xs
xsm
sm
md
lg

แกะรอยแชร์น้ำมันภัยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ดีเอสไอ" ปราบแชร์น้ำมัน อาชญากรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ทลาย 3 บริษัท หมายจับ 10 ผู้ต้องหา พฤติกรรมแสบ อ้างว่าบริษัทเป็นโบรกเกอร์หรือตัวแทนซื้อขายสินค้าประเภทน้ำมันล่วงหน้า ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า อ้างอิงราคาซื้อขายน้ำมันจากตลาดต่างประเทศ ผิดกฎหมายอันเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน

จากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงและวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่กลุ่มอาชญากรรมทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งที่แสวงหาผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย ถือเป็นภัยทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เป็นการอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามาใช้ในการกระทำความผิด

ย้อนไปเมื่อประมาณต้นปี 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันทั้งในประเทศไทยและตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพตั้งบริษัทประกอบธุรกิจลักษณะแชร์น้ำมัน ขึ้นมา 3 บริษัทเกี่ยวข้องกัน ชื่อ "บริษัท แฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (แห่งประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอฟเอเอสที จำกัด และบริษัท ซี เอ็น อี รีซอร์ส จำกัด จำกัด" ตั้งอยู่เลขที่ 170-171 อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ ชั้น 11 ถ.รัชดาภิเษก แขวงคลองเตย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทสาขาที่ตั้งอยู่อาคารเออาร์ ชั้น 8 ถ.มนตรี อ.เมือง จ.ภูเก็ต อีกด้วย

จากข้อมูลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พบว่าทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวมีนางกัญญา ยุชมพู อายุ 37 ปี เป็นกรรมการบริหารผู้มีอำนาจลงนามคนเดียวกัน นอกจากนั้นมีนายปฐม ศิริสิน อายุ 53 ปี เป็นกรรมการบริหารทำหน้าที่บริหารประสานงานลูกค้า และกรรมการอื่นๆ อีกประมาณ 10 ราย

โดยจากการแกะรอยสืบสวนของดีเอสไอ พบว่าบริษัทที่ตั้งขึ้นเป็นโบรกเกอร์ หรือตัวแทนซื้อขายสินค้าประเภทน้ำมันล่วงหน้า ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า โดยอ้างอิงราคาซื้อขายน้ำมันจากตลาดต่างประเทศ เช่นไนเม็กซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดดาวโจนส์ และตลาดฮั่งเส็ง จึงเข้าข่ายผิดกฎหมายอันเป็นการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน

เนื่องจากประการแรก บริษัทไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ประกอบธุรกิจหรือลงทุนซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าและดีเอสไอ ตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทไม่ได้ประกอบธุรกิจซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าตามที่แจ้งไว้กับประชาชน

ประการที่สองพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้เป็นสมาชิก บริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Thailand Futures Exchange (TFEX) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ทำหน้าที่ศูนย์กลางการซื้อขายสัญญา ซื้อขายล่วงหน้ากับตลาดต่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีบริษัทใดได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า มีเพียงการซื้อขายล่วงหน้าทองคำและซื้อขายดัชนีเงินตราเท่านั้น ซึ่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องประมาณ 30 กว่าบริษัท

สำหรับประเทศไทยนั้นตามกฎหมาย การลงทุนซื้อขายล่วงหน้าแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าประเภทน้ำมัน ทองคำและดัชนีเงินตรา อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.และการซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.)

ประการที่สามจากการตรวจสอบฐานข้อมูลและธุรกรรมการเงินแล้วไม่พบว่าบริษัทดังกล่าวเคยโอนเงินเพื่อซื้อขายหรือเก็งกำไรหุ้นหรือตลาดหุ้นใดๆไปต่างประเทศแม้แต่ครั้งเดียว หรือกรณีที่อ้างว่าบริษัทเป็นสมาชิกตลาดอนุพันธ์ของบริษัทโบรกเกอร์ ไพรม์ ฮิลล์ (Prime Hill) ประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นสมาชิกซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้าของตลาดไนเม็กซ์ (Nymex)สหรัฐอเมริกา แต่ดีเอสไอ กลับพบว่าบริษัทโบรกเกอร์ไพรม์ ฮิลล์ (Prime Hill)ไม่ได้ทำธุรกิจซื้อขายน้ำมันดิบ ในฮ่องกง อีกทั้งไปชื่อจดทะเบียนอยู่ที่หมู่เกาะบริทิช เวอร์จิ้น ไอร์แลนด์ ประเทศแถบหมู่เกาะอเมริกาใต้

**แก๊งแชร์น้ำมันหลอกเหยื่อไฮโซ
อย่างไรก็ตาม พบว่าช่วงแรกที่บริษัทแชร์น้ำมันเริ่มเปิดดำเนินการประมาณต้นปี 2550 ปรากฏมีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงฉ้อโกง ประมาณ 10 กว่าราย มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท จากนั้นได้ไปร้องเรียนกับหน่วยงาน ก.ล.ต.และหลังเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบว่าบริษัทดังกล่าวเปิดดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่ก็เอาผิดได้เพียงข้อหาดำเนินธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นเพียงโทษปรับเท่านั้น ทำให้บริษัทแชร์น้ำมันยังเปิดดำเนินกิจการอยู่ เพียงยอมเสียค่าปรับวันละ 1 หมื่นบาท ก่อนส่งเรื่องให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.)ดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกเพียงไม่กี่ปี
ภายหลังสอบปากคำพยานแล้วเห็นว่าคดีมีผู้เสียหายจำนวนมากและเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ความผิดมีอัตราโทษสูง คือจำคุก 5-10 ปี ปรับ 5 แสน-1 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนดีเอสไอ จากนั้นทาง ปศท.จึงโอนมาให้ดีเอสไอ ดำเนินคดีต่อไป

**สืบสวน1ปี"ดีเอสไอ-ก.ล.ต.-ปปง."บุกทลาย
ช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี ที่ดีเอสไอ เข้าไปการสืบสวนหาหลักฐานทำให้ทราบว่าบริษัทดังกล่าวตั้งขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมมยและบริษัทไม่มีการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อได้หลักฐานแน่ชัดเพียงพอแล้ว เมื่อวันที่ 12 ม.ค.52 พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ดีเอสไอ พร้อมเจ้าหน้าที่จาก ก.ล.ต.และเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จึงนำหมายค้นของศาลแขวงพระโขนงเข้าตรวจค้นพร้อมกัน 2 จุด คือจุดแรกที่สำนักงานใหญ่ที่อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ ชั้น 11 และจุดที่สอง บริษัท ซี เอ็น อี รีซอร์ส อาคารเออาร์ ชั้น 8 ถ.มนตรี อ.เมือง จ.ภูเก็ต

สำหรับการตรวจค้นสำนักงานใหญ่ อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ชั้น 11 นั้น ปรากฎว่ามีการโต้เถียงกันเรื่องหมายค้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่บริษัทไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าตรวจค้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเจรจาและยืนยันหมายค้นของศาล เจ้าหน้าที่บริษัทจึงยินยอมให้ตรวจค้น โดยพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ทำประตูลับเชื่อมถึงกัน ระหว่างห้องเลขที่ 170 และ171 ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่พบนายณรงค์ฤทธิ์ เขียวหวาน อายุ 28 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับเดินอยู่ภายในสำนักงาน จึงจับกุมไว้ได้

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นห้องของนายปฐม ศิริสิน กรรมการบริษัท พบเอกสารการโอนเงินของธนาคารกสิกรไทย สาขาธนบุรี จำนวน 200,000 บาท และตรวจค้นลิ้นชักโต๊ะทำงานยังพบหมายเรียกคดีฉ้อโกงประชาชนของ สน.ทองหล่อ โทรศัพท์มือถือพร้อมซิมการ์ด 1 เครื่อง เอกสารข่าวการจับกุมบริษัทและตารางเวลาการติดต่อลูกค้า

ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไปยังห้องเก็บของ ซึ่งอยู่ติดกับห้องของนายปฐม ก็พบว่าเป็นห้องควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ มีสายโทรศัพท์ถูกตัดทิ้งกว่า 20 เส้น และตู้เซฟซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากไม่มีรหัสและกุญแจ จากนั้นจึงอายัดไว้ตรวจสอบ ขณะเดียวกันดีเอสไอได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์เข้าตรวจสอบสายไฟและสายโทรศัพท์ภายในบริษัทเพื่อตรวจสอบว่ามีการเชื่อมโยงไปยังจุดใดในอาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์อีกหรือไม่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ตรวจอายัดคอมพิวเตอร์ ซีพียูและเอกสารสำคัญที่พบภายบริษัทไปตรวจสอบอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ดีเอสไอ เคยพยายามเข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปลายปี 2551 แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากทางผู้บริหารบริษัทไหวตัวทัน กระทั่งการตรวจค้นครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังและเฝ้าติดตามตั้งแต่ช่วงปีใหม่ จนสามารถขอหมายศาลเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้

วันเดียวกันที่ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ อีกชุดหนึ่งได้นำหมายศาลเข้าตรวจค้นบริษัทซี เอ็น อี รีซอร์ส จำกัด สาขา จ.ภูเก็ต สามารถจับกุมนายพรชัย ไวศยากูลกิจ อายุ 45 ปี กรรมการบริษัทไว้ พร้อมดำเนินคดีผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จากนั้นจึงควบคุมตัวไปยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขัง
นอกจากนี้ ยังได้ออกหมายจับผู้ต้องหาอีก 6 ราย ประกอบด้วย 1.นายปฐม ศิริสิน อายุ 53 ปี 2.น.ส.พินิจนันท์ หมื่นโฮ้ง อายุ 26 ปี 3.นายวรศักดิ์ อัศวฤทธิกุล อายุ 35 ปี 4.นายอนุศักดิ์ หรือญาณวรุตต์ ทองอุบล อายุ 37 ปี 5.น.ส.พิชญารัศมิ์ คงชัยยุทธ อายุ 25 ปี 6.นางกัญญา ยุชมพู อายุ 37 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยของดีเอสไอ กำลังเร่งติดตามจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มอีก 2 ราย ส่งผลให้ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดีนี้มีทั้งหมดประมาณ 10 ราย

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนจะเร่งสอบปากคำผู้เสียหายทั้งในกทม.และต่างจังหวัดให้เสร็จสิ้นและสรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาประมาณเดือนมีนาคม

**เปิดขั้นตอนการฉ้อโกงประชาชน
สำหรับพฤติการณ์ฉ้อโกงประชาชนของแชร์น้ำมัน บริษัทแฟคซิลิตี้ เอวิเอชั่น ซัพพอร์ท (แห่งประเทศไทย) จำกัด และบริษัทในเครือ เริ่มจากการจดทะเบียนบริษัทขึ้นมาด้วยทุนเพียง 1 ล้านบาทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แทนที่จะจดทะเบียนธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแผนการระดมทุน รูปแบบการขายสินค้า รวมถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจ ที่ธุรกิจขายตรงมักจะถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่(สคบ.)อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ การจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีข้อดีคือกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดทุนจดทะเบียนจำนวนไม่มากนัก ก็สามารถจดทะเบียนได้แล้ว

ต่อมาหลังจากตั้งบริษัทแล้วก็จะมีการจัดทำเว็บไซต์และว่าจ้างพนักงานบริษัท ซึ่งว่าจ้างหมุนเวียนไม่แน่นอน มีทั้งที่เป็นพนักงานประจำและชั่วคราว จากนั้นจึงให้เจ้าหน้าที่บริษัทโทรศัพท์ไปชักชวนลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี มีหน้ามีตาในสังคม เนื่องจากการลงทุนในการซื้อขายล่วงหน้าใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง การชำระเงินต้องจ่ายเป็นเงินสด เช็คธนาคาร หรือโอนเงินเข้าบัญชีของบริษัท ตามธนาคารที่กำหนดไว้และหากลูกค้ารายใดหลงเชื่อก็จะโอนเงินเข้าบัญชีขั้นต่ำ 3 แสนบาท
เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมามีบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ได้รับการชักชวนให้ลงทุนแชร์น้ำมันด้วยเช่นกัน แต่โชคดีที่ไม่หลงเชื่อนำเงินไปลงทุนแชร์น้ำมัน
วิธีโทรศัพท์ชักชวนลูกค้างนั้นเจ้าหน้าที่บริษัทจะโทรศัพท์วันละหลายๆ ครั้ง พูดจาหว่านล้อมให้ลูกค้าหลงเชื่อนำเงินเข้ามาลงทุนซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า อ้างว่าจะได้กำไรจำนวนมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่ต้องลงทุนด้วยการเปิดบัญชีขั้นต่ำ 3 แสนบาท หรือ 3 ยูนิต ซึ่งมีสูตรคำนวณกำไรโดยเฉพาะ

ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บริษัทแชร์น้ำมันโทรศัพท์ติดต่อลูกค้า ว่าเรียนคุณจงรัก (สมมุติเป็นลูกค้า) ดิฉันน.ส.มนฤดี จากบริษัท F.A.S.T(เอฟ เอ เอส ที) ค่ะ บริษัทเราทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร/ เป็นที่ปรึกษา การลงทุนเก็งกำไรราคาน้ำมัน

**แนวโน้มการกระทำผิดในอนาคต
หลังเกิดแชร์แม่ชม้อยที่โด่งดังเมื่อ 20 กว่าปี (พ.ศ.2520-2523) เพื่อเก็งกำไรการซื้อขายน้ำมัน แต่ภายหลังแม่ชม้อย ก็ล้มวงแชร์และหอบเงินกว่า 5 พันล้านบาทหลบหนี แต่ก็ถูกจับได้ในเวลาต่อมา จากนั้นแชร์น้ำมันก็หายไป มาโผล่อีกครั้ง ประมาณช่วงปลายปี 2549-2550 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจคล้ายกับช่วงที่เกิดแชร์แม่ชม้อยคือ มีอัตราค่าครองชีพสูง ราคาน้ำมันแพง ค่าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น เกิดการขาดแคลนน้ำมัน แต่เศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ถึงกับขาดแคลนน้ำมัน

ขณะที่อาชญากรทางเศรษฐกิจเองก็จะมองเห็นปัญหาว่าภาวะที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงจะเกิดอาชญากรรมประเภท แชร์ลูกโซ่ เพราะรู้ว่าประชาชนมีเงินออมน้อย รายได้ไม่เพียงพอ ก็จะต้องนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ คือดอกเบี้ยงอกเงยขึ้นมา เพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลครอบครัว

ลักษณะของการทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านมา เริ่มจากการประกอบธุรกิจขายตรงเป็นหลัก ซึ่งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)รับผิดชอบควบคุมออกใบอนุญาต เมื่อออกใบอนุญาตแล้วผู้ประกอบธุรกิจบางรายไปปรับแผนการตลาด ปรับแผนการจ่ายผลตอบแทน ทำให้เข้าข่ายการกระทำความผิดลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ต่อมามีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบออกไป เช่น การนำเทคโนโลยีความก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้กระทำความผิด เช่นวิธีการโฆษณาขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ต่างๆ การโฆษณาหลอกลวงให้ลงทุนผ่านเว็บไซต์ ซึ่งดีเอสไอ จับกุมดำเนินคดีไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการอาศัยกฎหมายฉบับอื่นในการกระทำความผิด เช่นกฎหมายการซื้อขายล่วงหน้าเกี่ยวกับน้ำมัน ทองคำ ดัชนีเงินตรา และสินค้าเกษตรล่วงหน้า

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กล่าวว่า แชร์ลูกโซ่กลางปี 2550 เริ่มด้วยแชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์ยางพารา และอีกสารพัด ซึ่งดีเอสไอจับกุมดำเนินคดีเรื่อยมา ล่าสุดพบว่าคดีแชร์เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 33 คดี ส่งฟ้องไปแล้วประมาณ 15 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และจะสรุปสำนวนภายในเร็วๆนี้ อีกประมาณ 4-5 คดี นอกจากนี้ยังได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย 1,300 ล้านบาทเศษ จับกุมผู้ต้องหา 126 ราย มีผู้เสีย หายมาพบพนักงานสอบสวนแล้วประมาณกว่า 6,000 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น