xs
xsm
sm
md
lg

เวที สธ.ถก 13 สมุนไพร จวก ก.เกษตรฯ ย้ำต้องเลิกประกาศ แฉที่มา คกก.วัตถุอันตรายไม่ชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เตรียมสรุปถอนประกาศ 13 สมุนไพร เป็นวัตถุอันตรายตามประกาศ ก.อุตฯ เสนอ รมว.สธ.ด่ากันขรม ชี้ ไม่มีผลดีสร้างผลเสียมหาศาล แถมที่มา คกก.วัตถุอันตรายไม่โปร่งใส ด้านภาคประชาชนไม่ไว้ใจก.เกษตร บุกสภาจี้ตั้งกรรมการสอบเบื้องหลัง 16 ก.พ.นี้

วันนี้ (13 ก.พ.) เมื่อเวลา 14.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นรา นาควัฒนานุกุล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธานในการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ ประโยชน์ และผลกระทบจากการประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 (พิจารณาพืช 13 ชนิด ที่อยู่ในบัญชีพืชอันตราย) โดยมีผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหรและยา (อย.) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นักวิชาการด้านสมุนไพร และเครือข่ายภาคเกษตรกร เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีความเห็นคัดค้านการออกประกาศควบคุมพืชสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เพราะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ รวมถึงงานวิจัยสมุนไพรไทยทั้งหมด โดยให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณายกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวทันที นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสงสัยถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าไม่มีอำนาจในการทำงานหรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับแก้ไข) พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 5 คน เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย และให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิม หมดวาระลงภายใน 180 วัน หลัง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้

นพ.นรา กล่าวว่า จะสรุปความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ให้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้พิจารณาเพื่อนำไปหารือในระดับกระทรวงอีกครั้ง ซึ่งจากความคิดเห็นของทุกฝ่ายเห็นว่า การออกประกาศดังกล่าวมีผลกระทบเชิงลบมากกว่า แม้ว่าอาจจะมีเจตนาดี แต่ไม่ควรนำข้อกฎหมายมาใช้เพื่อควบคุม หากอยากเห็นการพัฒนาควรส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เพราะไม่สร้างปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรแยกแยะสมุนไพรไทยออกจากยาแผนปัจจุบัน ดังนั้น การประกาศกฎหมายใดๆ จึงต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ และทำให้เกิดความชัดเจน หากยังมีข้อถกเถียงก็ควรระงับหรือถอนการประกาศไว้ก่อน

“ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน และทำให้เกิดความกังวลในการบริโภคอาหาร และยา ที่มาจากสมุนไพร การแก้ปัญหามาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือคุ้มครองผู้บริโภค มีอีกหลายวิธีที่จะใช้แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า เช่น ตั้งกองทุนขึ้นโดยนำเงินมาจากการเก็บภาษีสินค้าที่ทำจากสารเคมีที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปช่วยเหลือ สนับสนุน เกษตรอินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัย”นพ.นรา กล่าว

น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแจ้งกับสาธารณชนว่าจะยกเลิก แต่เป็นการใช้คำว่า หากจำเป็นจะยกเลิก รวมถึงจะใช้กฎหมายอื่นแทน ซึ่งถือว่าไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เวลา 15.00 น. เครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อน.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล รัฐสภา ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเบื้องลึกของการออกประกาศฉบับดังกล่าวว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น