xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอใหม่บอกลาเทมาเส็คหลังคนในไม่ยอมรับแนวบริหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ว่าชาร์ลส์ ดับเบิลยู. กูดเยียร์ หรือ “ชิพ” ขณะแถลงข่าวกับโฮ ซิง ซีอีโอของเทมาเส็ก
วอลสตรีทเจอร์นัลเอเชีย – แผนการจ้างชาวต่างชาติขึ้นนั่งแท่นซีอีโอครั้งแรกของเทมาเส็ค โฮลดิงส์แห่งสิงคโปร์ มีอันต้องล้มเลิกไป เมื่อวาณิชธนกิจที่เป็นของรัฐบาลแห่งนี้แถลงว่าชาร์ลส์ ดับเบิลยู. กูดเยียร์ หรือ “ชิพ” นักบริหารชาวอเมริกันวัย 51 ปี จะไม่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว

การบอกเลิกอย่างไม่คาดฝันของกูดเยียร์ ซึ่งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทบีเอชพี บิลลิตัน คงทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของเทมาเส็คและความพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในขณะที่บริษัทกำลังพยายามยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของตนอยู่ โดยขณะนี้โฮ ชิง ซีอีโอหญิงวัย 56 ปีคนปัจจุบัน ซึ่งเดิมมีแผนจะวางมือ จึงต้องรั้งเก้าอี้ผู้บริหารต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งนี้แทน

ในแถลงการณ์ของเทมาเส็คระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเพราะมี “ความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์บางประการ” คณะกรรมบริษัทและกูดเยียร์จึงตกลงที่จะระงับระบวนการส่งมอบงานและหน้าที่ในตำแหน่งซีอีโอและกรรมบริษัทซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งแต่เดิมกูดเยียร์มีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่งซีอีโออย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นใดๆ จากกูดเยียร์เนื่องจากโฆษกของเทมาเส็คแจ้งว่าเขาอยู่ในระหว่างหยุดพักผ่อน คนวงในบอกอีกว่าที่ผ่านมากูดเยียร์ได้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเทมาเส็ค แต่ไม่สู้จะได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะข้อเสนอเรื่องทิศทางยุทธศาสร์ใหม่ของเขาถูกมองว่าสุ่มเสี่ยงมากเกินไป อีกทั้งเขายังเสนอแผนเปลี่ยนผู้บริหารระดับอาวุโสด้วย ทำให้คณะกรรมการบริษัทไม่เห็นด้วย

เทมาเส็คนั้นเป็นวาณิชธนกิจระหว่างประเทศชั้นนำแห่งหนึ่ง โดยบริหารพอร์ตโฟลิโอเป็นมูลค่าสูงราว 185,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (128,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และยังเป็นกองทุนขนาดมหึมาที่มีประสบการณ์สูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมสรุปภายในเมื่อบ่ายวันอังคาร (21) เอส. ธานาบาลัน ประธานกรรมของเทมาเส็ค ได้แจ้งกับพนักงานว่ากูดเยียรเป็นฝ่ายตัดสินใจออกจากเทมาเส็ค ซึ่งทำให้ผู้อยู่ในที่ประชุมส่วนใหญ่นิ่งเงียบกันไป

เทมาเส็คเสนอชื่กูดเยียร์เข้ารับหน้าที่ต่อจากโฮ ภรรยาของนายกรัฐมนตรีลีเซียนหลุงแห่งสิงคโปร์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีเสียงขานรับอย่างดีเนื่องจากถือเป็นจังหวะก้าวในการอัดฉีดผู้นำเลือดใหม่เข้าสู่เทมาเส็ค ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1974 เพื่อเป็นเครื่องมือในการลงทุนและบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาล โดยถือหุ้นส่วนใหญ่ในธุรกิจสำคัญๆ ของสิงคโปร์ด้วย

ส่วนกูดเยียร์นั้น นอกจากจะมีประสบการณ์ในกิจการบีเอชพี บิลลิตันแล้ว เขายังเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของฟรีพอร์ต แม็คโมแรน อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตนาก มีผู้คาดว่ากูดเยียร์อาจเข้ามาช่วยเทมาเส็คในการลงทุนทางด้านสินค้าโภคภัณฑ์ได้เนื่องจากมีปริมาณความต้องการในตลาดจีนสูงมากจึงเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจดังกล่าว

ในระหว่างที่มีการแต่งตั้งกูดเยียร์นั้น โฮเองก็กล่าวยอมรับว่า “ชิปมีความสามารถในด้านที่ดิฉันไม่มี”

นอกจากนั้น กูดเยียร์ยังจะนำประสบการณ์การทำงานระดับโลกมาให้กับเทมาเส็คได้มากกว่าโฮด้วย เพราะโฮนั้นเติบโตในอาชีพอยู่ในสิงคโปร์เป็นหลัก โดยเธอเริ่มต้นการทำงานที่กระทรวงกลาโหมและได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอของเทมาเส็คในปี 2004

อย่างไรก็ตาม เมื่อกูดเยียร์เข้ามาบริหารงาน เขาเอาจริงเอาจังกับการสร้างวินัยในการทำงานอย่างมาก คนของเทมาเส็คเล่าว่า ใครที่เข้าประชุมไม่ตรงเวลาจะถูกปรับเงินโดยคิดตามจำนวนนาทีที่เข้าสาย นอกจากนั้นเขายังห้ามส่งข้อความใน “แบล็คเบอรีส์” ในระหว่างการประชุม และผู้เข้าประชุมยังถูกกดดันให้อธิบายถึงจุดยืนทางด้านการลงทุนของตนต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่มีใครเคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประธานกรรมการของเทมาเส็คระบุว่าบริษัทจะยังสานต่อ “ความริเริ่มในเรื่องกระบวนการ” บางประการของกูดเยียร์ต่อไปแม้ว่าเขาจะลาออกไปแล้วก็ตาม

ส่วนคำถามที่ว่าเทมาเส็คจะพิจาณาคัดเลือกชาวต่างชาติเข้ารับตำแหน่งซีอีโออีกหรือไม่นั้น ธานาบาลันได้ระบุไว้ในแถลงการณ์แล้วว่า “เทมาเส็ค” ควรมีผู้บริหารที่มีความสามารถสูงสุดสำหรับตำแหน่งดังกล่าว” เขาบอกอีกว่าบริษัทจะยังคงเดินหน้าแผนการหาตัวผู้สืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น