xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเส้นทางว่าที่CEOใหม่กสท ประเคนจัดซื้อพิเศษให้หัวเหว่ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แหล่งข่าวในบริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าเป็นที่คาดหมายกันว่านายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะถูกวางตัวให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท คนใหม่ ภายใต้การสนับสนุนจากการเมืองที่คุมอำนาจในกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หลังจากที่นายจิรายุทธทำงานสนองการเมืองจนเป็นที่พอใจ เห็นได้จากเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่คนเดียวที่รับผิดชอบงานสำคัญถึง 3 สายงานหลักคือสายการเงิน สายการตลาด และสายธุรกิจซีดีเอ็มเอ ซึ่งรับผิดชอบงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างหลายพันล้านบาท

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ดกสทวันนี้ (4ก.พ.) บอร์ดจะมีการพิจารณาการจัดจ้าง Maintenance Agreement (MA) อุปกรณ์เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA 2000-1X EV-DO ด้วยวิธีพิเศษในวงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก เพราะเทคโนโลยี CDMA 2000-1X EV-DO มีจุดเด่นเรื่องการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้กสทยังไม่ได้เปิดให้บริการคอนเทนต์อะไรที่รองรับโครงข่ายความเร็วสูงดังกล่าวเลย เพราะหัวเหว่ยไม่ยอมเปิดเผยโคดในการเชื่อมต่อให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์ต่างๆ แต่กลับเสนออนุมัติงบบำรุงรักษาแล้ว

‘ในอดีตหัวเหว่ยหรือผู้บริหารกสทเคยพูดว่าหัวเหว่ย หยุดพัฒนาและไม่ผลิตอุปกรณ์ EV-DV ที่เป็นพัฒนาการต่อจาก EV-DO แล้ว แต่ทำไมถึงมีการตั้งงบบำรุงรักษาโดยที่ยังไม่ให้บริการด้วยซ้ำ’

ก่อนหน้านี้กสทเคยจัดซื้ออุปกรณ์หรืออะไหล่ของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอจากหัวเหว่ยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทช่วงปีที่ผ่านมา รวมทั้งบอร์ดยังได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 3 พันล้านบาทในการจัดซื้ออุปกรณ์และอะไหล่เก็บไว้สำรองอีก ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วบอร์ดกสทได้อนุมัติจัดซื้ออุปกรณ์จากหัวเหว่ยมากกว่า 4 พันล้านบาทด้วยวิธีพิเศษ ซึ่งเมื่อเทียบกับโครงข่ายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคของหัวเหว่ยที่ชนะประมูลในวงเงิน 7 พันกว่าล้านบาท ก็เท่ากับว่าบอร์ดกสทของนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กับฝีมือการชงของนายจิรายุทธ อนุมัติจัดซื้ออะไหล่ด้วยวิธีพิเศษเกินกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่สร้างโครงข่ายหลักไปแล้วด้วยซ้ำ

นอกจากนี้นายจิรายุทธ ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเจรจาซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดภาคกลางจากกลุ่มฮัทชิสัน ด้วยวงเงินประมาณ 200 ล้านเหรียญหรือประมาณ 6 พันล้านบาท ทั้งๆที่กลุ่มฮัทชิสันเคยเสนอยกโครงข่ายให้ฟรีๆแลกกับการให้สิทธิฮัทชิสันในการทำตลาดซีดีเอ็มเอทั้งประเทศ แต่กสทไม่สนใจเพราะไม่เกิดมูลค่าชัดเจนในรูปเม็ดเงินที่เป็นธนบัตร
แหล่งข่าวกล่าวว่าความน่าสนใจของการพิจารณาจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษอุปกรณ์จากหัวเหว่ยอยู่ที่เป็นการรีพีท ออเดอร์ ไม่ต้องประมูล ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สภาพัฒน์ฯ หรือกระทรวงไอซีที ใช้วิธีซอยย่อยงบประมาณไปเรื่อยๆ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของบอร์ดเป็นใช้ได้ เรื่องเดียวที่อาจยากแต่ไม่ลำบากคือการประสานตัวเลขกับการเมืองเท่านั้น

ในขณะที่กสท กำลังละเลงงบประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นจัดซื้ออะไหล่หัวเหว่ยกว่า 4 พันล้านบาทกับซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอจากกลุ่มฮัทชิสันอีก 6 พันล้านบาทเพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอทั่วประเทศ กลุ่มฮัทชิสันเองที่เป็นเจ้าของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอใน 15 ประเทศทั่วโลก ได้ผละจากเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอ หันไปลงทุนเทคโนลีวายแบนด์ซีดีเอ็มเอหรือที่รู้จักกันในประเทศไทยอย่าง 3G/ HSPA แทนถึง 13 ประเทศประกอบด้วยประเทศนอร์เวย์ ,อังกฤษ ,สวีเดน ,เดนมาร์ก ,ออสเตรีย .อิตาลี ,ไอร์แลนด์ ,อิสราเอล ,ฮ่องกง ,อินโดนีเซีย ,ออสเตรเลีย ,ศรีลังกา และเวียดนาม จะเหลือแค่ 2 ประเทศที่ยังมีโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอยุคเก่า คือ ประเทศกาน่าและประเทศไทย ที่นายจิรายุทธกำลังวางแผนให้กสทซื้อจากฮัทชิสัน

ด้วยงบประมาณที่กสทวางแผนทุ่มไปยังโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอที่เป็นเทคโนโลยีที่อาจไม่ใช่อนาคตแล้วเมื่อเทียบกับวายแบนด์ซีดีเอ็มเอหรือ 3G/HSPA ที่ยืนคนละด้านของเทคโนโลยี อาจไม่ใช่เรื่องคุ้มค่าหรือฉลาดมากนัก หากมองในแง่ธุรกิจ แต่หากมองในเรื่องสนองการเมืองเพื่อแลกกับเก้าอี้ กลับอาจมีความเป็นไปได้มากกว่า

จากข้อมูลของหัวเหว่ยที่คาดการณ์เทคโนโลยีโทรคมนาคมในอนาคต ในเรื่องความต้องการใช้บรอดแบนด์ในทุกสถานที่ หัวเหว่ยระบุว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นอย่างมาก โดยในปี 2556 จะมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้สายนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านคนซึ่งเป็นสองเท่าของจำนวนผู้ใช้ในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายจะเพิ่มขึ้นกว่า 1,200 ล้านคนซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยี HSPA บรอดแบนด์จะช่วยให้เกิดการรวมกันของโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์พีซี และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายต่างๆ

‘แม้แต่หัวเหว่ยยังบอกว่าการใช้เทคโนโลยี HSPA ทำให้การใช้บรอดแบนด์ไร้สายของโลกเติบโตขึ้น ไม่มีการระบุถึงเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอที่กสทละเลงเงินแลกกับเก้าอี้ของใครบางคนตอนนี้เลย’

ปัญหาของกสทคือหากยังดันทุรังละเลงงบไปกับโทรศัพท์ เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอแล้ว ในเชิงพาณิชย์ กสทจะวางตำแหน่งของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอไว้ที่ไหน ถ้าจะให้เป็นบริการบรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูง คำถามคือความเร็วโครงข่ายซีดีเอ็มเอสู้กับ HSPA ของเอไอเอสหรือดีแทคหรือทรูมูฟ รวมทั้งไทยโมบาย และไลเซ่นต์ 3G ใหม่ของกทช.ได้หรือไม่ รวมทั้งเส้นทางพัฒนาเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอจะเดินไปอย่างไร หรือ กสทจะวางซีดีเอ็มเอเป็นแค่ขายวอยซ์ราคาถูก หรือยังคิดอะไรไม่ออก ขอเพียงซื้อวิธีพิเศษไว้ก่อน เพราะซีดีเอ็มเอทุกวันนี้มันไม่เวิร์กเหมือนที่โฆษณาชวนเชื่อ 2 เน็ตเวิร์กซีดีเอ็มเอปัจจุบันของฮัทชิสันกับหัวเหว่ยกสทยังโรมมิ่งด้านข้อมูลไม่สะดวกปลอดโปร่ง

ปัญหาเรื่องเครื่องลูกข่ายมีราคาสูง และปัญหาเรื่องการนำไปใช้ต่างประเทศหรืออินเตอร์เนชั่นแนล โรมมิ่งที่แนวโน้มทั่วโลกไม่มีใครใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอกันแล้ว ประเด็นเหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบให้สังคมทั้งสิ้น หากกสทยังเลือกที่จะลงทุนเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอต่อไป
ในเมื่อกสทยังมีทางเลือกที่น่าจะฉลาดกว่านั้น ด้วยการคงสภาพโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ จำกัดความเสียหายไว้แค่นั้น แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้ถลุงกับการจัดซื้อวิธีพิเศษซีดีเอ็มเอ หันกลับไปเลือกเทคโนโลยีที่เป็นอนาคตอย่าง 3G/HSPA ด้วยความถี่ 850 MHz ที่เหลืออยู่ก็ยังพอเพียงที่จะให้บริการเป็นผู้เล่นที่มีปากเสียงในตลาด มากกว่าแค่เป็นไม้ประดับให้คู่แข่งโห่ฮาเหมือนทุกวันนี้

เพียงแต่การดำเนินโครงการเช่นนี้จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากกระทรวงไอซีที ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและต้องผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒน์ฯ อาจใช้เวลาและไม่คล่องคอเหมือนการจัดซื้อวิธีพิเศษหรือการรีพีทออเดอร์จากรายเดิม

‘หากกสทยังเดินหน้าจัดซื้อวิธีพิเศษหัวเหว่ย ซื้อโครงข่ายจากฮัทชิสัน แม้กระทั่งความพยายามทำให้หัวเหว่ยไม่ต้องเสียค่าปรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอในภูมิภาคนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังควรเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะลำพังจะไว้ใจตัวแทนกระทรวงการคลังที่นั่งในบอร์ดกสท ดูเหมือนจะสิ้นหวังแล้ว’
กำลังโหลดความคิดเห็น