xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยภาคอุตสาหกรรมส่งออกทรุด30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยภาคอุตสาหกรรมมีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงทุกประเภทตามอุปสงค์ในและต่างประเทศที่ชะลอตัว ระบุเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในต่างแดนหดตัวถึง 30.87% โดยสินค้าประเภทแป้นข้อมูลลดลงมากที่สุดในระบบถึง 1.08 แสนชิ้น ขณะที่สินค้าประเภทถุงมือยางโดดเด่นสวนทางภาพอุตสาหกรรมรวมโดยมียอดส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 4.21%

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายการเงินของธปท.ได้สำรวจผลผลิตอุตสาหกรรมจำแนกตามกิจกรรมการผลิตล่าสุดในเดือนม.ค.พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 21.3% และหดตัวจากเดือนก่อนหน้า 18.5% สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีการเปรียบเทียบภาคการผลิตจริงกับกำลังการผลิตสูงสุดของเครื่องจักรที่สะท้อนถึงความเพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของการผลิต การส่งออก และแรงกดดันต่อราคาสินค้าภายในประเทศ โดยในเดือนม.ค.อยู่ที่ระดับ 57.1% แม้สูงกว่าเดือนก่อนเล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.1% แต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทุกหมวดกลับหดตัวลงอย่างชัดเจน โดยปัจจัยหลักจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลง

โดยผลผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมในหมวดเครื่องหนังมีการหดตัวสูงสุดถึง 49.5%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีเพียง 29.7% ซึ่งเป็นผลจากการปิดโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัว 40.9% และมีการใช้กำลังการผลิตแค่ 35.3% สืบเนื่องจากภาวะก่อสร้างที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจ อันดับ 3 หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัว 37.7% มีการใช้กำลังการผลิต 40.9% ส่วนหมวดอิเล็กทรอนิกส์ติดลบ 30.3% ใช้กำลังการผลิต 40.9% ซึ่งทั้งหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกิดจากความต้องการในต่างประเทศลดลง

ด้านหมวดรถยนต์หดตัว 30.3% ขณะที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 46.0% โดยเป็นการหดตัวทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์จากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ลดกำลังการผลิต เพื่อระบายสต็อกที่ได้รับผลจากความต้องการทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศชะลอตัว หมวดเครื่องดื่มยังหดตัวประมาณ 19.3% ใช้กำลังการผลิต 58.8% เนื่องจากมีสต็อกเบี้ยค่อนข้างสูงจากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า ขณะที่หมวดอาหารหดตัว 9.3% จากการที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตถึง 84.8% เป็นผลจากความต้องการจากต่างประเทศที่หดตัวมาก โดยเฉพาะอาหารทะลแช่แข็ง อาหารกระป๋องและสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามฐานการส่งออกต่างหดตัวลดลง โดยการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก (ส่งออกน้อยกว่า 30%ของการผลิตรวม) ลดลง 15.61% ผลผลิตที่ได้เพื่อการส่งออกและบริโภคในประเทศ (ส่งออกอยู่ในสัดส่วนระหว่าง 30-60%) ลดลง 12.14% และผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก (ส่งออกมากกว่า 60% ) ลดลงหนักที่สุดถึง 30.87% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลักลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 41.84% จากเดือนก่อน 43.37% และช่วงเดียวกันปีก่อน 65.49%

โดยภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทต่างมียอดการผลิตสินค้าไทยส่งออกในต่างประเทศลดลง ซึ่ง 6 อุตสาหกรรมแรกที่มียอดลดลงมากที่สุดในระบบ ได้แก่ สินค้าประเภทแป้นข้อมูลหดตัว 86.0%ในเดือนม.ค.ผลิตแค่ 17,560 ชิ้น ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 107,650 ชิ้น คอมพิวเตอร์ลดลง 55.05% ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 49.48%

เครื่องปรับอากาศ 47.24% โดยในเดือนนี้ผลิตได้ทั้งสิ้น 147,580 ชิ้น ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 132,140 ชิ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ยางแท่ง 41.45% ผลิตลดลง 34,747.93 เมตริกตัน จากปัจจุบันผลิตได้ทั้งสิ้น 49,083.07 เมตริกตัน และแผงวงจรรวมหดตัว 41.30% ซึ่งลดลง 504.85 ล้านชิ้น จากปัจจุบันที่มีผลิตได้ 704 ล้านชิ้น แต่ทั้งนี้มีเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่สวนกระแสภาพรวมการส่งออกของไทย หรือมีอัตราการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ อุตสาหกรรมถุงมือยางเพิ่มขึ้น 4.21%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น