ทุ่มงบ 30 ล้าน เร่งแผนงานประชาสัมพันธ์ ก่อสร้างรัฐสภาใหม่ พร้อมทำความเข้าใจชาวบ้าน ย่านค่ายทหารแถวเกียกกาย ภายใน 5 ปี เล็งวางศิลาฤกษ์สิ้นปีนี้ ด้าน ส.ส.เพื่อไทยยังกล้า เรียกร้องขอจัดสรรพื้นที่สร้างโรงแรม อ้างทำงานหนักประชุมสภาต่อเนื่องไม่ต้องเดินทางไปกลับ ฝ่าย “อภิวันท์” เบรกหัวทิ่ม ระบุไม่มีความจำเป็น ชี้ ส.ส.มีเงินเดือนดูแลตัวเองได้
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม โดยนางสุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาพิจารณ์และประชาสัมพันธ์ฯ ได้รายงานผลการลงไปดูพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณที่ดินทหาร ย่านเกียกกาย บางซื่อ กทม.ว่า ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเหตุผลที่รัฐสภามีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่นี้
อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะการอธิบายถึงมติทางประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ และการท่องเที่ยว ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเน้นเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการ
จากนั้นนางสุกัญญาได้เสนอแผนการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ต่อเนื่อง 5 ปี (2552-56) ปีละ 4 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท เป็นงบเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมอนุมัติแผนและงบประมาณดังกล่าว แต่เสนอให้จัดงบปี 52 เป็น 7 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจให้มากที่สุด แต่ให้อยู่ในวงเงิน 20 ล้านบาทรวม 5 ปีเท่าเดิม สำหรับปี 56 ให้เพิ่มงบประมาณอีก 10 ล้านบาท เพราะเมื่ออาคารรัฐสภาสร้างเสร็จแล้ว ต้องจัดพระราชพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เชิญทูตานุทูต และการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น รวมงบประมาณที่ใช้ประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น 5 ปี จำนวน 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุม กรรมการในส่วน ส.ส.เสนอความเห็นในส่วนอาคารและสถานที่ โดยนาย สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชัยบอกว่า ถ้ารัฐบาลไม่หนุนให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ก็จะไม่หนุนนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เช่นกัน ทั้งนี้อยากเสนอว่า การจะจัดพื้นที่ในห้องทำงานของสมาชิกให้มากถึง 72 ตารางวา นั้น ตนได้สอบถามความเห็นของเพื่อนทั้งส.ส.บางส่วนเห็นว่า ควรลดพื้นที่ห้องทำงานลงเหลือเพียงครึ่งเดียวก็พอ ส่วนที่เหลือให้จัดสร้างเป็นที่พักลักษณะคล้ายโรงแรมให้สมาชิกได้ใช้ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปกลับบ้านที่ต่างจังหวัดหากมีประชุมสภาต่อเนื่อง ซึ่งรัฐสภาอาจเก็บค่าบริหารในลักษณะเป็นสวัสดิการราคาพิเศษเช่น ให้เช่าพักในราคาคืนละ 500 บาท
ขณะที่ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวสนับสนุนและเสนอว่า กว่าจะได้เป็น ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่ในสภานั้นยากลำบากมาก เมื่อเข้ามาได้แล้วรัฐสภาควรอำนวยความสะดวกให้สมาชิกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะร้อยละ 30 ที่เข้ามาจะเป็นส.ส.หน้าใหม่ รัฐสภาควรจัดสวัสดิการให้สมาชิก
อย่างไรก็ดี พ.อ.อภิวันท์ ท้วงติงว่า จากการพิจารณาร่างขอบเขตของโครงการ (ทีโออาร์) เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างที่พักให้สมาชิก เพราะเงินเดือนที่ได้รับสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพียงพอที่จะนำไปจ่ายเป็นค่าที่พักหรือโรงแรมได้ หรือถ้าจะทำจริงๆ ควรสร้างแยกออกมาต่างหาก เพราะรัฐสภาควรเป็นที่ทำงานเพียงอย่างเดียว
ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกให้สมาชิกยังไม่นิ่ง ส.ส.มีความเห็นที่หลากหลายกันอยู่ แต่อยากให้พิจารณาว่าประเด็นไหนควรทำการประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะไม่เช่นนั้นผลที่คาดหวังว่าจะเป็นบวกอาจเป็นลบก็ได้ ส่วนนายทวีจิตร จันทรสาขา กรรมการฯ และนายกสมาคมสถาปนิกสยาม กล่าวว่า หากต้องสร้างโรงแรมจริงอาจให้ย้ายออกไปอยู่บริเวณใกล้ๆ กับรัฐสภา เพราะยังมีพื้นที่ใกล้เคียงเหลืออยู่สามารถดำเนินการได้
ก่อนปิดการประชุม พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะประชุมกันเพื่อสรุปทีโออาร์ครั้งสุดท้าย จากนั้นจะทำเรื่องขออนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และต้นเดือนมีนาคม จะได้บริษัทออกแบบอาคาร จากนั้นอีก 5 เดือนหรือประมาณต้นเดือนสิงหาคม จนถึงเดือนธันวาคม หรือในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวามหาราช อาจมีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งขั้นตอนกราบบังคมทูลในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นมีความเหมาะสมแล้ว
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีพ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม โดยนางสุกัญญา สุดบรรทัด ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาพิจารณ์และประชาสัมพันธ์ฯ ได้รายงานผลการลงไปดูพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริเวณที่ดินทหาร ย่านเกียกกาย บางซื่อ กทม.ว่า ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเหตุผลที่รัฐสภามีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่นี้
อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะการอธิบายถึงมติทางประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ และการท่องเที่ยว ตลอดจนการปลูกจิตสำนึกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเน้นเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินการ
จากนั้นนางสุกัญญาได้เสนอแผนการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ต่อเนื่อง 5 ปี (2552-56) ปีละ 4 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท เป็นงบเพื่อจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและรัฐสภา ซึ่งที่ประชุมอนุมัติแผนและงบประมาณดังกล่าว แต่เสนอให้จัดงบปี 52 เป็น 7 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าต้องทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจให้มากที่สุด แต่ให้อยู่ในวงเงิน 20 ล้านบาทรวม 5 ปีเท่าเดิม สำหรับปี 56 ให้เพิ่มงบประมาณอีก 10 ล้านบาท เพราะเมื่ออาคารรัฐสภาสร้างเสร็จแล้ว ต้องจัดพระราชพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เชิญทูตานุทูต และการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนั้น รวมงบประมาณที่ใช้ประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น 5 ปี จำนวน 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุม กรรมการในส่วน ส.ส.เสนอความเห็นในส่วนอาคารและสถานที่ โดยนาย สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายชัยบอกว่า ถ้ารัฐบาลไม่หนุนให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ก็จะไม่หนุนนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เช่นกัน ทั้งนี้อยากเสนอว่า การจะจัดพื้นที่ในห้องทำงานของสมาชิกให้มากถึง 72 ตารางวา นั้น ตนได้สอบถามความเห็นของเพื่อนทั้งส.ส.บางส่วนเห็นว่า ควรลดพื้นที่ห้องทำงานลงเหลือเพียงครึ่งเดียวก็พอ ส่วนที่เหลือให้จัดสร้างเป็นที่พักลักษณะคล้ายโรงแรมให้สมาชิกได้ใช้ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปกลับบ้านที่ต่างจังหวัดหากมีประชุมสภาต่อเนื่อง ซึ่งรัฐสภาอาจเก็บค่าบริหารในลักษณะเป็นสวัสดิการราคาพิเศษเช่น ให้เช่าพักในราคาคืนละ 500 บาท
ขณะที่ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวสนับสนุนและเสนอว่า กว่าจะได้เป็น ส.ส.เข้ามาทำหน้าที่ในสภานั้นยากลำบากมาก เมื่อเข้ามาได้แล้วรัฐสภาควรอำนวยความสะดวกให้สมาชิกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะร้อยละ 30 ที่เข้ามาจะเป็นส.ส.หน้าใหม่ รัฐสภาควรจัดสวัสดิการให้สมาชิก
อย่างไรก็ดี พ.อ.อภิวันท์ ท้วงติงว่า จากการพิจารณาร่างขอบเขตของโครงการ (ทีโออาร์) เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสร้างที่พักให้สมาชิก เพราะเงินเดือนที่ได้รับสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพียงพอที่จะนำไปจ่ายเป็นค่าที่พักหรือโรงแรมได้ หรือถ้าจะทำจริงๆ ควรสร้างแยกออกมาต่างหาก เพราะรัฐสภาควรเป็นที่ทำงานเพียงอย่างเดียว
ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกให้สมาชิกยังไม่นิ่ง ส.ส.มีความเห็นที่หลากหลายกันอยู่ แต่อยากให้พิจารณาว่าประเด็นไหนควรทำการประชาสัมพันธ์ออกไป เพราะไม่เช่นนั้นผลที่คาดหวังว่าจะเป็นบวกอาจเป็นลบก็ได้ ส่วนนายทวีจิตร จันทรสาขา กรรมการฯ และนายกสมาคมสถาปนิกสยาม กล่าวว่า หากต้องสร้างโรงแรมจริงอาจให้ย้ายออกไปอยู่บริเวณใกล้ๆ กับรัฐสภา เพราะยังมีพื้นที่ใกล้เคียงเหลืออยู่สามารถดำเนินการได้
ก่อนปิดการประชุม พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาศึกษาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จะประชุมกันเพื่อสรุปทีโออาร์ครั้งสุดท้าย จากนั้นจะทำเรื่องขออนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และต้นเดือนมีนาคม จะได้บริษัทออกแบบอาคาร จากนั้นอีก 5 เดือนหรือประมาณต้นเดือนสิงหาคม จนถึงเดือนธันวาคม หรือในช่วงวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 5 ธันวามหาราช อาจมีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งขั้นตอนกราบบังคมทูลในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้นมีความเหมาะสมแล้ว