xs
xsm
sm
md
lg

เผยครัวเรือนไทยพร้อมรับวิกฤต ศก. สถิติแจงน้ำมันกระทบคนใต้มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สถิติแห่งชาติแจงครัวเรือนไทยเกือบค่อนประเทศ ยอมปรับตัวลดค่าใช้จ่าย หลังเศรษฐกิจดิ่งเหวเผย คนใต้รับผลกระทบน้ำมันหนักสุด เหตุปัญหาประมง จี้รัฐเร่งคุมราคาด่วน

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ แจ้งว่า ได้สำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ การใช้พลังงานทดแทน และการต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ ประจำปี 51 ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 26,000 ครัวเรือน โดยสรุปได้ว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ถึง 70% ที่เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51 แย่ลงกว่าปีก่อนมาก ขณะที่ 24% เห็นว่าเหมือนเดิม มีเพียง 5.9% เท่านั้นที่เห็นว่าดีขึ้น และครัวเรือนส่วนใหญ่ได้เลือกวิธีลดการใช้จ่ายในยุคที่ราคาน้ำมันแพง สินค้าขึ้นราคา มากถึง 76.4% เพื่อปรับตัวรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเป็นวิธีที่ครัวเรือนทั่วประเทศเลือกใช้โดยเฉพาะในภาคเหนือที่เลือกใช้มากถึง 81.5% ส่วนในภาคอื่นอยู่ระหว่าง 74-79%

อย่างไรก็ตามยังมีครัวเรือนมากถึง 13.4% ที่ปรับตัวโดยเลือกวิธีลดการก่อหนี้และเป็นลำดับรองลงมาของครัวเรือนทุกภาคเช่นกัน ที่ใช้วิธีนี้ระหว่าง 9.7%-16.9% ขณะที่ 3.1% เลือกวิธีลดการเที่ยวเตร่นอกบ้าน ส่วนที่เลือกนำเงินออมออกมาใช้มีจำนวน 2.2% ส่วนการประหยัดพลังงานมีเพียง 1.5% เท่านั้น ซึ่งครัวเรือนในทุกภาคได้เลือกใช้วิธีนี้น้อยที่สุด โดยครัวเรือนในเขตกทม.ใช้วิธีประหยัดพลังงาน 3% ขณะที่ปริมณฑล เช่นนนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ เลือกใช้เพียง 2.6% เท่านั้น

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาผลกระทบภาวะวิกฤตน้ำมันเป็นรายภาค พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 69.6% ระบุว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านราคาน้ำมัน โดยเฉพาะในครัวเรือนภาคใต้ที่เห็นว่าได้รับผลกระทบสูงที่สุดถึง 73.4% ส่วนภาคอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพและ 3 จังหวัดรอบนอกคือนนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ ที่ได้รับผลกระทบใกล้เคียงกันที่ระดับ 70-72% ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องใช้น้ำมันในการทำประมงหรือการเกษตร สำหรับครัวเรือนในกรุงเทพฯ และ 3 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบมาก มีเพียง 58.5%

ส่วนต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ จากผลสำรวจพบว่าครัวเรือนทั่วประเทศต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยการควบคุมราคาน้ำมันมากที่สุดคือ 37.7% โดยครัวเรือนในภาคใต้ต้องการมากถึง 43.4% อาจเป็นเพราะต้องใช้เรือทำการประมงเป็นจำนวนมาก ส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯและ 3 จังหวัดรอบนอก รองลงมาคือควบคุมราคาสินค้า มีสัดส่วน 33.9% ซึ่งส่วนใหญ่เป้นความต้องการของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯและ 3 จังหวัดรอบนอก ที่ต้องการ 50.4% ขณะที่ต้องการให้พยุงราคาพืชผลเกษตร 9.2% จัดหางานให้มี 7.9% ลดภาษีเงินได้ มีจำนวน 3.2% และลดดอกเบี้ยเงินกู้ มี 2.6%

นอกจากนี้ ครัวเรือนทั่วประเทศได้ให้ความร่วมมือประหยัดพลังงาน โดยปิดไฟฟ้าดวงที่ไม่ใช้งาน สูงสุดถึง 98.7% รองลงมาไม่เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ 96.4% ตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25-26 องศาเซลเซียส ประมาณ 91.7% และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน ประมาณ 91%

สำหรับรายการที่มีผู้ให้ความร่วมมือน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ได้แก่ การเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะ การใช้หลอดประหยัดไฟและการใช้พลังงานทดแทนเช่น แก๊สโซฮอล์และ ก๊าซเอ็นจีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น