xs
xsm
sm
md
lg

กดดัน“มาร์ค”เชือด“วิฑูรย์”“เรืองไกร”ยื่นสอบอีก3รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - อภิสิทธิ์ ให้รออีก 2 วันชี้ชะตา ”วิฑูรย์-บุญจง” ยันทุกการตัดสินใจมีคำตอบให้สังคม ไม่ห่วงกลุ่มเพื่อนเนวินป่วนถ้าต้องปรับ “บุญจง” ออก เพราะเป็นอำนาจนายกฯ ด้าน ”สุเทพ” แนะ ”วิฑูรย์” ฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ ที่เสนอแนะ พร้อมการันตี ”กษิต” ประวัติไม่มัวหมอง “ชวรัตน์” เสียงแข็ง ปรับ ”บุญจง” ออกต้องรอ ป.ป.ช.หรือ กกต.สรุปผลสอบก่อน ด้าน กกต. เผยสำนวนคดีอาญาบุญจงเสร็จแล้วรอแค่ กกต.ลงนามส่งฟ้อง ส่วนกรณีสุเทพไม่จำเป็นต้องเรียกเจ้าตัวชี้แจง ด้าน “ เรืองไกร” ยื่น ป.ป.ช.เล่นงาน 3 รมต.โหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขัด ม. 177 วิชา แนะส่งศาล รธน.ตีความ เชื่อแค่ผิดมารยาทเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการตัดสินใจปรับหรือไม่ปรับ ครม.ว่า ได้บอกแล้วว่าหลังกลับจากสวิสเซอร์แลนด์จะขอดูข้อมูลจากรัฐมนตรีที่มีเครื่องหมายคำถามจากสื่อและสังคม ตอนนั้นบอกว่า 3 วัน ตอนนี้เหลืออีก 2 วัน อย่างไรก็ตามได้รวบรวมข้อมูลไว้พอสมควรแล้ว ทั้งในส่วนของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย และนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยืนยันว่าอีก 2 วันจะมีความชัดเจนว่ารัฐมนตรี 2 คนนี้จะอยู่หรือไป หลังได้ดูข้อมูลแล้วคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องรอคณะกรรมการที่ตรวจสอบในแต่ละชุดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการตรวจสอบทั้ง 2 กรณีอยู่แล้ว ฉะนั้นก็อยู่ในส่วนของฝ่ายบริหารว่าจะทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ จะเรียนให้ทราบภายใน 2 วันนี้ ส่วนประเด็นอีก 3 รัฐมนตรีที่ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปีนั้น ความจริงไม่น่าจะเป็นประเด็นเลย เพราะตอนที่เราเป็นฝ่ายค้านก็เห็นอยู่เหมือนกันว่า ทาง ครม.ชุดก่อน ก็ลงมติ ในเรื่องของงบประมาณ เราก็ไม่ได้ไปยื่นร้องอะไร เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหา เพียงแต่ก่อนลงมติคราวนี้ มีคนมาพูดทำนองว่า อาจจะมีการไปยื่นร้อง หลายคนก็รู้สึกว่าถ้าเป็นเช่นนั้นก็อย่าให้เป็นปัญหา แต่บังเอิญรัฐมนตรี 3 ท่านอาจจะไม่ทราบ จึงได้ลงมติไป ซึ่งก็เป็นเรื่องความเห็นทางกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของนายบุญจง ทางพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าจะไม่ให้ปรับออก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นอำนาจของตนที่จะพิจารณาเรื่องนี้ เมื่อซักว่า เป็นห่วง หรือไม่ว่าการปรับ ครม.จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะต้องปรับ ก็จะปรับให้เกิดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้ ทำงานมีแนวทาง มีมาตรฐานอย่างไร
ส่วนหากพรรคร่วมไม่ยอม นายกรัฐมนตรีจะมีมาตรการอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะดำเนินการ แต่ทั้งหมดทำเพื่อต้องการให้รัฐบาลสามารถทำงานได้ หากรัฐบาลคิดแต่ว่า เป็นเรื่องของตัวเลขหรืออะไรมันไม่ใช่ การทำงานจะสำเร็จได้ต้องได้รับการยอมรับ ความเชื่อถือ ต้องใช้ตรงนี้เข้ามาประกอบ ไม่เช่นนั้นตนคงไม่พูด เรื่อง 9 มาตรการ กับคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันแรก นี้คือหลักการที่ตนใช้ ส่วนจะเป็นอย่างไรอีกสองวันคงทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลที่ออกมาเชื่อว่าสังคมจะรับได้ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สังคมต้องเป็นคนตอบตนอีกทีหนึ่ง แต่ตนก็มีหลักเกณฑ์ ที่ชัดเจนในการพิจารณา

**ต้องทำให้ปชช.เชื่อมั่น
ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่า มีข้อมูลเด็ดที่จะอภิปรายและล้มรัฐบาลได้นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องรอให้เขายื่นและอภิปรายก่อน ตอนนี้ตนไม่ทราบ เมื่อถามว่า การปรับ ครม.จะลดแรงตรงนี้ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าเขาเตรียมอะไรไว้บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสภายในพรรคอยากให้เปลี่ยนตัวนายวิฑูรย์ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ฟังทุกความเห็น หากจะปรับหรือไม่ปรับ ตนก็ต้องเป็นคนชี้แจงเหตุผลว่า ปรับเพราะอะไร ไม่ปรับเพราะอะไร และเหตุผลนี้คือตัวที่ตนหวังว่าจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในแนวทางการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าการตัดสินใจจะไปทางใดก็ตาม ทุกทางออกตนจะให้คำตอบ เมื่อถามว่า จะต้องคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคอีกครั้งหนึ่งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้คุยกับหลายท่านแล้ว แต่ยังไม่ครบทุกคน
สำหรับปัญหาของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูก กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาเพราะไปช่วยนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี หาเสียงจนได้ใบเหลืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่ไกลพอสมควร แต่ไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน เห็นข่าวบอกว่า ยังไม่ถึงที่สุดหรืออะไร แต่จริงๆ ยังไม่ได้เริ่มต้นเลย เพราะคดีขณะนี้เป็นคดีเลือกตั้งของตัวผู้สมัคร คือ ตัวนายก อบจ. ตรงนั้นต้องสิ้นสุดเสียก่อน จึงย้อนกลับไปที่ กกต.ในส่วนของคดีอาญา ถึงตรงนั้นค่อยมาว่ากันอีกที ว่าจะเริ่มต้นและไปตรงไหนอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าทาง กกต.ระบุว่า นายสุเทพ เป็นแค่ผู้ไปมีส่วนร่วมงาน ไม่ต้องเรียกชี้แจงเสมือนกระบวนการนี้จบแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีหรอกคำว่า ส่วนรวบ ไม่ใช่ที่ดินกับบ้าน

**เทพเทือกให้รอนายกฯตัดสินใจ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการปรับ ครม.เป็นอำนาจ ของนายกฯ ซึ่งท่านก็ขอเวลา 3 วัน ที่จะดูข้อมูลหลักฐานต่างๆ คิดว่าควรจะให้เวลานายกฯ เพราะเวลานี้ท่านงานมาก และเพิ่งจะกลับจากต่างประเทศ ตนยืนยันว่ากรณีของนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.การพัฒนาสังคมฯ ที่ถูกกล่าวหานำปลาประป๋องเน่าไปแจกไม่เป็นปัญหากับเสถียรภาพรัฐบาล ขอให้รออีก 2-3 วัน เมื่อนายกรัฐมนตรีดูทุกอย่างแล้วจะวินิจฉัยออกมาเอง ส่วนความเป็นไปได้ที่จะปรับนายวิฑูรย์ นามบุตร ออกนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ทราบข่าวมาจากไหน เพราะยังไม่ได้ประชุมกรรมการบริหารพรรค แต่จะมีการประชุมพรรคในวันอังคารที่ 3 ก.พ.
ผู้สื่อข่าวถามว่านายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่าถ้าถูกวิจารณ์มากๆ เรื่องการทบทวนตัวเองเป็นเรื่องสำคัญของนักการเมือง ตรงนี้มองอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นทัศนคติ เป็นแนวความคิด ของคน ทุกคนมีสิทธิเสนอความคิด นายวิฑูรย์ควรจะได้รับฟังความคิดของฝ่ายต่างๆ
นายสุเทพ กล่าวว่า นายวิฑูรย์ไม่ถึงกับเป็นปัญหาของพรรคหรือปัญหารัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข เมื่อถามว่าหากนายวิฑูรย์ แสดงสปิริตแล้ว จะเป็นการกดดันนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่มีปัญหาเรื่องการแจกเงินหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า หากนายกรัฐมนตี ตัดสินใจอะไรกับนายวิฑูรย์ไปแล้ว จะเป็นการไปกดดันนายบุญจงคงเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ยังไม่มีเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทยมากดดันรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีของ นายบุญจง ใด ๆ ทั้งสิ้น
”ตอนนี้ภายในรัฐบาลไม่มีอะไรวุ่นวาย แต่มีปัญหาที่เปิดประเด็นและเป็นที่สนใจของฝ่ายต่างๆ และรัฐบาลก็ต้องสะสางเท่านั้น”
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีปลากระป๋องเน่าถ้าไม่มีปัญหา และยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างแล้วทำไมไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงได้ นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นช่วงเวลาที่เรา ได้ขอให้นายวิฑูรย์ไปรวบรวมหลักฐานและมาเสนอให้ผู้มีอำนาจ ได้วินิจฉัยคิดว่า คงไม่ล่าช้า ประมาณ 2-3 วันก็จะเห็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน
**ยันกษิตไม่มีอะไรมัวหมอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ถ้าหากมีประวัติมัวหมองไม่ควรมาเป็นรัฐมนตรี นายสุเทพ กล่าวว่า คำว่าประวัติมัวหมอง ในแง่คุณสมบัติของคนที่จะพิจารณาให้มาเป็นรัฐมนตรี คงหมายถึงความมัวหมองในการปฏิบัติราชการ กรณีของนายกษิตไม่มีอะไรมัวหมองในประวัติราชการ หรือการทำหน้าที่เพื่อส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วการขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทุกคนเห็นกันอย่างชัดเจน นายสุเทพ กล่าวว่า ก่อนขึ้นเวทีพันธมิตรฯ หรือเวทีที่ไหนก็แล้วแต่ ก็มีการพูดจากันไปตามความเชื่อ ตามความคิดของแต่ละคน พวกตนก่อนที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎรก็ขึ้นเวทีปราศรัยมากมายก็เป็นเรื่องปกติ ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่ารัฐบาลไม่แคร์ความรู้สึกของประชาชนใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เอามาเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา

**ย้ำไม่ได้ช่วยนายกอบจ.หาเสียง
ส่วนกรณีที่นายสุเทพ ไปช่วยผู้สมัคร นายก อบจ.สุราษฎร์ธานีจนถูกวินิจฉัยให้ถูกำเนินคดีอาญานั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ได้ไปช่วยหาเสียง แต่ไปงานสงกรานต์ ไปทำบุญตักบาตร ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณีสงกรานต์ และการที่เขาเห็นว่าตนไปทำอย่างนั้นมีผลกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงให้ใบเหลืองกับนายก อบจ. และ สมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งจะไปสิ้นสุดคดีที่ศาล ว่าการที่เราทำกิจกรรม ตามประเพณีเป็นเรื่องเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ตนมองอย่างนี้ว่ากฎหมาย ที่กำหนดเอาไว้ว่าห้ามไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย เช่น เอาไปซื้อเสียง เอาไปแจกเงินต่าง ๆ ถือว่าทุจริต แต่ตนไม่ได้ทำอะไรที่ทุจริตอย่างนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความพยายามที่จะเอาผิดคนในรัฐบาลด้วยกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 266 มองว่าเป็นเหตุการณ์ปกติหรือมีกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนเป็นคนไม่คิดมาก และถ้ามีกรณีควรที่จะไปพิสูจน์เพราะเรามีกระบวนการยุติธรรม เราต้องเชื่อในกระบวนการยุติธรรมและเราก็ไปพิสูจน์ และจะไม่สอบถาม กกต. เมื่อท่านมีหน้าที่ก็ทำไป ถ้าถือว่าทำถูกต้องแล้ว

**3รมต.โหวตงบให้อยู่ที่การตีความ
ส่วนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการกับ 3 รัฐมนตรีที่โหวตลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า นายเรืองไกร ก็ทำหน้าที่ของเขาไป ผู้ที่มีหน้าที่ตีความ ตรวจสอบวินิจฉัย จะได้เป็นบรรทัดฐาน ทั้งนี้มั่นใจว่ารัฐบาลมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่จะไปชี้แจงกับ ป.ป.ช.ได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ห้ามคนที่เป็นรัฐมนตรีและเป็นส.ส.จะไปยกมือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือรัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่การที่รัฐมนตรี 3 ท่านลงมติในวันนั้นเป็นเรื่องงบประมาณแผ่นดินหรืองบกลางปีที่มาช่วยประชาชนไม่ได้มาช่วยรัฐมนตรีและงบที่ผ่านก็ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐมนตรีที่ลงคะแนน ตนไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา และขออภัยถ้าหากความเห็นของตนจะไปล่วงล้ำหน้าที่ของผู้ที่มีสิทธิตีความ

**ป.ป.ช.ต้องชี้ขาดก่อนปรับบุญจง
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง กรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย 3 รัฐมนตรีซึ่งมีนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย กรณีแจกเงินและนามบัตรที่บ้านพักส่วนตัวที่ จ.นครราชสีมา ว่า นายบุญจงเตรียมพร้อมที่จะชี้แจงอยู่แล้ว
ส่วนกระแสข่าวการปรับ ครม.นั้น นายชวรัตน์ กล่าวว่า ไม่ทราบ และที่ผ่านมาก็ไม่มีการต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่ถ้าจะมีการปรับนายบุญจง ออกจากการเป็นรัฐมนตรี ทางแกนนำพรรคต้องมีการหารือกัน
ส่วนกรณีที่ กกต.ยังไม่ดำเนินคดีอาญากับนายบุญจง กรณีใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่ง เมื่อตอนเลือกตั้งซ่อมครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2551 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 10 เดือน กกต.ยังมิได้ดำเนินการใดๆ นั้น นายชวรัตน์กล่าวว่า ต้องให้องค์กรอิสระเป็นผู้ชี้ขาด เพราะขณะนี้เรื่องอยู่ที่ กกต.อยู่แล้ว ก็ต้องรอผลการตัดสิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องมีความรับผิดชอบด้านการเมืองมากกว่าด้านกฎหมาย หรือไม่ นายบุญจงกล่าวว่า กฎหมายต้องสำคัญกว่า อะไรที่ผิดหรือไม่ผิด ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ถามต่อว่าการปรับครม.ต้องรอผลจาก ป.ป.ช.และกกต.ก่อนใช่หรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามว่ากระแสสังคมกดดันหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า สังคมกดดันหรือไม่กดดันก็อยู่ที่สื่อเขียน ถ้าเขียนไม่กดดันก็ไม่กดดัน ถ้าขอเท็จจริงออกมาตรงกันข้ามกับที่สื่อเขียน สื่อจะลาออกหรือไม่ เมื่อถามว่าถ้าทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วกระแสสังคมไม่ยอมรับจะทำอย่างไร นายชวรัตน์ กล่าวว่า กระแสสังคมอยู่ที่สื่อ อย่าเขียนให้มันหนักนัก
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมนำหลักฐานมาแฉในช่วงนายชวรัตน์เป็น รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้อนุมัติเงินแจกชาวบ้าน นายชวรัตน์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าไม่เคยทำ ถ้ามีหลักฐานจริงตนพร้อมลาออก แต่ถ้าไม่มีหลักฐานคนที่ออกมาแฉเรื่องนี้จะยอมลาออกจากการเป็น ส.ส.หรือไม่

**กกต.เตรียมส่งสำนวนบุญจงให้ศาล
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต กล่าวถึงกรณีที่ กกต.มีมติให้ดำเนิน คดีอาญากับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย เมื่อการเลือกตั้ง วันที่ 23 ธ.ค.2550 ว่า ขั้นตอนขณะนี้เหลือเพียงการลงนามของ กกต.ก่อนที่จะส่งให้ศาล พิจารณาซึ่งภายในสัปดาห์นี้ โดยกรณีดังกล่าวก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีของนายสุเทพ ที่ไม่ใช่การให้ใบเหลือง ใบแดง แต่เป็นเรื่องการดำเนินคดีอาญา ยืนยันว่า บางเรื่อง กกต. อาจจะยกร่างคำฟ้องได้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ดองเรื่องอย่างที่กล่าวหา แต่เพราะหลายกรณีมีความซับซ้อน ประกอบกับ กกต. มีสำนวนจำนวนมากที่ต้องส่งฟ้องศาลดังนั้นจึงอาจจะมีการล่าช้าไปบ้าง

**สมชัยชี้ไม่จำเป็นต้องเรียกสุเทพแจง
นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวยอมรับว่า กกต.ลงมติให้ดำเนินคดีอาญากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โดยไม่ได้เรียก นายสุเทพ มาชี้แจงทั้ง กกต.กลาง และ กกต.จังหวัด แต่เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นกรณีที่เห็นควรเพิกถอนสิทธินายสุริญญา ยืนนาม ผู้สมัคร สมาชิก อบจ.อ.เกาะสมุย ซึ่งพบว่านายสุเทพมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และพูดพาดพิงจึงสั่งดำเนินคดี แต่ถ้าหากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ไม่เห็นด้วยกับมติ กกต.ให้เพิกถอนสิทธิ นายสุริญญา แล้ว นายสุเทพก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่หากศาลฯ เห็นตาม กกต. ก็ต้องดำเนินคดีกับนายสุเทพต่อไป
กรณีดำเนินคดีอาญาเช่นนี้กกต.ไม่ต้องเรียกสอบก็ได้ เพราะนายสุเทพ ไม่ได้เป็นผู้ที่กกต.จะให้ใบเหลือ ใบแดง งานนี้นายสุเทพ เข้าไปมีส่วนพัวพัน กกต.ก็เลยเป่านกหวีดฟาล์ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด
นายสมชัย กล่าวว่า แม้นายสุเทพ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จะถูกตัดสินว่ามีความผิด ก็จะไม่ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องถูกยุบแต่อย่างใด เพราะการยุบพรรคมีกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. เท่านั้น แต่ไม่มีอยู่ในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น

**เรืองไกรยื่นป.ป.ช.เล่นงาน3รมต.
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว. สรรหา เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ พร้อม เอกสารบันทึกการลงคะแนนการประชุมสภาผู้สภาแทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายเพิ่มเติมประจำ ปี 2552 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ การลงมติรับหลักการ ของ รัฐมนตรี 3 คน คือ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม นายโสภณ ซาลัมย์ รมว.คมนคม และนายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของรัฐมนตรีทั้ง 3 คน อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา177 วรรค 2 ที่ห้ามรัฐมนตรีลงมติในเรื่องที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ เพื่อนำงบประมาณไป บริหารราชการแผ่นดินจึงถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้ง 35 คน
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า การยื่นครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง แต่ต้องการ ยื่นเพื่อทำให้เกิดบรรทัดฐาน และต้องการทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดความถูกต้องชัดเจน ซึ่งหากการพิจารณาพบว่า การลงลงมติในเรื่องดังกล่าวสามารถทำได้จะทำให้เสียงของรัฐบาลในการลงมติเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น

**วิชาแนะยืนศาลรธน.ตีความจะดีที่สุด
ขณะที่ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าววว่า เมื่อมีการยื่นเรื่องมาที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่รับเรื่องจะทำการตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ที่จะตรวจสอบหรือไม่ ซึ่งหากมีอำนาจ ป.ป.ช. จะดำเนินการไปตามกระบวนการของ แต่ส่วนตัวเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ได้ดีที่สุด โดยนักการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียควรเป็นผู้ดำเนินการยื่นเรื่องเอง ทั้งนี้กรณีดังกล่าว ไม่ได้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ถึงผลที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวว่าจะมีผลอย่างไรและมีบทลงโทษอย่างไร นอกจากนี้กฎหมายของ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ระบุบทลงโทษกรณีดังกล่าวด้วยว่าจะต้องลงโทษอย่างไร
สำหรับการนำเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาเบื้องต้นคาดว่าในการประชุมป.ป.ช.ในวันที่ 5 ก.พ. น่าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือ

**ชี้3รมต.โหวตงบแค่ผิดมารยาท
ป.ป.ช.คงดูว่าอยู่ในข่ายอำนาจไหม ดูว่าเข้าข่ายขัดกันของผลประโยชน์หรือไม่ เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์จะต้องดูสองสามเรื่องคือ ถ้ากฏหมาย ต้องการเอาผิดจะเขียนไว้ในกฏหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100-103 ถ้าไม่ใช่เรื่อง ผิดทางอาญาก็จะเป็นเรื่องผิดจริยธรรมซึ่งอาจนำไปสู่การตำหนิการถูกถอดถอน
นายวิชา กล่าวว่า กระบวนการที่ป.ป.ช.จะพิจารณาคงต้องดูรายละเอียด ตรงนี้ว่า เป็นเรื่องทางจริยธรรม หรือเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคดีอาญา ต้องไม่ลืมว่า อำนาจของ ป.ปช.จะพิจารณาได้ต้องเป็นเรื่องความผิดทางอาญาเนื่องในการกระทำผิดหรือประพฤติมิชอบ ส่วนตัวมองว่ากรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายความผิดทางอาญา แต่โดยมารยาทอาจจะผิด อีกทั้งรัฐธรรมนูญเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 177แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องพ้นตำแหน่งหรือมีความผิดอย่างไร

**วิปรัฐบาลมั่นใจ3รมต.ไม่ขัดรธน.
นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลแถลงหลังการประชุมวิปร่วมรัฐบาลว่า ถึงปัญหาของ 3 รัฐมนตรีที่ได้ลงมติรับหลักการแก้ไขเพิ่มเติมของ พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2552 ที่มีการระบุว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 177 ว่า เป็นที่ชัดเจนแล้ว จากการที่ฝ่ายค้านอ้างมาตรา 177 มาดำเนินการกับ 3 รัฐมนตรีถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกระทำได้ โดยรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว ไม่สามารรถดำเนินการถอดถอนตามกระบวนการมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่การลงมติใน พ.ร.บ.งบประมาณหรือลงมติ ในกฎหมายใดๆ รัฐมนตรีในฐานะที่เป็นส.ส.สามารถกระทำได้อยู่แล้ว และแน่นอนที่สุดในช่วงการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ของรัฐบาลสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเอง ก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีขณะนั้นทุกคนได้มีการลงมติในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวทุกคน ซึ่งขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์เองเป็นฝ่ายค้านก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาฟ้องร้อง ถอดถอนให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่อย่างใด
เพราะยึดหลักชัดเจนว่า การกระทำที่มีผลประโยชน์ขัดกันนั้น จะต้องมีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่าให้ดำเนินการอย่างไร เช่นกรณีการลงมติไม่ไว้วางใจ มีบทบัญญัติชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้รัฐมนตรีที่มีส่วนในการลงมติ ลงมติให้กับตนเอง ฉะนั้นมาตรา 177 นี้ เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายมหาชน เมื่อไม่มีบทบัญญัติเอาไว้ ว่า ห้ามไม่ให้ลงมติในกฎหมาย พ.ร.บ.งบประมาณจึงไม่สามารถตีความเป็นอย่างอื่น ได้ว่า การที่รัฐมนตรีจะลงมตินั้นมีความผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น