xs
xsm
sm
md
lg

"นิพิฏฐ์"อาละวาดหลังถูกเบียด-จี้"วีระชัย"ถอดหน้ากากนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"นิพิฏฐ์"เดือด"วีระชัย" เบียดหลุดโผ ครม.นาทีสุดท้าย ทำจดหมายถามจุดยืนทางการเมืองพร้อมแนบตั๋วแลกเงิน 500 บาท ผ่อนชำระหนี้แทนพรรค ซัดอย่าเป็นอีแอบ ถ้าศรัธาแนวทางปชป.จริง ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรค พร้อมประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นกลุ่มทุนเครือซีพี หรือไม่ จวก"สุเทพ"จัดโผรัฐมนตรีแบบฆ่ากันทางการเมือง ด้าน"สุเทพ"โต้ไม่เคยคิดฆ่าใคร แต่เก้าอี้มีน้อย โยนเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคพิจารณา การันตี"วีระชัย" คุณสมบัติเหมาะสมเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของนายกฯ ยืนยันคนในพรรคไม่ยอมให้นายทุนเข้าครอบงำ "ชวน"บอกเห็นใจทุกฝ่าย

วานนี้ (19ธ.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวแสดงความไม่พอใจกรณี นายวีระชัย วีระเมธีกุล ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มทุนมีชื่อติดโผ ครม.ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯว่า ที่ตนเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เพราะติดใจเรื่องที่มาที่ไปของนายวีระชัย เนื่องจากชื่อนายวีระชัย มาเบียดตนในนาทีสุดท้าย และบุคคลนี้ทำงานให้แก่ทุกรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ และรัฐบาลประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ การเอาคนเข้ามาในพรรค หรือมาเป็นรัฐมนตรีของพรรค จะต้องศึกษาอุดมการณ์แนวนโยบายของพรรคเสียก่อน แต่คนอย่างนายวีระชัย ไปได้กับทุกรัฐบาล จึงอยากถามว่า มีอุดมการณ์ตามแนวทางของพรรคอย่างไรบ้าง ประชาธิปัตย์ถึงได้ส่งนายวีระชัย เป็นรัฐมนตรีในนามของพรรค นอกจากเรื่องทุนแล้ว มีคุณสมบัติพิเศษอะไรอีก ซึ่งเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า นายวีระชัย เป็นคนทำงานได้ และทำงานดี เป็นคนเก่งคนหนึ่ง จึงเอาเข้ามาทำงาน

"การคัดเลือกคนเข้ามาอยู่ในพรรค ต้องมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน จึงไม่แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่งประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน นายวีระชัย จะยังอยู่ในพรรคหรือเปล่า และถ้านายวีระชัย ศรัธาแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์จริง ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคเลย แล้วประกาศว่าเป็นผู้บริหารของบริษัทใดบ้าง ในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือไม่ แล้วบอกให้ชัดเจนเลยว่า บริษัทนี้เป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องเป็นอีแอบในทางการเมือง เพราะไม่สง่างาม ต้องเปิดหน้ากากออกมา"

นายนิพิฏฐ์ กล่าวด้วยว่าจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ตนไม่มีความสุข แต่ไม่ได้บอกว่าจะออกจากพรรค และตนได้เรียนหัวหน้าพรรคไปว่า ต่อไปนี้นายวีระชัย ต้องเป็นคนปกป้องหัวหน้าพรรค เพราะเดิมตนเป็นขุนพลคู่กายของหัวหน้าพรรค แต่วันนี้ตนถูกฆ่าแล้ว เพราะฉะนั้นต่อไป นายวีระชัย จะต้องดูแลปกป้องหัวหน้าพรรค ส่วนตนจะออกไปยืนอยู่ห่างๆ จะลดบทบาทของตัวเองลง

"ปัญหา และอันตรายของวันนี้ก็คือกลุ่มทุน ที่เข้ามาจัดการและมีอำนาจภายในพรรคเหนือผู้แทนราษฎร และมีอำนาจเหนือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นกำหนดทิศทางของพรรคการเมือง แต่แน่นอนการเมืองปฏิเสธทุนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่สนับสนุนพรรคในการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ แล้วต้องตอบแทนอย่างนี้ ผมไม่เห็นด้วย เพราะไม่ควรจะต้องตอบแทนบุญคุณถึงขนาดนั้น และผมจะทำให้พรรคนี้เป็นอิสระด้วยการใช้หนี้คุณวีระชัย ขั้นต่ำ 300-500 บาท ต่อเดือน ผมไม่ได้ติดใจตำแหน่งของพล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ ที่จะมารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม และไม่ได้ติดใจ นายกษิต ภิรมย์ ที่จะมารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ผมเข้าใจว่าเหตุผลทั้งหมดเป็นเหตุผลทางการเมือง แต่ผมจะไม่ฆ่านายกฯ ในขณะที่มีคนในพรรคฆ่าผม คือคนที่เอาคุณวีระชัยเข้ามา" นายนิพิฏฐ์กล่าว

นายนิพิฏฐ์ กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้ตนจะตรวจสอบทั้งพรรค ทั้งรัฐบาล เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ โดยเฉพาะการตรวจสอบ นายวีระชัย เพราะถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ไม่ได้เป็นโทษ แต่พรรคอาจจะเสียหายบ้างเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวของตนคิดว่าจะไม่ทำให้คนภายนอกมองว่า เป็นความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างเท่านั้น เพราะถ้าความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ทุกคนเงียบหมดแล้ว ไม่มีใครแสดงออก ในลักษณะอย่างนี้ ตนคิดว่าพรรคนี้ผิดปกติแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยู่พรรคมา16 ปี คิดที่จะทบทวนว่าจะอยู่ทำงานพรรคต่อหรือไม่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ชีวิตมันก็ต้องทบทวนเป็นระยะว่าเสียงของเรายังมีประโยชน์กับพรรคอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีประโยชน์แต่คนอื่นมีประโยชน์มากกว่า ก็ควรเปิดโอกาสให้คนอื่น ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ก็ยืนยันว่า ตนยังมีประโยชน์กับพรรค และขอให้ทำงานช่วยท่านต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นเรื่องนี้อย่างไร นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ท่านบอกว่าเห็นใจ และบอกว่า ตนมีความเหมาะสมในอันดับต้นๆ ที่จะต้องเป็นรัฐมนตรี เพราะตนสู้กับระบอบทักษิณมา สมัยนั้นพรรคไทยรักไทย มอบหมายให้นายเนวิน ชิดชอบ ลงไปคุมพื้นที่เลือกตั้งใน จ.ภาคใต้ และคุมจ.พัทลุง ตนยังมีคดีความกับนายเนวิน อยู่หลายคดี ยังขึ้นศาลอยู่จนทุกวันนี้เลย แต่วันนี้พรรคจับมือกับนายเนวิน ก็อธิบายยากนิดหน่อย แต่ตนก็เข้าใจ

"ตอนที่นายชวน ไปปราศรัยที่พัทลุงชาวบ้านก็จะถามว่า ถ้าประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล แล้วนายนิพิฏฐ์จะมีโอกาสเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ นายชวน ก็ยังพูดติดตลกว่า ถ้านายนิพิฏฐ์ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ท่านจะเป็นผู้นำในการกระทู้เอง และท่านไปที่ไหน ในจ.พัทลุง ก็พูดแบบนั้น ชาวบ้านก็เลยคาดหวัง ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าน้อยใจที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เพียงแต่ไม่เข้าใจที่มาของคุณนายวีระชัย เท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า น้อยใจนายชวน บ้างหรือไม่ ที่ไม่สามารถผลักดันให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีได้ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า "ไม่เลย นายชวนเป็นเทพเจ้าทางการเมืองของตน ตนละเมิดท่านไม่ได้ และเคารพท่านมาก"

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายชวนเสียใจที่นายนิพฏฐ์ ไม่ได้รับตำแหน่งครั้งนี้หรือไม่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ท่านเสียใจมาก ไม่เคยเห็นท่านเสียใจขนาดนี้ ท่านเสียใจเพราะไม่มีใครฟังท่าน อย่างไรก็ตาม ตนใกล้ชิดนายชวน เพราะเคยรับใช้ท่านมาก่อน แต่หลังๆห่างท่านไป แต่ถ้าท่านใช้ตนก็ยินดี แต่ตนจะไม่ไปเป็นประเภทวอลเปเปอร์ ไปคอยยืนอยู่ข้างหลัง ตนไม่ใช่คนแบบนั้น

ส่วนจะทำความเข้าใจกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างไปสัมนาที่เกาะสมุย จ.สุราษฏ์ธานีหรือไม่นั้น นิพิฏฐ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ไปสมุย เพราะไปแล้วไม่มีความสุข ดังนั้นเมื่อไม่มีความสุขก็อย่าไปเลย คืออยู่ที่ไหนไม่มีความสุขก็ไม่ควรอยู่ แต่ตนต้องปรับสภาพให้มีความสุขให้ได้ ถ้าปรับสภาพแล้วไม่มีความสุข ตนก็ต้องทบทวน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะออกจากพรรค เพราะ ต้องช่วยงานนายกฯ

ส่งจม.พร้อมเงิน 500 บาทถึงวีระชัย

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายนิพิฏฐ์ ได้ทำหนังสือถึงนายวีระชัย พร้อมแนบตั๋วแลกเงินจำนวน 500 บาทด้วย โดยนายนิพิฏฐ์ ระบุว่า เนื้อหาในหนังสือ ได้แสดงความยินดีที่นายวีระชัย ได้รับการเสนอชื่อเป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯในนามพรรคประชาธิปัตย์ ตนอยู่พรรคนี้มา 16 ปี แต่ไม่เคยเห็นนายวีระชัย เดินทางเข้าพรรค และทราบว่า เคยทำงานกับรัฐบาลมาเกือบทุกรัฐบาล จึงสงสัยว่าท่านมีอุดมการณ์อย่างไรกันแน่ หรือท่านเข้ากับใครก็ได้ที่เป็นรัฐบาล เพียงขอให้เอื้อประโยชน์กับธุรกิจของท่านเท่านั้นก็พอ

นอกจากนี้ นายนิพิฏฐ์มีข้อเสนอถึงนายวีระชัย 3 ข้อ คือ 1. ขอให้ชี้แจงวว่าเป็นใครมาจากไหน มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร ประกอบธุรกิจอะไร และขอให้ประกาศว่าธุรกิจในเครือสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์

2. ขอให้แสดงความจริงใจกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคทันทีที่สามารถกระทำได้

3.หากเป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ในการจัดตั้งรัฐบาลตามที่เป็นข่าว และคิดว่าพรรคเป็นหนี้บุญคุณ ผมไม่สบายใจอย่างยิ่ง เพราะผมไม่อยากเห็นกลุ่มธุรกิจการเมืองเข้าครอบงำพรรค ในฐานะที่ผมเป็นนักการเมืองจนๆ คนหนึ่ง ผมอยากให้พรรคดำรงอยู่อย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำของกลุ่มธุรกิจการเมือง สามารถผลิตนโยบายได้อย่างอิสระ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ผมขอใช้หนี้ท่าน โดยผ่อนชำระให้เดือนละ 500 บาท และถือว่าบัดนี้สมาชิกพรรคอย่างผม ไม่ได้เป็นหนี้ท่านอีกต่อไป" นายนิพิฏฐ์ ระบุ

อย่างไรก็ตามนายนิพิฏฐ์ ยืนยันว่าไม่ได้น้อยใจ และการดำเนินการครั้งนี้ได้บอกให้ นายอภิสิทธิ์ทราบแล้ว ซึ่งท่านไม่ได้ว่าอะไร และนอกจากตนแล้วก็ยังมีสมาชิกพรรคคนอื่นออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองอีก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตนคงต้องใช้เวลาถึงหนึ่งแสนปี กว่าจะใช้หนี้หมด

"สุเทพ"ยันวีระชัย เก่ง

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชี้แจง กรณีนายนิพิฏฐ์ ข้องใจที่มีชื่อนายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ผู้บริหารพรรครู้จักนายวีระชัย และสนใจ จึงได้พยายามทาบทามให้เข้าพรรค เพราะเป็นคนมีความรู้ เคยเป็นผู้บริหารธนาคารในประเทศจีน มีความรู้เรื่องจีนมาก หากได้มาช่วยในครม. ก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์กับจีนด้วย ซึ่งจะช่วยนายกฯได้

"ผมสนใจนายวีระชัย เพราะไม่ใช่คนหน้าใหม่ในแวดวงการเมือง เคยทำงานอยู่รัฐบาลทักษิณ แต่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับทักษิณ โดยอยู่กลุ่มเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือกลุ่มนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นอกจากนั้นยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แสดงว่ามีคนเห็นว่ามีขีดความสามารถในการทำงาน" นายสุเทพ กล่าวและว่า ไม่ได้เอานายวีระชัย มาดูแลด้านกฎหมาย แต่เอามาช่วยด้านเศรษฐกิจ มาเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของนายกฯ จะอยู่ใกล้นายกฯที่ทำเนียบฯ เป็นเหตุผลที่เลือกนายวีระชัย

ส่วนที่นายนิพิฏฐ์ ระบุว่านายวีระชัย เคยอยู่ร่วมกับทุกรัฐบาล ขาดอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น คงคิดอย่างนั้นไม่ได้ วันนี้คนที่มาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ เกินครึ่ง เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคอื่นมาแล้วทั้งนั้น คิดอย่างนั้นไม่ได้ เอาว่าวันนี้มาอยู่กับเราแล้วทำงานให้เราได้หรือไม่ ดีกว่า

การที่นายนิพิฏฐ์ แสดงความเป็นห่วงระบบนายทุนจะเข้ามาครอบงำพรรคประชาธิปัตย์นั้น คงไม่มี คนที่อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ยอมอย่างนั้น คนในที่ประชุมส่วนใหญ่คงไม่ยอม เมื่อพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมส่วนใหญ่ก็เข้าใจ

ส่วนที่นายนิพิฏฐ์ ระบุจะตรวจสอบนายวีระชัย ก็ยินดีเลย ส.ส.ที่อยู่ในรัฐบาลก็มีสิทธิตรวจสอบรัฐบาล เราไม่ปล่อยรัฐมนตรีคนไหนทำงานอิสระ ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ก็ดีจะได้เป็นหูเป็นตา ให้พี่น้องประชาชน

ทั้งนี้ ตนก็จะทำความเข้าใจกับนายพิฏฐ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งนายวีระชัย กับนายนิพิฏฐ์ ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกัน แต่ความเห็นของนายนิพิฏฐ์ อาจจะไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการบริหารพรรค และส.ส.ส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่พรรคจะต้องชี้แจงกับนายนิพิฏฐ์ ต่อไป

ไม่เคยคิดฆ่ากันทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพิฏฐ์แสดงท่าทีน้อยใจที่นายสุเทพ ทำเหมือนฆ่ากันทางการเมือง นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ทำอย่างนั้น ตนจะไปฆ่านายนิพิฏฐ์ทำไม นายนิพิฏฐ์ก็เป็นลูกพรรค ตนก็เป็นเลขาธิการพรรค ไม่มีการจะคิดไปฆ่าใคร ยิ่งเป็นพวกเดียวกันยิ่งต้องรักกัน แต่ตนเข้าใจดี ตนพูดในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคว่า เมื่อตำแหน่งมีน้อย คนที่มีคุณวุฒิ มีความสามารถ มีประสบการณ์มีมาก คนเก่าแก่ อย่างนายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายเทอดพงศ์ ไชยนันท์ นายไตรรรงค์ สุวรรณคีรี ไล่มาตามลำดับเลยมีจำนวนมาก แต่ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นเข้าใจดีว่าเรามีข้อจำกัด และในการทำงานตอนนี้เราก็อยากได้คนใหม่ๆ เข้ามาช่วยงาน ที่จะสามารถทำงานได้กระฉับกระเฉง มาช่วยเหลือนายกฯได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น จึงพยายามจัดให้หลากหลาย มีคนรุ่นเก่าบ้าง เช่น นายไพฑูรย์ แก้วทอง กระจายไปตามภาคต่างๆไม่ได้ใช้ ระบบสัดส่วนเลย

ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้แจงถึง เกณฑ์พิจารณาของกรรมการบริหารพรรคในเรื่องการกำหนดตัวรัฐมนตรีว่า

1. เคยทำงานรับใช้พรรค ซื่อสัตย์ อุทิศตัวเองให้แก่พรรค จงรักภักดีกับพรรค 2. เป็นคนที่ทำหน้าที่นักการเมืองของประชาชนอย่างดี ทั้งในสภาและในพรรค เป็น ครม.เงาของพรรค

3. หากเอาคนที่เข้ามาทำงานต้องมั่นใจว่าทำงานกับคนอื่นได้ สร้างงานมีประสิทธิภาพ นำนโยบายพรรคไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 4. สามารถดูแลพื้นที่ได้ทั่วประเทศ

หลักเกณฑ์เหล่านี้เราเอามาพิจารณารวมๆ กัน แล้วมาพูดในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ใช้เวลานานมาก ตั้งแต่เก้าโมงถึงเที่ยง เห็นชอบคนนอกเสร็จ ตนก็ไปเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ทบ. มาเป็นรมว.กลาโหม กลับมายังประชุมกันต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพิฏฐ์ ระบุว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เคยไปช่วยหาเสียงที่ จ.พัทลุง ระบุว่าจะผลักดันให้เป็นรัฐมนตรี นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่านายชวน ไปพูดกับพี่น้องที่ จ.พัทลุงว่าอย่างไร แต่ตามปกติเราไม่ค่อยพูดจาผูกมัด ส.ส.ของเรามีมาก หากไปพูดทุกจังหวัด ต่อให้มีร้อยคนก็จัดไม่ครบ ตนไม่เชื่อว่านายชวน จะพูดอย่างนั้น

"ผมขอโทษเพื่อนร่วมพรรคทุกคนว่า เสียใจจริงๆ หากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้จะทำให้เพื่อนๆ ผิดหวัง เพราะตำแหน่งที่ได้มาน้อยจริงๆ แต่เป้าหมายของผมขณะนั้น คือ ตั้งรัฐบาลให้ได้ เปลี่ยนขั้วทางการเมืองให้ได้ นำประเทศสู่แสงสว่าง คือเป้าหมายที่ผมยอมแลกทุกอย่าง ความจริงแล้วการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล เหลือตำแหน่งนายกฯ กลับมาตำแหน่งเดียว ผมก็เอาอยู่แล้ว" นายสุเทพ กล่าว

"ชวน"ยอมรับเห็นใจทุกฝ่าย

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิ
ปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เห็นใจนายนิพิฏฐ์ และก็เห็นใจทุกฝ่าย คนที่ทำงานก็เห็นใจเขา อย่างนายนิพิฏฐ์ เราก็หวังว่าเขาจะได้เป็น เมื่อไม่ได้เป็นก็เห็นใจเขา

"เวลาที่เขาตั้งกัน เขาไม่ได้ปรึกษาเรา ใครมาเป็นบ้างเราก็ไม่รู้ ก็ทราบพร้อมกับส.ส.เมื่อวานนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย พวกเราทุกคนก็พยายามช่วยกันพูดกับนายนิพิฏฐ์"

ผู้สื่อข่าวถามว่าสุดท้ายแล้วจะทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ นายชวนกล่าวว่าไม่ทราบ แต่ก็เห็นใจทุกฝ่าย เพราะฝ่ายนายสุเทพ ก็ชี้แจงว่ามีตำแหน่งน้อย ฝ่ายนายนิพฏฐ์ ก็หวัง เพราะอาวุโสถึง เมื่อถามว่าห่วงภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะถูกครอบงำจากนายทุนหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่ห่วง

ส.ส.ปชป.ไม่พอใจการตั้ง ครม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคปชป. ที่ได้โควตา 17 เก้าอี้ รวมคนนอก 2 เก้าอี้ นั้น ทำให้มี ส.ส.ในพรรคหลายคนเกิดความไม่พอใจ โดยตั้งแต่การประชุมกรรมการบริหาร และส.ส.พรรค เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีส.ส.บางส่วนไปเซ็นต์ชื่อ แต่ไม่เข้าร่วมประชุม เพราะไม่พอใจกับโผในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นายสุเทพ ได้สอดไส้ชื่อ นายวีรชัย วีระเมธีกุล ที่เป็นคนนนอก เข้ามาใส่ในโผในนาทีสุดท้าย

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ทั้ง 19 คน เพื่อพิจารณาบุคคลเป็นรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อนายสุเทพ ได้เสนอรายชื่อบุคคล ให้ที่ประชุมพิจารณานั้น นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ได้ลุกขึ้นเสนอว่า บุคคลที่เป็นกรรมการบริหารพรรค และ มีชื่อให้พิจารณาเป็นรัฐมนตรี ควรออกจากที่ประชุมเพราะถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียในการพิจารณาครั้งนี้

ทั้งนี้นายวิรัช ได้เสนอรายชื่อของบุคคลที่มีความเหมาะสมมากกว่ารายชื่อที่ นายสุเทพ เสนอเข้ามา จำนวน 4 คน คือ นายนิ-พิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายจุติ ไกรฤกษ์ นายชินวรณ์ บุญยะเกียรติ และนายนิพนธ์ บุญญามณี โดยให้เหตุผลว่า บุคคลเหล่านี้ทำงานให้กับพรรคมานาน อย่างนายนิพิฏฐ์ ถือเป็นตัวจักรสำคัญ ในการต่อสู้คดียุบพรรค ขณะที่นายจุติ เป็นคนคอยป้อนข้อมูลในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา สำหรับนายชินวรณ์ ถือว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา และอยู่กับพรรคมานาน ส่วนนายนิพนธ์ ก็ถือว่าสามารถ นำส.ส.ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เข้ามาได้เกือบจะครบทุกเขต ดังนั้นพรรคควรมองในจุดเหล่านี้ด้วย ถึงแม้ว่าตำแหน่งรัฐมนตรี จะน้อย ก็ควรกลั่นกรอง โดยเอา ส.ส.ที่มีความสามารถที่สุดมาเป็น ซึ่งนายวิรัชใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการให้ตุผล แต่ไม่สำเร็จ

โดยนายอภิสิทธิ์ ได้ถามกลับมาว่า แล้วจะเสนอใครมาแทนในตำแหน่งที่มีรายชื่ออยู่แล้ว ทำให้นายวิรัชไม่สามารถพูดต่อไปได้อีกว่าควรเป็นใคร เพราะหากพูดไปอาจเกิดการผิดใจกัน จึงได้บอกนายอภิสิทธิ์ ไปว่า เรื่องนี้หัวหน้าพรรคฯ และเลขาธิการพรรคฯ ต้องพิจารณาเอง

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังมีการเปิดโผรายชื่อครม. ออกมา ได้เกิดแรงพระเพื่อมภายในพรรคทันที เมื่อบุคคลที่พลาดหวังเก้าอี้รัฐมนตรีหลายคนแสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะกับโควตาคนนอกของนายวีระชัย

นอกจากนี้ เก้าอี้รมว.มหาดไทย ที่ต้องยกให้กับกลุ่มเพื่อนเนวินนั้น ในที่ประชุมต่างแสดงความสงสัยว่า มีเหตุผลอะไรถึงต้องยกให้ ซึ่งนายสุเทพได้ชี้แจงว่า เป็นข้อตกลงตั้งแต่ตอนประสานจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำให้ทุกคนอึ้ง ไม่สามารถที่จะพูดอะไรได้

รายงานข่าวแจ้งว่า ส.ส.ที่ผิดหวัง ส่วนหนึ่งเป็นส.ส.หลายสมัย ที่มีบทบาททำงานให้กับพรรคในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน และในช่วงที่มีการสรรหาเคยมีการพูดลักษณะจะมอบตำแหน่งให้ โดยพิจารณาจากการทำงาน และความสามารถ แต่เมื่อมีการพิจารณาจริงๆ กลับพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ ทำให้ส.ส.ที่น่าจะได้รับตำแหน่ง เกิดความรู้สึกว่าต้องทบทวนการทำงานกับพรรค แต่ยังไม่คิดถึงขั้นต้องลาออก เพราะไม่อยากให้ถูกมองว่า เมื่อไม่ได้รับตำแหน่งก็ออกมาโวยวาย ทำให้พรรคเสียหาย ทั้งนี้บุคคลที่ปรากฎเป็นข่าวว่า จะลาออกจากการเป็นส.ส. ทั้งนายนิพิฎฐ์ นายจุติ ไกรฤกษ์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ต่างปฎิเสธว่าไม่มีการลาออกแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น