ลำปาง - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแย้มนโยบายเชิงรุก เผยหลังประชุมผู้นำอาเซียน พร้อมนำข้าราชการเดินสายให้ความรู้แก่ประชาชน โดยใช้ชื่อว่า “การทูตภาคประชาชน” ติวเข้มการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัฒน์ทุกมิติให้ภาคธุรกิจ-เอกชนรับรู้ เพื่อปรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในอนาคต
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า นายกษิต ภิรมณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยระหว่างการพบปะเป็นการส่วนตัวกับแกนนำพันธมิตรฯภาคเหนือและลำปาง ซึ่งประกอบด้วยนายแพทย์บุญจง ชูชัยแสงรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายเกรียงศักดิ์ เหล็กกล้า, นายสมโชค จันทร์ทอง พร้อมด้วยคุณหญิงจินตนา สุขมาก , นายบวร เปารยะ ประธานสาขาพรรคประชาธิปัตย์เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ได้พูดถึงแนวนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประชาชนว่า หลังจากการประชุมผู้นำอาเซียน เสร็จสิ้นแล้ว เขามีนโยบายที่จะให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับรู้บทบาทและหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงการนำความรู้สู่ภาคประชาชนให้มากขึ้นและเหมะสมกับยุคโลกาภิวัตน์ และบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศไม่ได้อยู่ห่างไกลกับประชาชนอย่างที่หลายคนคิด เพราะทุกวันนี้ทุกคน ก็เกี่ยวข้องกับงานต่างประเทศทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นซื้อสินค้า การบริโภคอาหารและอื่นๆ
เบื้องต้นจะดำเนินโครงการในเชิงรุก โดยใช้ชื่อโครงการว่า “การทูตภาคประชาชน” เนื่องจาก ในยุคปัจจุบันการทำงานทุกอย่างจะรอให้เบื้องบนสั่งลงมาอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการสื่อสารกันสองทางทั้ง ประชาชนก็ต้องร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านไปยังผู้ปฎิบัติและเบื้องบนได้ เช่นเดียวกับเบื้องบนจะมีนโยบายอะไร ก็ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนด้วยเช่นกัน
รูปโฉมใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ คือ เจ้าหน้าที่ต้องรับฟังภาคประชาชน เพื่อนำไปสร้างกระบวนการคิดการทำงาน และต้องเข้าถึงประชาชนได้ โดยจะให้มีการนำร่องซึ่งอาจจะเป็นที่จังหวัดลำปางเป็นแห่งแรก หากมีความพร้อม คือ ให้ระดมประชาชนทุกภาคส่วนทั้งในจังหวัดหรือใกล้เคียง ที่มีความสนใจและอยากได้รับความรู้เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ก็จะมาให้ความรู้ควบคู่กับการเปิดจุดบริการ รับทำพาสปอต แก่ประชาชน หากมีจำนวนมากก็อาจจะมาเปิดจุดติดต่อกัน 2-3 วัน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา รวมถึงเดินสายรับข้อร้องเรียนร้องทุกข์ของประชาชนไปในตัวด้วย
สำหรับเรื่องที่น่าสนใจและทางกระทรวฯต้องการจะมาให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น มีหลายเรื่อง อาทิ การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมของจังหวัดในภาคเหนือ โดยสะท้อนให้เห็นความต้องการของต่างชาติที่เป็นนักท่องเที่ยวให้ได้รับทราบ เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ทางการตลาด การสร้างมัคคุเทศในการให้บริการแก่ชาวต่างชาติ
การจัดทำสัญลักษณ์เพื่อบอกแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสากลตามสถานที่ที่สำคัญต่างๆภายในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางได้สะดวกและไม่สับสน ,การให้ความรู้เรื่องแรงงานต่างชาติชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือ ความรู้ด้านการเกษตรเกี่ยวกับการผลิตสินค้าที่เป็นมาตรฐานสากล ,ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยมักถูกต่างชาติฉกฉวยโอกาสนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ,ความรู้เรื่องตรวจสอบคุณภาพสินค้าของต่างชาติที่จะนำเข้าประเทศไทยเพื่อป้องกันสิ่งอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย
รวมถึงการปรับตัวรับการขยายตัวของต่างชาติ ที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยในอนาคต ไม่ว่าจะในรูปแบบการจัดทำทีพักสำหรับผู้สูงอายุ รีสอร์ท หรือโฮมเสตย์ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์กับประชาชนทุกภาคของประเทศ และถือว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวของประชาชนมาก