xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรจับมือดีเอสไอเชือดภาษีซานติก้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุชาติ”อ้าง"จงรัก"ไม่เสียหน้าคดีซานติก้า ระบุอาจรวบรวมหลักฐานไม่ชัดเจน ลังเลสุดท้ายฟ้องไม่ฟ้อง ยังไม่รู้ ด้าน"ผบช.ก."ยันไม่ป้อง"นายประยนต์ ลาเสือ"ขณะที่“สุขุมพันธุ์”สั่งศึกษารายละเอียดการปลอมลายเซ็น ผู้ช่วยผอ.เขตบางเขนเผย “วันรพี”เป็นสถาปนิกควบคุมการออกแบบไม่ใช่วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง สรรพากรร่วมมือ DSI เชือดภาษี “บุญจง”ล้อมคอกตรวจสถานบริการ


วานนี้(4 ก.พ.)พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบช.น.เปิดเผยถึงกรณีคดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาเปิดเผยหลักฐานเป็นภาพทีวีวงจรปิดของซานติกาผับ ซึ่งภาพแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการสอบสวน และคำให้การของพยานต่อพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า นักร้องนำวงเบิร์นเป็นผู้จุดไฟแช็กที่หน้ากลองจนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ แต่ภาพจากกล้องวิดีโอของซานติก้าผับ บ่งชี้ว่ามีลูกไฟเกิดขึ้นหลังจุดเอฟเฟกต์นาน 2.57 นาที โดยเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนนักร้องและนักร้องคนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเดินหลบไปข้างเวที อีกทั้งไม่มีภาพนักร้องเป็นผู้จุดพลุตามที่พยานให้การว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสอบสวน ทั้งตำรวจ กระทรวงยุติธรรม หรือดีเอสไอ ต้องเป็นการมุ่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาคนผิดที่แท้จริง เพราะฉะนั้นอยู่ที่ว่าการรวบรวมพยานหลักฐาน และมีพยานหลักฐานขึ้นมาว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องอยู่ที่หลักฐานตรงนั้น ส่วนตัวนั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียหน้า เนื่องจากพยานครั้งแรกที่ได้นั้นเป็นพยานบุคคล และหลักฐานที่ตำรวจยังไม่ได้ตามที่ปรากฎตามสื่อในขณะนี้ ซึ่งก็ต้องดูตามหลักฐานที่ได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้สำนวนยังไม่มีการสรุปการสั่งคดีในการสอบสวน แต่ถ้าเพื่อความสบายใจ หรือความเป็นธรรม จะมีการโอนคดีไปให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เป็นผู้ดำเนินการทางตำรวจก็ไม่ขัดข้อง และไม่ถือว่าเป็นการเสียหน้าแต่อย่างใด

“ขอชี้แจงแทน พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนครบาล ได้เข้ามาช่วยแนะนำข้อกฎหมาย แต่เนื่องจาก ท่านไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน บางครั้งอย่าคิดว่าเป็นความผิดของท่าน เพราะท่านเพียงแนะนำ หากจะผิดก็ต้องเป็นพวกเราทุกคนที่รวบรวมพยานหลักฐานไม่ชัดเจน และการทำงานแข่งกับเวลาทำให้มีการรวบรัดไปบ้าง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น เราก็ยังไม่สรุปสำนวนในการสั่งคดี เพราะในการสั่งคดีหากพนักงานสอบสวนสรุปแล้ว ต้องเสนอมายังผู้มีอำนาจสั่งคดี ส่วนโทษที่ว่าจะสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้องอย่างไร ก็เป็นไปตามระเบียบอยู่แล้ว”

พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า ส่วนที่การจะมีการโอนคดีไปให้ดีเอสไอ และตำรวจต้องรอการดำเนินการนั้นคงไม่ใช่ ตำรวจก็ยังดำเนินการต่อ แต่หากมีการสั่งคดีโอนไปให้ดีเอสไอ ตำรวจก็จะส่งสำนวนการสอบสวน หลักฐานที่มีอยู่ไปให้ทางดีเอสไอ หรือหากจะขอเข้ามาทำคดีร่วม ก็ต้องมีคณะกรรมการพิจารณา และมีผู้ที่สามารถตัดสินใจได้ระหว่างสองหน่วยงาน

ลั่นไม่ป้อง"ประยนต์ ลาเสือ"

พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.)กล่าวถึงกรณีมีนายตำรวจถือหุ้นในผับซานติก้า จึงทำให้ตำรวจละเลย ไม่ดำเนินคดีกับผับดังกล่าวทั้งที่ทำผิดกฎหมายหลายครั้ง ว่าจากข่าวที่ปรากฏมี นายประยนต์ ลาเสือ หรือหมายถึง พ.ต.อ.ประยนต์ ลาเสือ รองผู้บังคับการกองปราบปราม(รองผบก.)เข้าเป็นผู้ถือหุ้นซานติก้าผับ นั้น ตนได้สั่งการให้กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.)ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว โดยล่าสุด บก.ป.ทำหนังสือขอขยายเวลาการตรวจสอบออกไปอีก 15 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ โดยล่าสุดได้เร่งรัดไปแล้วให้ตรวจสอบและรายงานมาโดยเร็ว

"บก.ป.ได้รายงานข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการมาบ้างแล้ว ก็พบว่า พ.ต.อ.ประยนต์ มีชื่อถือหุ้นบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ 2003 จำกัด ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 โดยถือหุ้นทั้งหมด 16 หุ้น หุ้นละ 5,000 บาท รวม 80,000 บาท อย่างไรก็ตามการเข้าถือหุ้นธุรกิจเฉยๆ โดยไม่ได้เข้าไปร่วมบริหาร สามารถทำได้ ส่วนการตั้งข้อสังเกตเรื่องไม่ใช้ยศนำหน้าในการลงชื่อถือหุ้นก็ต้องตรวจสอบเช่นกัน แต่ทั้งนี้การที่ตำรวจไม่ใช้ยศในการทำธุรกรรมใดๆในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตำรวจจำนวนมากทำบัตรประชาชนด้วย ถ้าไม่ได้ไปทำเสียหายก็ไม่ผิด"

ผบช.ก.กล่าวว่า ตนยังไม่คุยกับ พ.ต.อ.ประยนต์ เป็นการส่วนตัว ต้องรอผลการตรวจสอบของบก.ป.ก่อนและถ้าผลตรวจสอบชัดเจนก็ไม่ต้องเรียกมาคุย ทั้งหากผลสอบการตรวจสอบออกมาเช่นไร ก็ต้องให้ บก.ป.ไปดำเนินการตามขั้นตอน อย่างไรก็ตามกรณีนี้ ยืนยันว่าไม่มีการปกป้อง ทำตามระเบียบกฎหมาย ปกป้องกันไม่ได้อยู่แล้วและไม่กดดันแม้ประเด็นนี้จะถูกใช้มาตั้งข้อสังเกตุถึงการทำงานของตำรวจ

”สุขุมพันธุ์”สั่งสอบเพิ่มปลอมลายเซ็น

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)เปิดเผยว่า ตนขอเวลาพิจารณารายละเอียดผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงยุติธรรมก่อนที่จะตัดสินใจว่า กทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยตนจะได้รับสรุปผลการตรวจสอบของกระทรวงยุติธรรมฉบับสมบูรณ์ภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้นายประกอบ จิรกิติ รองผู้ว่าฯกทม.ศึกษารายละเอียดทั้งการปลอมแปลงลายเซ็น การตรวจสอบอาคารที่มีการระบุว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกร และให้ตรวจสอบเพิ่มเติมนอกจากผลสรุปของกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่ได้รับผลการตรวจสอบฉบับสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ อีกทั้งไม่รู้สึกหนักใจในการรับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ในช่วงที่มีปัญหาเพราะตนเองอยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายปีและรู้ว่ากทม.มีปัญหาหลายด้านและตนเองก็ไม่ใช่คนไร้เดียงสาทางการเมือง และพร้อมจะรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารกทม. ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.ก็เคยได้ยินกระแสข่าวการปลอมแปลงเอกสารยื่นขออนุญาตก่อสร้างแต่เพิ่งจะมาทราบข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรในครั้งนี้

เรียก32 อาคารแจงปลอมลายเซ็น

นายสมศักดิ์ กลั่นพจน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า นางวรียา พุทธชินวงศ์ ผู้อำนวยการเขตบางเขน ได้รายงานกรณีที่มีการอ้างว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นสถาปนิกผู้ควบคุมการออกแบบอาคารในพื้นที่เขตบางเขนจำนวน 32 อาคารโดยส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างในปี 2549 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีการปลอมลายเซ็นจริงหรือไม่เพราะขณะที่มีการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารผู้ยื่นก็มีเอกสาร ลายเซ็นรับรองครบถ้วน

ดังนั้นทางเขตจึงได้ออกหนังสือเชิญผู้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารทั้ง 32 แห่งมาให้ข้อมูลเพื่อที่จะทราบได้ว่าเอกสารมีที่มาอย่างไร เป็นลายเซ็นจริงของผู้ที่กล่าวอ้างว่าโดนปลอมแปลงหรือไม่ หากไม่ใช่เอามาจากที่ไหน ดังนั้นตนจึงสั่งการให้ทางเขตบางเขนเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงการปลอมแปลงลายเซ็นสถาปนิกผู้ควบคุมการออกแบบตามที่มีการกล่าวอ้าง ซึ่งทางเขตคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์และรายงานให้ตนทราบต่อไป ทั้งนี้หากพบว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นจริงกทม.ก็จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดในฐานปลอมแปลงเอกสารทางราชการ

ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางเขน กล่าวว่า ทางเขตได้ส่งหนังสือส่งผู้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารทั้ง 32 แห่งแล้วโดยในหนังสือได้ระบุข้อความขอความร่วมมือให้ผู้ที่ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารเข้าให้ข้อมูลภายใน 7 วัน เพื่อทางเขตจะได้เร่งตรวจสอบการขออนุญาตก่อสร้างอาคารและมีความรู้จักกับสถาปนิกรายดังกล่าวหรือไม่และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่านางวันรพี วุฒิมานานนท์ ไม่ได้เป็นวิศวกรแต่เป็นสถาปนิกควบคุมการออกแบบ

แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกทม. เปิดเผยว่า ทางสำนักงานเขตบางเขนเตรียมทำหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เพื่อขอผลการตรวจสอบลายเซ็นของนางเมตตดา วุฒิมานานนท์ หรือนางวันรพี หลังจากที่ทางดีเอสไอได้ยื่นหนังสือขอเอกสารการขออนุญาตการก่อสร้างอาคาร 32 แห่งที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นของนางเมตตดา เป็นสถาปนิกผู้ควบคุมการออกแบบไปตรวจสอบลายเซ็น ทั้งนี้ ผู้ที่กล่าวอ้างว่าถูกปลอมแปลงลายเซ็นน่าจะรู้ตัวดีว่าได้ทำอะไรลงไป มีความเกี่ยวข้องกับ 32 อาคารนี้อย่างไร ซึ่งขณะนี้เจ้าตัวก็ยังไม่ได้เข้ามายืนยันที่เขตบางเขนว่าลายเซ็นดังกล่าวเป็นของตนเองจริงหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อปี 2549 ทางสำนักงานเขตบางเขนได้ยื่นฟ้องต่อเจ้าของอาคารและนางเมตตดา ในข้อหาสร้างอาคารผิดแบบซึ่งทางเขตได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปคัดสำเนาคดีที่ศาลแล้ว

สรรพากรร่วมมือDSIเชือดภาษี

นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกรณีซานติก้าผับว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้รับหนังสือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม กรณีให้ตรวจสอบการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของซานติก้าผับว่าได้ชำระภาษีสรรพากรหรือไม่ ซึ่งกรมสรรพากรพร้อมทำงานร่วมกับดีเอสไอ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการรับรายงานจากสรรพากรพื้นที่เขตวัฒนาพบว่า ซานติก้าผับได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่เปิดผับ ประเด็นจึงอยู่ที่มูลค่าภาษีครบถ้วนจากจำนวนวงเงินที่ต้องชำระหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบอีกครั้ง

“บุญจง”ตื่นตรวจสถานบริการ

วันเดียวกัน นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย ( มท.2 )ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบริการในย่านรัชดา ประกอบด้วย Hollywood Pub และ Hub5 เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตสถานบริการตามกฎหมายและตรวจสอบความปลอดภัย ได้แก่ ทางหนีไฟ ป้ายบอกทางฉุกเฉิน ไฟฉุกเฉิน ถังดับเพลิง สัญญาณเตือนภัย ทางเข้าทางออก แผนผังทางหนีไฟ

นายบุญจง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ พบว่า สถานบริการ มีทั้งส่วนที่ดำเนินการถูกต้องและไม่ถูกต้อง และต้องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งที่เห็นมีจุดสำคัญ คือ 1 ยังไม่มีสัญญาณเตือนภัย 2 ถัง หรืออุปกรณ์ดับเพลิง หรือประตูหนีไฟที่บางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีบังคับในกฎกระทรวง และผู้ประกอบการต้องดำเนินการใน 7-15 วัน ส่วนเรื่องมาตรฐานในการก่อสร้างนั้น เป็นหน้าที่ กทม.จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้ ปัญหาที่พบ จะตักเตือนให้ผู้ประกอบการได้แก้ไข เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความปลอดภัย จะไม่ปิดสถานบริการ และหวังว่า ผู้ประกอบการจะปรับปรุงให้เกิดความเรียบร้อย เพราะเป็นประโยชน์ของเขาเอง ถ้ามีการเพิกเฉยโดยเจตนา จะไม่มีการต่อใบอนุญาตให้อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น