xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯรถยนต์สหรัฐฯยังต้องเจ็บปวด แม้รบ.มะกัน-แคนาดาให้เงินกู้ชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ยังคงต้องเผชิญกับอนาคตที่จะต้องมีการเสียสละอันเจ็บปวด ระหว่างการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อฟื้นตัวขึ้นมาให้ได้ ถึงแม้ประสบความสำเร็จในการเจรจากับทางคณะรัฐบาลบุช จนได้รับเงินกู้ฉุกเฉินต่อชีวิตจำนวน 13,400 ล้านดอลลาร์ แถมแคนาดายังประกาศให้ความช่วยเหลือกิจการของเจเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) และไครสเลอร์ ที่อยู่ในแดนใบเมเปิลอีก 3,300 ล้านดอลลาร์
ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศแผนการช่วยชีวิตอุตสาหกรรมรถยนต์ไปในวันศุกร์(19) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังลั่นทีเดียว ได้พยายามปกป้องการกระทำของตัวเอง โดยย้ำว่าพวกบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอำนาจมากเหล่านี้ ควรได้รับโอกาสให้ปฏิรูปโดยไม่ต้องยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลาย แต่เขาก็บอกด้วยว่า บริษัทเหล่านี้จะได้รับโอกาสให้แก้ไขปรับปรุงตัวเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้น
“การปรับโครงสร้างเช่นนี้จำเป็นจะต้องได้รับการยินยอมอ่อนข้ออันมีความหมายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร, สหภาพแรงงาน, เจ้าหนี้, ผู้ถือหุ้นกู้, ดีลเลอร์, และซัปพลายเออร์” บุชกล่าวระหว่างการปราศรัยทางวิทยุประจำสัปดาห์ในวันเสาร์(20)
“ช่วงเวลาที่จะต้องทำการตัดสินใจอันยากลำบากเพื่อที่จะอยู่ต่อไปได้ ก็คือช่วงเวลาขณะนี้แหละ ไม่เช่นนั้นอีกทางเลือกหนึ่งที่ยังเหลืออยู่ คือ การล้มละลาย”
เมื่อต้องเผชิญกับภัจคุกคามว่าจะต้องล้มละลายแน่ๆ โดยที่จะทำให้คนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ตลอดจนธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นล้านๆ คนต้องตกงาน จีเอ็มและไครสเลอร์ ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งและอันดับสามในอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน หรือที่เรียกขานกันว่า “บิ๊กทรี” แห่งดีทรอยต์ ก็ได้รีบประกาศยินยอมรับเงื่อนไขตามแผนการกู้ชีวิตของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยที่จะมีการเริ่มต้นปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินคราวนี้กันในวันที่ 29 ธันวาคม
เจ้าหน้าที่หลายรายบอกว่า จีเอ็มจะได้เงินกู้เป็นจำนวน 9,400 ล้านดอลลาร์โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ซึ่งจะจ่ายให้หมดในกลางเดือนมกราคม ขณะที่ไครสเลอร์จะได้เงินกู้จำนวนไม่เกิน 4,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับฟอรด์ ยักษ์ใหญ่อันดับสองของ “บิ๊กทรี” แถลงว่าจะไม่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะฐานะการเงินยังไม่แย่มากเหมือนอีก 2 ราย และจากการนี้ก็อาจทำให้จีเอ็มได้เงินกู้เพิ่มขึ้นอีก 4,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนกุมภาพันธ์ เว้นแต่รัฐสภามีความเคลื่อนไหวเป็นอย่างอื่น
เงินกู้ช่วยเหลือเหล่านี้จะมาจากโครงการบรรเทาสินทรัพย์ที่ประสบปัญหา (ทีเออาร์พี) มูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐสภาสหรัฐฯอนุมัติในเดือนตุลาคม และมุ่งช่วยเหลือพวกสถาบันการเงินที่ประสบความลำบากทั้งหลาย
ตามแผนการดังกล่าวนี้ บริษัทรถยนต์จะต้องดำเนินมาตรการอันเข้มงวดต่างๆ เพื่อแสดงให้พวกเห็นว่าพวกเขายังสามารถที่จะฟื้นตัวเติบโตต่อไปได้ ทั้งนี้ต้องกระทำกันภายในวันที่ 31 มีนาคม มิฉะนั้นแล้วรัฐบาลก็อาจเรียกร้องให้คืนเงินกู้ฉุกเฉินเหล่านี้
รัฐบาลอเมริกันได้กำหนด “เป้าหมาย” อันสูงลิ่วจำนวนหนึ่งให้บริษัทรถยนต์ที่รับเงินกู้ฉุกเฉินนี้ต้องทำให้ได้ อาทิ การลดหนี้ลงสองในสาม, การตัดลดค่าจ้างแรงงาน, และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการทำงานเพื่อทำให้บริษัทมีความสามารถแข่งขันกับพวกผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่ดำเนินงานอยู่บนแผ่นดินสหรัฐฯ
ทางด้านรัฐบาลแคนาดาแถลงในวันเสาร์(20) เปิดเผยแผนการให้ความช่วยเหลือมูลค่า 3,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้กิจการสาขาของจีเอ็มและไครสเลอร์ที่ตั้งอยู่ในแคนาดา สามารถดำเนินงานต่อไปได้
นายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ ของแคนาดา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นฝีก้าวที่น่าเสียใจแต่ก็จำเป็น เพื่อพิทักษ์ปกป้องเศรษฐกิจของแคนาดาเอง ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่แคนาดาพูดกันว่า แดนใบเมเปิลมีความเป็นห่วงว่า ตำแหน่งงานประมาณ 582,000 ตำแหน่งในแคนาดาอาจต้องสูญเสียไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า ถ้าปล่อยให้บริษัทรถยนต์อเมริกันทั้งสองปิดโรงงานของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ในรัฐออนแทรีโอ ของแคนาดา
กำลังโหลดความคิดเห็น