xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จับมือ มทร.ธัญบุรี ทำกังหันผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำต้นแบบ‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพกังหันลมผลิตไฟฟ้าจากเว็บไซต์ดังกล่าว
กทม.จับมือ มทร.ธัญบุรี ทำกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำต้นแบบ พร้อมติดตั้งในสวนลุมต้นปีหน้า ปลัด กทม.เชื่อไม่เกิน 3 เดือนประเมินผล พร้อมเตรียมขยายไปสวนสาธารณะ-หน่วยงานราชการอื่นของ กทม.หากได้ผลดี

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่หน้าองค์พระ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัด กทม.พร้อมนายปานเพชร ชินินทร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดทำกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร”
 
โดย นายพงศ์ศักติฐ์ กล่าวว่า ทางกทม.ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในปัจจุบันผิดปกติ และให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน จึงร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี ทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงพลังงานลมจากธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในสวนสาธารณะ
 
โดยการจัดทำต้นแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ ขนาด 1 กิโลวัตต์ จำนวน 3 ชุด ในสวนลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งจะติดตั้งเสร็จสิ้นภายในวันที่ 14 ก.พ. 2552 และหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะขยายผลสู่สวนสาธารณะอื่นๆ หรือหน่วยงานราชการใน กทม.ต่อไป แต่ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองทางด้านเทคนิค ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากทาง มทร.ธัญบุรี ได้ทำการทดลองมาพอสมควรแล้ว คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือนจะสามารถประเมินผลได้

ด้าน นายปานเพชร กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มีนโยบายเรื่องพลังงานทดแทน จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้น ซึ่งได้มีการติดตั้งเพื่อใช้งานจริงอยู่ที่มหาวิทยาลัย และที่เกาะล้าน จ.ชลบุรี จึงได้ประสานมาทาง กทม.เพื่อขยายผลไปติดตั้งในสวนสาธารณะ แต่เนื่องจากความเร็วลมในประเทศไทยต่ำกว่าในต่างประเทศ จึงต้องพัฒนากังหันลมให้นำมาใช้งานได้ ซึ่งกังหันลมที่นำไปติดตั้งจริงจะมีลักษณะเป็นเสาเดี่ยว ความสูง 12 เมตร สำหรับวัสดุจะใช้ที่ผลิตในประเทศถึง 90% ทำให้มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อเครื่อง
 
ส่วนจะสามารถประหยัดพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพภูมิอากาศ และความเร็วลมที่เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ แต่ในเมืองใหญ่จะมีข้อได้เปรียบ คือ บริเวณอาคารและท้องถนนมีอุณหภูมิสูง ส่วนในสวนสาธารณะมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิมาก จึงเกิดแรงลมมากตามไปด้วย แต่ถ้าหากกังหันลมไม่สามารถทำงานได้ ก็จะมีระบบอัตโนมัติเพื่อตัดไฟจากสายส่งปกติมาใช้ได้ทันที ทำให้ไฟฟ้าในสวนสาธารณะไม่ดับ และใช้งานได้ตลอดเวลา และเชื่อว่าโครงการนี้จะบรรลุผล เพราะจากการทดลองใช้งานจริงอยู่ที่มหาวิทยาลัย พบว่าสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 50% ส่วนผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thaiwindy.com






กำลังโหลดความคิดเห็น