xs
xsm
sm
md
lg

คูสึมากิ ‘จักรวาลทางเลือก’ ต้นแบบเมืองพลังงานสีเขียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทม์ - ชิน อาเบะ ไม่ได้รู้สึกแปลกประหลาดแต่อย่างใดที่คูสึมากิ เมืองเล็กๆ ที่เขาอยู่มาตลอดชีวิต ผลิตกระแสไฟฟ้าบางส่วนจากมูลโค เช่นเดียวกับภาพกังหันลมนับสิบตัวบนยอดเขากามิโซเดกาวะที่อุดมด้วยพืชพันธุ์ไม้

ส่วนเรื่องที่โรงเรียนของเขาใช้ไฟ 25% จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 420 แผงที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนนั้น นักเรียนไฮสกูลวัย 15 ปีผู้นี้บอกว่า “เป็นเรื่องปกติธรรมดาของที่นี่”

เพราะสำหรับอาเบะ เขาเติบโตขึ้นมาในจักรวาลทางเลือกที่อาจเป็นภาพในจินตนาการของอัล กอร์ เนื่องจากคูสึมากิที่มีประชากร 8,000 คน ได้แปลงสภาพตัวเองมาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้วกลายเป็นห้องวิจัยมีชีวิตสำหรับการพัฒนาแหล่งพลังงานที่หลากหลายและยั่งยืน

“ตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งหมดที่เราใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าคือน้ำมัน ผมไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าเราจะเปลี่ยนแปลงได้ถึงเพียงนี้” คาสึโนริ ฟูกาซาวากูชิ ชาวเมืองคูสึมากิที่ปัจจุบันเป็นข้าราชการของเมืองบอก

ในญี่ปุ่น ประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านพลังงานและต้องนำเข้าน้ำมันถึง 90% ของปริมาณทั้งหมดที่ใช้ คูสึมากิจึงถือเป็นแบบอย่างที่ดีของการพึ่งพิงตนเองด้านพลังงานอย่างยั่งยืน สัญญาณของการมุ่งเน้นความยั่งยืนทางธรรมชาติที่ครอบคลุมกว้างขวางมองเห็นได้จากยอดเขาไปจนถึงคอกวัวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นย่านการค้าท้องถิ่น

บนยอดเขากามิโซเดกาวะ กังหันลม 12 ตัว แต่ละตัวสูง 93 เมตร มีศักยภาพในการแปลงพลังลมเป็นกระแสไฟฟ้า 21,000 กิโลวัตต์ มากเกินพอสำหรับความต้องการของชาวเมือง ที่เหลือจึงส่งขายต่อให้ชุมชนใกล้เคียง

แต่ปัญหาก็คือ บางครั้งลมก็ไม่พัด โคนม 200 ตัวของคูสึมากิ ไฮแลนด์ ฟาร์ม จึงต้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระในการสร้างพลังงาน มูลโคเหล่านี้ถูกนำไปเข้ากระบวนการกลายเป็นปุ๋ยและก๊าซมีเทน โดยอย่างหลังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงงานชีวมวล

ใกล้ๆ กันมีโครงการระยะเวลาสามปีที่ได้ทุนสนับสนุนจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่ (นีโด) ของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งนำไม้สนมาผลิตแก๊สสำหรับโรงงานนมและชีส นอกจากนี้ ยังมีการนำเศษไม้อื่นๆ มาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาหุงต้ม เช่น ในโรงงานไวน์ โดยเมืองจะสนับสนุนเงิน 50,000 เยน (490 ดอลลาร์) ให้แก่ประชาชนที่ติดตั้งเตาที่ใช้เชื้อเพลิงนี้ สรุปได้ว่าตลอดปีที่แล้ว พลังงานสีเขียวช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 161% ให้แก่เมืองนี้

ผู้ผลักดันโครงการทั้งหมดเหล่านี้คือ เท็ตสึโอะ นากามูระ นายกเทศมนตรีของเมืองตั้งแต่ปี 1999 จนถึงเดือนสิงหาคม 2007 นากามูระ สัตวแพทย์และเกษตรกรที่มีพรสวรรค์ด้านการขาย ตัดสินใจเมื่อเกือบทศวรรษที่แล้วว่า คาสึมากิควรเป็นต้นแบบในการพัฒนาพลังงานด้วยตนเองสำหรับญี่ปุ่นทั้งประเทศ

“สำหรับผมมันชัดเจนมากว่าสภาพแวดล้อมและป่าจะเป็นปัญหาสำคัญในศตวรรษที่ 21”

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเตรียมแผนการร่วมงานและขอทุนสนับสนุนจากนีโด รวมถึงโตโฮกุ เดนเรียวกุ บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าของญี่ปุ่น เกี่ยวกับโครงการพลังงานยั่งยืน

และนับจากส่งมอบภารกิจต่อให้นายกเทศมนตรีคนปัจจุบัน ขณะนี้ นากามูระได้หันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในเมือง โดยแต่ละปี คูสึมากิต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 400,000 คน จาก 60,000 คนเมื่อสิบปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างชื่นชมและตะลึงพรึงเพริดกับความเป็นไปของเมืองนี้ และบางคนคิดว่าคูสึมากิควรเป็นต้นแบบของชุมชนอื่นๆ ของญี่ปุ่น

แต่เป้าหมายดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี ค่าที่ราคาน้ำมันร่วงลงเกือบ 75% ในรอบห้าเดือนที่ผ่านมา พลังงานยั่งยืนจึงมีความสามารถแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจน้อยกว่า และโครงการต่างๆ ทั่วโลกถูกชะลอออกไปหรือถึงขั้นพักไว้ก่อน

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของคูสึมากิยังอาจเป็นโครงการที่ยากที่พื้นที่อื่นจะเลียนแบบได้ โดยเฉพาะในขอบเขตกว้างขวาง การลงทุนของโครงการต่างๆ ของเมืองนี้ ซึ่งมาจากรายได้จากภาษีท้องถิ่น นักลงทุนเอกชน และรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง มีมูลค่าถึง 50 ล้านดอลลาร์ หรือ 6,000 ดอลลาร์ต่อหัว เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับหนึ่งครัวเรือนที่มีสมาชิกสี่คนในโตเกียวภายในเวลากว่า 7 ปี

เจ้าหน้าที่ของเมืองคาสึมากิบอกว่ายังไม่มีแผนผุดโครงการเพิ่ม เพียงแต่คิดว่าจะใช้ประโยชน์จากโครงการที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น การขอทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอาจทำได้ยาก เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล และเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย และแม้การใช้พลังงานท้องถิ่นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนประชากรของคูสึมากิกำลังลดลง เนื่องจากคนหนุ่มสาวอพยพออกไป ดังนั้น หากปราศจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและประชากร อีกไม่กี่ปีกังหันลมจะผลิตพลังงานเพื่อประชาชนจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

ฟูกาซาวากูชิ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น กล่าวขณะขึ้นนั่งบนโตโยต้า พรีอุสว่า ตอนที่ย้ายไปโตเกียวขณะที่ยังหนุ่มๆ เขาไม่เคยเบื่อเลยที่จะเล่าให้คนอื่นฟังว่าเขามาจากไหน เพราะไม่มีใครรู้จักคูสึมากิ แต่ตอนนี้ เมืองนี้เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ ทว่า ต่อไปในอนาคตคนญี่ปุ่นจะรับรู้ว่าคูสึมากิเป็นเมืองต้นแบบชุมชนปลอดน้ำมัน หรือว่าเป็นเพียงการทดลองที่ผิดพลาดทั้งที่มีความตั้งใจสูงกันแน่นั้น บางทีราคาน้ำมันอาจเป็นผู้ให้คำตอบในเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น