xs
xsm
sm
md
lg

“โอฬาร”ชี้ศก.ปี52 ไทยติดลบ4.05% แย่ที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – “โอฬาร ไชยประวัติ” ชี้เศรษฐกิจไทยปี 52 ติดลบ 4.05% มากที่สุดในโลก หลังรายได้หลักจากการส่งออกและท่องเที่ยวทรุดหนัก เสนอภาครัฐเร่งหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ บนเงื่อนไขห้ามปิดกิจการ-ปลดคนงาน ด้านผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ย้ำผู้บริหารต้องเป็นหางเสือหลักนำบริษัทฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่รอบคอบ แม่นยำ และรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง “CEO มืออาชีพ...เส้นทางความอยู่รอดหรือรุ่งโรจน์ขององค์กร” ว่า คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2552 จะติดลบถึง 4.05% ซึ่งติดลบมากที่สุดในโลก เนื่องจากรายได้การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ลดลง โดยเฉพาะยอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงถึง 20% และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง 20-25% ซึ่งจะส่งผลต่อธุรกิจโรงแรมลดลง 25-30%

ทั้งนี้ รายได้จาก 3 ธุรกิจดังกล่าวนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของยอดการส่งออกของทั้งประเทศ ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้จะต้องพึ่ง 3 ธุรกิจดังกล่าว ดังนั้นรัฐบาลจะต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือให้เหมาะ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้มีการปิดกิจการ และส่งผลให้มีจำนวนคนว่างงานพุ่งสูงถึง 1.5 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น เสนอให้นำแผน “อยุธยาโมเดล” ที่เคยใช้เมื่อครั้งเกิดวิกฤตในปี 2540 กลับมาใช้ โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนทางกระทรวงอุตสาหกรรมและแรงงาน ที่จะทำหน้าที่เข้าไปเจรจากับบริษัทเอกชนให้เปิดดำเนินธุรกิจต่อไป แต่อาจจะต้องมีการลดกำลังการผลิตลง 20-30% ลดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างเหลือ 3-4 วัน ส่วนจำนวนวันที่เหลือให้พนักงานไปฝึกอบรมสร้างความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานรองรับหากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกัน อาจจะต้องมีการปรับลดเงินเดือนลูกจ้างตามจำนวนวันทำงานที่ลดลง โดยที่รัฐบาลจะหาแหล่งเงินกู้ให้ในอัตราที่ต่ำให้บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“หากรัฐบาลไม่ดำเนินมาตรการดังกล่าว จะทำให้บริษัทต้องปิดกิจการลง คนว่างงานมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”

นายโอฬาร กล่าวว่า ในปี52 เศรษฐกิจโลกจะติดลบ 1.57% โดยทุกประเทศจะมีจีดีพีติดลบ มีเพียงจีนเท่านั้นที่เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่ไทยจะติดลบมากที่สุดในโลกถึง -4.05% ประเทศกลุ่มยุโรปติดลบ3.54% ญี่ปุ่นติดลบ 1.14% สหรัฐฯ 0.46% กลุ่มเอเชียตะวันออก (EA8) โตเพิ่มขึ้น 1.66% ประเทศที่เหลือติดลบ 2.77% ” นายโอฬาร กล่าว

ส่วนแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ทุกประเทศทั่วโลกต้องต้องร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไปพร้อมกัน ด้วยนโยบายด้านการคลัง เพราะนโยบายทางด้านลดดอกเบี้ยที่จะมากระต้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำได้ หลังจากดอกเบี้ยนโยบายของทุกประเทศได้ปรับตัวลดลงใกล้ 0% แล้ว ขณะที่นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการลดค่าเงินจะทำให้มีการแข่งขันที่สูงและเกิดความเสียหายแก่ประเทศได้

“นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจของทุกประเทศ จะต้องทำอย่างรวดเร็ว จำนวนที่มากพอ และแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่นโยบายอื่นๆ ถือเป็นเรื่องรองลงมาก และควรใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวเพียง 2 ปีเท่านั้น โดยปีนี้ถือเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง และจะต้องฟื้นในปี 53”นายโอฬาร กล่าว
CFO ชูกลยุทธ์นำองค์กรฝ่าวิกฤตศก.

นางสุวรรณา พุทธประศาท รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH กล่าวว่า ปี 2552 ถือเป็นปีที่ท้าทายการทำงานเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท โดยผู้บริหารจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจที่รอบคอบ แม่นยำ และรวดเร็ว จากนั้นจึงนำแผนงานมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับกรณีที่เกิดขึ้นกับองค์กรของตน รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงทางการเงินด้วย

ขณะที่บริษัทเองได้เพิ่มความระมัดระวังในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยการสร้างรายได้ให้มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการบริหารสต๊อกโดยการขายบ้านที่สร้างเสร็จให้ออกไปมากที่สุดภายในระยะเวลา 2-3 เดือน เพื่อไม่ให้เงินทุนจมอยู่กับสต๊อกบ้านนานเกินไป

พร้อมกันนี้ บริษัทได้เตรียมหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองกรับการขยายงานในอนาคต โดยบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้มูลค่า 1.3 พันล้านบาท อายุประมาณ 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะได้รายละเอียดไม่เกินเดือนเมษายน 2552 นี้ แม้ว่าบริษัทจะมีความสามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อีกกว่า 8 พันล้านบาท

นางเพ็ญจันทร์ จริเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซีเอฟโอหรือผู้บริหารของบริษัทจะต้องปรับตัวได้รวดเร็ว มีการจัดความคิดที่เป็นระบบ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัท ขณะที่ปตท. ซึ่งดำเนินธุรกิจน้ำมันจะได้รับผลกระทบความผันผวนของราคา ทำให้บริษัทต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายของซีเอฟโอที่จะมีมาตรการในการรับมือ โดยการติดตามสถานการณ์ในแต่ละครั้งอย่างต่อเนื่อง และนำมาคิดวิเคราะห์เพื่อปรับใช้ให้สอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น