xs
xsm
sm
md
lg

‘สถิตย์’ปลด ‘จิรายุทธ’พ้นซีดีเอ็มเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานบอร์ดกสท สั่งปลด ‘จิรายุทธ รุ่งศรีทอง’พ้นหน้าที่รับผิดชอบด้านการตลาดกับซีดีเอ็มเอ หลังพบเงื่อนงำการจัดซื้อวิธีพิเศษเกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอหลายรายการ ยิ่งกว่านั้นยังจูงมือพ่อค้าวิ่งหาการเมืองพร้อมเคลียร์งานประมูล ชี้กสทยืนบนทาง 2 แพร่งระหว่างถมเงินไม่รู้จบกับโครงข่ายอดีตอย่างซีดีเอ็มเอ หรือ หันหน้าหาโลกอนาคตอย่าง 3G/HSPA ความถี่ 850 MHz

แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าในการประชุมบอร์ดกสทเมื่อวานนี้ (4ก.พ.) นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดกับโครงการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอทั้งหมดในภาพรวมแล้ว และกำลังดำเนินการหาวิธีการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับกสทรุนแรงมากไปกว่านี้ โดยในเบื้องต้นได้ถอดนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไม่ให้รับผิด ชอบงานด้านซีดีเอ็มเออีกต่อไป รวมทั้งงานด้านการตลาดด้วย โดยให้นายวิโรจน์ โตเจริญกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบซีดีเอ็มเอและให้นายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลด้านการตลาดแทน
ส่วนการพิจารณาเรื่องการจัดจ้าง Maintenance Agreement (MA) อุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO ด้วยวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณอีก 300 ล้านบาท ยังไม่มีการพิจารณาในบอร์ด โดยคาดว่าจะต้องนำเรื่องกลับไปทบทวนใหม่
เป็นที่กล่าวกันในวงกว้างว่าเดิมนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท กสท โทรคมนาคม เคยได้รับการวางตัวเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท คนใหม่แทนนายพิศาล จอโภชาอุดมที่หมดสภาพไปก่อนหน้านี้ โดยได้มอบหมายให้รับผิดชอบงานที่สำคัญทั้งด้านการเงิน การตลาด และซีดีเอ็มเอ ผลงานที่ปรากฏคือการรีดไข่ทองคำจากโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอสนองการเมืองเก่าอย่างเต็มที่
ช่วงปีที่ผ่านมากสทได้มีการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษหรือรีพีทออเดอร์ อุปกรณ์และอะไหล่เพื่อใช้ในโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอกว่า 1 พันล้านบาท คำว่าซื้อวิธีพิเศษหมายถึงไม่ต้องมีการประกวดราคา ใช้นิ้วจิ้มเลือกบริษัทที่ต้องการได้ตามใจชอบ รวมทั้งบอร์ดกสทยังได้อนุมัติงบอีก 3 พันล้านบาทเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และอะไหล่ซีดีเอ็มเอมาเก็บสำรองไว้ จนทำให้มูลค่าที่ซื้ออะไหล่มากกว่า 4 พันล้านบาทหรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของโครงข่ายหลักที่หัวเหว่ยเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งในภูมิภาคเสียอีก
นอกจากนี้ยังมีการบรรจุเป็นวาระประชุมบอร์ดกสทเมื่อวันที่ 4ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่ออนุมัติ จัดจ้าง Maintenance Agreement (MA) อุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO ด้วยวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณอีก 300 ล้านบาท ซึ่งสำหรับซีดีเอ็มเอแล้วกสทใช้การจัดซื้อวิธีพิเศษสม่ำเสมอและตลอดมา
‘ที่ผ่านมาประธานบอร์ดไม่รู้ในรายละเอียด แต่ภายหลังเมื่อรู้เรื่องก็สั่งเลื่อนการพิจารณาออกไป และถอดรองฯจิรายุทธไม่ให้รับผิดชอบซีดีเอ็มเออีก’
แหล่งข่าวกล่าวว่าผู้บริหารหนุ่มไม่ใช่แค่ถนัดชงเรื่องวิธีพิเศษ แต่ยังมีสายสัมพันธ์ที่กว้างขวางเป็นเพื่อนกับเลขาฯรัฐมนตรี ควงแขนหัวเหว่ยมุดเข้าถ้ำผู้ใหญ่ที่หนุนหลังพรรค หวังให้สนับสนุนหัวเหว่ยอย่างเต็มที่ ไม่เพียงเท่านั้นผู้บริหารหนุ่มยังหาญกล้าอ้างชื่อการเมืองโทร.หาบางบริษัทให้ถอนตัวจากงานประมูลและไม่ให้ร้องเรียน เพื่อให้บางบริษัทที่เสนอราคาสูงกว่าได้รับการคัดเลือกไป จนท้ายสุดเมื่อขวางไม่ได้เพราะบริษัทที่ชนะประมูลทั้งเสนอราคาต่ำกว่า มีประสบการณ์ ไม่มีความผิดใดๆ ก็มีคำสั่งให้ล้มโครงการพร้อมให้คำมั่นแปลกๆว่าจะจัดทำโครงการใหญ่ขึ้น แบ่งให้ทั้ง 3 บริษัท เพื่อไม่ให้ใครกระโตกกระตากหรือร้องเรียน
โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2552 กสทได้ทำหนังสือถึงบริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส กับบริษัท เออร์เนท ที่รวมกันเป็นคอนซอเตียมในการเสนอราคาจ้างจัดทำ RF Optimization สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO จำนวน 12 จังหวัดโดยวิธีพิเศษ โดยกสทแจ้งว่าขอยกเลิกการดำเนิน การจัดจ้างรายการดังกล่าวเนื่องจากกสทจะดำเนินการกำหนดขอบเขตของงานใหม่ต่อไป
งาน RF Optimization เป็นงานปรับแต่งสัญญาณโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO ไม่ใช่งานยุ่งยากหรือซับซ้อนเพราะมีบริษัทที่มีประสบการณ์และชำนาญโครงข่ายซีดีเอ็มเอในประเทศไทยถนัดเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เรื่องมันยุ่งก็เพราะ ‘คนจัดการ’ มันทำงานไม่เป็น ฮั้วแตก ไม่สามารถล็อกสเปกคนอื่นให้อยู่หมัดได้ เนื่องจากกสทใช้วิธีพิเศษเรียกบริษัทให้มาเสนอราคา ตอนแรกผู้บริหารตั้งใจเรียกแค่ยูเทล กับหัวเหว่ย แค่นั้น
แต่ไม่สามารถทัดทานเสียงร้องของพนักงานที่รักองค์กรได้จำเป็นต้องเรียกล็อกซเล่ย์กับเออร์เนทเข้าร่วมเสนอราคาด้วย ทำให้มีผู้เสนอราคา 3 รายคือยูเทล หัวเหว่ย และคอนซอเตียมล็อกซเล่ย์ เออร์เนท
เงื่อนไขที่เดิมคาดว่าล็อกแน่นจนบริษัทนอกกลุ่มอย่างล็อกซเล่ย์-เออร์เนทไม่มีคือ1.หนังสือรับรองผลงานจากหน่วยงานคู่สัญญาในการทำ RF Opiomization ระบบ CDMA 2000-1X EV-DO อย่างน้อย 1 งานโดยต้องมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 12 เดือน โดยให้ระบุวันที่และระยะเวลาตามสัญญาพร้อมทั้งแนบรายละเอียดของเนื้องานตามสัญญา 2.รายละเอียดประวัติการปฏิบัติงานกับ Base Station Subsystem (BSS) ในด้านการปรับพารามิเตอร์ RF Optimization โครงข่าย CDMA 2000- 1X EV-DO อย่างน้อย 1 งาน โดยต้องมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 1 เดือน
แต่ปรากฏว่าล็อกซเล่ย์-เออร์เนทผ่านเล็ดรอดเข้ามาได้ ด้วยประสบการณ์และผลงานในบริษัท บีเอฟเคที ที่ล็อกซเล่ย์ได้เข้าไปดำเนินงานเกี่ยวกับระบบ BSS ในด้านการปรับพารามิเตอร์ RF Optimization โครงข่าย CDMA 2000- 1X และระบบ CDMA 2000-1X EV-DO ตั้งแต่ปี 2548 โดยบีเอฟเคทีเป็นบริษัทที่ดำเนินการติดตั้งโครงการข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดภาคกลางให้กสทเช่าเพื่อนำมาให้ฮัทช์ทำการตลาด
ปรากฏว่าเมื่อถึงขั้นตอนเปิดซองราคา ‘คนจัดการ’ เกือบล้มทั้งยืน เพราะจากงบที่ตั้งไว้ 42 ล้านบาท หัวเหว่ยเสนอ 35 ล้านบาท ยูเทลเสนอ 34 ล้านบาท ซึ่งเป็นตามคาด แต่คอนซอเตียมล็อกซเล่ย์ เออร์เนท เสนอแค่ 21.8 ล้านบาทซึ่งเป็นราคาที่ทำได้แถมยังกำไร 15-20% ทำให้คนจัดการ ต้องพยายามาทำทุกวิถีทางให้คอนซอเตียมตก ถึงขนาดแจ้งฉุกเฉินในวันยื่นซองตอนเช้า ให้ตอนบ่ายทำการทดสอบ Drive Test ซึ่งคอนซอเตียมก็ยังผ่านการทดสอบ ขนาดกรรมการ 3 คนที่มาจากฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายพัสดุและฝ่ายเทคนิค 2ใน3 ยอมให้คอนซอเตียมได้งานชิ้นนี้ไป เหลือเพียงกรรมการคนเดียวที่ได้รับคำสั่งจากคนจัดการ ไม่ยอมเซ็นผ่านให้
ทั้งนี้คอนซอเตียมได้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าโครงการนี้เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2551 และวันที่ 5 พ.ย. 2551 ที่ผ่านมาพร้อมยืนยันประสบการณ์และผลงานในการติดตั้งอุปกรณ์และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบ GSM ,CDMA ,CDMA 2000-1X EV-DO ให้กับบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ว่าจะเป็น กสท (BFKT ,หัวเหว่ย) เอไอเอส ดีแทค ซึ่งรวมถึงงาน RF Optimization รวมทั้งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าผู้เสนอราคารายถัดไปถึง 12.8 ล้านบาทและกสทได้ต่อรองราคาจนคอนซอเตียมยอมลดราคาเหลือ 21.77 ล้านบาท
"งานนี้คนจัดการเสนอให้การเมืองเก่า 4.5 ล้านบาท แต่เมื่อไม่สามารถจัดการกับคอนซอเตียมได้ จึงจำเป็นต้องล้มโครงการ แล้วอ่อยเหยื่อด้วยการอ้างว่าจะทำโครงการให้ใหญ่แล้วแบ่งให้ทั้ง 3 รายเพื่อไม่ให้ร้องเรียน แต่ความเสียหายเกิดกับกสทแล้ว เพราะข้อเสนอที่ถูกกว่าและการมีประสบการณ์ตรง กลับไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ"
แหล่งข่าวกล่าวว่ากสทกำลังยืนบนทาง 2 แพร่งระหว่าง 1.การทุ่มงบประมาณจำนวนมากนับหมื่นล้านบาทไปกับการซื้ออะไหล่ อุปกรณ์ อัพเกรดซอฟต์แวร์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอจากหัวเหว่ยกว่า 4 พันล้านบาทและมีแผนที่จะซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอจากบริษัท บีเอฟเคที ในกลุ่มฮัทชิสันอีก 6 พันล้านบาท เพื่อให้เป็นเจ้าของโครงข่ายซีดีเอ็มเอทั่วประเทศ ในขณะที่เทคโนโลยีไร้สายโดยเฉพาะบรอดแบนด์ไร้สายของโลกต่างหันไปหาวายแบนด์ซีดีเอ็มเอหรือ 3G/HSPA กันเกือบหมดแล้ว
แม้กระทั่งกลุ่มฮัทชิสันยังโละเศษเหล็กโครงข่ายซีดีเอ็มเอเปลี่ยนเป็น 3G/HSPA ใน 13 ประเทศประกอบด้วยประเทศนอร์เวย์ ,อังกฤษ ,สวีเดน ,เดนมาร์ก ,ออสเตรีย .อิตาลี ,ไอร์แลนด์ ,อิสราเอล ,ฮ่องกง ,อินโดนีเซีย ,ออสเตรเลีย ,ศรีลังกา และเวียดนาม จะเหลือแค่ 2 ประเทศที่ยังมีโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอยุคเก่า คือ กาน่าและไทย
หรือ 2.กสทจะเลือกนำงบประมาณจำนวนดังกล่าว หันไปหาเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตอย่าง 3G/HSPA ในย่านความถี่ 850 MHz ที่กสทมีอยู่ในขณะนี้ หลังจากเจียดความถี่บางส่วนให้ทรูมูฟนำไปอัพเกรดโครงข่ายกลับมาเป็นคู่แข่งของกสท
"ระหว่างซีดีเอ็มเอกับ 3G/HSPA ประธานสถิตย์ น่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่ากสทควรเลือกเทคโนโลยีอะไรที่เป็นประโยชน์กับกสทและประเทศชาติสูงสุด ภายหลังจากที่รับรู้ปัญหาโดยรวมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเออย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว"
เปิดเส้นทางว่าที่CEOใหม่กสท ประเคนจัดซื้อพิเศษให้หัวเหว่ย
เปิดเส้นทางโรยด้วยกลีบกุหลาบของว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่กสท โทรคมนาคม สนองการเมืองประเคนจัดซื้อวิธีพิเศษหัวเหว่ยซีดีเอ็มเอพร้อมวางแผนซื้อโครงข่ายจากฮัทชิสัน รวมยอดเกือบหมื่นล้านบาท แกล้งโง่หรือจงใจ เพราะกลุ่มฮัทชิสันโละโครงข่ายซีดีเอ็มเอใน 13 ประเทศที่ลงทุนทิ้งหมด เหลือแค่ไทยกับกาน่า โดยหันไปหาเทคโนโลยีวายแบนด์ซีดีเอ็มเอหรือที่คุ้นหูอย่าง 3G/ HSPA แทน จับตาบอร์ดกสทประชุมวันนี้(4ก.พ.) เตรียมประเคนให้หัวเหว่ยอีก 300 ล้านบาท คนในกสทวอน ‘กรณ์’ ช่วยล้างบางที เพราะหมดหวังตัวแทนคลังในบอร์ด
กำลังโหลดความคิดเห็น