xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ยันต้องถอน13สมุนไพรอัดที่มาคณะกก.ไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.สรุปชัดต้องถอนประกาศ 13 สมุนไพรเป็นวัตถุอันตรายตามประกาศ ก.อุตสาหกรรม ด่ากันขรม ไม่มีผลดีสร้างผลเสียมหาศาล แถมที่มาคกก.วัตถุอันตรายไม่โปร่งใส ภาคประชาชนไม่ไว้ใจ ก.เกษตร เตรียมบุกรัฐสภา 16 ก.พ.ให้ตั้งกรรมการสอบเอื้อทุนเกษตรหรือไม่ ด้านเลขาฯสช.ชี้หากฟ้องศาลปกครองชนะแน่ เหตุแจ้งมติ กก.วัตถุอันตรายด้วยการเวียนหนังสือ เชื่อศาลไม่รับฟัง
เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (13ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.นรา นาควัฒนานุกุล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในการประชุมปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ ประโยชน์ และผลกระทบจากการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552 (พิจารณาพืช 13 ชนิด ที่อยู่ในบัญชีพืชอันตราย) โดยมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหรและยา(อย.) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักวิชาการด้านสมุนไพร และเครือข่ายภาคเกษตรกร เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีความเห็นคัดค้านการออกประกาศควบคุมพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เพราะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ รวมถึงงานวิจัยสมุนไพรไทยทั้งหมด โดยให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณายกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวทันที
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ตั้งข้อสงสัยถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่ามีอำนาจในการทำงานหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. 2551 กำหนดให้ต้องมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 5 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิม หมดวาระลงภายใน 180 วัน หลังพ.บ.. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้

สธ.สรุปความเห็นต้องถอนเสนอ“วิทยา”
นพ.นรา นาควัฒนานุกุล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานในการประชุมหารือเพื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ประโยชน์และผลกระทบประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย(ฉบับที่6) พ.ศ.2552 พิจารณาพืช 13 ชนิด ที่อยู่ในบัญชีพืชอันตราย กล่าวว่า จะสรุปความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ส่งให้ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข พิจารณาเพื่อนำไปหารือในระดับกระทรวงต่อกระทรวงอีกครั้ง
ทั้งนี้ จากความคิดเห็นของทุกฝ่ายเห็นว่า การออกประกาศดังกล่าว มีผลกระทบเชิงลบมากกว่า แม้ว่าอาจจะมีเจตนาดี แต่ไม่ควรนำข้อกฎหมายมาใช้เพื่อควบคุม หากอยากเห็นการพัฒนาควรส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เพราะไม่สร้างปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรแยกแยะสมุนไพรไทยออกจากยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นการประกาศกฎหมายใดๆ จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ และทำให้เกิดความชัดเจน หากยังมีข้อถกเถียงก็ควรระงับหรือถอนการประกาศไว้ก่อน
"ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และทำให้เกิดความกังวลในการบริโภคอาหาร และยา ที่มาจากสมุนไพร การแก้ปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือคุ้มครองผู้บริโภค มีอีกหลายวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า เช่น ตั้งกองทุนขึ้นโดยนำเงินมาจากการเก็บภาษีสินค้าที่ทำจากสารเคมีที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปช่วยเหลือ สนับสนุน เกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัย" นพ.นรากล่าว

แฉ 4 ประเด็นพิรุธ
นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดีกรมพัฒนากาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากการประชุมในครั้งนี้ มีความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ ดังนี้
1 .ประกาศดังกล่าวมีเจตนาดี แต่มีผลกระทบมากมายมหาศาล ดังนั้นจึงมีมติให้ระงับหรือยุติประกาศดังกล่าวให้เร็วที่สุด 2. เหตุผลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า เพื่อคุ้มครองเกษตรกรจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำจัดศัตรูพืชนั้น ฟังไม่ขึ้น ไม่สมเหตุสมผล เพราะยังมีทางเลือกอีกมากมายที่จะควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แต่กลับเลือกใช้กฎหมายซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายที่ควรดำเนินการ
3. กระบวนการความโปร่งใสธรรมาภิบาลของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่เร่งรีบในการออกประกาศฉบับดังกล่าว โดยไม่เปิดรับฟังประชาพิจารณ์ อีกทั้งมีความเคลือบแคลงว่า อายุของคณะกรรมการชุดดังกล่าวหมดอายุหรือไม่ เพราะจะต้องให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะต้องแต่งตั้งก่อน 17 ก.พ.นี้ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายระบุ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้คำตอบ
4 .ควรหาหน่วยงานใดมารับผิดชอบในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ รวมถึงเกษตรอินทรีย์ด้วยเช่นกัน

พิลึกแจ้งมติผ่านหนังสือเวียน
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ได้มีการแจ้งมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทราบในเรื่องประกาศดังกล่าวผ่านทางหนังสือเวียน ซึ่งหากภาคประชาชนไปฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เชื่อว่าศาลจะคุ้มครองและเพิกถอนประกาศดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะแม้ว่าการเวียนหนังสือให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบจะเป็นธรรมชาติทางราชการ แต่ในกรณีที่เรื่องมีความสำคัญ มีผลกระทบใหญ่หลวงเช่นนี้ โดยไม่มีการประชุม ศาลคงไม่รับฟังแน่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับกรรม แม้ว่ากรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ชงเรื่องก็ตาม
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่ปรึกษากรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้กำหนดระเบียนขั้นตอนในไว้ 10 ขั้นตอน ในการออกประกาศ กฎต่างๆ ของหน่วยงานราชการ แต่กลับพบว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง มีการลัดขั้นตอนหลายอย่าง ซึ่งจากการอ่านรายงานบรรทุกการประชุมพบว่า ไม่มีการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อเห็นชอบร่างประกาศฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด โดยมีเพียง กรมวิชาการเกษตร และอย. ประชุมร่วมกันเท่านั้น จากนั้นจึงใช้วิธีส่งรายงานการประชุมแบบจดหมายเวียนไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้เซ็นรับรองรายงานการประชุมแทน
"การออกประกาศหรือระเบียบใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างควรจะมีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านเสียก่อน ที่สำคัญต้องเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ด้วย ว่าเห็นชอบกับร่างประกาศที่จะออกหรือไม่ และหากมีความเห็นแย้ง ก็ต้องนำร่างประกาศดังกล่าว กลับมาแก้ไขใหม่ แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ กลับไม่ได้ทำขั้นตอนเหล่านี้เลย และที่สำคัญ การออกเป็นกฎหมายบังคับควรจะใช้เป็นมาตรการสุดท้าย โดยให้ใช้วิธีอื่นๆ ควบคุมก่อน แต่คณะกรรมการฯ ชุดนี้ กลับใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นอย่างแรก ซึ่งถือเป็นการทำบาปอย่างมาก" นพ.วิชัยกล่าว

ภาคประชาชนไม่ไว้ใจบุกสภา16 ก.พ.
น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแจ้งกับสาธารณชนว่าจะยกเลิก แต่เป็นการใช้คำว่า หากจำเป็นจะยกเลิก รวมถึงจะใช้กฎหมายอื่นแทน ซึ่งถือว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้นในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เวลา 15.00 น. เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อน.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล รัฐสภา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเบื้องลึกของการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น