xs
xsm
sm
md
lg

จ่อขอตัดทิ้ง6.9พันล้านงบฝึกว่างงานขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (1 ก.พ.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 โดยมี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเริ่มพิจารณาต่อ ในส่วนของงบประมาณ โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือโครงการ เอสเอ็มแอลเดิม จำนวน 15,000 ล้านบาท ซึ่งกรรมาธิการฝ่ายค้านและรัฐบาล มีความเห็นสอดคล้องกันว่าหน่วยราชการไม่ควรวางหลักเกณฑ์ อย่างเข้มงวดเกินไป แต่ควรให้อิสระชาวบ้านในแต่ละชุมนุมว่าโครงการใดจะเป็นประโยชน์สูงสุด ยกเว้น ห้ามปล่อยกู้หรือเอาเงินไปแบ่งกันเองภายในหมู่บ้าน โดยให้ส่วนราชการคอยกำกับดูแลเท่านั้นแต่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายความคิดของชาวบ้าน
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้ถามว่าเหตุใดโครงการเอสเอ็มแอล เกือบ1 หมื่น หมู่บ้าน วงเงินเดิมคือ 6,000 ล้านบาทจึงยังไม่มีการโอนเงินไปยังหมู่บ้าน โดย นายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) ชี้แจงว่ามีเม็ดเงินพร้อมที่จะโอนให้อยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกยุบไปเสียก่อน ทุกอย่างจึงหยุดชะงักหากรัฐบาลชุดนี้อนุมัติเม็ดเงินก็พร้อมจะลงไปยังหมู่บ้านทันที
ทั้งนี้กรรมาธิการฯหลายคนอาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ จากพรรคเพื่อไทย ได้สงวนความเห็นที่จะอภิปรายในวาระ2 เกี่ยวกับชื่อแผนงาน โดยไม่มีการเสนอปรับลดงบประมาณในส่วนนี้แต่อย่างใด
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาต่อในโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน 6,900 ล้านบาท นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เป้าหมายที่จะช่วยผู้ตกงานจำนวน 2.4 แสนคนนั้นเกรงว่าไม่น่าจะครอบคลุม เนื่องจากเชื่อว่าภายในสองปีจะมีคนว่างงานจำนวน1.2 ล้านคน อาจเกิดปัญหา ในเรื่องความเป็นธรรมในการคัดสรรผู้ตกงานเข้าฝึกอบรม และเห็นว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้ ควรจะให้กระทรวงแรงงาน เป็นแม่งานในการดำเนินโครงการมิใช่สำนักนายกรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน จากพรรคเพื่อไทย ได้อภิรายแสดงความ เป็นห่วงในเรื่องการคัดสรรกลุ่มเป้าหมายว่าจะใช้วิธีใดในการเลือกผู้ว่างงาน และบัณฑิตจบใหม่ และเป็นห่วงในเรื่องความเป็นธรรม ในการคัดเลือกผู้เข้าอบรมด้วย
ด้านนายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าแบ่งเป็นภาคผู้ใช้แรงงานกับใช้องค์ความรู้ ภาคผู้ใช้แรงงานสามารถกลับสู่ภาคเกษตรได้ และกลับสู่ภาคแรงงานได้เมื่อเศรษฐกิจฟื้น แต่สำหรับภาคผู้ใช้องค์ความรู้ ยิ่งผู้หญิงอายุเกิน 30 ปี ผู้ชายอายุเกิน 35 ปี เมื่อออกไปแล้วกลับมายาก และไม่สามารถไปทำงานด้านแรงงานได้ด้วย รัฐบาลจึงต้องคิดในเรื่องนี้
ขอตัดงบฯฝึกคนว่างงาน6.9พันล.
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ข้อมูลการว่างงานของกระทรวงในปี 2549 มี 1.8 แสนคน ปี 2550 มี 2.8 แสนคน ปี 2551 มีเกือบ 4 แสนคน และในปี 2552 เฉพาะเดือนมกราคม มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 7 หมื่นคน ทั้งนี้ รมว.แรงงงานกำหนดกลุ่มเป้าหมายใช้งบฯ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสุด ต้องเอาเข้าสู่การจ้างงานโดยเร็ว เพราะมีภาระทางครอบครัว ถัดมาคือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ปีละ 5 แสนคน เชื่อว่ามีที่ยังไม่มีงานทำ 2-3 แสนคน ถัดมาคือแรงงานในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบ
ทั้งนี้ จนถึง ม.ค. 2552 มีสถานประกอบการแจ้งมายังกระทรวงว่า ยังมีความต้องการแรงงาน 1.3 แสนตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีอาชีพเกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลส่วนหนึ่ง ส่วนอีก 1.25 แสนตำแหน่ง กระจายเป็นผู้บริหารระดับอาวุโส ช่างเทคนิค เสมียนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร กรรมการ ช่างก่อสร้าง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การคัดเลือกและการฝึกอบรม จะเสนอคณะกรรมการโครงการในการประชุมวันที่ 2 กุมพันธ์
ด้านนายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงการตั้งงบฯที่ให้สำนักนายกฯเป็นฝ่ายเลขานุการโครงการว่า เพราะตัวเลขผู้ว่างงานยังไม่แน่ชัด จึงให้หน่วยงานต่างๆ มาเสนอวันที่ 2 ก.พ.ซึ่งถ้าจัดงบฯตัวนี้เป็นรายกระทรวง จะโยกงบฯไม่ได้ แต่ถ้าตั้งที่สำนักนายกฯจะสามารถโยกได้ ทำให้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีแบบนี้อาจมีการตีความกรณีที่ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเบ็ดเสร็จว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะโครงการเกี่ยวกับผู้ว่างงานแต่ไม่ได้ลงไปที่กระทรวงแรงงาน จึงขอสงวนคำแปรญัตติ ที่ขอให้ตัดงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ทั้งหมด เพื่อรอแต่ละกระทรวงทำกรอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน
สำหรับตัวเลขคนตกงาน ล่าสุด นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานสัมมนาที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แม้หลายฝ่ายจะระบุว่าในปีนี้จะมีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 ล้านคน แต่ สปส. เชื่อว่าไม่น่าเกิน 500,000 คน เนื่องจากการติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 2551 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง 380,000 คน ขณะเดียวกันจากการติดตามตัวเลขการเลิกจ้างช่วงต้นปีนี้สิ้นสุดวันที่ 26 มกราคม อยู่ที่ 27,000-28,000 คน และเชื่อว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้ จะอยู่ที่ 36,000 คน นอกจากนี้ สปส.ยังเชื่อมั่นว่ามาตรการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง สปส.ปัจจุบันได้สิทธิคุ้มครอง 8 เดือน แต่หลังจากนั้นรัฐบาลควรหามาตรการคุ้มครองในเดือนที่ 9 และเดือนต่อๆ ไปให้คนกลุ่มนี้ ให้มีรายได้เพื่อใช้จ่าย รวมทั้งการรักษาพยาบาลของตัวเองด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น