xs
xsm
sm
md
lg

ปูนใหญ่กระอักหนักสุดรอบ11ปีไตรมาส4/51ขาดทุน3.5พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ปูนซิเมนต์ไทย" กระอักพิษซับไพรม์ ไตรมาส 4/51 บักโกรก ขาดทุนสุทธิเฉียด 3.5 พันล้านบาท นับเป็นผลขาดทุนครั้งแรกในรอบ 11 ปี ฉุดกำไรทั้งปี 51 ลดลง 45% เหลือเพียง 1.67 หมื่นล้านบาท ผู้บริหารยอมรับยอดขายปีนี้แค่ 2.67 แสนล้านบาท ลดลง 10 %จากปีก่อน เหตุวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้ดีมานด์หด และราคาสินค้าต่ำ พร้อมเบรกแผนลงทุน 5ปี มูลค่าแสนล้านบาท รอจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ระบุช่วงวิกฤตเป็นโอกาสให้ปูนใหญ่เข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการในประเทศเพื่อนบ้านง่าย ด้านบอร์ดบริษัทปลอบใจรายย่อย จ่ายปันผลหุ้นละ 7.50 บาท ต่ำสุดในรอบ 4 ปี
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เปิดเผยว่า จากวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการของตลาดลดลงอย่างมากและรวดเร็ว มีทำให้ยอดขายของบมจ.ปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทย่อยในไตรมาส 4/2551ลดลง 21%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เหลือเพียง 55,062 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 3,480 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,774 ล้านบาท ลดลง160% ซึ่งเป็นผลขาดทุนจากมูลค่าจากมูลค่าสินค้าคงเหลือ (Stock Loss)รวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนไตรมาส 4 ครั้งแรกในรอบ 11ปีนับจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
“ ปัจจัยที่มีผลทำให้ผลประกอบการไตรมาส 4 /2551ของเครือซิเมนต์ไทยขาดทุนถึง 3,480 ล้านบาท มาจากราคาสินค้าที่ลดลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันโลกที่ตกอย่างรุนแรง จากช่วงที่สูงสุดในเดือนก.ค. 2551 อยู่ที่ 144 ดอลลาร์/บาร์เรล เหลือประมาณ 36 ดอลลาร์/บาร์เรล ในเดือนธ.ค. 2551 ทำให้บริษัทต้องปรับราคาสินค้าคงเหลือและต้นทุนให้เป็นไปตามราคาตลาดที่ลดลงตามมาตรฐานทางบัญชี โดยเคมีภัณฑ์ขาดทุนจาก Stock Lossสูงถึง 4 พันกว่าล้านบาท กลุ่มกระดาษขาดทุน Stock Loss 500 ล้านบาท สินค้าซื้อมาขายไปเช่นเหล็ก ลวด อลูมิเนียมขาดทุน 100 ล้านบาท ”
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2551 บริษัทปูนซิเมนต์ไทยและบริษัทย่อย มียอดขายรวม 293,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%จากปีก่อน มีกำไรสุทธิ 16,771 ล้านบาท ลดลง 45%จากปีก่อน เป็นผลจากการขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงเหลือ และกำไรจากส่วนได้เสียของบริษัทร่วมลดลง
กำไรกลุ่มเคมีภัณฑ์ลดฮวบ64%
โดยผลประกอบการปี 2551 แยกตามธุรกิจดังนี้ คือ กลุ่มเอสซีจี เคมิคอลส์ มียอดขายสุทธิ 136,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน กำไรสุทธิ 6,136 ล้านบาท ลดลง 64% เนื่องจากมาร์จินช่วง 3เดือนแรกลดลง และขาดทุนจาก Stock Loss
กลุ่มเอสซีจี เปเปอร์ มียอดขายรวม 47,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%เป็นผลจากการขายผลิตภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก และกำไรสุทธิ 1658 ล้านบาท ลดลง 30% จากปีก่อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9เดือนแและขาดทุนจากStock Loss
กลุ่มเอสซีจี ซิเมนต์ พบว่ามียอดขายสุทธิ 49,999 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เป็นผลจากราคาและปริมาณการส่งออกซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีกำไรสุทธิ 6,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%จากปีก่อน
จ่ายปันผลหุ้นละ 7.50บ.ต่ำสุดในรอบ4ปี
นายกานต์ กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทฯจะมีกำไรสุทธิงวดปี 2551 ลดลง 45% แต่บริษัทฯมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯจึงอนุมัติการจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 7.50 บาท คิดเป็นการจ่ายปันผลในอัตรา 54%ของกำไรสุทธิ สูงกว่านโยบายการจ่ายเงินผลที่กำหนดไว้ 40-50%ของกำไรสุทธิ โดยบริษัทฯได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วหุ้นละ 5.50 บาทเมื่อวันที่ 2 ส.ค.2551 และจะจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายอีกหุ้นละ 2 บาทในวันที่ 22 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลงวดปี 2551 ที่อัตราหุ้นละ 7.50 บาท นับเป็นการจ่ายปันผลในอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 4ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทฯจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 15 บาทมาตลอด
ยอดขายปีนี้หดตัว10%
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2552 คาดว่าบริษัทและบริษัทย่อยจะมียอดขายลดลงประมาณ 10%จากปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.67 แสนล้านบาทใกล้เคียงปี 2547 นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2543 ที่ปูนซิเมนต์ไทยมียอดขายลดลง สืบเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังมีต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ ทั้งซีเมนต์ กระดาษ และเคมีภัณฑ์ยังชะลอตัว และราคาผลิตภัณฑ์ลดลง เฉพาะปูนซิเมนต์นั้นคาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะหดตัวลง ขณะที่ราคาส่งออกซีเมนต์ก็ปรับตัวลงด้วยจากเดิมที่เคยส่งออกได้ตันละ 40กว่าเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันลดลงเหลือ 35-37 เหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มจะลดลงอีก แต่ในช่วงครึ่งปีหลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยและทั่วโลก ซึ่งเม็ดเงินงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาท น่าจะเริ่มลงสู่ระบบก็จะช่วยกระตุ้นความต้องการได้
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลประกาศเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส 1/2552 ก็คาดว่าจะทำให้ความต้องการใช้ปูนเพิ่มสูงขึ้น เพราะอสังหาริมทรัพย์รอบเส้นทางรถไฟฟ้าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปีนี้ราคาสินค้าส่วนใหญ่ค่อนข้างทรงตัวหรือปรับขึ้นเล็กน้อย และมีออเดอร์กลับเข้ามา โดยเฉพาะราคาเม็ดพลาสติกHDPEได้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทฯใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 100%จากช่วงปลายปีที่แล้วเดินเครื่องจักรเพียง 70% ส่วนกระดาษก็มีการใช้กำลังผลิตอยู่ที่กว่า 90% เนื่องจากการส่งออกอาหารแช่แข็งยังดีอยู่ ยกเว้นซีเมนต์ที่มีกำลังการผลิตแค่ 75% ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจ็กต์
" ในปี 2551 เครือซิเมนต์ไทยส่งออกปูนซีเมนต์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 8.2 ล้านตันจากำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นเกือบ 10 ล้านตัน คาดว่าปีนี้บริษัทฯจะส่งออกซีเมนต์ลดลงเหลือ 5-6 ล้านตัน เนื่องจากตลาดส่งออกหดตัวลงและราคาไม่จูงใจ โดยปีนี้บริษัทฯจะส่งออกมากกว่า 33%ของรายได้ "

เบรกแผนลงทุน5ปี1แสนล้าน
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า เดิมคณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติแผนการลงทุน 5ปีข้างหน้า (2553-2557) ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาทเมื่อช่วงส.ค.2551 เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปิโตรเคมีและปูนซีเมนต์ แต่เนื่องจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้บริษัทฯทบทวนการลงทุน โดยชะลอการลงทุนโครงการใหม่ไปก่อนจนกว่าผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไป ขณะเดียวกันมองว่าเครือซิเมนต์ไทยจะมีโอกาสที่เข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการมากขึ้น หลังจากมีหลายบริษัทในอาเซียนได้เสนอให้เครือซิเมนต์ไทยเข้าไปร่วมลงทุน
โครงการที่เครือซิเมนต์ไทยชะลอการลงทุนไปได้แก่ โครงการลงทุนปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม โครงการลงทุนโรงปูนซีเมนต์ขนาด 2 ล้านตันในอินโดนีเซีย โครงการลงทุนโรงปูนซีเมนต์แห่งที่ 2 กัมพูชา เป็นต้น
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2552 จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3.5 -4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนงานเดิม ได้แก่การลงทุนในโครงการโอเลฟินส์แครกเกอร์แห่งที่ 2 ใช้เงิน 2.6 -2.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2553 ทำให้กำลังการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนเม็ดเงินลงทุนที่เหลือจะใช้ในโครงการผลิตกระดาษในเวียดนาม จะแล้วเสร็จในปีนี้ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนพร้อมแล้ว

ชู4กลยุทธ์หลักรับมือวิกฤตโลก
นายกานต์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯได้วางแผนรับมือวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยใช้ 4 กลยุทธ์หลักเพื่อที่ฝ่าวิกฤตินี้ได้ และจะเข้มแข็งขึ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยกลยุทธ์หลักมีดังนี้ คือ 1 .บริหารสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน โดยสิ้นปี 2551 บริษัทฯมีเงินสดสูงถึง 2.67 หมื่นล้านบาท เงินสดที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปรับลดปริมาณสินค้าคงคลังในช่วงไตรมาส 4/2551
2. พัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุน เช่นโครงการลดต้นทุนพลังงาน Waste-Heast Power Generation ในโรงงานปูนซีเมนต์ทุกแห่งให้แล้วเสร็จในปี 2552 ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ถึง 1.6 พันล้านบาท และ4.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานตลาดในประเทศและขยายฐานตลาดต่างประเทศ ตลอด 4ปีที่ผ่านมา SCTมีสำนักงานสาขา 31แห่งใน 21ประเทศ โดยเจาะตลาดเพิ่มไปยังแอฟริกาและตะวันออกกลาง ชดเชยตลาดสหรัฐฯที่หดตัวลง
ทั้งนี้ เครือซิเมนต์ไทยมั่นใจว่าจะผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจปีนี้ไปได้ เพราะมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยการบริหารสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเราลงทุนแบบรัดกุม เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไปเชื่อว่าเครือซิเมนต์ไทยจะกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทำให้เราก้าวสู่การเป็นผู้นำในอาเซียนเร็วกว่าที่ตั้งไว้ในปี 2558

ออกหุ้นกู้เม.ย.2หมื่นล้าน
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย กล่าวว่า ในช่วงเม.ย.นี้หุ้นกู้จะครบกำหนดวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยเครือซิเมนต์ไทยจะออกหุ้นกู้ล็อตใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และเดือนต.ค.จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่อนอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะออกหุ้นกู้วงเงินเท่าไร
กำลังโหลดความคิดเห็น