xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ผวาคนถอนเงินทำเจ๊ง เตือนแบงก์อย่ากดดอกฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.บ้อท่า ต้องอาศัยสื่อลงข่าวขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์เรื่องลดดอกเบี้ย วอนแบงก์ลดดอกเบี้ยเงินฝากทีหลังดอกเบี้ยเงินกู้ เหตุคนฝากเงินอาจขาดแรงจูงใจเพราะดอกเบี้ยต่ำจนต้องถอนเงิน ส่งผลระบบสภาพคล่องมีปัญหา พร้อมแนะแบงก์หันมาดูแลการขยายตัวสินเชื่อ การบริหารความเสี่ยงและติดตามการปรับตัวของลูกค้า สศค.คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกทรุดตัวหนักกว่าไตรมาส 4 ปีก่อน ชี้ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายว่าจะฟื้นหรือฟุบ นายกฯ เรียกประชุมด่วนบ้านพิษณุโลก ประคองความเชื่อมั่นหลังข่าวร้ายถั่งโถม สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งออกรายงานตัวเลขทุก 7 วัน จี้คลังเร่งทำแผนใช้เงินกู้ต่างประเทศ 7 หมื่นล้าน ปล่อยข่าวดี "โจเซฟ สติกลิตซ์" นักเศรษฐศาสตร์โนเบลรับเป็นกุนซือแก้เศรษฐกิจแล้ว

เมื่อวานนี้ (26 ก.พ.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดแถลงข่าวด่วน นายบัณฑิตระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ควรมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนทิศทางที่ดี ซึ่ง ธปท.เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ควรลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากเกินไป เนื่องจากการตัดสินใจประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.5% ขณะที่ก่อนหน้านั้นคือวันที่ 14 ม.ค.ได้ลดลงไปแล้ว 1% เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธปท.เห็นว่า ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากอาจกระทบความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ฝากเงิน สภาพคล่องในระบบ รวมทั้งกลไกการแข่งขันการออมในรูปเงินฝาก ซึ่งอาจทำให้คนหันไปลงทุนในรูปแบบอื่นมากขึ้น และอาจสร้างปัญหาให้แก่ระบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคตได้ ขณะเดียวกันการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมและการชำระหนี้ และช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจในแง่ของการลงทุนเอกชนด้วย

“การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ที่ผ่านมาค่อนข้างเร็วและอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่ในระยะต่อไป การปรับดอกเบี้ยนโยบายอาจทำไม่ได้มากนัก เพราะถึงจุดหนึ่งอาจมีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยหากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวอาจสร้างข้อจำกัดในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทยมากขึ้นด้วยทั้งที่เกิดจากการส่งออกได้น้อยและเศรษฐกิจโลกชะลอ ดังนั้นการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมากมีทั้งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจ จึงควรให้ความสำคัญดูแลการขยายตัวสินเชื่อ การบริหารความเสี่ยงที่ดีของแบงก์ และการปรับตัวของลูกค้าในยุคเศรษฐกิจชะลอ”รองผู้ว่าการ ธปท.ร่ายยาว

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาสามารถตอบสนองกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็ว แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือเงินกู้ ขึ้นอยู่กับฐานลูกค้าเงินฝากและเงินกู้ที่ต่างกัน รวมถึงเงื่อนไขอื่นๆ ของแต่ละสถาบันการเงิน

นายบัณฑิตกล่าวว่า ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีการรายงานข้อมูลการเงินที่รวดเร็วมากกว่าในอดีต และหากเกิดประเด็นอะไรขึ้นธปท.จะหารือกับธนาคารพาณิชย์ต่อไปจากปัจจุบันที่มีการพูดคุยกันบ่อยครั้งแล้ว

สำหรับอัตราการขยายตัวของเงินฝากอยู่ที่ระดับ 9% ล่าสุดในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงกดดันสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์พอสมควร ขณะที่การขยายตัวสินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่าปี 51 ล่าสุดในสิ้นเดือน ธ.ค.ขยายตัว 10-11% ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศด้วย และธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อด้วยจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จึงมองว่าการสร้างกลไกจุลภาคในการค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐจะช่วยส่งเสริมให้ลูกค้าที่มีฐานะที่ดีอยู่แล้วสามารถชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ได้ รวมทั้งสามารถนำสภาพคล่องที่มีอยู่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง

รองผู้ว่าการ ธปท.ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีรายได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากไม่มากนัก เพราะอุปสงค์ในประเทศลดลง และปัจจัยการแข่งขันที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลัง กนง.แถลงข่าวลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา 0.50% เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ปรากฏว่า ธรนาคารไทยพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ลงมา 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เหลือเพียง 0.5% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ 0.75% ล่าสุดวานนี้ (26 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประกาศลดดอกเบี้ย เงินกู้ทุกประเภท 0.25% ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากลดลงระหว่าง 0.25-0.50% มีผลวันเดียวกับธนาคารไทยพาณฺชย์คือวันนี้ (27 ก.พ.)

โดยนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงการปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ว่า เป็นการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก หลังจากการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว อัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR อยู่ที่ 6.25% 6.50% และ 6.75% ตามลำดับ ส่วนเงินฝากออมทรัพย์ อยู่ที่ 0.50% เงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ 0.75-0.90% เงินฝากประจำ 6 เดือน อยู่ที่ 0.75-0.90% เงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ 1.00% และเงินฝากประจำ 24 และ 36 เดือน อยู่ที่ 1.50%

"การปรับดอกเบี้ยครั้งนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากได้มีการปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ลงไปด้วย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนปรับลดลงมามากใกล้เคียงกับดอกเบี้ยออมทรัพย์แล้ว แต่ในระยะยาวจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ปรับลดลงเหลือ 0% หรือไม่นั้นยังไม่สามารถให้ความเห็นได้"

นายประสารระบุด้วยว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM)ของธนาคารยังอยู่ที่ระดับ 3% กว่า และเชื่อว่าทั้งปีจะคงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิไว้ที่ระดับนี้ได้ แม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแต่ก็เป็นการปรับลดลงทั้ง 2 ขา จึงไม่มีผลกระทบต่อส่วนต่างของธนาคาร อย่างไรก็ตามส่วนต่างระดับนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นระดับที่สูงจนเกินไป แต่ในปีนี้อัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับลดลงอีกหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับทางการและการแข่งขัน"

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในปี 2552 หลังจากที่ทิศทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องว่า ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าสินเชื่อไว้สูง และในปีนี้ไม่ได้เน้นการเติบโตในด้านปริมาณ แต่เน้นในด้านคุณภาพและยังเชื่อว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิจะลดลงจากปีก่อนเพียงเล็กน้อยที่อยู่ 3.98% ตามภาวะดอกเบี้ยขาลง

**คลังคาดจีดีพี Q1 ทรุดหนักกว่า Q4/51

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ว่าน่าจะมีโอกาสติดลบมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ระดับ -4.3% เนื่องจากการส่งออกเดือนม.ค.หดตัวลงมากกว่าที่คิดรวมถึงการนำเข้าที่ลดลง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณอ่อนแอลงมาก แม้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 และ 3 แต่ตัวเลขน่าจะติดลบน้อยลงจากไตรมาสแรก เนื่องจากไตรมาส 2 น่าจะเห็นผลของมาตรกากระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐประกาศออกไป ส่วนไตรมาส 4 จะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจไทยจะผงกหัวขึ้นมาเป็นบวกได้หรือยังซึมยาวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษก สศค. กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วหรือไม่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกว่าลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อไหร่ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกถึง 70% และขึ้นอยู่กับการดำเนินมาตรการของรัฐบาลด้วย ซึ่งสศค.ประเมินใหม่พบว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปีนี้อาจจะติดลบ 1-3% จากเดิมที่มองว่าขยายตัวเป็นบวก 1%ทำให้ต้องประสานข้อมูลกับธปท.และสภาพัฒน์อีกครั้งเพราะอาจตัวเลขในแง่ร้ายเกินไป

อย่างไรก็ตามตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาเดือนม.ค. ทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัว 29.8% การจำหน่ายรถยนต์ที่หดตัว 39.5% รวมถึงการบริโภครถจักรยานยนต์ที่หดตัว 21.6% จากที่เยเป็นบวกเดือนธ.ค.ปี 51 แสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายในประเทศที่หดตัวลงอย่างรุนแรง

“มองว่าไตรมาส 1 เศรษฐกิจน่าจะลงไปถึงจุดต่ำสุด และการที่จีดีพีติดลบต่อเนื่อง 2 เดือนชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นภาวะเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ติดลบ แต่เป็นปัจจัยต้องจับตาดูหากเอกชนแข่งขันกันลดราคาสินค้าแต่ยังไม่มีการใช้จ่ายและเกิดภาวะขาดทุนตามมาก็ต้องระวัง”นายเอกนิติกล่าวและว่าจากตัวเลขที่สะท้อนออกมาก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าจีดีพีปีนี้น่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ที่ขยายตัว 1% แต่จะติดลบเท่าไหร่ขอดูตัวเลขเดือนก.พ.ก่อนจะประกาศเดือนมี.ค.อีกครั้ง

หากจีดีพีลดลงทุก 1% จะส่งผลให้เกิดการว่างงาน 3.6 แสนคน จากปัจจุบันที่มีอัตราการว่างงาน 1.4%ของจีดีพีหรือประมาณ 5 แสนคนแม้ยังไม่มากนักแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มาตรการของภาครัฐจึงต้องรองรับปัญหาดังกล่าวและผลักดันให้เกิดการบริโภค การลงทุนมาทดแทนการส่งออกที่หายไป

**มาร์คเปิดบ้านพิษฯ พยุงความเชื่อมั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วงเช้าวานนี้ (26 ก.พ.) นายกฯ เดินทางออกจากบ้านพักไปยังบ้านพิษณุโลกเพื่อหารือถึงภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีนายกอปร์ศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง พร้อมด้วยนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรีด้วย

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงการเจรจากรอบการกู้เงิน จากต่างประเทศ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็ว ๆ นี้ว่า กระทรวงการคลังกำลังเร่งดำเนินการเรื่องนี้ ถ้าการค้าโลกหดตัวประมาณร้อยละ 30 -40 ความจำเป็น ที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมีแน่นอน ต้องใช้แผน 2 ที่จะกู้เงินจากต่างประเทศซึ่งตัวเลขของไทยเบากว่าต่างประเทศ ส่วนวงเงินกู้ 7 หมื่นล้านบาท จะพอเพียงกับสิ่งที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เสนอกรอบและรายละเอียด และดูโครงการที่จะใช้ในเรื่องนี้ ถ้าไปกู้เงินมามาก แต่ไม่มีโครงการที่ดีรองรับก็ไม่ควรทำ เพราะเป็นการสิ้นเปลืองและก่อหนี้ โดยช่วงเช้ที่ผ่านมาได้เรียกผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการ ธปท. และเจ้าหน้าที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มาพบเพื่อให้รายงานเกี่ยวกับตัวเลขไตรมาสที่ 4 ให้ละเอียดมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ยอมรับว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้น ตัวเลขในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ของหลายประเทศหนักมาก แต่ในแง่เป้าหมายเชิงกรอบเวลายังเหมือนเดิม พยายามหยุดยั้งสถานการณ์ วิกฤตด้านการเงินและเศรษฐกิจให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 และกระตุ้นไตรมาสที่ 3 ให้อยู่ในแดนบวกมากขึ้นที่สุด ทั้งนี้ไม่กระทบต่อนโยบายของรัฐบาล แต่ยืนยันว่าจะมีการใช้จ่ายเงินในระบบให้มากที่สุด เป็นแนวทางที่น่าจะถูกต้องแล้ว หากรอไปมากกว่านี้ เศรษฐกิจทรุดตัวก็จะแก้ปัญหายาก

ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุด กนง.ได้ลดดอกเบี้ยลง 0.5 % จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ ได้มากน้อยแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าเป็นทิศทางและสัญญานที่สอดรับกับการบริหารเศรษฐกิจ แต่ปัญหาใหญ่ของระบบการเงิน อยู่ที่การปล่อยสินเชื่อมากกว่า มาตรการของรัฐบาลที่จะให้ บสย.ไปค้ำประกันสินเชื่อคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถตกลงกับธนาคารต่าง ๆ ได้ คิดว่าปัญหาของธนาคารตอนนี้อยู่ที่การประเมินความเสี่ยง
ส่วนประเด็นผู้ที่ฝากประจำสูญเสียรายได้นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มีการลดดอกเบี้ยไปทั้งสองขา ธนาคารต่างๆ ก็มีมาตรการเสริม เพื่อให้มีการปล่อยสินเชื่อ สิ่งที่กลัวคือขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เงินเฟ้อจะติดลบ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามไม่ให้เป็นอย่างนั้น ส่วนการคาดการณ์ตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับอีกครั้งในเดือนเมษายน

**นักเศรษฐศาสตร์โนเบลรับเป็นกุนซือ ศก.

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกทีมเศรษฐกิจเข้าหารือเป็นการด่วนที่บ้านพิษณุโลกว่า ประเด็นสำคัญที่หารือในที่ประชุมคือ ตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงอย่างหนัก โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานตัวเลขการส่งออกทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังพูดถึงมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 จะลงไปในพื้นที่ต้นเดือน มี.ค. รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมโดยจะเพิ่มมาตรการทางด้านสังคมเข้ามาเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลเข้าใจว่าวิกฤติเศรษฐกิจในขณะนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

"ขณะนี้รัฐบาลอยู่ในระหว่างเตรียมข้อมูล ให้นายกฯการเดินทางไปร่วมประชุมจี 20 ระหว่างวันที่ 2 - 4 เม.ษ.นี้ โดยนายกฯจะพยายามเดินสายพบกับทุกภาคส่วน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลใช้แลกเปลี่ยน ในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ทั้งนี้แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับคำชมจากนายโจเซฟ อี สติกลิตซ์ ศาตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2001 ซึ่งนายกฯได้ขอความเห็น และเชิญนายโจเซฟมาเป็นที่ปรึกษา ล่าสุดได้รับการตอบรับคำเชิญของนายกฯ เรียบร้อยแล้ว เพราะแนวคิดของทั้งสองคนตรงกัน"

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมการเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีโดยในวันที่ 12-14 มี.ค.นี้ นายกฯจะเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อพูดคุยและแลกเปลี่ยนรวมทั้งซักซ้อมก่อนการประชุมร่วมจี 20 ส่วนวันที่ 9 -11 มี.ค.นี้ พระราชาธิบดีของประเทศมาเลเซียจะเดินทางเข้าพบ และปลายเดือน มี.ค.จะเดินทางไปเยือนประเทศจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น