลังประชาชน ได้เสนอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ และแม้จะใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ในการนับคะแนนโดยการขานชื่อ แต่ก็มีส.ส.อยู่ในห้องประชุมเพียง 219 คน ซึ่งขณะนี้มีส.ส. 473 คน ดังนั้นองค์ประชุมกึ่งหนึ่งต้อง 237 คนขึ้นไป ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม พ.อ.อภิวันท์ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมจึงเลื่อนการลงมติในการประชุมครั้งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น