xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯเตรียมถกแก้"โรฮิงยา" แฉแก๊งค้ามนุษย์มีเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีปัญหากลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงยา ว่า ที่สวิสเซอร์แลนด์ การชี้แจงเรื่องของโรฮิงยาส่วนใหญ่เป็นการชี้แจงกับสื่อ ชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมด ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้คงจบไม่ได้ง่ายๆ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรัง ประมาณอีก 2 อาทิตย์ จะได้คุยกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเป็นนโยบายทื่ กอ.รมน.ได้ดำเนินการอยู่ ตั้งแต่กลางปีที่แล้วเป็นต้นไป และยังคงเน้นในเรื่องของขบวนการค้ามนุษย์ ในส่วนของเราที่จะช่วยแก้ปัญหาคือ ต้องช่วยขจัดขบวนการค้ามนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทยให้ได้ ในส่วนระหว่างประเทศ คือใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างไทย กับยูเอ็นเอชซีอาร์ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่า แต่ทางประเทศพม่าได้ออกมาปฏิเสธว่า กลุ่มโรฮิงยาไม่เกี่ยวข้องกับเขา นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าก็เหมือนกัน ก็ไม่ใช่คนของเราเหมือนกัน ก็มาร่วมมือแก้ปัญหา ไม่มีปัญหาอะไร ประเด็นก็คือ อย่าไปโทษกันไปกันมา มาร่วมกันแก้ปัญหาดีกว่ากับยูเอ็นเอชซีอาร์
เมื่อถามว่า คิดว่าแนวทางนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเกิดขึ้นได้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ มีการทำงานอยู่ทั้งในแถบบังคลาเทศ พม่า ทั้งอินเดียด้วย เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ พยายามอย่างไรอย่าให้มีขบวนการพยายามเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากอย่างนี้ โดยเฉพาะทางทะเล ทำให้การบริหารจัดการยากต่อการสอดส่องได้ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการลงพื้นที่ของ รมว.กลาโหมด้วย นายกฯ กล่าวว่า ดีครับ เพราะว่าที่ทางตนได้สื่อสารไปเมื่อมีข้อกล่าวหาลักษณะนี้เกิดขึ้น ก็จะเป็นการกล่าวหาหน่วยงานที่รับชอบ ซึ่ง กอ.รมน.ไม่ได้มีเฉพาะกองทัพ มันมีหลายส่วน แต่กองทัพตกเป็นเป้า มีการขยายผลผูกให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องช่วยกันทำความชัดเจนขึ้นมา ส่วนการจัดยามชายฝั่งเป็นกรอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสมช.ก็รับเรื่องไปแล้ว
ด้านนายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคง สภาผู้แทนราษฏร แถลงว่า หลังที่คณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบกรณีกลุ่มผู้อพยพโรฮิงยา ที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยจะสรุปปัญหาเพื่อเสนอต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้รัฐบาลนำปัญหาเข้าสู่การหารือร่วมกับการประชุมอาเซียน เพราะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะจะต้องมีความร่วมมือกับรัฐบาล และเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ไม่เช่นนั้น ก็ไม่สามารถสกัดกั้นปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองได้
นายเจะอามิง กล่าวว่า รัฐบาลควรเรียกร้องให้ ยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้ามาดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มผู้อพยพที่ต้นทาง คือประเทศพม่า โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุยษชน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามหลักสากล และกำหนดยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอย่างชัดเจน รวมถึงให้รัฐบาลดำเนินการกับกระบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ซึ่งกรรมาธิการฯ พบข้อมูลว่า มีเครือข่ายจริง มีความพยายามที่จะนำกลุ่มโรฮิงยาไปยังประเทศที่ 3 และบางกลุ่มอยู่ในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ได้พบว่า ในการตรวจค้นตัวผู้อพยพชาวโรฮิงยา พบว่ามีเบอร์โทรศัพท์ติดตามตัว และเสื้อผ้าหลายสิบคน จากการสืบค้นพบว่า เบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวเป็นชาวโรฮิงยา ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้แล้ว โดยอยู่ที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ระนอง แสดงให้เห็นว่า ชาวโรฮิงยา หลบหนีมาประเทศไทย มีกระบวนการค้ามนุษย์มาเกี่ยวข้องด้วย
นายเจะอามิง กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า ทหารไทยทำร้ายผู้อพยพชาวโรฮิงยานั้น จากการสอบถามจากล่าม พบว่า ไม่ได้ถูกทหารไทยทำร้าย แต่ถูกทำร้ายมาจากทหารอยู่ประเทศต้นทาง และชาวบ้าน หน่วยราชการในพื้นที่ได้ยืนยันว่าให้ความร่วมมือและดูแลเป็นอย่างดี โดยหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าหากผู้อพยพต้องการไปยังประเทศที่ 3 ก็พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยซ่อมแซมเรือให้
กำลังโหลดความคิดเห็น