xs
xsm
sm
md
lg

3 ปีพันธมิตรประชาชนฯ- กว่า 3 ปี พันธกิจ “สื่อมวลชนพลีชีพ” (เพื่อชาติ)

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

ยังจำได้ว่า 27 ตุลาคม 2546 คือวันแรกที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานภายใต้หลังคา “บ้านเจ้าพระยา” ย้อนกลับไปวันนั้น คำว่า “เอเอสทีวี” หรือ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ยังไม่ผุดขึ้นในสังคมไทย มีแต่การเคลื่อนไหวของคนทำสื่อกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจอยากจะสรรสร้าง สถานีโทรทัศน์ที่เป็นทางเลือกใหม่ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ประชาชนจะได้เดินไปสู่ภาวการณ์ “รู้ทันการเมืองไทย” ให้จงได้

ถือเป็นเรื่องท้าทายยิ่ง ที่หนุ่มสาว บ้างจบใหม่ บ้างมีการมีงานในที่ต่างๆ ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ที่จะเข้ามาร่วมสร้างเส้นทางฝันกันที่นี่ ที่ต้องเรียกว่าคนเอเอสทีวียุคแรกต้องอาศัยความกล้าบวกบ้าบิ่นไม่น้อย

เพราะย้อนกลับไป 5 – 6 ปีที่แล้ว อาคารแห่งนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างเลย อาคารชั้นที่หนึ่งมีสภาพเป็นเหมือนสำนักงานร้างไม่มีโต๊ะ-เก้าอี้วางเบียดเสียดกันเหมือนทุกวันนี้ ขึ้นไปชั้นสองมีเพียงห้องเล็กๆ กับเครื่องแฟกซ์ และคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มรุ่นเก่ากึ๊กเพียงเครื่องเดียว และจำได้ว่า ช่วงที่เดินเข้าไปไถ่ถามพนักงานที่นั่งอยู่ในห้องนั้นว่า “พี่คะ หนูมาสมัครงานช่องทีวีที่กำลังจะเกิดใหม่” จังหวะนั้นหัวใจแทบจะหลุดไปอยู่ตาตุ่ม เมื่อเจ้าหน้าที่ตอบกลับมาให้ได้รับรู้ว่า แฟกซ์ และคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น คือทั้งหมดของฝ่ายข่าวในวันนั้น ก่อนจะเติบโตมาเป็น เอเอสทีวี ในวันนี้

ตอนนั้นจะมีสักกี่คนตอบได้ว่า “อนาคตของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม” จะเป็นอย่างไรกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ไหน คนดูทั่วไปถ้าอยากจะดูต้องทำไงบ้าง เสียตังค์เพิ่มอีกเปล่า แล้วคนจะสนใจหรือไม่ เพราะนอกจากกลุ่มผู้บริหารของสถานีฯ ที่ศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดีแล้ว “เด็กๆ อย่างพวกเรา” แทบไม่รู้อะไรเลย สังคมบ้านเราตอนนั้นมีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่เป็นที่รู้จักอยู่ไม่มาก และโอกาสรอดทางธุรกิจดังกล่าวก็มีตัวอย่างให้เห็นว่า ไม่ใช่ของง่าย

ในยุคที่เรายังไม่ได้ใช้ชื่อเอเอสทีวี นักข่าวโทรทัศน์ช่องนี้มีวิธีการทำงานที่น่าสนใจมาก เพราะเวลาจะออกทำข่าวแต่ละที นอกจากจะหิ้วกล้องกับไมค์ออกไปที่ไหนต่อไป สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ ร่างคำอธิบายที่เขียนไว้เป็นหน้ากระดาษถึงวิธีการดูทีวีช่องที่ว่านี้ และรูปแบบคร่าวๆ ของทีวีช่องเรา ที่พอจะนำไปใช้ตอบแหล่งข่าวเวลาถูกถามได้ว่าไอ้หนูเอ็งมาจากช่องไหน โชคดีที่ครอบครัวเรามีพี่ใหญ่อย่างหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และวิทยุผู้จัดการ จึงเป็นเรื่องง่ายเวลาเราจะเอ่ยอ้างว่าเราเป็นน้องสุดท้องของสื่อค่ายใหญ่ค่ายนี้

แต่แน่นอนยุคแรก นักข่าวช่องเราแทบไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแหล่งข่าวนัก เพราะบรรดาท่านเหล่านั้นอาจจะมองไม่เห็น Impact ที่ชัดเจนว่า ให้สัมภาษณ์ไปแล้วจะได้เสียงตอบรับอันเป็นประโยชน์ใดๆ ต่อพวกเขาบ้าง ในทางกลับกันที่เจ็บปวดในใจลึกก็มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เสียงล้อเลียนในหมู่คนทำสื่อด้วยกันดังมาให้ได้ยินเข้าหูว่า อนาคตของเอเอสทีวีท่าจะหนีไม่พ้นต้องเป็น “สถานีโทรทัศน์วงจรปิด” คือทำเอง ดูมันเองกันภายในออฟฟิศ เท่านั้น...

ถ้าเปรียบอัตชีวประวัติของโทรทัศน์ช่องนี้เป็นหนังสักเรื่องคงเปรียบได้เป็นหนังชีวิตหฤโหด ที่เรียกน้ำตายิ่งกว่า “โอชิน” ของญี่ปุ่น ผาดโผนโจนทยานยิ่งกว่า “die hard -คนอึดตายยาก” ของฮอลลีวูด เพราะใครเลยจะรู้ว่าการประกาศไม่สยบต่อผู้มีอำนาจในยุคระบอบทักษิณครองเมือง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรฯ และกลายมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุดได้ทำให้สถานีเอเอสทีวีอันเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสัญญาณการชุมนุม ต้องเจอกับมรสุมหลายลูก ตั้งแต่การข่มขู่คุกคาม – บิดเบือน – ใส่ร้ายกล่าวหา และใช้อำนาจมืดสกัดกั้นด้วยวิธีการต่างๆนานา

มีทุกวิธีจริงๆ ตั้งแต่การใช้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคมในสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาตรวจสอบการส่งสัญญาณออกอากาศ เพื่อชงเรื่องให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เอาผิดเอเอสทีวีเรื่องการส่งสัญญาณออกอากาศ การฟ้องศาลเพื่อปิดปากผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญ การคุกคามการจัดรายการเมืองไทยฯ นอกสถานที่ด้วยการส่งกุ๊ย หรือกระทั่ง “คนป่าไม้ฯ ของนายตู้เย็น” ตามไปก่อกวน การคุกคามด้วยประทัดยักษ์ อุจจาระสุกรทั้งในและนอกสถานีเอสเอทีวี ก่อนพัฒนามาใช้อาวุธสงครามยิงถล่มห้องออกอากาศของเราในยุคสมชายกระโปรง

การใช้กรมประชาสัมพันธ์ทำหนังสือถึงบริษัท กสท.โทรคมนาคมให้ระงับการส่งสัญญาณ (ผ่านเคเบิ้ลใยแก้ว) เพื่อปิดกั้นการออกอากาศของเอเอสทีวีจนนำไปสู่คดีความในชั้นศาล และศาลประกาศให้ความคุ้มครองในที่สุด การใช้อำนาจรัฐ กระทั่งการประปานครหลวงส่งหนังสือไปบีบเคเบิ้ลทีวีต่างจังหวัดให้ยุติการแพร่สัญญาณ ด้านเศรษฐกิจก็ใช้การคุกคามสปอนเซอร์รายสำคัญให้ยุติการให้ความสนับสนุนทีวีช่องนี้ ถึงขนาดที่บางเดือนผู้บริหารต้องขอเลื่อนการออกเงินเดือนพนักงาน โดยออกช้ากว่ากำหนดเป็นครึ่งเดือนก็มี

มาถึงตรงนี้ ก็ทำให้นึกไปถึงปรากฏการณ์การคุกคามสื่อ (หนังสือพิมพ์) ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหัวรุนแรงในอังกฤษ ยุค ค.ศ. 1853 – 1869 ที่ Noam Chomsky และ Herman ได้หยิบยกมาอธิบายในหนังสือ Manufacturing Consent สำนักพิมพ์ Pantheon Books ปี 1988 จำได้ว่า รัฐบาลอังกฤษก็ใช้อำนาจคุกคามสำนักพิมพ์ที่มีเนื้อหาจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาลด้วยวิธีการที่รุนแรงและเปิดเผยเช่นกัน เพราะรัฐเกรงว่าสื่อดังกล่าวจะกลายมาเป็นภัยคุกคามสำคัญ จึงมีความพยายามจะหาทางกำจัดสื่อดังกล่าวด้วยการใช้ข้อบังคับและกฎหมายหมิ่นประมาทรวมถึงการเรียกค่าธรรมเนียมความปลอดภัยสูงๆ แลกกับเงื่อนไขการตีพิมพ์

มีการสั่งเก็บภาษีสูงๆ ที่หวังสกัดกั้นสื่อหัวรุนแรงด้วยการทำให้ต้นทุนการพิมพ์สูงขึ้น แต่ผลปรากฏว่าความพยายามเหล่านี้ของกลุ่มชนชั้นนำกลับไม่สัมฤทธิผล ตรงกันข้ามหนังสือพิมพ์ที่ว่ากลับเข้าถึงผู้อ่านระดับแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่น่าตลก คือ สุดท้ายวิธีการที่ไม่น่าเชื่อว่า จะทำให้สื่อทางเลือกของอังกฤษต้องกลายพันธุ์และหมดฤทธิ์ไปในที่สุดกลับกลายเป็นการใช้อำนาจผ่านกลไกตลาดเข้าไปจัดการคือ ปล่อยให้ธุรกิจของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวโตจนมีผู้เข้าไปซื้อโฆษณา-ซื้อหุ้น และถูกกลไกทางธุรกิจควบคุมเนื้อหาด้วยตัวของมันเองไปให้ที่สุด

สำหรับในเมืองไทยวิธีการเข้าไปครอบงำสื่อผ่านการลงทุนทางธุรกิจแบบนั้นไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น ที่เห็นชัดที่สุด ก็คือปรากฏการณ์ไอทีวีที่กลุ่มทุนอย่างชินคอร์ป เข้าไปถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนเจตนารมณ์จากสื่อเสรีซึ่งเป็นดอกผลจากการต่อสู้ของภาคประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา 35 ให้กลายไปเป็นสื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ.. แต่ต้องถือเป็นโชคดีของเอเอสทีวีที่ในจังหวะวิกฤต ผู้ก่อตั้งได้มีการประกาศชัดจะชนกับรัฐบาลทรราชอย่างตรงไปตรงมา และกล้าจะประกาศชนกับเงื่อนไขกลไกตลาด นั่นคือ เอเอสทีวีต้องยึดมั่นศรัทธาในการเป็นทางเลือกให้สังคม แม้จะต้องตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง..ก็ตาม

ในประเทศเปรูทศวรรษ 1990 เองก็เคยมีสื่อเล็กๆ ที่หาญกล้าท้าชน แบบตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊งมาแล้วเช่นกัน โดยมีเรื่องเล่าว่า เคเบิ้ลทีวีเล็กๆ ที่เริ่มต้องด้วยการมีสมาชิกไม่มาก ซ้ำยังต้องผจญกับมรสุมทางธุรกิจจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ยืนหยัดวิจารณ์รัฐบาลประธานาธิบดีอัลแบร์โต้ ฟูจิโมริของเปรู อย่างไม่ย่นย่อ จนนำไปสู่การขุดคุ้ย และเปิดโปงความฉ้อฉลของรัฐบาลเปรู เคยทำให้นายวลาดิมิโร มองเตสซิโน ตำรวจลับผู้เป็นไม้เป็นมือให้กับผู้นำเปรู (คล้ายๆ ไอ้ห้อยไอ้โหนบ้านเรา) ต้องติดคุกมาแล้ว ซ้ำยังทำให้ประธานาธิบดีฟูจิโมริ ต้องหลุดจากตำแหน่ง และลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่นมาแล้วเช่นกัน

คอลัมน์ Bangkokian (The Nation, December 2, 2005) ให้ฉายาสื่อในกลุ่ม "ผู้จัดการ"ซึ่งรวมถึง ASTV ว่าเป็นวารสารศาสตร์ในสามสายพันธุ์ กล่าวคือ radical Journalism (วารสารศาสตร์ตำรับรุนแรง) Militant Journalism (วารสารศาสตร์แบบสู้รบ) และ suicide-bomb Journalism (วารสารศาสตร์แนวพลีชีพ) ก่อนที่อาจารย์บุญรักษ์ บุญญเขตมาลาเอามากล่าวซ้ำในบทความที่ชื่อว่า นาฏกรรมสังคม: ปรากฏการณ์ "สนธิ ลิ้มทองกุล" (2) สู่วารสารศาสตร์สายพันธุ์ใหม่? ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเมื่อเดือนธันวาคมปี 48
กำลังโหลดความคิดเห็น