xs
xsm
sm
md
lg

สบ.ชต. VS กอ.รมน. สมการและสูตรใหม่ดับไฟใต้!!??

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

samr_rod@hotmail.com

ประมาณว่าอีก 6 - 7 เดือนถ้าร่าง พ.ร.บ.สำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ส.ส.นิพนธ์ บุญญามณี พรรคประชาธิปัตย์กับคณะเสนอผ่านเป็นกฎหมาย องค์กรหลักที่จะทำหน้าที่แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ..สำนักงานบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ สบ.ชต.

ศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็อาจจะต้องสลายไปอยู่ในสบ.ชต.

สบ.ชต.ก็เป็นองค์กรของรัฐขนาดใหญ่ทำงานเคียงคู่ไปกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่กองทัพบกเป็นเจ้าภาพดูแลอยู่

กอ.รมน.คือเจ้าภาพใหญ่ในการดูแลแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้

หากย้อนไปในอดีตเมื่อไม่กี่ปีก่อนก็จะพบว่า เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ไม่กี่เดือนก็มีการยุบทิ้ง ศอ.บต.และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) โดยอ้างว่าตำรวจสามารถรับมือกับการก่อความไม่สงบได้..

ปี 2545 - 46 คือยุคทองของการอุ้มฆ่าผู้บริสุทธิ์ ปัญหาเริ่มบานปลาย

4 ม.ค. 2547 คนร้ายปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ที่ อ.เจาะไอร้อง นราธิวาส พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าเป็นฝีมือพวก “โจรกระจอก”

ความรุนแรงแผ่คลุม 3 จังหวัดอีกครั้ง รัฐบาลทักษิณจึงสถาปนา กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.)

ขณะเดียวกันปี 2548 ยังได้มอบหมายให้ จาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ศึกษาและทำข้อเสนอมาตรการ “ดับไฟใต้” ซึ่งกรรมการชุดจาตุรนต์ก็มีข้อเสนอใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

มากกว่านั้นในช่วงปลายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณยังได้ตั้งคณะกรรมการชื่อ “คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.)” โดยให้อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 18 เป็นประธาน

แต่รัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้นำพากับผลสรุปของ กอส. เหมือนที่ไม่ได้สนใจกับข้อเสนอใหม่ๆ จากกรรมการชุดจาตุรนต์..

ผ่านมาถึงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตั้งแต่ปลายปี 49 แม้จะยื่นมือแห่งความสมานฉันท์และขออภัยย้อนหลังต่อความผิดพลาดของอำนาจรัฐ และได้ฟื้นคืนชีพศอ.บต.ขึ้นมาอีกครั้ง แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ยังไม่เบาบาง...

ในห้วงเวลา 4 -5 ปีที่ผ่านมา กองทัพหรือ กอ.รมน.ต้องใช้กำลังทหารครึ่งแสนเพื่อยันหรือกดสถานการณ์เอาไว้ ทำให้เสียงปืนเสียงระเบิดและความสูญเสียในห้วงปี 2551 ลดลงจากปี 2550 เกือบเท่าตัว แต่เป็นเกือบเท่าตัวที่เหลืออยู่อย่างน่าสะพรึงกลัวเหมือนเดิม..

เมื่อการเมืองพลิกขั้ว...อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงไม่รอช้าที่จะตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีพิเศษในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ครม.ภาคใต้” ขึ้นมาแก้ปัญหาในเชิงรุกด้านการพัฒนา

และนายกฯ คนใหม่ยังแสดงความเร่าร้อนมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาด้วยการเชิญองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายไปนั่งล้อมวงคุยถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลายคน (รวมทั้งผม) เชื่อมั่นว่าในด้านความรู้ ความเข้าใจต่อปัญหาและความจริงใจในการแก้ปัญหาคนชื่อ “อภิสิทธิ์” สอบผ่านด้วยคะแนนสูงลิ่ว แต่คำถามก็คือ..นโยบายและมาตรการของรัฐบาลจะถูกต้องใช้ได้ผลหรือไม่ !?

ปัจจุบันสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งต่ออายุครั้งละ 3 เดือน รวมแล้ว 14 ครั้ง...

สัญญาณจากนายกฯ อภิสิทธิ์ที่พอจะจับได้ก็คือ...จะลดการพึ่งพากฎหมายพิเศษ (อย่างเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จะเน้นการพัฒนา การมีส่วนร่วมของประชาชนและจริงจังกับปัญหาสิทธิมนุษยชน..

กระบวนท่าโดยรวมของรัฐบาลชุดนี้นับว่า พอใช้ได้และพอจะมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน...

อย่างไรก็ตาม เบื้องหน้ายังจะต้องจับตาและตามไปดูว่า สบ.ชต.ที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงเสียดสีหรือแม้กระทั่งการ “ปีนเกลียว” กับ กอ.รมน.หรือไม่อย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าองค์กรและบทบาทองค์กรในหลายต่อหลายกรณี นอกจากบทบาทจะทับซ้อนกันแล้ว เงิน -งบประมาณยังทับซ้อนกันอีกต่างหาก และมักจะนำมาซึ่งปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในการทำงานในที่สุด..

สบ.ชต.ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ กอ.รมน.ที่เป็นเจ้าภาพหลักอยู่ในวันนี้ เป็นประเด็นที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องออกแบบและกำหนดภารกิจให้ลงตัว ให้ดีที่สุด

ในฐานะผู้มีประสบการณ์งานภาคใต้ แม้อาจจะไม่นานยาว แต่สิ่งที่ จาตุรนต์ ฉายแสง พูดเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ก็น่าจะรับฟัง เขาบอกว่า..เรื่องการจัดองค์กรนั้นสำคัญแน่ แต่ที่สำคัญกว่าคือเรื่อง ยุทธศาสตร์-แนวทางในการแก้ปัญหา เอาแค่คำว่า “การเมืองนำการทหาร” ก็ตีความหมายไปคนละทิศคนละทางแล้ว....ฯลฯ...

...............

เมื่อครั้งเป็น สนช.ผมก็มีประสบการณ์ร่วมทำงานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาสอบสวนปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ้างเล็กน้อย..

สิ่งที่พอจะพบเห็นและสรุปได้ก็คือ ปัญหาความเป็นเอกภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และต่อมาก็คือปัญหาความเข้าใจในการยุทธศาสตร์หรือแนวทางที่จะแปรเป็นรูปธรรมปฏิบัติ..!!

ทุกคนรู้ว่า ยุทธศาสตร์พระราชทานคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

ทุกคนรู้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าการแก้ปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องท่องคาถา “เป็นธรรม เป็นไทย”

แต่ส่วนใหญ่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากเราจะมีปัญหาความแปรปรวนทางนโยบายของรัฐบาลแต่ละช่วงแล้ว เรายังโชคร้ายที่มักจะมีผู้นำประเทศที่ห่างไกลจากความเข้าใจปัญหา 3 จังหวัด..

ดังนั้น หากมองโลกในแง่ดี ปี 2552 เราน่าจะโชคดีที่มีผู้นำประเทศที่เข้าใจปัญหา และกำลังจะเข้าถึงในรายละเอียดต่างๆ...ในขั้นตอนปฏิบัติ..

การสถาปนา -ออกแบบ สบ.ชต.ให้เคียงคู่กับ กอ.รมน.เพื่อดับไฟใต้ร่วมกัน จะเป็นอีกหนึ่งด่านทดสอบสำคัญยิ่ง หลังการเกิดขึ้นของ ครม.ภาคใต้ เมื่อวันก่อน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น