xs
xsm
sm
md
lg

ธาริษาลุ้นศก.ไทยฟื้นปลายปี "บัวหลวง"คาดจีดีพีติดลบ2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคาดเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นปลายปี 52 ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและมาตรการรัฐเริ่มเห็นผล แนะเอกชนปรับปรุงตัวประคองธุรกิจให้พ้นปีนี้ พร้อมชี้ต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศทดแทนการส่งออกที่หดหาย ขณะที่ "ประมนต์" ไม่แน่ใจปลายปีฟื้น ส่วนแบงก์กรุงเทพปรับลดจีดีพีไทยปีนี้เหลือติดลบ 2-0% หลังตัวเลขส่งออกเดือนม.ค.หดตัวแรง แนะรัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐเพิ่ม

วานนี้ (3 มี.ค.52) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 เรื่อง "การปรับตัวของุรกิจ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ" โดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวโน้มและความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2552" มีผู้ประกอบการ นักธุรกิจและผู้สนใจ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมประมาณ 300 คน ที่อาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ผลจากวิกฤติการเงินโลกที่มีต่อประเทศไทยนั้น ในส่วนของผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการเงินไทยมีน้อยมาก เพราะสถาบันการเงินของไทยอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง แต่มีผลข้างเคียงบ้างจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ส่วนผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการส่งออกของไทยมีมาก เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก ดังนั้นการส่งออกที่เลวร้ายลงอย่างฉับพลันจึงทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่ผ่านไป ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือการกระตุ้นการบริโภคตลาดภายในประเทศเพื่อชดเชยการส่งออกที่หายไป

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนที่จะต้องเผชิญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านั้น คือการฟื้นตัวของระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะยาวนานเพียงใด ส่วนปัจจัยภายในประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ความสามารถของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งผูกโยงกับเสถียรภาพทางการเมืองที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูอุปสงค์ในประเทศ

ขณะที่ปรับตัวของภาคธุรกิจในภาวะปัจจุบันนั้น ต้องอดทน มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันและประคับประคองให้ผ่านปีนี้ไปให้ได้ ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2552 นี้ เนื่องจากวิกฤติโลกในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐน่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงครึ่งหลังของปีและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะดีขึ้นช่วงปลายปีนี้

นอกจากนี้ นางธาริษาแสดงความเห็นถึงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท ว่า มีผลในการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจที่เห็นผลในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการดังกล่าวนี้เป็นเพียงการดำเนินการแก้ขัดในช่วงระหว่างการรอที่จะดำเนินการมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว

เอกชนไม่แน่ใจปลายปี ศก.ฟื้น

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "การปรับตัวของธุรกิจภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ" ว่า ทุกวันนี้กำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ เพียงแต่ผู้บริโภคมียังตัดสินใจชะลอการซื้อสินค้าและบริการออกไป ทำให้เกิดภาวะซบเซา ส่วนการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศในเวลานี้นั้นยังไม่มีการลงทุนใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้น อยู่ในภาวะซบเซาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ ซึ่งหากประเทศไทยมีการวางแผนงานที่ดีก็สามารถที่จะดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวได้อยู่

สำหรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้นั้น คาดว่ายังไม่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าช่วงปลายปีนี้แน่นอน ซึ่งการปรับตัวของภาคเอกชนนั้น เห็นว่าจะต้องแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การปรับตัวในระดับประเทศ ที่จะต้องถือโอกาสนี้ในการร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งขจัดสิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรค ขณะเดียวกันต้องมีการปรับตัวในระดับกลุ่มธุรกิจ ที่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกันควรจะมีการรวมกลุ่มกันสร้างความร่วมมือในการทำธุรกิจในส่วนที่สามารถทำได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุน และการปรับตัวในระดับบริษัทหรือองค์กร ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

"ผู้ประกอบการน่าจะถือโอกาสในช่วงนี้ทำการวิเคราะห์ คาดการณ์และศึกษาธุรกิจที่เหมาะสมในอนาคต เพราะธุรกิจที่เคยทำมาก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกอาจจะเป็นธุรกิจที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในอนาคตที่ฟื้นตัวแล้วก็ได้ ซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ควรทำคือการปรับปรุงธุรกิจของตัวเองในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายประมนต์กล่าว

กรณ์ข้องใจเงินเฟ้อติดลบ 0.1%

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาติดลบ 0.1%นั้น อาจไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจจริง เนื่องจากยังไม่ได้พิจารณารายจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟของประชาชนโดยรวม จากกรณีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล 5 มาตรการ 6 เดือน ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ 1%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงในขณะนี้ได้คือความเข้มแข็งของสถาบันการเงินไทย ซึ่งเปรียบเทียบได้จากการเพิ่มทุนเข้าไปของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในกิจการของซิตี้กรุ๊ป และกลุ่มเอไอจี ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ถูกต้องและชัดเจนที่รัฐบาลของประเทศที่เกิดปัญหาทางการเงินจะทำเพื่อนำมาสู่การสร้างความมั่นคงในระบบการเงินโลกและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอที่ประชุม จี 20 ที่กรุงลอนดอนในเดือน เม.ย.นี้ด้วยโดยเฉพาะข้อเสนอให้ประเทศที่มีปัญหาด้านการเงินมีแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน

นอกจากนี้จากข้อกังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายจะส่งผลกระทบหรือซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่มีการถอนทุนออกนั้น จากการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดในประเทศไม่พบว่ามีความผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งเงินทุนในตลาดหลักทรัพย์และหนี้ของเอกชนและหนี้ของรัฐบาล ซึ่งหากแม้จะโดนเรียกคืนหนี้จริงก็มีระดับต่ำมากไม่กระทบต่อสภาพคล่องในประเทศ ส่วนเงินร้อนนั้นได้ไหลออกไปก่อนหน้านี้แล้วไม่มีผลในปัจจุบันแต่อย่างใด

ค่ายบัวหลวงคาดจีดีพีติดลบ2%

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท เจ้าหน้าที่บริหารระดับ AVP ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ ได้ปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ลงเหลือ ลบ 2 - 0 % จากเดิมในเดือนมกราคม คาดว่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ ลบ 1-1.5% โดยการปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลงในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มยูโร และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศสำคัญในภูมิภาคอย่างจีนและอินเดีย มีแนวโน้มว่าจะถดถอยรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งจะมีผลกระทบในทางลบต่อการส่งออกไทย โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการปรับลดลงมาก ทำให้ธนาคารได้ปรับลดการคาดการณ์การส่งออกของไทยลงอีกเป็น ลบ 18.4- ลบ 9.8% จากเดิมในเดือนมกราคมคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ ลบ 10.4- ลบ 0.8%

"การลงทุนภาครัฐต้องมีเข้ามามีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นนอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 รัฐบาลต้องกระตุ้นด้วยการลงทุนภาครัฐเพิ่มเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และหากมาตรการกระตุ้นไม่เป็นผลมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวลบ 2 %"

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะหดตัวมากขึ้นเป็น ลบ 6.5 - ลบ 1.6% จากเดิมคาดว่าอาจจะขยายตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ปัจจัยที่สำคัญมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการส่งออกทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงมาก ประกอบกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยประสบปัญหาจากผลของวิกฤตการเงินโลกทำให้มีอุปสรรคในการขยายการลงทุน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 1.2-2.8 %
ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 1.6-3.0 % ที่คาดไว้ในเดือนมกราคมที่ผ่ามา ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การบริโภคเอกชนยังขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีก่อนก็คือรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการขาดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

โดยการส่งออกที่หดตัวมากขึ้น อุปสงค์ของภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลง และราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้คาดการณ์ว่าการนำเข้าจะหดตัวมากขึ้นเป็น ลบ 22.5- ลบ 13.2% จากเดิม ลบ 14.1 - ลบ 3.1% ซึ่งการหดตัวที่มากขึ้นนี้จะมีผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นเป็น 6,100-7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 7,000-8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

ด้านนายปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออก และกำลังการผลิตที่ปรับตัวลดลง เป็นผลจากการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อรับกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและเป็นการปรับในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเมื่อมีการปรับตัวเร็ว ก็ถึงจุดอิ่มตัวซึ่งต่อไปก็ต้องติดตามว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะฟื้นได้เร็วแค่ไหน ซึ่งในจุดนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น