xs
xsm
sm
md
lg

ไอซีทีท้วงบอร์ดกสทไม่เป็นธรรม แบ่งความถี่“ทรูมูฟ”ไม่แยแสดีพีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสทเดินหน้ายุทธศาสตร์เครือข่ายไร้สายหลายเทคโนโลยีหลายความถี่ทั้งซีดีเอ็มเอ HSPA และ 3G ไทยโมบาย ด้านไอซีทีส่งหนังสือถึงบอร์ดกสทให้ความเป็นธรรมเรื่องความถี่ 850 MHz ของดีพีซี ‘วิเชียร’ โวยภายใต้สัมปทาน กสทเหมือนกับทรูมูฟได้ ดีพีซีก็ควรได้ด้วย คนในวงการชี้ทีกสท ยังอยากมีหลายเครือข่ายแต่กรณีดีพีซีกลับอ้างเอไอเอสมี HSPA 900 MHz แล้วเอียงกระเท่เร่หาความยุติธรรมไม่เจอ

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าโครงสร้างใหม่ของกสทที่แบ่งเป็นสายธุรกิจ ตามมติบอร์ดกสทในการประชุมเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบสายธุรกิจสื่อสารเคลื่อนที่หรือ Mobile Business Unit จากเดิมที่รับผิดชอบงานด้านการเงินหรือ Chief Financial Officer (CFO)

‘โครงสร้างใหม่เป็นการเดินหน้าตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจหรือ Turnaround Plan เพื่อให้เกิดความกระชับในการบริหาร และการตัดสินใจก่อนนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด’

สำหรับงานในด้าน Mobile Business ถือเป็นงานท้าทายที่บอร์ดมอบหมายให้ เพราะเป็นทั้งโอกาสและจุดเปลี่ยนสำคัญในระยะกลางถึงระยะยาวของกสทและจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยงานด้าน Mobile Business มีทั้งหมด 3 แนวทางคือ 1.บริการโทรศัพท์มือถือในระบบ CDMA 2000 1X ในส่วน 25 จังหวัดภาคกลางที่กสท ให้บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดียหรือฮัทช์ทำการตลาด และCDMA 2000 1X EV-DO ใน 51 จังหวัดภูมิภาค ที่กสทลงทุนเองและให้หัวเว่ยดำเนินการติดตั้งซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในการส่งมอบรับมอบและปัญหาค่าปรับโดยที่กสททำการตลาดเองในขณะนี้

2.บริการโทรศัพท์มือถือโดยการให้สัมปทานประกอบด้วยดีแทคในย่านความถี่ 800 และ1800 MHz ,ทรูมูฟ ในย่านความถี่ 1800 MHz และดีพีซีในย่านความถี่ 1800 MHz โดยที่ดีแทคและทรูมูฟกำลังพัฒนาบริการใหม่เพื่อก้าวสู่ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA ในย่านความถี่ 850 MHz ซึ่งหมายถึง กสทจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น

3.บริการโทรศัพท์มือถือของไทยโมบายซึ่งกสทได้สิทธิในการให้บริการย่านความถี่1900 MHz ร่วมกับทีโอทีถึงแม้ยังมีปัญหาเรื่องการซื้อขายหุ้นให้เหลือทีโอทีหรือกสทให้บริการเพียงรายเดียว หรือยังคงให้บริการต่อไปร่วมกันในบริการ 3G ซึ่งถือว่าบริการ 3G ในย่านความถี่ 1900 MHz อยู่ในย่านความถี่มาตรฐานที่มีมูลค่ามหาศาลในตัวของมันเอง

‘ในส่วนของซีดีเอ็มเอคงต้องรอความชัดเจนเรื่องเทคโนโลยีราว 6 เดือน เพื่อเห็นทิศทางในการตัดสินใจพัฒนาบริการเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอในอนาคต’

ในส่วนของการเจรจากับกลุ่มฮัทชิสันที่เคยเซ็นเอ็มโอยูตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ก็จะดำเนินการต่อเพื่อให้กลุ่มฮัทชิสันมาทำการตลาดซีดีเอ็มเอทั่วประเทศ 76 จังหวัด โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้ว่าการดำเนินการตลาดของกลุ่มฮัทชิสันใน 25 จังหวัดภาคกลางนั้นไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมการงานรัฐและเอกชนพ.ศ.2535เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่มีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

หมายถึงหากกสทจะดำเนินการพัฒนาซีดีเอ็มเอทั่วประเทศต่อในประเด็นด้านการตลาด ก็เพียงส่งเรื่องไปที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อเอาเรื่องสัญญาการตลาดของกลุ่มฮัทชิสันเดิมที่ทำใน 25 จังหวัดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็สามารถดำเนินการในส่วน 51 จังหวัดได้เลยโดยไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก

นายจิรายุทธกล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากสทได้ส่งหนังสือไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อดำเนินการขออนุญาตการจัดสรรความถี่เดิมย่าน 850 MHz ที่กสทมีอยู่เพื่อให้เอกชนให้บริการภายใต้สัมปทานเดิมและขออนุญาตเพื่อให้ดีแทคและทรูมูฟบริษัทภายใต้สัมปทาน นำเข้าและติดตั้งอุปกรณ์ HSPA เพื่อมาให้บริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA โดยดีแทคขออนุญาตนำเข้าและติดตั้งจำนวน 1,200 สถานีฐานส่วนทรูมูฟขอ 650 สถานีฐาน

ทรูมูฟได้ดีพีซีต้องได้ด้วย

นายวิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมานายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีทีได้ส่งหนังสือด่วนให้บอร์ดกสทพิจารณาให้ความเป็นธรรมดีพีซี ที่เป็นบริษัทในกลุ่มเอไอเอส และอยู่ภายใต้สัมปทานของกสทเหมือนทรูมูฟ ให้ได้รับการจัดสรรความถี่ในย่าน 850 MHz เพื่อให้บริการ 3G ด้วยเทคโนโลยี HSPA เช่นเดียวกับทรูมูฟ

‘หลังเอไอเอสส่งหนังสือขอความเป็นธรรมไปที่ไอซีทีกับกทช. ปรากฏว่ารมว.ไอซีทีได้ส่งหนังสือไปยังบอร์ดกสทให้ช่วยพิจารณาในขณะที่ด้านกทช.ยังไม่มีอะไรตอบกลับมา’

เขาย้ำว่าถึงแม้ดีพีซีจะมีฐานลูกค้าไม่มาก แต่เอไอเอสจ่ายค่าโรมมิ่งให้เอไอเอสปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งหมายถึงส่วนแบ่งรายได้จำนวนมากที่กสทได้รับเช่นกัน และหากดีพีซีสามารถให้บริการ 3G HSPA ได้ ด้วยศักยภาพทุกด้านของกลุ่มเอไอเอส ย่อมทำให้กสทได้รับผลประโยชน์กลับมาจำนวนมาก

‘ภายใต้สัมปทานกสทเหมือนกัน ถ้าทรูมูฟได้ ดีพีซีก็ควรได้ด้วย ถึงแม้อาจจะต้องมีข้อถกเถียงอีกมากสำหรับบริการ 3G HSPA ย่านความถี่ 850 MHz ว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหน แต่ควรให้ความเป็นธรรมแก่ดีพีซีด้วย’

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าหากเปรียบเทียบดีแทคและทรูมูฟที่เสนอขอติดตั้ง HSPA ด้วยตัวเลขจำนวนสถานีฐาน ที่มากกว่าผู้นำอย่างเอไอเอสที่ขออนุญาตกทช.เพียงกว่า 60 สถานีฐานเท่านั้นเป็นเพราะทั้ง 2 บริษัทตั้งใจให้บริการ HSPA ให้เกิดจริงจัง ในช่วงที่ยังไม่มีใบอนุญาต 3G และเพราะความถี่ย่าน 850 MHz ที่กสทอนุญาตให้ดีแทคและทรูมูฟไปดำเนินการนั้น ไม่ได้ไปเบียดบัง bandwidth ความถี่เดิมที่ทั้งดีแทคและทรูมูฟให้บริการอยู่ส่วนกรณีเอไอเอสนั้นให้บริการ HSPA ในความถี่เดิมย่าน 900 MHz ซึ่งเป็นการเบียดบัง bandwidth ที่ใช้อยู่ทำให้หากพัฒนาไปมากหรือเร็ว ก็อาจมีผลต่อการใช้งานของลูกค้า GSM เดิมได้

แหล่งข่าวกล่าวว่าการเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ดีพีซีของเอไอเอสเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเหตุผลของบอร์ดกสทที่ไม่พิจารณาให้ดีพีซีได้รับการจัดสรรความถี่ 850 MHz ประการหนึ่งคืออ้างว่าในกลุ่มเอไอเอสก็มีบริการ HSPA บนความถี่ 900 MHz อยู่แล้ว ดีพีซีจึงไม่สมควรได้รับการพิจารณา

แต่ถ้าบอร์ดกสท หันกลับมาดูตัวเองก็จะพบว่า บอร์ดกสทก็ยังต้องการมีเครือข่ายไร้สายหลายเทคโนโลยีหลายระบบไว้เพื่อให้บริการ ทั้งซีดีเอ็มเอ HSPA พร้อมทั้งเกี่ยว 3G ของไทยโมบายไว้ด้วย อีกทั้งดีพีซีก็เป็นสัมปทานภายใต้กสท การไม่พิจารณาแบ่งความถี่ให้ดีพีซี เท่ากับบอร์ดกสทเลือกปฏิบัติ ไม่ให้ความเป็นธรรมและสร้างให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการทำธุรกิจแข่งขันเสรี

‘บอร์ดกสทยังอยากมีเครือข่ายไร้สายหลายเครือข่าย แต่พอดีพีซีกลับอ้างว่าเอไอเอสมี HSPA 900 MHz อยู่แล้ว คิดดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ในขณะที่ดีพีซีกับทรูมูฟก็ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กสทเหมือนกัน รายหนึ่งได้ความถี่อีกรายกลับไม่ได้ อย่างนี้เรียกได้ว่าเป็นธรรมหรือเปล่า หรือมีอะไรกับทรูมูฟแต่ดีพีซีไม่ยอมให้ เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่ บอร์ดกสทต้องตอบให้ชัดเจน’

Company Related Links :
MICT
Cattelecom
กำลังโหลดความคิดเห็น