xs
xsm
sm
md
lg

จุดเหมือนและความต่าง การแถลงนโยบายรัฐบาลสมชาย กับรัฐบาลอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ในการแถลงนโยบายของรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 กับการแถลงนโยบายของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 มีทั้งจุดเหมือนและความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังนี้

จุดเหมือน

1. รัฐบาลทั้งสองชุด มีกลุ่มคนใส่เสื้อต่างสีมาชุมนุมต่อต้าน ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ตั้งแต่คืนก่อนหน้าวันแถลงนโยบาย โดยรัฐบาลสมชายถูกคนเสื้อเหลืองปิดล้อม ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกคนเสื้อแดงปิดล้อม

2. ประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่เรียกประชุม กำหนดนัดหมายการประชุม กำหนดสถานที่ประชุม หรือแม้แต่เลื่อนการประชุม งดการประชุม หรือย้ายสถานที่ประชุม เป็นคนๆ เดียวกัน คือ นายชัย ชิดชอบ

3. สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. จำนวน 400 กว่าคน และ ส.ว. จำนวน 150 คน ต่างก็เป็นบุคคลชุดเดียวกัน เพียงแต่บุคคลชุดเดียวกันนี้ ผลัดเปลี่ยนไปทำหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ รักษาความสงบ และดูแลให้ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี เข้าไปประชุมแถลงนโยบายก็เป็นบุคคลชุดเดียวกัน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชื่อ “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ”, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ชื่อ “พล.ต.อ.สุชาติ เหมือนแก้ว” รวมทั้ง มีผู้ทำหน้าที่โฆษกแถลงข่าวและความคิดเห็นของตำรวจ ชื่อ“พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมโน” รอง ผบช.น เหมือนกันอีกด้วย

ความต่าง

1. การเข้าแถลงนโยบายของรัฐบาล “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” 7 ต.ค. เป็นเหตุให้มีประชาชนบาดเจ็บหลายร้อยคน ตาย 2 คน บาดเจ็บสาหัสหลายคน เช่น แขนขาด ขาขาด ตาหลุด สมองพิการ ฯลฯ เพราะได้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดทางให้ ส.ส. เข้าไปร่วมประชุมในอาคารรัฐสภา

แต่การแถลงนโยบายของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” 30 ธ.ค. ได้ใช้วิธีเลื่อนการประชุม และย้ายสถานที่ประชุม ทำให้ไม่มีคนบาดเจ็บบาดล้มตาย แต่อาจจะมีผู้บาดเจ็บทางใจหลายคน ซึ่งล้วนเป็นแกนนำคนเสื้อแดง รวมถึงนายใหญ่-นายหญิง ที่รู้สึกเจ็บใจและปวดร้าวในความคิด ที่รู้ไม่ทันการยอมเสียหน้าของรัฐบาล แต่ไม่ยอมใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชนเสื้อแดง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชน

2. วันที่ 7 ต.ค. ประเทศไทยมีนายกฯ ชื่อ “สมชาย” ที่ชื่อมีความหมายว่า มีความเป็นผู้ชาย หรือสมกับความเป็นผู้ชาย แต่ในความจริงกลับมีพฤติกรรมแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังการใช้กำลังสลายการชุมนุมของประชาชนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สอบสวน พบว่า เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งการอย่างสำคัญ ก่อนที่ตนเองจะใช้สิทธิพิเศษ หลบหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกจากอาคารรัฐสภาไปพร้อมบุตรสาว

แต่ในวันที่ 30 ต.ค. นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ชื่อ “อภิสิทธิ์” ซึ่งชื่อมีความหมายถึงการมีสิทธิพิเศษ เหนือคนทั่วๆ ไป แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ยอมทำตัวและใช้อภิสิทธิ์เหนือการชุมนุมของคนเสื้อแดง ไม่ไปสลายการชุมนุม ไม่ใช้ตำรวจบุกเข้าไปทำลายหรือเปิดทางให้ตนเองเข้าสภา แต่ยอมเสียหน้า (ถ้าคิดว่าเสียหน้า) ย้ายสถานที่ประชุม โดยจัดแถลงนโยบายรัฐบาลที่กระทรวงการต่างประเทศ

3. หัวหน้ารัฐบาลทั้งสองชุด มีวัยวุฒิต่างกัน

นายสมชาย เป็นนายกรัฐมนตรีในวัยเกินทำงาน คือ 60 เศษ ในขณะที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ในวัยทำงาน คือ 44 ปี

แต่ด้วยวัยที่แตกต่าง และด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง ก็ไม่ได้ทำให้นายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความคิดและพฤติกรรม สมวัย สมสถานะภาพ สมสถานการณ์ เหมือนกับคนเป็นนายกฯ ที่หนุ่มกว่า

และวันเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ไม่นานนัก คงจะทำให้นายสมชายต้องแก่ และตายไปกับความทรงจำอันเลวร้าย จากการที่เคยเป็นนายกฯ ผู้ทำให้ประชาชนต้องถูกทำร้าย บาดเจ็บ ล้มตาย พิการ แขนขาด ขาขาด รวมทั้งประสบการณ์ในอดีตที่สาวหน้าห้องต้องตายทั้งกลม

สิ่งเหมือนในความต่าง

ประการแรก น่าสนใจว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลทั้งสองชุด มีประธานรัฐสภาเป็นคนๆ เดียวกัน คือ นายชัย ชิดชอบ

พฤติกรรม วิธีคิด และความเป็นมนุษย์ของนายชัย จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่า เหตุใด จึงสามารถแสดงออกถึงการตัดสินใจ และการกระทำที่แตกต่างกันอย่างหลังเท้าเป็นหน้ามือ

เมื่อ 7 ต.ค. นายชัย ยืนยันว่า จะต้องประชุมในรัฐสภา โดยไม่มีการเลื่อนวันประชุม และเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุม แต่ 30 ธ.ค. นายชัยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในหัว ทั้งความคิดและการตัดสินใจทันที โดยสามารถยืดหยุ่นทั้งเวลา วัน และสถานที่ในการประชุมแถลงนโยบายรัฐบาล

น่าคิดว่า จะเป็นเพราะผู้เป็นประธานในวัยกว่า 70 ปี ได้บทเรียนจากเหตุการณ์เข่นฆ่าทำร้ายประชาชน 7 ต.ค. หรือจะเป็นเพราะตำแหน่งประธานรัฐสภาที่นายชัยนั่งทับอยู่ ไม่ได้ทำให้นายชัยมีความหมายของการเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอย่างแท้จริง เพราะต้องทำตามความต้องการของนายกรัฐมนตรีหรือประมุขของฝ่ายบริหาร

ถ้านายกฯ เลือกประพฤติตน ไม่สมกับความเป็นชาย ประธานรัฐสภาก็สนองได้

หรือ ถ้านายกฯ เลือกที่จำธำรงตนอย่างไม่สนกับการมีอภิสิทธิ์ ประธานรัฐสภาก็จัดให้


ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเป็นเฉพาะประธานรัฐสภาที่ไม่มีจุดยืน ไม่มีกระดูกสันหลัง หรือเป็นเพราะระบบรัฐสภาโดยรวม ที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส. แล้วให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากกว่าพรรคอื่นๆ เป็นคนกำหนดตัวผู้เป็นประธานรัฐสภา ในขณะเดียวกัน หัวหน้าพรรคก็จะไปเป็นนายกรัฐมนตรี

วิธีการเช่นนี้ ทำให้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ต้องได้รับอาณัติจากหัวหน้าพรรคแกนนำ ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี ไปโดยปริยาย

ทำให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า ระบบและวิธีการแบบนี้ เราจะได้ฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส.) ที่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบ ดุลและคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้จริงๆ หรือไม่

ระบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง ที่ให้ประชาชนเลือกฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี) โดยตรง โดยแยกออกมาจากการเลือกฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส.) เพื่อให้ได้ผู้แทนเข้ามาทำงานในแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน และไม่ถูกครอบงำ จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่

ถ้าเรายังเลือก ส.ส.อย่างทุกวันนี้ โดยให้ ส.ส.ไปเลือกนายกฯ และประธานรัฐสภา โดยบังคับ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค พรรคขับ ส.ส.ออกจากพรรคได้ และนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เมื่อการเมืองยังต้องพึ่งพาเงินทุนจำนวนมากเช่นนี้ เราก็อาจจะโชคร้าย ได้นายทุนเจ้าของพรรค ส่งคนลงสมัคร ส.ส. หรือซื้อ ส.ส. แล้วให้ ส.ส.เลือกตัวเองเป็นนายกฯ และเลือกใครอีกคนที่ตนเองไว้ใจเป็นประธานรัฐสภา เหมือนระบอบทักษิณอีกก็ได้

ประการต่อมา คือ ตำรวจ ที่เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน ที่ปฏิบัติการทั้งในวันที่ 7 ต.ค. และ 30 ธ.ค.

เมื่อ 7 ต.ค. ตำรวจกลุ่มนี้ สามารถเดินหน้าปราบปรามประชาชน ยิงระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนอย่างเลือดเย็น อำมหิต บ้าคลั่ง แต่เมื่อ 30 ธ.ค. เวลาผ่านไปเพียงสองเดือน ตำรวจกลุ่มนี้เหมือนกลับชาติมาเกิดใหม่เป็นผู้เป็นคน

ตำรวจกลุ่มเดิม แต่ดูจะมีเหตุมีผลมากขึ้น มีความประนีประนอม มีความเป็นคน สมกับรากศัพท์ POLIS แปลว่า เมือง ส่วน MAN แปลว่า คน รวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า “คนของเมือง”

น่าคิดว่า ในความเหมือนของกลุ่มคนที่เป็นตำรวจระดับสั่งการ กับพฤติกรรมที่แตกต่างจากเดิมนั้น สะท้อนหรือประจานว่า พฤติกรรมแบบเดิมนั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ แต่ปฏิบัติตามคำสั่ง เพื่อลาภ ยศ และความเอ็นดูจากนักการเมือง ใช่หรือไม่

ทำอย่างไรที่จะได้ตำรวจที่เป็น “คนของเมือง” ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตสำนึกรับใช้ประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายบ้านเมือง มิใช่เป็น “คนของนักการเมือง” หรือ “คนของผลประโยชน์”


การกระจายอำนาจเพื่อให้ตำรวจเป็นคนของเมือง หรือคนของจังหวัดต่างๆ โดยไม่ผูกรวบรวมกันเป็นกองทัพเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่กระจายให้เป็นคนของเมืองต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเมืองมีส่วนร่วมในการควบคุมดูแล ให้คุณให้โทษ และตรวจสอบการทำงานของตำรวจไทย

จะไม่มีการย้ายตำรวจชั่วข้ามเมืองหรือข้ามเขตจังหวัด ถ้าเป็นตำรวจอยู่จังหวัดเดิมไม่ได้ ประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับตำรวจชั่วเหมือนกัน

จาก 7 ต.ค. 51 ถึงวันนี้ เป็นบทเรียนเพียงพอแล้ว ที่เราจะต้องปฏิรูปโครงสร้างตำรวจอย่างจริงจัง

หวังว่า ความกล้าที่จะทำงานใหญ่ๆ หรือปฏิรูปบ้านเมืองให้ดีกว่าเก่า จะเป็นความต่างสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” พึงมีเหนือรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น