xs
xsm
sm
md
lg

ผู้มีความคิดเป็นกบฏ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทาคนี

กบฏหมายถึง ประทุษร้ายต่อราชอาณาจักรทรยศต่อความเป็นชาติหรือหวังที่จะทำลายรากฐานของความเป็นชาติ เช่น การคิดล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติที่เมื่อหากกระทำการไม่สำเร็จก็เป็นกบฏ เช่น เมื่อใครก็ตามทำรัฐประหาร หรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และถูกต่อต้านจนพ่ายแพ้กระทำการไม่สำเร็จก็เป็นกบฏไปทันที แต่สังคมมักจะผ่อนปรนต่อการกระทำผิดนั้นโดยวัดที่แก่นแท้ความคิดและพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เช่น ในอดีตมีการใช้กำลังทหาร และราษฎรธรรมดาสนับสนุน เช่น

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 อันเป็นปรากฏการณ์ที่พระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์หลายพระองค์ทรงรับรู้อยู่แล้วจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจนเกิดเหตุการณ์กบฏ รศ. 130 ที่กลุ่มนายทหารชั้นผู้น้อยร่วมกับพลเรือนคิดประทุษร้าย และล้มล้างระบบกษัตริย์ เพราะความน้อยใจและคับแค้นใจเลยคิดกบฏแต่ล้มเหลว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเมตตาไม่ได้ใช้พระราชอำนาจตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขจัดศัตรูการเมืองของพระองค์ คงให้มีการไต่สวนและลงโทษตามกระบวนกฎหมายในสมัยนั้น

ต่อมาก็มีกรณีกบฏอีกหลายครั้งที่คณะทหารร่วมกับนักการเมืองหรือนักการเมืองร่วมกับคณะทหารทำการรัฐประหารโค่นล้มอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ล้มสภานิติบัญญัติ แต่ไม่สำเร็จเป็นกบฏไปหลายครั้ง เช่น กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน กบฏเสนาธิการ กบฏ 26 มีนาคม 2520 และกบฏ 1 เมษายน 2524

ครั้งที่มีการลอบสังหารจอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่ผู้ต้องหาถูกพิพากษาลงโทษถึงประหารชีวิตหลายคน และครั้งสุดท้ายเป็นกรณีกบฏ 26 มีนาคม 2520 เมื่อพล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ กระทำการรัฐประหารไม่สำเร็จ เมื่อผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พล.ต.อรุณ ทวาทะศิน ปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วยและทำการขัดขืนต่อสู้ขณะประชุมร่วมกับ พล.อ.ฉลาด จึงถูกยิงเสียชีวิตที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี และพฤติกรรมนี้เองที่ทำให้พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ตามมาตรา 21 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้

การก่อรัฐประหารไม่สำเร็จเป็นกบฏนั้น ประชาชนมักจะลืมเหตุการณ์เมื่อเวลาผ่านไป เช่น กรณีกบฏ 26 มีนาคม 2520 ซึ่งมีพลเรือนหรือกลุ่มนายทหารที่เกี่ยวข้องแต่กลับเข้ามามีอำนาจทางการเมือง หรือมีอิทธิพลทางการเมือง เช่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ กรณีกบฏ 1 เมษายน หรือกบฏ 9 กันยายน 2525 พล.ต.มนูญหรือมนูญกฤต รูปขจรเป็นต้นคิดก็ได้รับการอภัยจากสังคม

ข้ออ้างหลักๆ ของการทำรัฐประหารมักจะเป็นเรื่องการบริหารแบบเผด็จการกดขี่ประชาชน นำลัทธิอื่นที่เป็นภัยต่อชาติเข้ามาใช้บริหารประเทศ ทุจริตคดโกง ขาดความชอบธรรม ประสิทธิภาพของกองทัพขาดความเสื่อมโทรมหรือทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากเกินไปและเข้าบริหารประเทศ หรือรัฐบาลปล่อยให้คนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นเหตุจูงใจรัฐประหารโดยคณะทหารถึง 5 ครั้งคือ กบฏบวรเดช 2475 ครั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร 2500 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐประหารภายใต้ชื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 2519 พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 และครั้งสุดท้าย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ภายใต้ชื่อคณะรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีการเน้นว่ากระทำการรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะด้วยเหตุนี้กระมังที่ฝ่ายหลงใหลระบอบทักษิณ มีการก่อตั้งขบวนการต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ต่อต้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อย่างรุนแรงจนเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะมีพฤติกรรมเยี่ยงนั้น เช่น มีการลงชื่อเพื่อถวายฎีกากราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงมีพระบรมราชโองการปลดประธานองคมนตรี อันเป็นการจาบจ้วงเพราะนัยสำคัญคือ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานองคมนตรีด้วยพระองค์เองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สาธารณชนพบว่ามีการจาบจ้วงหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่หลายครั้ง และยังเป็นคดีความอยู่หลายคดี โดยเฉพาะคดีนายจักรภพ เพ็ญแข ซึ่งตามสายตาและความคิดของคนทั่วไปสรุปได้ว่าเป็นการจาบจ้วงสถาบันอย่างชัดเจน แต่ทางนิตินัยนั้นเป็นเรื่องของกฎหมายซึ่งมีความสลับซับซ้อนอยู่แล้ว แต่กรณีดา ตอร์ปิโด นั้นแฝงไว้ซึ่งความอาฆาตเคียดแค้น และหยาบคายจนเห็นความเป็นกบฏในใจชัดเจน

นอกจากนี้แล้วพฤติกรรมอันเกิดจากกลุ่ม นปก.หรือ นปช.หรือพวกเสื้อแดงที่กระทำการจาบจ้วงสถาบันทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะหากมีการตีความพฤติกรรมของกลุ่มนี้แล้วก็พบว่า เป็นการกระทำของลัทธิอนาธิปไตยต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน เพราะตรรกะหนึ่งคงได้แก่ นายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นผู้ต้องโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาแล้วและเป็นนำสำคัญของคนเสื้อแดง

มีกลุ่มทุนทั้งภายในและจากภายนอกประเทศ พร้อมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศจึงเกิดเว็บไซต์ที่กล่าวร้ายหรือชักชวนเชิงวิชาการให้การแสดงความคิดเห็นเพื่อต่อต้านสถาบัน และมีนิตยสารเชิงอนาธิปไตยเสรีคติ ที่อุดมด้วยบทความเชิงวิชาการเปรียบเทียบระบอบประชาธิปไตยลักษณะต่างๆ ที่มีในสากล และชี้จุดอ่อนจุดด้อยของสถาบันพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศ เพราะอนาธิปไตยสากลซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์มีความเข้มแข็งมาก และแพร่กระจายแนวคิดอนาธิปไตยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีกลุ่มนักวิชาการในประเทศไทยให้ความสนใจอยู่ และมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ นี้เองเกี่ยวกับกรณีการวิเคราะห์สถาบันพระมหากษัตริย์ในเชิงกฎหมาย ซึ่งอ่านได้ในหนังสือพิมพ์ On Line “Thai E-News”

สาระสำคัญคือ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้หนึ่งที่ดำเนินการจัดสัมมนาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหัวข้อเรื่อง “ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้รักษาประชาธิปไตย” โดยมีการเชิญชวนให้ลงชื่อให้มีการยุติกฎหมายฉบับนี้

โดยองค์ประชุมประกอบด้วยนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีมติร่วมกันรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้รักษาประชาธิปไตย โดยเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายนี้จัดการกับฝ่ายประชาธิปไตยคัดค้านเผด็จการ และผู้ที่มีความเห็นต่างๆ ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เพราะกฎหมายขัดขวางเสรีภาพทางวิชาการ เช่น บทความของ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ การปราศรัยของ ดา ตอร์ปิโด ความคิดของนายบุญยืน ประเสริฐยิ่ง หรือการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้สื่อข่าวบีบีซี นายโจนาธาน เฮด (Jonathan Head) และนายแฮรี่ นิโคไลส์ (Harry Nicolaides) ผู้สื่อข่าวและวิทยากรชาวออสเตรเลียที่ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี แต่สารภาพลดครึ่งหนึ่ง นายแฮรี่เข้ามาในประเทศไทยหรือเขียนบทความการท่องเที่ยว และเป็นวิทยากรด้านจิตวิทยาสังคมให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ในการนี้ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ได้ประกาศเชิญชวนว่า หากมีความประสงค์จะร่วมการรณรงค์สามารถแจ้งชื่อเสียงเรียงนามจริงกลับไปที่ E-mail ของเขา

นี่เป็นการปฏิบัติการเชิงรุกต่อต้านสถาบันทางสงครามไซเบอร์อย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เพราะการแก้กฎหมายฉบับนี้เป็นพฤติกรรมกบฏในความคิดแล้ว และหากกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปเพราะความด้อยปัญญาของใครก็ตาม ผลพวงที่ตามมาก็คือ สาเหตุของสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอนเพราะกลุ่มราชภักดี คงยอมไม่ได้ที่จะมีคนอาจหาญจาบจ้วงไม่เว้นแต่ละวัน

คนที่จะได้ประโยชน์จากความอ่อนแอในเมืองไทยก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มนิยมทักษิณ ชาวต่างประเทศที่ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยแข็งแกร่งจึงจ้างนักรบไซเบอร์ นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย แล้วแพร่ความคิดประชาธิปไตยที่ในตัวของมันเองมีความซับซ้อนอยู่แล้วไม่ว่าสังคมใดก็ตาม แม้กระทั่งในอังกฤษเองก็กำลังเผชิญกับ Neo-Democratic ที่ชาวต่างชาติแสวงสิทธิต่างๆภายใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษเองก่อความหงุดหงิดให้กับเจ้าของประเทศ

ใครก็ตามที่มีความคิดเห็นด้วยกับ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ และพวกจงคิดใหม่ และลองคิดให้ดีว่ามีคนไทยกลุ่มไหนบ้างที่ทำงานเสียสละความสุขส่วนตัว 60 ปี เพื่อคนไทยด้วยกัน เพื่อความผาสุกของคนส่วนรวม มีแต่เข้ามาในวงการเมือง 5-10 ปี แต่ยังคงใช้ชีวิตคละเคล้าด้วยความสุขจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เล่นกอล์ฟ เล่นการพนัน ซื้อเสื้อผ้าราคาแพง และคุยโม้เรื่องไวน์ หรือพวกที่มีปมด้อยทางปัญญาคิดกันดูให้ดีเถอะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น