xs
xsm
sm
md
lg

เหลียวหลังแลหน้า 3 ปีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

               ๑ ประวัติศาสตร์ต้องเกิดซ้ำ           เพราะบ่งหนามไม่หมดเสี้ยน
ตัดต้นไม่โค่นเตียน                                     จึงเหลือตอมาตำใจ...
ฯลฯ
อาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ กวีซีไรต์ รจนาเอาไว้เมื่อ 29 พ.ค. 2551 หลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป่านกหวีดเคลื่อนไหวใหญ่รอบสอง เมื่อ 25 พ.ค.2551

พันธมิตรฯ หยุดความเคลื่อนไหวตั้งแต่หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อ 19 ก.ย. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารดูแลโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

23 ธ.ค.2550 มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง พรรคพลังประชาชนหรือพรรคไทยรักไทยเดิมชนะการเลือกตั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25

รัฐบาลหุ่นเชิดสมัคร และระบอบทักษิณยังแผ่แสนยานุภาพยึดครองแผ่นดิน และมีแนวโน้มว่าจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกระทำการอีกหลายอย่างเพื่อให้ตัว “ทักษิณ” พ้นผิดกลับมามีอำนาจอีกครั้ง..

และนั่นคือที่มาของ “ประวัติศาสตร์ต้องเกิดซ้ำ...”

หมายความว่าปี 2549 พันธมิตรฯ ได้เปิดโปงโจมตีระบอบทักษิณและไล่รัฐบาลทักษิณจนเกิดรัฐประหารไปเรียบร้อยแล้ว ปี 2551 ยังต้องตามมาปฏิบัติการขับไล่รัฐบาลตัวแทนทักษิณ หยุดระบอบทักษิณอีกครั้ง

เท่ากับว่าเวลาปีกว่าของรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลของ คมช.ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการตอบสนองเหตุผลหรือ 4 ข้ออ้างของการยึดอำนาจแต่ประการใด

โชคดีที่คณะผู้ยึดอำนาจได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ต่ออายุขยายการทำงานยืนยาวมาถึง 30 มิ.ย. 2551 จนทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องโทษคดีที่ดินรัชดาภิเษก 2 ปี และมีคดีทุจริตประพฤติมิชอบอยู่อีกหลายคดี จึงพอจะเอ่ยอ้างเป็นผลงานได้อยู่บ้าง..

และเมื่อ “ประวัติศาสตร์ต้องเกิดซ้ำ..” ในปี 2551 พันธมิตรฯ ซึ่งผิดหวังมาจากรัฐบาลสุรยุทธ์และคมช.ก็พยายามที่จะตั้งธงความเคลื่อนไหวว่า..ชัยชนะจักต้องไม่สูญเปล่า...จะต้องไม่เกิดเหตุ “เตะหมูเข้าปากสุนัข” อีก

จะว่าไปแล้วทั้งปี 2549 และ 2551 จุดร่วมที่ทำให้ประชาชนเรือนแสนเรือนล้านออกมาเคลื่อนไหวนอกถนน ชุมนุมปักหลักพักค้างประเภทไม่ชนะไม่เลิกก็คือ ความจงเกลียดจงชังการทุจริตคอร์รัปชัน การเมืองที่โกงกินเล่นพวกพ้อง..

แต่จุดหรือประเด็นที่เป็นไฮไลต์ทำให้ประชาชนสู้ไม่ถอยนั้นดูเหมือนจะต่างกัน

ปี 2549 จุดดับของทักษิณก็คือ การขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก สิงคโปร์ 73,000 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

ปี 2551 จุดดับของทักษิณก็คือ พฤติการณ์ของเหล่าสมุนบริวารหรือแม้แต่ตัว “ทักษิณ” เองที่หมิ่นเหม่ต่อการจาบจวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


ผมฟันธงลงไปเลยว่า “พลังหลัก” ของพันธมิตรฯ ในการเคลื่อนไหวในปี 2551 ก็คือ..พลังของคนไทยที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรารถนาใคร่เห็นสถาบันแห่งนี้ยืนอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป แต่ขณะเดียวกันเมื่อได้เข้าร่วมการชุมนุมพลังเหล่านี้ก็ได้ติดอาวุธทางปัญญา จนเกิดความโหยหาคำว่า “การเมืองใหม่” ไปด้วย...

ถ้าจะพูดเป็นสัญลักษณ์ก็ต้องบอกว่าพลังหลักของพันธมิตรฯ ปี 2551 ก็คือ พลังของคนเสื้อเหลืองบวกกับพลังของผู้แสวงหา “การเมืองใหม่” ก็น่าจะได้..

แต่ผลลัพธ์ 193 วันของการต่อสู้ปี 2551 หากจะกล่าวกันอย่างถึงที่สุดต้องบอกว่าพันธมิตรฯ อาจจะบรรลุในภารกิจการปกป้องสถาบันฯ ในบางส่วน แต่ในภารกิจ “การเมืองใหม่” ยังทำได้เพียงการจุดประกายเท่านั้น..

การเมืองเปลี่ยนขั้ว...จากรัฐบาลนอมินีไทยรักไทย 2 ชุด 2 นายกฯ (สมัคร –สมชาย) มาเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มีผู้นำเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถ แต่ต้องใช้โครงสร้างการเมืองเก่าในการบริหารนำพาประเทศ

พันธมิตรฯ จำนวนมากรับได้ ทำใจได้ แต่พันธมิตรฯ จำนวนอีกไม่น้อยส่ายหัวเพราะยังถวิลหารัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลฟื้นฟูชาติ !!

ผมสารภาพว่าอยู่ในฝ่ายที่แม้จะไม่สมหวัง แต่ก็ทำใจได้ รับได้ และผมตระหนักดีว่า บ้านนี้เมืองนี้ไม่ได้มีเพียงพันธมิตรฯ ไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนรักทักษิณ นปก. นปช. หากแต่ยังมีพลังเงียบ พลังที่ปล่อยวางบ้านเมืองอีกมากมายมหาศาล..

ถามว่าสิ่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในห้วงเวลาตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันวันนี้คืออะไร...ตอบได้เหมือนเดิมทันทีว่า คือการที่ได้เห็นพี่น้องประชาชนลุกตื่นขึ้นมาปกบ้านป้องเมือง ไม่นิ่งดูดายกับความชั่วร้ายที่ทำลายสถาบันฯ ทำลายชาติอย่างไม่เกรงกลัว...

9 ก.พ. 2549 วันก่อตั้งพันธมิตรฯ ก่อนที่จะชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในนามพันธมิตรฯ เมื่อ 11 ก.พ. 2549

3 ปีของพันธมิตรฯ ยังไม่นานยาวนักสำหรับองค์กรภาคประชาชนที่มีลักษณะพิเศษ เพียงแต่ผมเกรงว่ามันอาจจะนานยาวเกินไปก็ได้ หากจะหล่อเลี้ยงความรักความผูกพันของพันธมิตรฯ เอาไว้เพียงเพื่อรอวันเป่านกหวีด นัดชุมนุมเพียงประการเดียว

2552 มองไปข้างหน้า...การชุมนุมอาจจะเป็นเรื่องเล็ก แต่การขับเคลื่อน ออกแบบคำว่า “การเมืองใหม่” และก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม มีความหวังให้กับบ้านเมืองคือโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำ..

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่น่าจะยากจนเกินความสามารถหากว่าพลังที่ลุกตื่นขึ้นมาแล้วยังไม่มอดดับซึ่งความหวังและเทียนแห่งปัญญายังลุกโชนในหัวใจ

โอกาสหน้าจะได้ลองเสนอรูปธรรมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเราๆ ท่านๆ สักครั้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น