xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบเหมือนกันแต่ต่างกัน : เส้นแบ่ง พธม.กับ นปช.

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คนเหมือนกันแต่ต่างกัน หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยการขยายความก็คือ เหมือนกันในความเป็นคนที่จำแนกด้วยรูปลักษณ์เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เดรัจฉาน แต่ต่างกันตรงที่การกระทำหรือที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า กรรม และการกระทำนี้เองได้แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. คนดี อันได้แก่ ผู้ที่ทำดีด้วยกาย วาจา และใจ คือเป็นผู้คิดดี พูดดี และทำดี

2. คนชั่ว อันได้แก่ ผู้ที่ทำชั่วทางกาย วาจา และใจ คือเป็นผู้คิดชั่ว ทำชั่ว และพูดในสิ่งที่ชั่ว

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงในโลกแห่งโลกียชนคนมีกิเลส ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะคิดดี พูดดี และทำดีร้อยเปอร์เซ็นต์

ในทางกลับกันที่คนจะทำชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจร้อยเปอร์เซ็นต์

ดังนั้น คำว่าคนดีโดยนัยแห่งคำกล่าวข้างต้นจึงหมายถึง การกระทำส่วนใหญ่เป็นความดีหรือเป็นกุศลกรรม หรืออีกนัยหนึ่งกรรมดีที่กระทำเป็นครุกรรมแต่กรรมชั่วที่คนดีทำเป็นเพียงลหุกรรม และเป็นไปด้วยไม่เจตนา จึงจะจัดว่าเป็นคนดี

ในทางกลับกัน คนชั่วก็ในทำนองเดียวกัน คือ ผู้ที่กรรมชั่วโดยส่วนใหญ่ และทำดีเป็นส่วนน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง กรรมชั่วที่ทำเป็นครุกรรมแต่กรรมดีที่ทำเป็นเพียงลหุกรรม จึงจัดว่าเป็นคนชั่ว

โดยนัยแห่งวลีที่ว่า คนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ดังกล่าวข้างต้น พอจะใช้เป็นแนวทางในการเปรียบเทียบความเหมือน และความต่างของคนสองกลุ่มที่มีความขัดแย้งกันในสังคมไทย และมีผู้คิดที่จะให้คนสองกลุ่มที่ว่านี้ปรองดองกันด้วยวิธีการต่างๆ แม้กระทั่งการออกเป็นกฎหมายเพื่อบังคับให้เกิดการปรองดองกันก็จะทำ และจากแนวคิดที่ว่านี้เอง เป็นที่มาของบทความนี้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งเนื้อหา และนำไปเป็นพื้นฐานแห่งการวิเคราะห์ความเหมือนและความต่างระหว่างพฤติกรรมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม.ซึ่งมีเสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ซึ่งใช้เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์

เริ่มด้วยความเหมือน ก็คือ ทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นคนไทย ยกเว้นบางคนในกลุ่มคนเสื้อแดงที่บอกว่าไม่ใช่คนไทย และภูมิใจที่มีพ่อเป็นจีนและมีแม่เป็นอังกฤษ ดังนั้นจึงถือได้ว่าโดยหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศไทย จึงได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายโดยความเสมอภาคกัน ตามที่ได้รับสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่คนสองกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการเดินขบวนเรียกร้องทางการเมืองโดยปราศจากอาวุธ

แต่ในความเหมือนดังกล่าวแล้วข้างต้น คนสองกลุ่มนี้มีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจน ถ้ามีการนำเอาปัจจัยในทางตรรกศาสตร์มาวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

1. ที่มา หรือสาเหตุแห่งการเกิด

กลุ่มเสื้อเหลืองที่เรียกชื่อกลุ่มย่อๆ ว่า พธม.ซึ่งนำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยมูลเหตุจูงใจสำคัญ 2 ประการ คือ

1. เพื่อให้มีการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐของกลุ่มคนในระบอบทักษิณ

2. เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้รอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี

ส่วนคนกลุ่มเสื้อแดงหรือ นปช.ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยมูลเหตุจูงใจสำคัญ 2 ประการคือ

1. เพื่อต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร

2. เพื่อเรียกร้องให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง และต้องการให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับโทษทางการเมืองจากการพิพากษาตัดสินของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้อดีตนายกฯ ทักษิณรอดพ้นจากคดีต่างๆ ที่ คตส.เป็นโจทก์ฟ้อง

2. วิธีการในการแสดงออกทางการเมือง

ถ้าดูจากรูปแบบของการจัดกิจกรรมทางการเมืองของทั้งกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดงแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนจะมีการกำหนดรูปแบบในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระปราศจากการชี้นำของคนนอกกลุ่ม จึงทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นไปอย่างสงบ และมีความพร้อมเพรียงภายในกลุ่ม เนื่องจากผู้ที่มาทุกคนมีส่วนร่วมในการบริจาคทุน และช่วยกันกำหนดทิศทางเป็นไปในการดำเนินกิจกรรมตามที่มติของ 5 แกนนำต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนคนกลุ่มเสื้อแดงหรือ นปช.ซึ่งนำโดยนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระใต้การชี้นำของแกนนำ แต่จะต้องดำเนินการตามกลุ่มทุน โดยเฉพาะอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง จึงทำให้กิจกรรมที่กำหนดขึ้นขาดความพร้อม และไม่มีเอกภาพเพียงพอจะต่อสู้ยืดเยื้อยาวนานเช่นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทุกคนทำด้วยความสมัครใจ และปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มทุน

ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนกลุ่มเสื้อแดงจึงมีข้อจำกัดในเรื่องของความพร้อม ทั้งนี้เนื่องจากขึ้นอยู่กับทุนและการเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยของนายทุนที่สนับสนุนเป็นสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ การที่คนกลุ่มนี้ประกาศชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาล ที่บอกว่าจะยืดเยื้อและมีคนมาร่วมเป็นจำนวนแสน

แต่เอาเข้าจริงคนมาร่วมไม่ถึงหมื่น และอยู่ได้เพียง 2 วันกว่าๆ ก็ถอยกลับไป ด้วยเหตุผลว่า จะมีการยกระดับการชุมนุมเป็นการไล่รัฐบาล และจะกลับมาใหม่ให้ใหญ่กว่าที่เป็นมาแล้ว

3. ผลที่คาดหวัง

สิ่งที่คนกลุ่มเสื้อเหลืองคาดหวัง เป็นต้นว่า จะมีการปราบทุจริตอย่างจริงจัง ถึงแม้จะไม่ปรากฏในทันทีทันใด แต่ถ้าดูจากคดีต่างๆ ที่กลุ่มคนในระบอบทักษิณตกเป็นผู้ต้องหาที่เริ่มคืบหน้าไปแล้วระดับหนึ่ง ก็ถือว่าสิ่งที่คนกลุ่มนี้คาดหวังได้ปรากฏผลแล้ว

ยิ่งกว่านี้ ตลอดเวลาที่พูดถึงปัญหาการเมือง สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการก็คือการเมืองใหม่เพื่อมาแทนการเมืองเก่า ถ้าดูจากการตอบรับของผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จแล้วในระดับที่จะมาปลุกกระแสความต้องการให้ตื่นขึ้นในลักษณะหาสิ่งใหม่มาทดแทนสิ่งเก่า

ส่วนความคาดหวังที่กลุ่มคนเสื้อแดงมุ่งหวังและต้องการให้เกิด ถ้าดูจากที่ผ่านมา และกำลังเป็นอยู่ รวมถึงการคาดการณ์ไปข้างหน้าด้วยแล้วยากที่จะบรรลุผล ทั้งนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการ คือ

1. เป็นข้อเรียกร้องที่ขัดต่อกฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ และความผิดได้เกิดขึ้นแล้วภายใต้กฎหมายที่ว่านี้ จึงไม่สามารถทำให้คนผิดที่กระทำผิดแล้วกลายเป็นคนถูกได้

2. เป็นข้อเรียกร้องที่ขัดต่อความเป็นธรรมแก่คนอื่น เป็นต้นว่า ในเมื่อคนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกลุ่มที่เสื้อแดงเรียกร้องให้นิรโทษกรรมทำผิดกฎหมาย พวกเขาต้องได้รับโทษตามกฎหมายไทย ก็ไม่มีคนไทยคนไหนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้พวกเขา แล้วทำไมเมื่อคนไทยกลุ่มหนึ่งกระทำผิด จึงได้รับสิทธิไม่ต้องเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญคนไทยทุกคนมีความเสมอภาคกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น