xs
xsm
sm
md
lg

พบ23จุดเพลิงไหม้ซานติก้าผับ3สมาคมฯเล็งยื่นนายกฯแก้กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – 3 สมาคมวิชาชีพ วิศวกร-สถาปนิกฯ -ตรวจสอบอาคาร เล็งเสนอรัฐบาลแก้กฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมอาคารเพิ่มโทษจำคุกเจ้าของอาคารและผู้ที่เกี่ยวข้อง ล้อมคอกกรณีซานติก้าผับ ชี้พบข้อสังเกต 23 จุดสุ่มเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ มึน!หาวิศวกรออกแบบ-ก่อสร้างอาคารไม่พบ ส่วนเจ้าพนักงานเขตทวีวัฒนาโบ้ยไม่รู้ว่าอาคารขออนุญาตใช้งานประเภทใดแถมหาใบอนุญาตไม่พบ ด้านปลัดกทม.สั่งตรวจสอบอาคารกว่า 2,000 แห่งทั่วกรุงที่ไม่ยื่นผลตรวจความปลอดภัย "อภิสิทธิ์" ระบุรอผลสรุปที่ชัดเจน
วานนี้ (7 ม.ค.52) 3 สมาคม ซึ่งได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ร่วมชี้แจงกรณีศึกษา ไฟไหม้ ซานติก้า ผับ
นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวว่า กรณีไฟไหม้ที่ซานติก้าผับนั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุร้ายแรงในอาคารสาธารณะ และยังตรวจพบว่า อาคารดังกล่าวไม่ได้มีการตรวจสอบอาคารตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่า อาคารดังกล่าวขออนุญาตใช้งานเป็นประเภทใด รวมถึงตัวผู้ออกแบบ วิศวกรก่อสร้างและเจ้าพนักงานที่เป็นผู้อนุมัติให้ใช้งาน
" เจ้าของอาคารส่วนใหญ่ ไม่ต้องการเสียเงินวางระบบเตือนภัยต่างๆเพิ่ม และยังหาช่องว่างของกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยง ซึ่งหวังจะใช้ช่องว่างของประเภทอาคารที่ใช้ เช่น อาคารขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10,000 ตร.ม. หรือ 7 ชั้นขึ้นไป จะต้องมีระบบความปลอดภัยสูงสุด แต่หากสร้างเล็กลงข้อบังคับก็ลดลงไปด้วย นอกจากนี้อาคารในแต่ละประเภทก็จะมีข้อบังคับที่แตกต่างกัน ทำให้ใช้จุดนี้ในการเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งการละเมิดกฎหมายพระราชบัญญัตความคุมอาคาร (พ.ร.บ.) จะไม่มีบทลงโทษ เพียงเสียค่าปรับเท่านั้นทำให้มีการเลี่ยงกฎหมายกันมาก" (อ่านข่าว"เอกชนเสนอยกระดับวัสดุกันไฟที่ได้มาตรฐาน" หน้า 10)
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์เช่นที่เกิดขึ้นกับซานติก้าผับหรือที่อื่นๆ เกิดขึ้นซ้ำอีก จึงเตรียมตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 3 สมาคมฯข้างต้น เพื่อร่างข้อเสนอแก้ข้อมกฎหมาย บางข้อ ได่แก่ 1.เพิ่มบทลงโทษให้มีโทษจำคุกเพิ่มเข้าไปในกฎหมาย 2.การกำหนดจำนวนผู้เข้าใช้ในพื้นที่ของอาคารแต่ละประเภท เพื่อไม่ให้มีผู้เข้าใช้มากเกินไป และที่สำคัญควรปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนต้องตรวจสอบอาคารและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการติดตั้งระบบเตือนภัยต่างๆ ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นจึงจะนำข้อเสนอยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมตรี ต่อไป
นายประสงค์ ธาราไชย นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯกล่าวว่า จากการตรวจสอบสถานที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ พบข้อสังเกต 23 จุด โดยเป็นข้อบกพร่องสำคัญๆ อาทิ พบวัสดุภายในอาคารที่เป็นเชื้อเพลิง อาทิเช่น โฟม Polystyrene และวัสดุไฟเบอร์กลาส ตกแต่งหุ้มผนังและเสา เพื่อป้องกันเสียงแต่กลับไม่มีวัสดุหุ้มกันความร้อนอีกชั้น ซึ่งโฟมชนิดดังกล่าวติดไฟง่ายที่อุณหภูมิ 80 องศาเท่านั้น
โดยได้พบซากเส้นลวดทองแดงของสายไฟที่ฉนวนหุ้มหลอมละลาย พาดวางไว้บนโครงเคร่าฝ้าเพดานโดยไม่ติดตั้งอยู่ภายในท่อร้อยสายไฟ , พบช่องแสงกระจกติดตายความสูงจากพื้นจรดเพดานด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ในขนาดความกว้างที่บุคคลสามารถลอดออกไปได แต่ติดตั้งเหล็กดัดกันขโมย
นอกจากนี้ ยังไม่พบระบบเตือนภัย ซึ่งได้แก่ ไม่พบระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ, ไม่พบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้, ไม่พบระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่บริการแต่พบระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่ครัวด้านหลังเพียง 1 จุดเท่านั้น, พบทางเข้าออก 1 จุด บริเวณด้านหลังครัว, ไม่พบป้ายทางหนีไฟ,ไม่พบแผนผังทางหนีไฟ,พบประตูหนีไฟจากพื้นที่บริการสู่ภายนอก 3 จุด แต่มีลักษณะคับแคบและไม่ชัดเจน, ไม่พบระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (sprinkler), ชั้นใต้ดินมีทางขึ้นลงด้วยบันได เพียงทางเดียว และทางสัญจรมีลักษณะเป็นปลายตัน และไม่พบหลักฐานว่ามีการตรวจสอบอาคาร
นายประสงค์ กล่าวว่า บริเวณที่ทราบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อยู่ในบริเวณพื้นที่ลดระดับต่ำลงไปจากระดับพื้นทางเข้าประมาณ 1.50 เมตร เชื่อมด้วยบันไดกว้างประมาณ 1.20 เมตรห่างจากประตูทางเข้าใหญ่เพียงประมาณ 3 เมตร ซึ่งเชื่อว่าการที่มีผู้ชีวิตจำนวนมากส่วนหนึ่งมาจากการล้มทับกันจนปิดทางออก และจากกรณีศึกษาพบว่า 80% คนจะหนีออกทางที่เข้ามา ดังนั้นเราควรหาทางออกอื่นไว้เวลาเข้าใช้อาคารแต่ละแห่ง
สำหรับเจ้าของสถานประกอบการที่เปิดใช้บริการอยู่ หากต้องการทราบว่าสถานบริการของตนเองปลอดภัยหรือไม่ ในเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง คือ 1. ดูประเภทว่าอาคารใช้ทำอะไร มีระบบการป้องกันอัคคีภัยหรือไม่ เช่น ไฟฉุกเฉินซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาดมาติดเองได้เลย และควรตั้งในที่มองเห็นได้ง่าย 2.ตรวจว่าพื้นที่นั้นมีทางเข้าออกกี่ทาง ทางหนีไฟจะต้องไม่วางสิ่งของกีดขวาง, 3.ในสถานการประกอบการมีวัสดุติดไฟง่ายหรือหากมีควรหลีกเลี่ยงใช้น้อยที่สุดหรือต้องมีฉนวนกันความร้อนหุ้มอีกชั้น, 4. สัญญานเตือนความร้อน ควัน ระบบต่อสู้เพลิง สปริงเกอร์ ถังดับเพลิงมือถือ สายสูบ ท่อยืน ประตูฉุกเฉินต้องเป็นแบบคันโยกหรือระบบบาร์ผลัก
“เจ้าของอาคารมักไม่กล้าลงทุนในเรื่องความปลอดภัยกลัวเปลือง ทั้งที่เป็นเรื่องทำกันได้ไม่ยาก การลงทุนติดตั้งปริงเกอร์และระบบน้ำ-ไฟ แค่ตารางเมตรละ 1,000 บาท หากเป็นระบบสปริงเกอร์อย่างเดียวแค่ 500 บาท/ตร.ม.เท่านั้น”
ส่วนผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษาในการติดตั้งระบบเตือนภัยหรือการใช้อาคาร สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สมาคมผู้ตรวจสอบอาคารฯ 0-2184-4612, สมาคมสถาปนิกสยามฯ 0-2319-6555และ สมาคมวิศวกรรมสถานฯ 0-2319-2410-3

***แฉอาคารกว่า 2,000 แห่งไม่ปลอดภัย

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าของอาคารสูงกว่า 2,000 ราย (ยื่นมาแล้วกว่า 5,900 อาคาร) ไม่ส่งรายงานการตรวจสอบอาคาร ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบอาคารสูง ซึ่งเลยกำหนดที่กฎกระทรวงบังคับใช้มา 1 ปีแล้วว่า ตนจะกำชับไปยังสำนักงานเขตต่างๆ ให้เร่งลงไปแจ้งให้เจ้าของอาคารทราบ เพื่อให้ดำเนินการหาผู้ตรวจสอบอาคารและส่งรายงานการตรวจสอบอาคารมาที่ กทม. ไม่เช่นนั้น กทม.ต้องจำเป็นดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ขณะเดียวกันสั่งกำชับให้แต่ละเขตเฝ้าระวังอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย เพราะมีความล่อแหลมที่จะเกิดเพลิงไหม้ โดยในวันที่ 13 ม.ค. จะเชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ซักซ้อมการหนีไฟครั้งใหญ่ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะรับทำคดีซานติก้า ผับ ปลัด กทม. กล่าวว่า ต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในส่วนของกทม.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ โดยตนมอบให้นางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองปลัดกทม. ไปชี้แจงในรายละเอียดแล้ว

***มท.1สั่งกทม.-กรมโยธาฯสรุปผลด่วน

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการป้องกันอุบัติภัยกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง(ปค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง(ยธ.)ว่า หลังจากหารือเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ กระทรวงมหาดไทย จะออกกฎกระทรวงในการวางมาตรการป้องกันโดยเฉพาะการกำหนดประตูเข้า-ออก ทางหนีไฟ อุปกรณ์ดับเพลิง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อเติมอาคาร เรื่องนี้กทม.ต้องเข้าไปหาข้อยุติและมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่สำหรับการออกแบบร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังจากนั้น 1 เดือนให้รายงานกลับมาที่ตนอีกครั้ง
“ถึงแม้จะมีพ.ร.บ.ควบคุมอาคารอยู่แล้ว แต่ต้องไปดูว่าได้ดำเนินการตามแบบหรือไม่ นอกจากนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ไปสุ่มตรวจสถานบริการแห่งอื่นว่ามีที่ไหนต่อเติมอาคารโดยไม่มีการขออนุญาต ซึ่งจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย” รมว.มหาดไทยกล่าว
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมจะหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่ที่รู้มาว่าอาคารดังกล่าวมีการต่อเติมจาก 1 ชั้นเป็น 3 ชั้น และต้องไปตรวจสอบว่าถูกกฎหมายหรือไม่ และต่อไปต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ส่วนจะมีการถอนใบอนุญาตหรือไม่ ต้องไปดูรายละเอียด นอกจากนี้ จะกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ลงไปตรวจสอบเรื่องการออกใบอนุญาตสถานบริการและเชิญผู้ประกอบการมาร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางในการดูแลผู้ที่มาใช้บริการ ทั้งนี้ ถ้าตรวจพบว่าสถานบริการใดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเข้มงวด

**”มาร์ค”เผยเหตุเพลิงไหม้ “ซานติก้า” ไม่คืบ
นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องที่หน่วยงานต่างๆรายงานเข้ามา โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ และเรื่องของเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีเพลิงไหม้ได้รับรายงานเบื้องต้น เกี่ยวกับ ซานติก้าผับ ครม.ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการร่วมระหว่าง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรมสรุปเรื่องทั้งหมด ทั้งในแง่สาเหตุและข้อกฎหมาย รวมถึงมาตรการที่จะต้องปรับปรุงต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอีกซึ่งขณะนี้ ยังมี 2 ประเด็นที่คณะกรรมการต้องไปสอบรายละเอียด คือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวอาคารทั้งหมดว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ หากถูกต้องก็ต้องทำข้อเสนอต่อไปว่าจะปรับปรุงมาตรฐานอย่างไร อีกส่วนคือ ปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังคลาดเคลื่อนกันอยู่ว่า ที่สุดแล้วการขออนุญาตประกอบกิจการเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะมีการร้องไปถึงศาลปกครอง ขณะเดียวกันเข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยมีการดำเนินคดีกับทางผู้ประกอบการอยู่ ทั้งนี้กำลังให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงมหาดไทยสรุปข้อเท็จจริงมาด้วย

****ตร.ตรวจหาหลักฐานเพิ่ม

ที่ซานติก้าผับ พ.ต.อ.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (รอง ผบก.น.5) หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ พร้อมกองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ได้เข้าตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุอีกครั้ง โดยประสานให้ บริษัท โฟกัส ไลท์ซาวด์ ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับทำเอฟเฟกต์ในงานคืนวันเกิดเหตุ และบริษัท เมจิก ไลท์ แอนด์ ซาวด์ นำตัวอย่างเครื่องยิงเปเปอร์ชู้ต จำนวน 2 ตัว ซึ่งเป็นยี่ห้อเดียวกับที่บริษัท โฟกัส ใช้ในจุดเกิดเหตุมาลองยิงกระดาษเปรียบเทียบด้วยเพื่อจะได้เห็นจุดที่มีการวางเอฟเฟกต์ให้เจ้าหน้าที่พฐ.ได้เห็นอยู่จุดใดบ้าง เบื้องต้นพบว่ามีอยู่ 2 จุด คือ จุดหน้าเวที 4 ตัว และจุดกลางเวที 5 ตัว รวมทั้งหมด 9 ตัว โดยถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ ซึ่งต้องรอตรวจสอบในส่วนอื่นๆ รวมถึงไฟเย็นที่มีการแจก ซึ่งต้องรอดูผลอีกครั้ง
ในส่วนของนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ อายุ 31 ปี กรรมการผู้จัดการ บ.ไวท์ แอน บราเธอร์ (2003) จำกัด ที่เปิดกิจการซานติก้า ผับ นั้น ถึงขณะนี้ยังไม่มาให้ปากคำ โดยให้ พ.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผกก.สน.ทองหล่อ ออกหมายเรียกอีกครั้งไปแล้ว คาดว่า วันที่ 9 ม.ค.น่าจะมาพบพนักงานสอบสวน หากยังไม่มาก็อาจต้องขออนุมัติศาลออกหมายจับ

****สภาทนายฯ ชี้ช่องฟ้องผับนรก
ที่สภาทนายความ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า สภาทนายความจัดให้บริการรับเรื่องร้องขอความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ โดยผู้เสียหายอาจเป็นญาติหรือเป็นผู้ประสบภัยเอง ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไขยากจน หรือไม่มีทรัพย์สินเพียงพอ สภาทนายความจะรับว่าความให้ แต่ถ้าต้องการคำปรึกษาก็สามารถมาปรึกษาได้ทันทีไม่มีเงื่อนไข
" ขณะนี้สภาทนายความได้รับข้อมูลจากผู้เสียหายมาบ้างแล้วว่าซานติก้าอาจมีข้อบกพร่องจากโครงสร้างการออกแบบอาคาร กล่าวคืออาจมีการ ใช้อาคารผิดประเภท และ ต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากตรวจสอบแล้วเป็นเช่นนั้นจริงก็จะนำไปสู่มูลคดีที่เราจะฟ้องร้องฐานละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และฟ้องคดีตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีการดำเนินคดีที่รวดเร็ว และสามารถเรียกค่าเสียหายทางจิตใจได้ "
กำลังโหลดความคิดเห็น