xs
xsm
sm
md
lg

ร้านค้าวุ่น!ติวเข้ม พนง."เช็ค2พัน"หวั่นปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ฟาสต์ฟู้ดโหนกระแส "เช็ค 2,000" แต่หวั่นเช็คปลอมระบาด รวมทั้งเตรียมตัวฝึกพนักงานรองรับระบบรับเช็ค หวั่นเกิดปัญหา โออิชิเปิดแคมเปญเด็ด เอาเช็คไปแลกเงินเพิ่มอีกเท่าตัว ด้านผู้ประกันตนขอรับเช็คกว่า 4 ล้านรายแล้ว ด้านผู้สูงอายุยังตื่นตัวแห่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพ หวั่นเกินยอด 3 ล้านคน เล็งเสนอนายกฯ พิจารณาหาเงินเพิ่ม ยันถ้ารัฐบาลปรับจ่ายจาก 6 เดือนเป็นตลอดชีพต้องใช้งบ 4 หมื่นล้าน

จากกรณีที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ด้วยการให้เงิน 2,000 บาท เป็นเช็ค ที่คาดว่าจะเริ่มมีการแจกจ่ายกันในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ และสามารถนำไปใช้ได้ในช่วงเดือนเมษายนนี้ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมหรือซัมเมอร์ ส่งผลธุรกิจภาคเอกชนมีความเคลื่อนไหวในการรองรับเช็ค 2,000 บาทนี้ เพราะจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจร้านอาหร หรือพวกฟาสต์ฟู้ด

หวั่นเช็คปลอม-ต้องอบรม พนง.

แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหาร กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า มาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจคงจะต้องมีความระมัดระวังในการรับเช็คดังกล่าวด้วยเหมือนกัน เพราะว่า ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะสั่งจ่ายออกมาในรุปแบบใด และจะนำมาใช้อย่างไร

อีกทั้งปัญหาเรื่องของเช็คปลอม ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง เพราะขนาดธนบัตรยังมีการปลอมได้ง่ายๆ เช่น กรณีของธนบัตรใบละ 1,000 บาท ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการปลอมระบาดออกมา ตรงนี้ภาคเอกชนเอก็มีความหวาดหวั่นอยู่เหมือนกัน

นอกจากนั้นแล้วในเรื่องของระบบการเตรียมความพร้อมของร้านค้า ส่วนหนึ่งก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับพนักงานด้วย เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้ว การรับชำระค่าอาหารจากลูกค้าก็จะเป็นเงินสด หรือไม่ก็บัตรเครดิต หรืออาจจะเป็นบัตรกำนัล แต่ครั้งนี้คาดว่าจะเป็นเช็ค ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งพนักงานในร้านค้าโดยเฉพาะแคชเชียร์อาจจะไม่มีความคุ้นเคยกับระบบการใช้เช็ค ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านการรับชำระค่าบริการ ตรงนี้เอง ร้านค้าก็ต้องมีการอบรมภาคปฎิบัติให้พนักงานให้มีความรู้ในเรื่องของเช็คนี้ด้วยว่าจะจัดการอย่างไร

แหล่งข่าวจาก บริษัท ยัม เรสเตอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านไก่ทอดเคเอฟซี และ พิซซ่าฮัท กล่าวกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ว่า ร้านเคเอฟซีมีแผนที่จะรับค่าบริการที่เป็นเช็ค 2,000 บาท ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐเช่นกัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและระบบงานต่างๆ

โดยเฉพาะมูลค่าการซื้ออาหารนั้นคงไม่ถึง 2,000 บาทต่อครั้ง ดังนั้นอาจจะมีการทอนเป็นเงินสดให้หรือทอนกลับเป็นบัตรกำนัลพร้อมกับของแถมด้วยหรือไม่ “เรากลัวเหมือนกันว่าจะมีเช็คปลอมมาใช้จ่ายที่ร้านเรา เช่นถ้าเขาซื้อ 200 บาท เราทอนให้เขา 1,800 บาท แต่พบว่าเป็นเช็คปลอม เท่ากับว่าเราขาดทุนไปถึง 9 เท่าเลยทีเดียว” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านร้านเชสเตอร์กริลล์ในเครือซีพีนั้น แหล่งข่าวให้ความเห็นว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการอยู่ ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด แต่บริษัทก็มีความยินดีที่จะรับค่าบริการเป็นเช็ค 2,000 บาท ซึ่งปัญหาอยู่ที่การทอนให้กับลูกค้า เพราะค่าใช้จ่ายในร้านเชสเตอร์กริลล์ต่อบิลคงไม่สูงมากแค่ 100-200 บาทเท่านั้น นอกจากนั้นเราจะจัดเมนูอาหารให้เป็นชุด ที่จะมีราคาต่ำกว่าในช่วงปรกติด้วย

"โออิชิ" ตีปี๊บเบิ้ล 2 พัน

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัวแคมเปญ “โปรโมชันช่วยชาติกับโออิชิ กรุ๊ป” โดยประชาชนสามารถนำเช็ค 2,000 บาท ไปเพิ่มมูลค่าเป็น 4,000 บาท ในเครือโออิชิ กรุ๊ป กว่า 100 สาขา และเมื่อใช้คูปองสามารถทอนเป็นเงินสดได้ด้วย นับว่าเป็นการมอบส่วนลด 50% สูงสุดจากปกติมีการทำโปรโมชันลดราคา 10-15%

บริษัทเตรียมงบรองรับการนำเช็คมาแลกเป็นคูปองดังกล่าวแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งปกติยอดขายในเดือนเมษายนราว 200 ล้านบาท คาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท โดยนำมาแลกได้ระหว่างวันที่ 1 – 30 เมษายน นี้ โดยคูปองมีอายุ 6 เดือน

อีกทั้งเปิดตัวแคมเปญช่วยชาติธุรกิจส่วนตัว หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท โครงการตลาดนัด 2 แห่ง แบ่งเป็น ลงทุน 900 ล้านบาท ตลาดนัดจังหวัดลพบุรี ที่ มังกี้ มอลล์ โลตัส ล่าสุดขยายพื้นที่จาก 50 ไร่ เป็น 76 ไร่ เพิ่มพื้นที่แผงจาก 500 แผง เป็น 1,500 แผง และลงทุน 406 ล้านบาท ตลาดนัดจ.เชียงใหม่ภายใต้ชื่อ”Think Marketing” บนพื้นที่ 14 ไร่ ซึ่งกำลังเปิดในเดือนเมษายน 1,000 แผง

ตลาดนัดทั้ง 2 แห่ง ได้เตรียมเงินสำรองสำหรับผู้ที่ต้องการนำเช็ค 2,000 บาท จากรัฐบาลมาแลกเป็นเงินสด 2,000 บาท เดือนเมษายน นี้ และแถมชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ 2ขวด และคูปองชิงโชครถมอเตอร์ไซค์และทองคำมูลค่า 2 แสนบาท และเปิดให้ผู้เช่าแผงขายฟรีในเดือนเมษายน จากปกติต้องเสียค่าเช่าแผง 50-100 บาท เพื่อรองรับคนตกงาน บริษัทฯจะจับมือกับแบงก์กรุงศรีอยุธยาในการตรวจสอบเช็คที่มาขึ้นเงินว่าปลอมหรือไม่

สำหรับการเคลื่อนไหวของภาคเอกชนขณะนี้ สนองนโยบายการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของประชาชนน้อย ส่วนหนึ่งเพราะกลัวเสียภาพลักษณ์ อย่างประเทศไต้หวันว่า รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินให้กับประชาชน 3,600 บาท ทุกคน และภาคเอกชนก็สนองนโยบายภาครัฐ ออกแคมเปญโปรโมชันเต็มที่ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก โดยช่วง 20 วัน คนใช้เงินหมุนเวียนสู่ระบบ 60% ส่งผลให้ทุกธุรกิจเติบโต ซึ่งธุรกิจร้านอาหารโต 2-3 ตัว ขณะที่สื่อพลอยรับอานิสงส์โต 4 เท่าตัว จากการแข่งขันลงโฆษณา

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นโยบายของภาครัฐไม่ค่อยเกิดกระแสความแรงเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนนโยบายของภาครัฐ อุปสรรคการนำเช็คมาใช้

นายเฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า แมคโดนัลด์พร้อมรับเช็ค 2,000 บาท สำหรับประชาชนที่ต้องการใช้เช็คดังกล่าวซื้อเมนูอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ทุกสาขาทั่วประเทศไทย

ผู้ประกันตนขอรับเช็ค 4 ล้านราย

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้รับความร่วมมือจากนายจ้างและผู้ประกันตนในการยื่นแบบ คำขอรับเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐในส่วนของผู้ประกันตน (สปส.รบ.2000) แล้ว 4,767,585 ราย ทั้งนี้ ยังไม่รวมผู้ประกันตนมาตรา 38 ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ จำนวน 44,455 ราย คาดว่าจะดำเนินการส่งเช็คไปยังผู้ประกันตนภายในวันที่ 26 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2552 จึงขอให้นายจ้างและผู้ประกันตนรีบส่งแบบคำขอรับเงินดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ภายในวันที่ 6 มีนาคมนี้ หากนายจ้างและผู้ประกันตนยื่นแบบคำขอล่าช้าจะทำให้ผู้ประกันตนอาจได้รับเช็คหลังเทศกาลสงกรานต์

หวั่นยอดลงทะเบียนคนแก่เกิน 3 ล้าน

วานนี้ (2 มี.ค.) นายกิตติ สมานไทย ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมจุดลงทะเบียนหลายแห่ง อาทิ จ.ตรัง จ.เชียงใหม่ และกทม. พบว่ากลุ่มใหญ่ที่มาลงทะเบียนในต่างจังหวัดจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ โดยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จะมีผู้สูงอายุมาลงทะเบียนแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50-60 ส่วนเขตเทศบาลยังมาไม่เกินร้อยละ 20 แต่ก็ทยอยมาลงทะเบียนกันเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ. ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ผู้สูงอายุที่มีรายได้แต่อยากใช้สิทธิที่ได้รับจากนโยบายรัฐบาล โดยเขตราชเทวีมีแม่ชีมาขอลงทะเบียนจำนวนหนึ่งด้วย สำหรับยอดรวมตัวเลขแต่ละแห่งขณะนี้มียอดลงทะเบียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20

ส่วนปัญหาเท่าที่พบขณะนี้ คือ ประชาชนยังขาดความเข้าใจว่าตัวเองมีสิทธิได้รับเงินหรือไม่ อย่างไรก็ตามการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะมีการหักค่าธรรมเนียมกรณีให้โอนเงินเข้าบัญชี ครั้งละ 8-10 บาท จากเบี้ยยังชีพ 500 บาทที่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าโอนเข้าธนาคารใด

“ผู้สูงอายุทั่วประเทศตื่นตัวมาลงทะเบียนเงินเบี้ยยังชีพค่อนข้างมาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเกินจำนวนผู้สูงอายุที่คาดประมาณไว้ประมาณ 3 ล้านคนหรือไม่ ต้องรอดูหลังวันที่ 15 มี.ค.นี้ ซึ่งหากเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ผมจะเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาว่าจะนำเงินส่วนใดมาใช้จ่ายเพิ่มเติม”นายกิตติกล่าว

แจงโอนเบี้ยใช้ได้ทุกธนาคาร

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถึงการร้องเรียนจากผู้สูงอายุใน จ.นนทบุรี ว่าไม่สามารถลงทะเบียนผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของเทศบาล จ.นนทบุรี อ้างว่าหากไม่มีสมุดบัญชีธนาคารกรุงไทยก็ไม่สามารถลงทะเบียนได้ รวมทั้งยังมีการร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนมาด้วยว่า กรณีบางเขตของกทม.มีเจ้าหน้าที่มาตั้งหน่วยรับลงทะเบียน พร้อมทั้งระบุว่าหากจะให้โอนเงินเข้าบัญชีจะต้องเป็นบัญชีของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น หากเป็นบัญชีธนาคารอื่นจะไม่รับการยื่นยันว่าจะโอนเงินได้หรือไม่ หรือไม่ต้องมารับเงินสดด้วยตัวเอง นอกจากนี้ในบาง อบต. มีการระบุว่าสามารถโอนเงินเข้าบัญชีเพียงอย่างเดียว เพราะไม่สะดวกที่จะจ่ายเป็นเงินสด

สำหรับประเด็นดังกล่าว นายกิตติได้ชี้แจงว่า ตามระเบียบขั้นตอนการลงทะเทียนนั้น ได้เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุแสดงความจำนงว่า จะเลือกรับเงินรูปแบบใด ซึ่งมีทั้งรับเป็นเงินสดหรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ในส่วนของการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารตามระเบียบก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นธนาคารกรุงไทยแห่งเดียว ธนาคารอื่นๆ ก็สามารถรับเงินได้ แต่เจ้าหน้าที่ของ อบต.และ เทศบาลในบางพื้นที่ อาจจะแก้ปัญหาความยุ่งยากด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเพียงธนาคารเดียวเพื่อความสะดวก ปัญหาตรงนี้เจ้าหน้าที่ที่รับลงทะเบียนต้องอธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจอย่างชัดเจน

ยันจ่ายตลอดชีพใช้งบ 4 หมื่นล้าน

นายกิตติกล่าวอีกว่า แน่นอนแล้วว่าจะมีการขยายสิทธิการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งแต่เดิมรัฐบาลกำหนดไว้ 6 เดือน เป็นตลอดชีพ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะต้องรออนุมัติงบประมาณปี 2553 ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น