xs
xsm
sm
md
lg

ประชาธิปัตย์กับทหารประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

พรรคประชาธิปัตย์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยกลุ่มเสรีนิยม (Liberal) นำโดยนายควง อภัยวงศ์ หนึ่งในแกนนำคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ร่วมกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมคิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่ครั้งยังเรียนหนังสือในฝรั่งเศสที่มักเจอกันที่ร้านกาแฟ “คาเฟชูเฟ” และนายควง อภัยวงศ์ เคยได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตรี และปฏิบัติหน้าที่เป็นราชองครักษ์ในคราวสงครามกรณีพิพาทอินโดจีน ฝรั่งเศส พ.ศ. 2484

นายควง อภัยวงศ์ เคยเป็นรัฐมนตรีหลายรัฐบาลที่ผู้นำเป็นคณะราษฎร์ เห็นความแตกแยกในความคิดของกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะในห้วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป.ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและให้กองทัพญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางทำสงครามกับพันธมิตร เพราะไม่ต้องการที่จะเห็นประเทศถูกย่ำยีเหมือนกับสิงคโปร์ และมลายูของอังกฤษและเกิดมีกลุ่มเสรีนิยมขึ้นคานอำนาจฝ่ายจอมพล ป.ที่สร้างลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหารขึ้นกับฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ที่เป็นสังคมนิยมซึ่งขณะนั้นเกิดพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศไทยอย่างลับๆ แล้ว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงก่อตั้งคือนายควงที่ต้องการคานอำนาจทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรง จึงรวมตัวกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นรองหัวหน้าพรรค และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรครวมทั้งนักการเมืองเสรีนิยมอื่นๆ นอกจากนี้แล้วยังมีปัญญาชนเข้าเป็นสมาชิกอีกมาก ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เปรียบเสมือนโรงเรียนนักการเมืองไทย เพราะมีนักการเมืองดังหลายคนทั้งอดีตและปัจจุบันเคยเป็นสมาชิกพรรค เช่น นายสมัคร สุนทรเวช หรือร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นต้น

หลักการเสรีนิยมในยุค พ.ศ. 2490 ล่อแหลมต่อการถูกวิจารณ์ว่าเป็นสังคมนิยมซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ได้ง่าย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องต่อสู้กับทั้งฝ่ายขวาจัดที่นำโดยกลุ่มทหารเผด็จการ และกลุ่มซ้ายจัดที่นิยมคอมมิวนิสต์นั้นทำให้การแสดงความเป็นเสรีประชาธิปไตยมีความละเอียดอ่อนมาก ทำให้ยากที่จะทำให้เห็นชัดเจนว่าพรรคเป็นฝ่ายไหนเพราะบางครั้งต้องต่อต้านความไม่เป็นธรรมในสังคมของฝ่ายเผด็จการทหารก็เสมือนเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีจุดร่วมเดียวกัน แต่หลักการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยคือ ต่อต้านกลุ่มศักดินาทุนนิยมที่มองว่าเอาเปรียบสังคมฐานล่าง

แต่แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนั้นชื่อว่าเป็นกลุ่มศักดินา และเป็นชนชั้นนำในสังคมทั้งทางการเมืองและธุรกิจจึงเกิดจุดต่าง

อย่างไรก็ดี กลุ่มเสรีนิยมและกลุ่มสังคมนิยมมีจุดร่วมคือ ต่อต้านเผด็จการทหารซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แต่เกิดขึ้นลักษณะต่างๆ เช่น ยึดอำนาจแล้วเป็นรัฐบาลเอง เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีการเลือกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยสภาฯ และในสภาฯ ก็จะมีพรรคการเมืองที่ทหารจัดตั้งเองหรือให้การสนับสนุน รวมทั้งการสร้างระบบวุฒิสภาที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งในยุค 2490 เรียกว่า ส.ส.ประเภท 2 เช่น การเลือกตั้ง พ.ศ. 2500 พรรคมนังคศิลาชนะพรรคประชาธิปัตย์ไม่กี่ที่นั่ง ฝ่ายรัฐบาลทหารพยายามที่จะเพิ่ม ส.ส.ประเภท แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ และการเลือกตั้งครั้งนั้นนำสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาล จอมพล ป.และนำสู่การรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

พรรคประชาธิปัตย์ต่อสู้กับเผด็จการทหารมาตลอด เช่น กรณีม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้หนังสือสยามรัฐที่ท่านก่อตั้งขึ้นวิจารณ์จอมพลสฤษดิ์ หลายครั้งและมีเรื่องเล่าว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร โจมตีท่านลักษณะก้าวร้าว ท่านก็ตอบโต้ว่า ไม่ต้องการที่เสวนากับคนคนนั้นเพราะท่านมีทั้งวัยวุฒิ และชาติวุฒิที่สูงกว่า

จึงกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์มีหลัก Check and Balance ตามลัทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยคือ เสรีภาพในการตรวจสอบซึ่งเกิดขึ้นในอังกฤษครั้งกษัตริย์จอห์นแห่งอังกฤษใน ค.ศ. 1215 ทรงถูกเหล่าอัศวินขอให้พระองค์ทรงสละสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ลง และห้ามไม่ให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจข่มเหงรังแกประชาชนอันเป็นหัวใจของมหากฎบัตรหรือ Magna Carta

อาจจะอนุมานได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งปัจจุบันมีอายุยืนยาวมากที่สุด ผ่านปัญหามามากมาย โดยเฉพาะปัญหาคดี ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ตกเป็นจำเลยสังคม และน่าจะเป็นกรณีศึกษาและบทเรียนที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสูญเสียอำนาจความชอบธรรม และต้องยุบสภาฯ ในปี 2539 เพราะเป็นการโกงโดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเอาที่ดินให้พรรคพวก

มีข้อสังเกตว่า ทหารอาชีพในกองทัพเองก็เข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมาช้านานแล้ว ตั้งกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ที่คณะนายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งคิดทำการล้มล้างราชบัลลังก์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวกันว่าเป็นต้นแบบคณะราษฎร์ที่พูดว่า “ถ้าไม่มีพวกท่าน ก็ไม่มีพวกเรา”

ทหารอาชีพหลายคนดิ้นรนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในกองทัพ เพราะตั้งแต่ยุค 2490-2516 นั้นเรื่องเส้นสายถือเป็นหลักในกองทัพ คนเก่งถูกใช้งานเพียงแต่ระดับพันเอก ครั้นจะเป็นนายพลต้องเอาใจประจบสอพลอนาย ทำให้ขวัญกำลังใจกองทัพตกต่ำ

กรณี 14 ตุลาคม 2516 ทหารหลายคนได้อานิสงส์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็เพราะจอมพลถนอม และจอมพลประภาสซึ่งต่ออายุราชการสองวาระ ต้องออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน

กลุ่มทหารประชาธิปไตยเริ่มเห็นได้จากการที่พรรคประชาธิปัตย์เชิญ พล.อ.วิจิตร สุขมาก ทหารอาชีพได้รับตำแหน่ง รมว.กห.หลังจากเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 และพล.อ.หาญ ลีลานนท์

ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพรรคประชาธิปัตย์จะมีลักษณะเดี๋ยวรักเดี๋ยวเกลียด แต่คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจทหารดี และทหารก็เข้าใจพรรคประชาธิปัตย์ดี โดยเฉพาะยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกลาโหมในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ 2540 แต่ท่านสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้ความสำคัญกองทัพในเรื่องสวัสดิการแนวทางในการประหยัดอย่างมีหลักเกณฑ์ท่านให้คืนงบราชการลับทั้งหมด

ทหารทุกคนกลัวความไม่ยุติธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งในอดีตมักขาดหลักการพิจารณาความสามารถที่แท้จริง ครั้นมาในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแม้ว่าไม่ได้ควบ รมว.กห. แต่ก็มีอิทธิพลแทรกแซงจนเกิดการต่อต้านจากกลุ่มทหารอาชีพอีกวาระหนึ่ง พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ขณะเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ถึงกับแถลงการณ์ประณามการแทรกแซงของนักการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ออกประกาศเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เป็นทหารของกลุ่มการเมือง

จึงถือว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์เชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. และประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อถวายงานสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ป่าและพันธุ์สัตว์ จะทำให้เกิดการประสานงานด้านความมั่นคงในทุกส่วนราชการ และโครงการพระราชดำริต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทหารต้องการคือ ความสามัคคีในกองทัพที่ระส่ำระสายมาตลอดห้วง 2 ปีที่ผ่านมา และพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม พ.ศ. 2551 จะทำให้เกิดความยุติธรรมในกองทัพค่อนข้างที่จะชัดเจน เพราะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยเป็นอดีต ผบ.ทบ.ย่อมรู้ว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อย่าเพิ่งรีบร้อนปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ภาคใต้ เช่นนโยบายศูนย์การบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีเอกภาพกว่าห้วง พ.ศ. 2545-2548 และควรจะเชื่อ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปล.กห.ที่ขอให้ระงับการที่จะตั้งองค์ขึ้นแทน ศอบต. ไว้ก่อนเพราะโมเมนตัมของการแก้ปัญหากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาและขออย่าได้เป็นแบบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เลย เพราะปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นสงครามกองโจรก่อการร้ายระดับต่ำที่สุดตามทฤษฎีสงครามยุคที่ 4 (Forth Generation Warfare) ที่ความสัมพันธ์พลเรือน ตำรวจ ทหารจะต้องแน่นแฟ้น

nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น