xs
xsm
sm
md
lg

กลต.งัด7มาตรการคุมเข้มปั่นหุ้น-ดึงโบรกฯร่วมรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ก.ล.ต. จับมือสมาคมบริษัทหลักทรัพย์สกัดพฤติกรรมปั่นหุ้น เร่งคลอด 7 มาตรการคุมเข้มให้เสร็จภายในไตรมาสแรกนี้ ระบุเตรียมลงโทษโบรกเกอร์หากมาร์เกตติ้งทำผิด หวังสร้างความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันมีกฎเกณฑ์ควบคุมมาร์เก็ตติ้งครอบคลุมแล้ว ไม่ต้องออกมาตรการใหม่เพิ่มเติม ขณะเดียวกันสำนักงานก.ล.ต.เร่งตรวจสอบข้อมูลทุจริตคดี “SECC-PICNI”
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ได้มีความเห็นร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการป้องปรามการปั่นหุ้น โดยให้บล.เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลการปั่นหุ้นอย่างจริงจัง ซึ่ง มาตรการใหม่นี้จะประสบความสำเร็จและช่วยสกัดกั้นการปั่นหุ้นได้เป็นอย่างดี
โดยมาตรการดังกล่าว ได้กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานการตลาด (มาร์เกตติ้ง) ของบริษัทที่มีส่วนร่วมในการปั่นหุ้น หมายความว่า หลังจากนี้หากสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวตสอบพบมาร์เกตติ้งของบล.แห่งใดมีความส่วนในการปั่นหุ้น นอกจาก ก.ล.ต. จะลงโทษมาร์เกตติ้งแล้ว ก.ล.ต. จะพิจารณาลงโทษ บล. แห่งนั้นด้วย ตั้งแต่การกล่าวโทษในฐานะที่ บล. ไม่จัดให้มีระบบในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานให้รัดกุมเพียงพอ และอาจถึงขั้นกล่าวโทษบล. นั้นด้วย
ทั้งนี้ สำนักงานก.ล.ต.และสมาคมบล. จะร่วมกันเร่งจัดทำกรอบวิธีการปฏิบัติงานเพื่อเสริมสร้างระบบการควบคุมดูแลพนักงานของบล.ให้รัดกุมมากขึ้น โดยมี 7 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การควบคุมบัญชีลูกค้าที่ไม่เคลื่อนไหวให้รัดกุมมากขึ้น หลังจากตรวจสอบพบว่า ที่ผ่านมามาร์เกตติ้งจะใช้บัญชีลูกค้าที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ทำการซื้อขาย หรือโอนหลักทรัพย์ออกจากบัญชีโดยที่ลูกค้าไม่ทราบเรื่อง และใช้เป็นเครื่องมือในการปั่นหุ้นได้ทางหนึ่ง
ประเด็นที่ 2. กำหนดขั้นตอนการทบทวนวงเงินสำหรับบัญชีลูกค้า โดยสมาคมบล. จะยกร่างแนวทางการทบทวนวงเงินบัญชีลูกค้า เพื่อให้บล. ดำเนินการเป็นประจำ โดยให้ บล. คำนึงถึงพฤติกรรมการซื้อขาย และพฤติกรรมการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้า เช่น ลูกค้ารายเดียวที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หลายบัญชี หรือลูกค้ารายที่โอนเงินครั้งเดียวเพื่อจ่ายค่าซื้อหลักทรัพย์ในหลายบัญชี เป็นต้น
ประเด็นที่ 3. บันทึกเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ทุกรายการ สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีหนังสือเวียนเพื่อกำชับให้ บล. ต้องจัดเก็บเทปคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์อย่างครบถ้วน ซึ่งต่อไปนี้จะไม่มีข้อยกเว้น และขยายเวลาการจัดเก็บเทปดังกล่าวจาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับมาตรฐานสากล
ประเด็นที่ 4. ปรับปรุงเกณฑ์ Turnover List ให้ครอบคลุมมากขึ้น ก.ล.ต. และสมาคมบล. เห็นว่ายังมีหลักทรัพย์บางรายการที่พิจารณาจากฐานะและวิธีการดำเนินการของบริษัทแล้วควรจะต้องติดอยู่ในรายการ Turnover List เพื่อให้ บล. เพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายของลูกค้า และกำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่สมควรต้องซื้อด้วยเงินสด ดังนั้น ก.ล.ต. และสมาคมบล. จึงจะร่วมกันปรับปรุงสูตรการคัดเลือกหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมมากขึ้น
ประเด็นที่ 5. ก.ล.ต. จะรวบรวมข้อมูลหุ้นที่บล. กำหนดให้ลูกค้าต้องซื้อด้วยเงินสด (บัญชี cash balance) เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดย ก.ล.ต. จะระบุจำนวน บล. ที่ดำเนินการดังกล่าว และเปิดเผยเฉพาะแก่ บล. เพื่อให้ บล. สามารถนำไปใช้ประกอบการบริหารความเสี่ยง
ประเด็นที่ 6. ก.ล.ต. จะเผยแพร่ข้อมูล การปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) ก.ล.ต. จะปรับปรุงแบบรายงานมาร์จิ้นโลนตามที่สมาคมบล.เสนอ ด้วยการให้ บล. รายงานหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันทุกรายการ (จากเดิมที่ให้รายงานเฉพาะหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 10 อันดับแรก) และจะสรุปยอดมาร์จิ้นโลนแต่ละหลักทรัพย์ทั้งระบบ เพื่อเผยแพร่แก่ บล. รวมทั้งจะศึกษาการเผยแพร่ข้อมูลอื่นที่จะเป็นประโยชน์ด้วย เช่น ข้อมูลยอด มาร์จิ้นโลนแต่ละหุ้นเทียบกับ free float ของหุ้นนั้น เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารมาร์จิ้นโลนในระบบไม่ให้กระจุกตัวในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป
ประเด็นสุดท้าย กำหนดกระบวนการทำงานของบล. โดย ก.ล.ต. จะร่วมกับสมาคมบล. กำหนดกระบวนการทำงานของ บล. เพื่อ บล. จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการควบคุมดูแลพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ บล. ที่ได้ดำเนินการในขอบเขตที่ตนเองพึงรับผิดชอบเต็มที่แล้ว (เป็น safe harbor) เช่น บล. ได้เข้าไปห้ามปราม ตักเตือนหรือสกัดกั้นการกระทำนั้นของพนักงานแล้ว เป็นต้น
นายธีระชัย กล่าวว่า การปั่นหุ้นเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. ได้ให้ความสำคัญในการป้องปรามและดำเนินการกับผู้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะดำเนินการป้องปรามและปราบปรามปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเป็นด่านแรกที่ติดต่อกับผู้ซื้อขายหลักทรัพย์ จึงน่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ก่อน
“มาตรการดังกล่าวถือเป็นแนวทางใหม่ในการกำกับดูแลการปั่นหุ้น โดยให้สมาคมบล. และบล. เข้ามามีส่วนร่วมควบคุมดูแลการปั่นหุ้นให้ใกล้ชิดมากขึ้น และให้ บล. มีความรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นเรื่องที่ดีที่สมาคมบล. เห็นตรงกันกับ ก.ล.ต. ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือและดำเนินการเป็นการเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าการปั่นหุ้นจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด”
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บล. ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า ก.ล.ต.มีมุมมองว่ามาร์เกตติ้งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นหรือความร่วมในการปั่นหุ้น เพราะเป็นบุคคลที่มีการติดต่อกับลูกค้าโดยตรง โดยต้องการให้ทางสมาคมโบรกเกอร์มีการดูแลและป้องกันการปั่นหุ้นเกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามาร์เกตติ้งรู้แต่ไม่ได้มีการป้องกัน
ทั้งนี้ สมาคมบล. จะให้ทางชมรมผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ (Compliance Club) เป็นผู้ศึกษาในเรื่องการออกเกณฑ์ในแนวทางปฏิบัติต่างๆ ซึ่งคาดว่าเกณฑ์น่าจะประกาศใช้ได้ในช่วงไตรมาส 1/52 ซึ่งเดิมนั้นเกณฑ์ในเรื่องการดูแลมาร์เกตติ้งมีอยู่แล้วแต่อาจจะต้องมีการเขียนเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น
“ปัญหาการปั่นหุ้นนอกจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุนแล้ว ยังกระทบต่อชื่อเสียงของบล.อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมในการกระทำผิดดังกล่าว สมาคมบล.จึงจะให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต. อย่างเต็มที่ในการปรับปรุงระบบการควบคุมภายใน และสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพนักงานในบริษัทอย่างใกล้ชิดและควบคุมเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว” นายกัมปนาท กล่าว
ด้านนางภัทรียา เบจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎเกณฑ์ดูแลมาร์เก็ตติ้งอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติม โดยหากพบความผิดปกติระบบจะแสดงผล (Stock Alert) ให้เห็น และเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปตรวจสอบเพิ่มเติม ก่อนจะส่งผลการตรวจสอบไปยังสำนักงานก.ล.ต. ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์เองได้มีฝ่ายตรวจสอบภายในอยู่แล้ว
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีระบบในการดูแลอยู่แล้ว และถือเป็นไปตามกติกา หากพบความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างราคาหรือปั่นหุ้น” นางภัทรียา กล่าว

ก.ล.ต.เร่งตรวจสอบเอกสาร “SECC-PICNI”
สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบคดีทุจริตของบริษัท เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC และบริษัท ปิกนิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI นั้น นายธีระชัย กล่าวว่า ขณะนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการเร่งตรวจสอบข้อมูลเอกสารของทั้ง 2 บริษัท หลังจากสำนักงานก.ล.ต.ยึดข้อมูลจากบริษัทเพื่อตรวจสอบเพิ่มเติม โดยได้มีการระดมพลในการตรวจสอบเอกสาร ซึ่งหากเอกสารใดที่ไม่ใช้จะเร่งส่งคืนกลับ เนื่องจากกังวลว่าจะถูกฟ้องกลับจากบริษัท
“ยังบอกไม่ได้ว่า ก.ล.ต.จะต้องใช้เวลาตรวจสอบนานเท่าใด เพราะเราเพิ่มได้ข้อมูลมา แต่จะพยายามให้เร็วที่สุด เพื่อส่งข้อมูลกลับคืนให้บริษัท ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของก.ล.ต.ที่เข้าไปยึดเอกสารมาตรวจสอบ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม” นายธีระชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้ออกมารวมตัวกับนักลงทุนรายย่อย เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก SECC มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ขณะที่สำนักงานก.ล.ต.เอง ได้เปิดช่องให้นักลงทุนรายย่อยเป็นโจนก์ร่วม ซึ่งอาจจะทำให้ ก.ล.ต.เห็นประเด็นเพิ่ม และมีความหลากหลายมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น