xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลใหม่กับความหายนะรออยู่ตรงหน้า

เผยแพร่:   โดย: ป.เพชรอริยะ

ขอแสดงความยินดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งทางผู้เขียนเอง ก็ได้แนะนำท่านไปอยู่เสมอ ก็หวังไว้ว่าสักวันหนึ่งท่านจะได้สบโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี และแล้ววันนี้ท่านก็ได้เป็นแล้ว แต่ในท่ามกลางเหตุวิกฤตชาติที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ปรากฏการณ์อันเลวร้ายที่ได้ทำลายประเทศชาติของเราที่เกิดขึ้นนั้น ท่านนายกฯ และพวกเราทั้งหลายล้วนประจักษ์กันดี ล้วนเกิดมาจากเหตุปัญหาทางการเมือง ทั้งนี้ การเมืองการปกครองไทยได้ขาดส่วนที่สำคัญที่สุด คือหลักการปกครองโดยธรรม จึงเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองของไทยมาตลอด 76 ปี หากใครก็ตามที่เชื่อว่า 76 ปี คือระบอบประชาธิปไตย เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง และยิ่งเป็นผู้ปกครองเข้าใจแล้วด้วย ความหายนะก็รอท่านอยู่ตรงหน้าแล้ว เราจะได้แนะนำพื้นฐานทางความคิดเพื่อจะได้แนวทางในการแก้ไขเหตุวิกฤตชาติต่อไป

มนุษยชาติ มีความไม่ลงรอยกันก็เพราะความเชื่อ ความยึดมั่นถือมั่นอันสุดโต่งไปทางใด ทางหนึ่งระหว่างลัทธิจิตนิยม (Idealism) กับ ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) หรือระหว่างจิตนิยมต่อจิตนิยมด้วยกันเอง หรือระหว่างวัตถุนิยมต่อวัตถุนิยมด้วยกันเอง ด้วยลัทธิทั้ง 2 ยังไม่สมบูรณ์และไม่ใช่ทางสายกลาง ใครที่ยึดมั่นถือมั่นในลัทธิดังกล่าว จะเป็นเหตุให้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองยาวนาน และยากที่จะแก้ไข

ลัทธิจิตนิยม (Idealism) มีแนวคิดพื้นฐานว่าจิตเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง และมีความเชื่อว่าวัตถุเป็นผลผลิตของจิต จิตเท่านั้นเป็นความจริงแท้ ส่วนวัตถุเป็นเพียงปรากฏการณ์ คนที่อยู่ในแนวคิดนี้ก็จะถือตนเป็นใหญ่ ถือตัวกูเป็นใหญ่ ถือประโยชน์ตนและพวกพ้องเป็นใหญ่ โดยภาพรวมก็คือการถืออัตตาตัวตนเป็นใหญ่

การแสดงออกจากความคิดดังกล่าวนี้ เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเขาก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามความนึกคิดเพราะจิตมีแต่ความแตกต่างหลากหลาย เช่น บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล ทั้งกุศลและอกุศลล้วนมีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อได้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีแต่เพียงด้าน วิธีการปกครอง (Method of Government) ได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ อันแตกต่างหลากหลาย โดยไม่มีหลักการปกครอง (Principle of Government) ซึ่งจะแสดงให้เรารู้ว่าเป็นระบอบ (Regime) อะไร อันเป็นด้านหลักการ หรือด้านเอกภาพ พูดง่ายๆ หากว่ามีแต่ด้านมรรควิธี คือมีทางที่จะไป หรือวิธีการที่จะดำเนินการ

แต่การดำเนินการนั้นไม่มีหลักหรือไม่มีจุดมุ่งหมาย เมื่อจะตัดสินความถูกผิด ก็วัดกันด้วยจำนวนเสียงว่าฝ่ายไหนเสียงมากกว่า จึงเป็นเหตุเข้าทำนองว่า “พวกมากลากไปพาไปพินาศ” ประชาชนก็ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนถูกเป็นธรรม หรือฝ่ายไหนไม่ถูกไม่เป็นธรรม ก็เพราะไม่มีหลักการปกครองเป็นตัวเปรียบเทียบ เป็นตัววัดให้พิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นๆ ของรัฐบาลจะถูกหรือผิด นั่นเอง การจัดความสัมพันธ์ของรัฐธรรมนูญไทยทำมาแล้ว 18 ฉบับ ได้จัดความสัมพันธ์โดยไม่มีหลักการปกครอง คือไร้จุดมุ่งหมาย เกิดความสับสน เกิดความขัดแย้งขึ้นในทางการเมืองอย่างไม่รู้จบ

รัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักการปกครอง กล่าวได้ว่า “เมื่อไม่มีจุดมุ่งหมาย ก็ไม่มีหนทาง เมื่อไม่มีหนทาง ก็ไม่มีความก้าวหน้า อุปมา พายเรือในอ่างน้ำ” การเมืองการปกครองของไทยจึงล้าหลังย่ำอยู่กับที่ น่าเสียดายยิ่งนัก ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ปกครองไทยคณะแล้วคณะเล่าเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงนั่นเอง

ในทางเศรษฐกิจ
ผู้ปกครองตามแนวคิดจิตนิยม จะมองทุกอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เช่น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นของเอกชน และมีความรู้สึกนึกคิดว่าตนเป็นผู้ฉลาด มีความมั่นใจในตนเองสูง มีความสามารถเหนือคนอื่น จะทำอะไรๆ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อตนเองมั่งคั่งร่ำรวย ก็จะดูหมิ่นคนยากคนจนว่าโง่เขลา เกียจคร้าน ขี้อิจฉา ฯลฯ

ลัทธิวัตถุนิยม (Materialism) มีความเชื่อพื้นฐานว่า วัตถุเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง และเชื่อว่าวัตถุเป็นความจริงแท้ ส่วนจิตเป็นผลผลิตขั้นสูงสุดในสมอง หรือจิตเป็นเพียงภาพสะท้อนของวัตถุ หรือจิตเป็นเพียงปรากฏการณ์ของวัตถุเท่านั้น คนที่อยู่ในแนวคิดนี้จะถือภาวะวิสัยเป็นใหญ่ ถือประเทศชาติ สังคมเป็นใหญ่ ถือสาธารณะเป็นใหญ่ ชิงชังการกดขี่และขูดรีด แต่แนวคิดนี้มีน้อย นอกจากได้อบรมจากลัทธิวัตถุนิยม ชนพวกนี้จะมองว่าปัจจัยการผลิตจะต้องเป็นของรัฐ ปฏิเสธกรรมสิทธิ์ของเอกชน ชนภายในชาติจะต้องอุทิศตนเพื่อสังคม เมื่อมองเผินๆ แล้วดูน่าเชื่อถือ การโฆษณาชวนเชื่อจะเป็นที่ชอบใจของชนที่เสียเปรียบในสังคม และจะลุกขึ้นมาโค่นชนชั้นปกครองผู้กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบประชาชน เช่น ในประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย

คำสอนพระพุทธศาสนา คือการศึกษาให้รู้ความจริงตามกฎธรรมชาติ ทั้งจิตตสังขาร และวัตถุ หรือรูปสังขาร เป็นสังขตธรรม เป็นสิ่งปรุงแต่ง เป็นของผสม เป็นสัจธรรมสัมพัทธ์ (Relative Truth) เมื่อเกิดขึ้นในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด เกิดขึ้นเท่าไรก็ดับไปเท่านั้น ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทั้งจิตสังขารและวัตถุ เป็นเพียงมายา ไร้แก่นสารที่แท้จริง และตัวมันเองไม่อาจจะทำให้บริสุทธิ์ได้เพราะเป็นสิ่งปรุงแต่งหรือเป็นของผสม และดำรงอยู่อย่างอิสระไม่ได้ ทั้งจิตตสังขารและวัตถุ จึงไม่สามารถจะเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งได้ ตัวมันเองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อไปยึดติดเพราะความหลงเข้าใจผิด ไม่ถูกตรงตามที่มันเป็น ทำให้ผู้ยึดมั่นถือมั่นสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งตามความคิดของตนๆ

ทั้งลัทธิจิตนิยม และลัทธิวัตถุนิยม ความเชื่อทั้งสองย่อมมีอยู่ ไม่อาจเข้าถึงทางสายกลางได้ เมื่อพัฒนาถึงที่สุดแล้ว จะเป็นความไร้แก่นสาร ก็เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามกฎไตรลักษณ์นั่นเอง ดุจน้ำตกที่ไหลลงจากหน้าผา แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร ใครยึดมั่นถือมั่นเพราะความหลงผิด (อวิชชา) ดังนั้น ควรเข้าใจอย่างถูกต้องว่าลัทธิทั้ง 2 นี้ ไม่อาจเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งได้

ในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ทั้งจิต และวัตถุ แต่ยอมรับว่าทั้งวัตถุและจิตดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันในลักษณะสังขตธรรม คือปรุงแต่ง แปรปรวนดับไปตามกฎไตรลักษณ์ กล่าวได้ว่า ศูนย์กลางของสรรพสิ่ง ผู้รู้แจ้งย่อมกล่าวว่า “ธรรม ย่อมเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง” “ธรรม” ในที่นี้คือ สภาวะบรมธรรม, สภาวะนิพพาน, สภาวะธรรมาธิปไตย (Absolute Truth) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสังขตธรรม ทั้งรูปและนามอันแตกต่างหลากหลายทั้งปวง นั่นเอง

“ภูเขายังตั้ง ตะวันยังฉาย ธรรมาธิปไตยไม่สลายจากใจมนุษยชาติ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า จิตตสังสารทั้งที่ปรุงแต่งเป็นกุศลบ้าง และอกุศลบ้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แปรปรวนในท่ามกลางและก็ดับไปในที่สุด พูดง่ายๆ ว่า เมื่อเกิดความกลัว โลภ โกรธ หลง เสียใจ เศร้าใจ ดีใจ ฯลฯ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องสลายไป ดำรงอยู่ไม่ได้ ไร้แก่สาร ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง

จะเห็นชัดว่าธรรมประกอบกันขึ้นระหว่างอสังขตธรรม (ธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งและพ้นจากกฎไตรลักษณ์ ได้แก่ นิพพาน, บรมธรรม, ธรรมาธิปไตย) กับสังขตธรรม (ธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ตกอยู่ใต้กฎไตรลักษณ์) หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นสัมพันธภาพระหว่างสิ่งที่ไม่สลายกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องสลาย หรือเป็นสัมพันธภาพระหว่างสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง หรือเป็นสัมพันธภาพระหว่างธาตุแท้กับปรากฏการณ์ หรือเป็นสัมพันธภาพระหว่างจุดมุ่งหมายกับมรรควิธี หรือวิธีการ หรือเป็นสัมพันธภาพระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลาย

เมื่อได้นำสภาวธรรมมาประยุกต์ใช้ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องโดยธรรม ตามองค์ประกอบของกฎธรรมชาติ ดังลักษณะตามรูปดังนี้ วงกลมตรงกลาง คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตยทั้ง 9 มีลักษณะแผ่กระจายความเป็นธรรม 9 ลักษณะสู่ปวงชนในชาติ อันเป็นหลักการสำคัญที่ไม่เปลี่ยนแปลงมั่นคงยั่งยืนของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนลูกศรดำคือ วิธีการปกครองได้แก่ หมวดและมาตราต่างๆ ที่จะต้องขึ้นต่อหลักการปกครองเสมอไป และวิธีการเป็นสิ่งที่ปรับปรุงแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความจำเป็น ตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

ภารกิจของรัฐบาลใหม่ คือนำเสนอการปกครองแบบธรรมาธิปไตยคือการนำกฎธรรมชาติ ดำรงอยู่ในลักษณะพระธรรมจักร บนความสัมพันธ์ในหลายๆ มิติ เช่น

สัมพันธภาพระหว่างด้านเอกภาพกับด้านความแตกต่างหลากหลาย

สัมพันธภาพระหว่างแผ่กระจายกับรวมศูนย์ เป็นปัจจัยให้เกิดดุลยภาพ

สัมพันธภาพระหว่างจุดมุ่งหมาย และมรรควิธี

สัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครอง และวิธีการปกครอง เป็นต้น

เมื่อนำไปพิจารณาระบอบการเมือง ระบอบต้องมีธรรมและแผ่กระจายสู่ปวงชน ส่วนการปกครองต้องรวมศูนย์ ดังกล่าวนี้คือเหตุปัจจัยทำให้เกิดความสมดุล หรือดุลยภาพภายในชาติ ไม่ใช่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง “มนุษยชาติเกิดจากธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ สู่การปกครองธรรมาธิปไตย ย่อมเป็นความถูกต้องโดยธรรม และเป็นความภาคภูมิใจของปวงชนในชาติอย่างยิ่งใหญ่ตลอดไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น