นายกฯ กำชับผู้บริหาร ตลท.เร่งขจัดข้อครหาแหล่งหาผลประโยชน์นักการเมือง เอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย ลบข้อครหาปั่นหุ้น-อินไซด์เดอร์ แนะต้องโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และน่าเชื่อถือ อิงกับภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง พร้อมใช้เวทีอาเซียนที่จะจัดในเดือน ม.ค.นี้ เรียกความเชื่อมั่นการลงทุนให้กลับคืนมา
วานนี้ (22 ธันวาคม 2551) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะเดินทางเข้าหารือกับผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นำโดยนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท. นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
ภายหลังการหารือ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับ ตลท. เนื่องจากเป็นดัชนีที่จะวัดความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจ และเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเอกชน ดังนั้น จึงย้ำให้ ตลท. มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ โดยต้องลบข้อครหาว่ามีการใช้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งยอมรับว่า นักการเมืองถูกข้อครหาว่าใช้ตลาดทุนหาผลประโยชน์ ดังนั้น ตลท. จะต้องแก้ภาพลักษณ์ที่เคยถูกกล่าวหาและต้องไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกับนักลงทุนรายย่อย โดยต้องกำกับดูแลร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจในสายตาของชาวโลก และนักลงทุนไทย
“เรื่องสำคัญของตลาดหุ้น คือ ความโปร่งใสที่มีผลต่อความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ตลาดหุ้นต้องลดข้อครหาว่ามีการใช้ตลาดหลักทรัพย์ในการหาผลประโยชน์ มีบุคคลมาเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะนักการเมืองที่ถูกข้อครหาดังกล่าว ซึ่งต้องกำจัดให้ได้ เพื่อให้เป็นภาพที่ดีต่อสายตาชาวโลก” นายอภิสิทธิ์ กล่าวและเพิ่มเติมว่า
จากการรายงานของ ตลท. พบว่า มีปัญหาเรื่องโครงสร้างที่จะต้องมีการแก้ไข โดยรับข้อเสนอที่จะให้มีการฟื้นคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน หลังจากหมดวาระไปตามรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและกระตุ้นตลาดหุ้น หลังจากที่ปรับลดลงจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก โดยยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยอิงกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง
ดังนั้น หลังจากที่รัฐบาลมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็จะประกาศแผนปรับปรุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีรูปร่างที่ชัดเจน และจะเสนองบกลางปีเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในปลายเดือนมกราคมนี้ ควบคู่ไปกับการแสดงความพร้อมของประเทศไทย ที่จะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำอาเซียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ ยังสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียนใหม่เข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.มากขึ้น ซึ่งการรับบริษัทจดทะเบียนต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ หากเป็นธุรกิจที่ยังมีความขัดแย้ง เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจและพิจารณาด้วยเหตุผล หากธุรกิจดังกล่าว สร้างความขัดแย้งก็ให้พิจารณาธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่มีความขัดแย้งก่อน เพราะในสภาวะสังคมไทยในปัจจุบันมีความขัดแย้งสูงอยู่แล้ว หากยังนำธุรกิจที่ยังมีความขัดแย้งเข้าจดทะเบียนอาจจะสะดุดได้ง่าย
ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทางรัฐบาลไม่มีปัญหา หากการแปรรูปทำให้เกิดการแข่งขัน มีการกำกับดูแลที่ดี แต่จะไม่สนับสนุนหากมีการโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐบาลไปเป็นเอกชน แม้ว่าจะทำให้ได้ราคาดีก็ตาม เพราะรัฐบาลจะให้การสนับสนุนเศรษฐกิจส่วนรวมเป็นหลัก
สำหรับข้อเรียกร้องที่ให้นำ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า จะต้องนำ ปตท. กลับมาเป็นของรัฐบาล แต่ต้องลดการผูกขาด เพิ่มการกำกับดูแล ซึ่งเรื่องของ ปตท.คงต้องหารือในรายละเอียด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานด้วย
ด้านนายกรณ์ กล่าวว่า มีความเข้าใจในตลาดทุนเป็นอย่างดี เนื่องจากคุ้นเคยกับฟากตลาดทุน และเห็นความสำคัญของตลาดทุนที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจมีปัญหา ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะไม่สามารถพึ่งพาแหล่งเงินกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ ดังนั้น จะต้องพัฒนาตลาดหุ้นให้เป็นแหล่งระดมทุนในระยะยาว